เยาวชนไทยสุดเจ๋งนำ 2 โครงงาน “การแตกตัวของต้อยติ่ง-การดูดซับน้ำมันของหญ้าปล้อง” ขึ้นเวทีโลกคว้ารางวัลที่ 2 และที่ 3 แกรนด์อะวอร์ด เวทีเดียวกับโครงงาน “การเคลื่อนที่ของกิ้งกือ” ที่เคยสร้างชื่อเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา
การประกวดอินเทล ไอเซฟ 2006 (Intel International Science and Engineering Fair: Intel ISEF 2006) ณ เมืองอินเดียนาโปลิส รัฐอินเดียนา สหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-18 พ.ค.นี้ เยาวชนไทย 2 ทีมนำโครงงานวิทยาศาสตร์ขึ้นคว้ารางวัลประเภททีมอันดับ 2 และที่ 3 แกรนด์อะวอร์ดตามลำดับ
สำหรับโครงงานวิทยาศาสตร์เรื่องแรกคือ “การแตกตัวของฝักต้อยติ่ง” ของ 3 เยาวชนไทย นายครองรัฐ สุวรรณศรี นายทะนงศักร ชินอรุณชัยและนายสุขสันต์ อิทธิปัญญานันท์ พร้อมอาจารย์ที่ปรึกษา อ.นิพนธ์ ศรีนฤมล ซึ่งเป็นการทดลองเพื่อศึกษาลักษณะการแตกตัวและความยาวที่เหมาะสมในการขยายพันธุ์ โดยพบว่าเมื่อน้ำสัมผัสที่ยอดฝักเท่านั้นจึงจะทำให้ต้อยติ่งแตกตัว
อีกโครงงานคือ “การศึกษาความเหมาะสมของการนำไส้หญ้าปล้องไฮมีนาชีนมาใช้ดูกซับคราบน้ำมันในแหล่งน้ำ” ผลงานของ ด.ช.พีรจุฬา จุฬานนท์ ด.ญ.จิตต์ศจี สิชฌนุกกฤษฎ์ นายตากเพชร เลขาวิจิตร 3 นักเรียนชั้น ม.ต้นจากโรงเรียนบดินทร์เดชา(สิงห์ สิงหเสนี) ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์และวิศวกรรมศาสตร์ (YSC) ในมหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทยครั้งที่ 5 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้โครงงาน “วิธีการ Binarization สำหรับภาพจากกล้องเพื่อการรู้จำตัวอักษร” ของนายณัฎฐ์ ปิยะปราโมทย์ จากโรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย จ.ราชบุรี ยังคว้ารางวัลที่ 1 จากสมาคมเครื่องจักรคำนวณ (Association for Computing Machinery) และรางวัลสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ด้านปัญญาประดิษฐ์จากสมาคมปัญญาประดิษฐ์อเมริกัน (American Association for Artificial Intelligence)
ทั้งนี้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาเยาวชนไทยได้เคยคว้ารางวัลพิเศษจากองค์กรระดับโลกอย่าง “ซิกมาไซ” (Sigma Xi) จากการประกวดโครงการคลื่นการเดินของกิ้งกือ ซึ่งเป็นโครงงานที่บูรณาการความรู้หลายสาขาคือ ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์และชีววิทยาเข้าไปด้วยกัน