xs
xsm
sm
md
lg

เปิดลิ้นชักความทรงจำ "อ.ชัยณรงค์ มนเทียรวิเชียรฉาย" กับ รายการ ไอคิว 180

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาจารย์ชัยณรงค์ มนเทียรวิเชียรฉาย ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น อดีตพิธีกร รายการไอคิว 180
ย้อนวันวานไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว รายการสำหรับเด็กและเยาวชนดูจะมีไม่กี่รายการ และหนึ่งรายการที่อยู่ในความทรงจำของใครหลายคนคือ รายการ ไอคิว 180 รายการตอบปัญหาโจทย์คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ยอดนิยม ที่อยู่คู่กับเยาวชนไทยมานานแสนนาน

“จงทำเลขต่อไปนี้ให้เป็นจำนวน 200

2 4 5 7 9

ใช้วิธีบวก ลบ คูณ หาร ถอดแสควรูท ใครตอบก่อนและใกล้เคียงจำนวน 200 ก่อน คือผู้ชนะ!”


ใครยังจำโจทย์ข้อนี้ได้บ้าง ? ย้อนวันวานไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว รายการสำหรับเด็กและเยาวชนดูจะมีไม่กี่รายการ และหนึ่งรายการที่อยู่ในความทรงจำของใครหลายคนคือ รายการ ไอคิว 180 รายการตอบปัญหาโจทย์คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ยอดนิยม ที่อยู่คู่กับเยาวชนไทย(ที่เรียนเก่ง และเรียนไม่เก่ง) โดยมุ่งเน้นสาระการให้ความรู้ และเพิ่มพูนทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มาโดยตลอด

ไอคิว 180 เป็นรายการประเภทควิชโชว์วิชาการ ออกอากาศครั้งแรก เมื่อปี 2528 ที่ช่อง 5 โดยรูปแบบรายการเป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับโจทย์ปัญหาด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ และหากยังจำกันได้ ผู้เข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษา จะต้องกดปุ่มและเลือกตัวเลข ออกมา 5 ตัว แล้วนำมาคิดด้วยวิธีใดก็ได้ ให้ได้ผลลัพธ์ เท่ากับที่กำหนด ไอคิว 180 อยู่เป็นเพื่อนเยาวชนไทยในช่วงเย็นๆ หลังเลิกเรียนมาจนอายุเกือบครบ 20 ปี จึงได้ยุติรายการไปเมื่อปี 2540 ด้วยเหตุผลที่(คนดูคิดเอาเอง)ว่า รายการมีอายุมากแล้ว

อย่างไรก็ดี แม้วันนี้จะไม่มีรายการ ไอคิว 180 ในจอโทรทัศน์บ้านเราอีกแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตัวชูโรงที่มีสีสันและทำให้รายการ ไอคิว 180 ยังคงติดตรึงในความทรงจำของผู้ชมได้เท่าทุกวันนี้ คือ พิธีกร ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้มีโอกาสพูดคุยอย่างเปิดอกกับ อาจารย์ชัยณรงค์ มนเทียรวิเชียรฉาย อดีตพิธีกร รายการไอคิว 180 ซึ่งปัจจุบันท่านเป็นผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น ถึงสาเหตุที่รายการต้องอำลาจากจอแก้ว ตลอดจนการดำเนินชีวิตประจำวันของ อ.ชัยณรงค์ ภายหลังจากไม่ได้เป็นพิธีกรรายการไอคิว 180 แล้ว

สร้างโรงเรียนให้เด็กชนบท กิจกรรมที่สร้างความสุขหลังจากไม่ได้จัดรายการไอคิว 180

“หลังจากไม่ได้จัดรายการ ผมก็ไปทำในสิ่งที่ผมชอบ คือ นอกจากจะมีงานประจำเป็นผู้อำนวยการ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น ซึ่งอยู่มา 35 ปีแล้ว ผมชอบที่จะไปต่างจังหวัดและไปช่วยเด็ก โดยเฉพาะในชนบท ตอนหลังก็ไปสร้างโรงเรียนให้กับหมู่บ้าน ผมอาจจะคิดไม่เหมือนคนอื่นที่ไม่ชอบจะช่วยแบบจากที่หนึ่งแล้วไปอีกที่หนึ่ง แต่ผมจะไปที่ที่หนึ่งแล้วทำตรงนั้นให้ดี รู้แต่ว่ามันก็แค่จุดเดียว แต่ว่าทำจุดนั้นให้ดี และไม่ได้ทำให้เฉพาะเด็ก แต่ไปทำให้ชุมชนระแวกนั้นด้วย ตอนนี้ผมทำที่หมู่บ้านท่าบ่ม อ.เชียงคาน จ.เลย ที่เลือกที่นั่นเพราะไกล ที่จริงระหว่างทางก็มีชนบทเยอะมาก แต่ที่นั่นดูจะไกลที่สุด และลำบากไปไม่ง่ายเลย”

อ.ชัยณรงค์ ยังอธิบายถึงโรงเรียนที่ไปสร้างให้เด็กๆว่า เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ มีเด็กนักเรียนจำนวน 800 กว่าคน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้จะชนบทแต่พวกเขาก็กระหายอยากจะได้ความรู้ และสิ่งดีๆในการศึกษา

สร้างบ้านให้คนยากจน ความสุขที่ได้แบ่งปันอย่างภูมิใจ

“ผมคิดว่าตอนนี้งานของผมเต็มมือนะ ตื่นตีห้านอนเกือบเที่ยงคืน งานส่วนใหญ่เป็นงานเพื่อคนอื่น ตอนนี้เป็นประธานของมูลนิธิที่อยู่อาศัยเพื่อมนุษย์ หรือ Habitat For Humanity(Thailand) ซึ่งเป็นองค์กรที่สร้างบ้านสำหรับคนที่ยากจน ซึ่งจนชนิดที่ว่าเดินไปขอกู้เงินธนาคารแล้วเขาไม่ให้ เพราะจนเกินไป เราจะช่วยคนเหล่านั้น และสภาพบ้านที่เขาอยู่มันโกโรโกโสในลักษณะที่ว่า ไม่สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เราจะไปช่วยเขา ซึ่งไม่ใช่การสร้างบ้านให้ฟรี แต่เราจะให้เขาซื้อบ้านผ่อนส่งด้วยจำนวนเงินที่เขาสามารถจ่ายได้ เราจะดูว่าชุมชนสามารถช่วยเขาได้อย่างไร และเขาสามารถผ่อนส่งในความสามารถของเขา โดยที่เราไม่คิดดอกเบี้ย และเมื่อเขาผ่อนได้หมด เขาจะสามารถพูดได้เต็มปากว่า บ้านนี้เขาใช้เงินของเขา ด้วยหยาดเหงื่อแรงกายของเขา และนอกจากเขามีบ้านของเขาแล้ว ก็ยังสามารถช่วยคนอื่นได้อีก เพราะถ้าเขาจ่ายเงินได้หมด เขาจะสามารถช่วยอีกครอบครัวหนึ่งต่อไป เพราะระบบมันเป็นอย่างนั้น ซึ่งเป็นความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ”

ไม่มีรายการไหนอยู่ยืนยง แต่ปลื้มที่ ไอคิว 180 ยังอยู่ในความทรงจำ

อ.ชัยณรงค์ บอกว่า ไม่ได้คิดอะไรมากที่ต้องยุติรายการ เพราะเป็นของธรรมดา อย่างสมัยที่อาจารย์ยังเป็นเด็กก็ชอบบางรายการและช่วงเวลานั้นก็ผ่านไปแล้ว เราไม่สามารถจะให้อยู่ยั่งยืนยงได้ และรายการของอาจารย์ก็เช่นกัน แต่บ่อยครั้งที่กลับมาคิดถึงรายการนี้ เมื่อไปไหนแล้วมีคนเข้ามาทัก

“ล่าสุดเมื่อครั้งไปช่วยสร้างบ้านให้ผู้ประสบภัยสึนามิ มีผู้หญิง 2 คนที่ทำงานร่อนทรายทำอิฐบล็อก เขายังไม่หันหน้ามามองผม แต่ได้ยินเสียงผมพูดกับชาวบ้าน เขาเลยพูดกับเพื่อนว่า เสียงคนนี้เป็นเสียงของ อ.ชัยณรงค์ รายการ ไอคิว 180 ทั้งที่เราหยุดไปตั้งนานแล้ว แต่พอเขาหันมาเขาก็จำเราไม่ได้เพราะมันตั้งหลายปีแล้ว แต่เขาว่าเสียงนี้ไม่ผิด เป็นเสียงของ อ.ชัยณรงค์ รายการไอคิว 180 แน่ๆ ก็จะเป็นอย่างนี้ในอีกหลายๆที่ นั่นคือบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้เรากลับมาคิดว่า รายการนี้ก็ยังอยู่ในความทรงจำของคนอีกเป็นจำนวนมาก”

ไอคิว 180 รายการบริสุทธิ์ ที่ไม่มุ่งหวังโฆษณาสินค้า

อาจารย์ชัยณรงค์ พาย้อนวันวานถึงรายการไอคิว 180 ที่ยังอยู่ในความทรงจำของผู้ชม โดยเริ่มจากจุดต้นว่า รายการนี้กำเนิดขึ้นจากเจตนาดีของ 2 ฝ่าย คือ เครือซีเมนต์ไทย ที่เป็นผู้สนับสนุนรายการ ซึ่งต้องการผลิตรายการเพื่อประโยชน์ของสังคม โดยไม่มุ่งหวังที่จะให้เป็นรายการโฆษณาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใดๆของเครือซีเมนต์ไทย โดยให้เป็นรายการที่บริสุทธิ์รายการหนึ่งสำหรับผู้ชมทั่วไปและเยาวชน ขณะที่ อ.ชัยณรงค์ ได้มีโอกาสไปทำงานที่สถานีโทรทัศน์ บีบีซี ประเทศอังกฤษ ทำให้ได้เห็นรายการวิทยุโทรทัศน์ที่นอกจากจะมีรายการบันเทิงในรูปแบบต่างๆ แล้ว ที่ประเทศอังกฤษยังพยายามอย่างที่สุดที่จะให้มีรายการดีๆมีประโยชน์แก่ผู้ชมแทรกอยู่อย่างเหมาะสม

“ตอนนั้นต้องยอมรับว่า ในเมืองไทยยังไม่ได้มีสัดส่วนรายการพวกนี้เท่าไหร่ และบ่อยครั้งรายการที่เราเห็นว่าดี ก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะจะหาผู้สนับสนุนยาก จะออกอากาศวันพรุ่งนี้อยู่แล้ว วันนี้ยังต้องหาผู้สนับสนุนกันอยู่ จึงทำให้รายการดีๆหลายรายการไม่สามารถแจ้งเกิดได้ ดังนั้นเมื่อ 2 ฝ่ายมาเจอกัน ตัวผมซึ่งมีความต้องการที่จะทำรายการ กับเครือซีเมนต์ไทยที่ต้องการจะสนับสนุน ก็เกิดเป็นรายการไอคิว 180 ขึ้น”

“หนังสือเรียน” แหล่งข้อมูลใกล้ตัวที่กลายเป็นโจทย์การแข่งขัน

อ.ชัยณรงค์ เล่าว่า เดิมก่อนที่จะให้ชื่อรายการไอคิว 180 จะให้ชื่อ “รายการติวสอบ” เพราะรูปแบบรายการจะคล้ายการติวข้อสอบให้เด็กในระดับชั้นเรียนต่างๆ ซึ่งข้อมูลที่ได้ก็นำมาจากหนังสือที่เด็กใช้เรียนกันอยู่แล้ว

“จะเห็นได้ว่าเราจะไม่เอาเด็กข้ามชั้นมาแข่งกัน ถ้าอาทิตย์นี้เป็นของ ม.1 ผู้ที่เข้าแข่งต้องเป็นนักเรียนชั้น ม. 1 เท่านั้น ถ้าอาทิตย์นี้เป็น ม. 5 เขาจะอยู่ชั้น ม. 5 กันหมดเลย และคำถามที่เอามาถามก็จะนำมาจากหนังสือตำราที่เขาใช้เรียนกันอยู่ ดังนั้นจึงเป็นการทบทวน เป็นการติวข้อสอบ เป็นการพูดถึงสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเขา ที่เขากำลังเรียนอยู่โดยเฉพาะ”

เข้มคณิตศาสตร์และ วิทยาศาสตร์ เพราะเด็กไทยความรู้ยังอ่อนแอ

อ.ชัยณรงค์ อธิบายถึงเหตุผลที่รายการเน้นแข่งขันด้านโจทย์คณิตศาสตร์มากที่สุดว่า เดิมรายการเน้นโจทย์คำถามวิชาอื่นๆด้วย เช่น วิชาสังคม ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย แต่ระยะหลังรัฐบาลมีนโยบายที่อยากกระตุ้นเกี่ยวกับวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ให้มาก เพราะเด็กไทยยังอ่อน ทางรายการจึงมุ่งส่งเสริม 2 วิชานี้ให้มากขึ้น

“เครือซีเมนต์ไทยจึงจับตรงนั้นมาว่า เราจะให้ความสำคัญกับวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์มาก เพราะในวงการศึกษา เราจะสังเกตว่า เด็กคนไหนก็ตามที่เก่งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิชาอื่นก็เก่งไปด้วย เพราะเขาเริ่มรู้วิธีการเรียนและเห็นคุณค่าของวิชาที่เรียน ดังนั้นพอเห็นตรงนี้และทำตรงนี้ได้ ตรงอื่นก็จะตามมาด้วย”

อำลารายการเพราะอยู่มานานและเจอพิษเศรษฐกิจ

“ เหตุที่รายการต้องปิดฉากลง มี 2 เหตุผล คือ 1.รายการมีมานานแล้ว กระทั่งมีผู้ร่วมรายการคนหนึ่งบอกว่า คุณแม่หนูก็เคยมาออกรายการนี้(หัวเราะ) ซึ่งมันข้ามยุคกันเลย ก็เลยคิดว่า มันก็นานพอสมควร และ 2. ช่วงนั้น(ปี 2540)ก็เป็นช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ก็เลยคิดว่า มันก็น่าจะยุติตัวมันเองไปด้วย”

ไอคิว 180 สัญลักษณ์ของเครือซีเมนต์ไทย ?

อ.ชัยณรงค์ บอกว่าไม่คิดจะสร้างตัวแทน หรือผู้สืบทอดรายการ เนื่องจากได้มีการคุยกันอย่างไม่เป็นทางการกับเครือซีเมนต์ไทยตั้งแต่ต้นว่า เมื่อไหร่ที่เครือซีเมนต์ไทยไม่สนับสนุน อ.ชัยณรงค์ ก็จะไม่หาผู้สนับสนุนรายใหม่ ส่วนเครือซีเมนต์ไทยก็บอกว่า ถ้าหากอาจารย์ไม่ทำก็จะไม่หาคนอื่นมาทำเช่นกัน เพราะมันเหมือนเป็นสัญลักษณ์ของกันและกัน รายการไอคิว 180 และเครือซีเมนต์ไทยเป็นหนึ่งเดียวกัน ดังนั้นถ้าเครือซีเมนต์ไทยให้คนอื่นมาทำ ก็จะไม่ใช่ไอคิว 180 และถ้าทำไอคิว 180 กับคนอื่น ก็ไม่ใช่อีก เพราะมันเกิดมาร่วมกันเป็นเวลามาเกือบ 20 ปี

กระแสเกมโชว์เบียด เหตุควิชโชว์วิชาการค่อยๆหายไป

“คิดว่าเป็นเรื่องของแนวโน้ม และกระแส ซึ่งจะเป็นจริงหรือเปล่าไม่ทราบที่ทำให้รายการควิชโชว์วิชาการค่อยๆหายไป แต่มีความรู้สึกว่า รายการที่คนสนใจจะดูต้องออกมาเป็นกึ่งเกมโชว์ คือตัวความรู้อาจจะมีอยู่ แต่ตัวหลักหรือตัวนำอาจต้องเป็นลักษณะของเกมโชว์ที่สนุกสนาน รางวัลอาจจะเยอะ คือมันมีตัวอื่นที่เป็นปัจจัยแทรกเข้ามาที่ให้ความสำคัญสูงกว่า ในขณะที่ตัวเนื้อหาอาจจะลดลงไป หรืออาจจะมีไม่มากเท่าไหร่ แต่ต้องมีลูกเล่นที่แพรวพราวมากขึ้น จึงทำให้รายการเนื้อๆลักษณะควิชโชว์วิชาการ ต้องกลายเป็นของอีกยุคหนึ่งไป”

หาสปอนเซอร์สนับสนุนรายการในปัจจุบันง่ายกว่าในอดีต

อ.ชัยณรงค์ มีความคิดเห็นว่า การหาสปอนเซอร์สนับสนุนรายการประเภทควิชโชว์วิชาการ ระยะหลังอาจจะดีขึ้น ด้วยเหตุผล 2 ข้อ คือทางสถานีโทรทัศน์มีช่วงกรอบเวลาสำหรับเด็กและเยาวชน จึงจัดเวลาในการออกอากาศอย่างเหมาะสม และ ส่วน 2 ในเชิงของสังคม บริษัทประเภทมหาชนก็จะมีงบประมาณสำหรับส่งเสริมสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ทำให้รู้สึกว่าน่าจะยังพอมีบริษัทที่ให้ความสนใจสนับสนุนรายการประเภทนี้อยู่บ้าง

“รูปแบบน่าสนใจและคำถามไม่ยาก” กุญแจไขความสำเร็จของควิชโชว์วิชาการ

การทำให้ควิชโชว์วิชาการประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ซึ่ง อ.ชัยณรงค์ บอกว่า ปัจจัยสำคัญยังต้องทำให้รายการน่าสนใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ หากทำแล้วดูน่าเบื่อ เช่น ถามคำถามไปแล้วผู้เข้าแข่งขันเงียบไปหนึ่งนาที ยังไม่มีคำตอบอะไรออกมา ก็จะทำให้รายการไม่สนุก หรือหากจะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นก็ต้องแค่ครั้ง 2 ครั้ง ด้วยเหตุผลที่ว่าโจทย์อาจจะยากไป

“รูปแบบรายการไอคิว 180 ได้แนวความคิดมาจากทางยุโรป เขาได้ทำการวิจัยและพัฒนามาพอสมควรว่า รูปแบบที่น่าสนใจคือ ต้องเป็นรูปแบบที่เราร่วมกับผู้ร่วมรายการกำลังจะให้คุณค่าและความรู้แก่ผู้ชมจำนวนมากที่ชมรายการนี้อยู่ ดังนั้น เราจึงไม่สามารถไปตั้งคำถามประเภทที่ว่า เอาให้ยากเข้าไว้ คุณตอบไม่ได้ก็เป็นเรื่องของคุณ ถ้าอย่างนั้นมันจะหมดรสชาติทันที

แต่ในเวลาเดียวกันเราก็ไม่สามารถที่จะทำว่า นี่คือคำถามที่ฉันจะถาม ให้เธอตอบออกมาให้ได้อย่างนี้ก็ไม่ใช่ มันก็จะหมดรสชาติอีก วิธีดีที่สุดคือ เราตีกรอบเอาไว้ ถ้าเป็นคำถามเรื่องวิทยาศาสตร์ หนังสือวิทยาศาสตร์ที่เธอเรียน นั่นคือคำถามที่เอามาจากที่นั่น ถ้าอย่างนั้นเขารู้แล้ว เพราะมันมีกรอบ เขาก็จะไปดู และจะช่วยในการเรียนของเขาด้วย ซึ่งจะทำให้เวลาที่จะถามอะไรก็ตามอย่างน้อยสำหรับเด็กที่มาร่วมรายการจะ ไม่ยากเกินไปสำหรับเขา และพอเราถาม เขาตอบได้ และแย่งกันตอบ ความสนุกมันจะเกิด แต่ในขณะเดียวกันเนื้อหายังมีอยู่และประโยชน์ก็จะได้กับผู้ที่ชม”

“พีธีกรแม่นในคำตอบ และมีความยุติธรรม” 2 สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำ ไอคิว 180

อ.ชัยณรงค์ เล่าว่า สิ่งที่ยากที่สุดในการทำรายการ ไอคิว 180 อยู่ที่ตัวพิธีกรต้องแม่น เพราะผู้เข้าแข่งขันไม่สามารถตอบตามคำตอบที่เฉลยเตรียมไว้ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยอาจจะตอบคล้ายๆเฉลย หรือตอบเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าพิธีกรแม่นจะสามารถตัดสินใจได้ว่า อย่างนี้ให้ถูกได้หรือไม่ ที่สำคัญเมื่อเด็กตอบไม่ตรงคำเฉลย พิธีกรไม่สามารถจะหันไปถามความเห็นทีมงานข้างๆเวทีที่เตรียมเรื่องนี้ว่าได้หรือไม่ได้ ทุกอย่างพีธีกรต้องเตรียมเอง ดังนั้นพิธีกรจึงต้องแม่น ประการที่ 2 ต้องมีความยุติธรรม พิธีกรไม่สามารถเข้าข้างคนใดคนหนึ่ง หรือโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่ง ซึ่งผู้เข้าแข่งขันบางคนอาจมาจากโรงเรียนที่ดังมาก แต่หากตอบพลาด หรือตอบไม่ตรง ถ้าไม่สามารถให้คะแนนได้ถูกหรือเต็มได้ ก็ต้องว่าไปตามนั้น

“ผมให้ความสำคัญกับเด็กต่างจังหวัดค่อนข้างสูง เพราะเด็กต่างจังหวัดก็มีคนเก่ง ถ้าเขาได้รับการฝึกฝนและเอาใจใส่จากครูซึ่งเป็นพี่เลี้ยงก็มีโอกาส ดังนั้นเวลาที่เอาเด็กต่างจังหวัดมาประกบกับเด็กในกรุงเทพฯ แล้วเขาทำได้ดี หรือหลายครั้งที่เขาชนะ มันเป็นกำลังใจกับเขามาก และในแง่ของจิตวิทยาก็สามารถบอกเขาได้ว่า ไม่จำเป็นจะต้องเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯเสมอไป ถ้าเราอยู่ต่างจังหวัด เราได้ครูที่เอาใจใส่ และเราให้ความสนใจในการเรียนก็สามารถที่จะเก่งได้”

เด็กยุคปัจจุบันสมาธิสั้น-ขาดจินตนาการกว่าเด็กในยุครายการ ไอคิว 180

อ.ชัยณรงค์ แสดงความคิดเห็นถึงความแตกต่างระหว่างเด็กยุคปัจจุบันและเด็กในยุคไอคิว 180 ว่า เด็กในยุคปัจจุบันจะมีสมาธิสั้นกว่าเด็กในยุคก่อน เพราะโลกยุคปัจจุบันเป็นยุคไอทีที่ต้องการความรวดเร็ว ต้องการสิ่งซึ่งจะสนองตอบได้อย่างฉับพลัน การที่จะมีเวลาคิด มีเวลาไตร่ตรอง อาจจะไม่ลึกซึ้งเท่าเด็กยุคก่อน ทั้งนี้ หากจะตั้งคำถามเพื่อทดสอบความสามารถ วิธีการถามหรือคำถาม อาจจะต้องลดความลึกซึ้งลงไป เพราะเด็กยุคปัจจุบันไม่สามารถที่จะรับความลึกซึ้งได้มากเหมือนเด็กสมัยก่อนๆ

“ยกตัวอย่าง ระยะหลังๆ เราจะเห็นรายการโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ดีๆ เยอะ ทำให้การอ่านหนังสืออย่างได้ประโยชน์ไม่มากเท่าที่ควร เมื่อก่อนวรรณกรรมดีๆที่เวลาอ่านผู้อ่านจะเกิดจินตนาการ ชนิดที่ให้ 10 คนมาบรรยาย ทั้ง10 คนก็จะจินตนาการออกไปแตกต่างกัน บัดนี้เขาไม่ต้องจินตนาการเพราะโทรทัศน์ให้หมดแล้ว ภาพยนตร์ให้หมดแล้ว เพราะเขาทำออกมาดีขึ้นเรื่อยๆ มันชวนให้ดู ตรงนี้คือสิ่งที่หายไป” อ.ชัยณรงค์กล่าว

ไอคิว 180 เวทีประเดิมความสามารถของเด็กโอลิมปิกวิชาการ

นอกจากนี้ อ.ชัยณรงค์ เล่าว่า เด็กที่เคยเข้ามาร่วมแข่งขันในรายการบางคน ระยะต่อมาก็จะได้ยินชื่อเด็กเหล่านี้ไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการในเชิงของวิทยาศาสตร์ ซึ่งรายการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนที่จะให้เด็กเก่งทางด้านวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ แม้จะไม่ได้ติดตามความสำเร็จเป็นรายบุคคล แต่ อ.ชัยณรงค์ สังเกตเห็นว่า ส่วนใหญ่เด็กหลายๆคนเมื่ออ่านประวัติ ก็มักจะระบุว่าเคยมาร่วมรายการไอคิว 180 มาก่อน หรือหากเด็กได้มีโอกาสแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตในโรงเรียนหรือการบรรยายที่ไหน หลายครั้งก็จะได้ยินว่าเขาเคยเข้าร่วมแข่งขันในรายการ ไอคิว 180 มาก่อน

ไม่คิดจะกลับมาจัดรายการควิชโชว์วิชาการ แต่ยินดีให้คำแนะนำแก่คนที่อยากทำ

อ.ชัยณรงค์ บอกว่า แม้ขณะนี้จะเลยยุคของอาจารย์ไปแล้ว แต่ก็ยินดีที่จะให้การสนับสนุน หรือให้ความช่วยเหลือแนะนำคนที่มีความคิดอยากจะทำรายการแนวนี้ ถ้าอยากจะได้วิธีคิดแบบอาจารย์ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นความลับ จึงยินดีที่จะแบ่งปันและถ่ายทอดให้

“ผมคิดว่าชีวิตของเราไม่ว่าจะทำอะไรก็ดีทั้งนั้น ขอให้เป็นสิ่งที่ดี ถึงแม้ไม่ได้ทำตรงนั้น ผมก็จะทำตรงอื่นที่คิดว่ามันก็มีคุณค่าและมีประโยชน์เช่นกัน ตรงกันข้าม ถ้าหากมันต้องเป็นเราเท่านั้นที่กลับมาทำ แสดงว่าวงการโทรทัศน์ทางด้านนี้มันไม่มีความก้าวหน้า ยังต้องพึ่งคน ไม่ใช่พึ่งตัวระบบหรือความคิดที่สามารถสร้างกันต่อๆไปอีกได้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ดี”

หวังให้คนไทยนำภูมิปัญญาไทยมาสร้างรายการแบบ“เมกก้าเคลฟเวอร์:ฉลาดสุดๆ”

สำหรับการนำรายการแนววิทยาศาสตร์จากต่างประเทศมาออกอากาศ เช่น รายการ “เมกก้าเคลฟเวอร์:ฉลาดสุดๆ” อ.ชัยณรงค์ มองว่า อะไรก็ตามที่เป็นความรู้ ก็ควรรับไว้ เพียงแต่เสียดายที่เมืองไทยเราการทำรายการประเภทนี้ ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลงทุนการถ่ายทำ การค้นคว้า หรือหาวิทยากรผู้รู้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น เมื่อเรายังไม่สามารถทำได้ แทนที่จะไม่เอามาเพราะคิดว่าเป็นของต่างประเทศ อ.ชัยณรงค์ มองว่า ตัวเขาเปิดใจรับไม่เป็นปัญหา แต่ก็มีความหวังนิดๆว่าคนไทยน่าจะสามารถทำ และหาสิ่งดีที่เป็นภูมิปัญญาแบบไทยนำมาให้ผู้ชมในลักษณะนั้นบ้าง

นี่คือมุมมอง และการดำเนินชีวิตของ อ.ชัยณรงค์ ภายหลังจากรายการไอคิว 180 ปิดฉากลง เมื่อปี 2540 ซึ่งอาจพอทำให้ใครหลายคน คลายความคิดถึงอดีตพิธีกรผู้เป็นโลโก้ควิชโชว์วิชาการผู้นี้ได้บ้าง ไม่ง่ายที่รายการที่เปี่ยมไปด้วยเนื้อหาสาระเชิงวิชาการสำหรับเด็กและเยาวชนจะประสบความสำเร็จ และก็ไม่ยากที่รายการประเภทนี้จะเป็นที่จดจำของผู้ชม แต่ รายการไอคิว 180 นั้นทำได้ และจะอยู่ในความทรงจำของใครหลายคนตราบนานเท่านาน
อ.ชัยณรงค์ ขณะทำงานที่มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น
กำลังโหลดความคิดเห็น