xs
xsm
sm
md
lg

“ค่ายเด็กอัจฉริยะ” ปูทางสร้างนักวิจัยให้ทำงานเป็นทีม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ท่ามกลางอากาศที่แจ่มใสของเมืองโคราช เยาวชนกลุ่มหนึ่งซึ่งมาเข้าค่ายที่บ้านไร่แห่งวังน้ำเขียวกำลังขะมักเขม้นกับการถ่ายภาพซึ่งดูเผินๆ ก็เหมือนกับเด็กทั่วไป แต่ที่จริงแล้วพวกเขาเป็น “เด็กอัจฉริยะ” ที่มารวมตัวกันด้วยภารกิจสำคัญ “เพียงเพื่อพบกัน” พร้อมกิจกรรมเบาๆ เพื่อเติมเต็มชีวิตอีกด้านและสานสัมพันธ์สู่การสร้างงานวิจัยที่เราอาจจะคาดไม่ถึง

ทุกๆ ปีเยาวชนประมาณ 100 คนจะถูกคัดเลือกเข้าโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน(JSTP) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) โดยจะสรรหาเด็กซึ่งมีแววเก่งทางด้านวิทยาศาสตร์และพร้อมรับการส่งเสริมให้เป็นนักวิจัยจากระดับชั้น ม.ต้น-ปริญญาตรีเพื่อเข้าโครงการระยะสั้นเป็นเวลา 1 ปี

ภายในระยะเวลาดังกล่าวเยาวชนเหล่านั้นจะได้เข้าค่ายวิทยาศาสตร์ตลอดทั้งปีรวม 3 ครั้ง และมีโอกาสได้ร่วมงานกับนักวิจัยซึ่งเป็น “นักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยง” (Mentor) รวม 2 สัปดาห์ ก่อนที่พวกเขาจะใช้เวลาที่เหลือทำโครงงานหรืองานวิจัยเพื่อนำเสนอตอนสิ้นปีการศึกษา และจะมีเด็กเก่งราว 10-20 คนที่ถูกคัดเข้าสู่โครงการะยะยาว ซึ่งจะได้รับทุนเรียนฟรีจนถึงระดับปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วเมืองไทย

หลายคนอาจจะปรามาสคนไทยด้วยกันเองว่าเก่งที่จะทำอะไรคนเดียวแต่ล้มเหลวกับการทำงานเป็นทีม แต่สำหรับเยาวชน JSTP แล้วความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันคือสิ่งสำคัญ ซึ่งหลังจากได้รับทุนระยะยาวและแยกย้ายกันไปศึกษาตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ พวกเขาก็จะกลับมารวมตัวกันในค่ายใหญ่ปีละครั้ง โดยล่าสุดพวกเขาได้ไปเข้าค่ายด้วยกันที่ “บ้านไร่กุลวณิชย์” อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เพื่อเรียนรู้การวาดภาพทางวิทยาศาสตร์และถ่ายภาพธรรมชาตินอกพื้นที่

สำหรับผู้บุกเบิกการทำกิจกรรมและมีประสบการณ์ในการจัดค่ายให้เด็กกลุ่มนี้มาตั้งแต่เริ่มโครงการเป็นเวลา 9 ปี อย่าง “ฤทัย จงสฤษดิ์” นักวิชาการโครงการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษและส่งเสริมอาชีพนักวิจัย สวทช.หรือ “พี่จุ๋ม” ของน้องๆ ได้กล่าวถึงโครงการ JSTP ว่ามีเป้าหมายในการค้นหาเด็กซึ่งมีศักยภาพสูงในด้านวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ มาบ่มเพาะดูแลในเรื่องที่เด็กสนใจ เพื่อส่งเสริมให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ในอนาคต โดยส่วนหนึ่งมีนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงที่คอยดูแลในเรื่องงานวิจัยและอีกส่วนที่สำคัญคือการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ โดยจะจัดกิจกรรมให้เยาวชนได้มารวมกันในฤดูร้อน

จัดค่ายให้เด็กมาเจอกันสร้างเครือข่ายงานวิจัย

“เป้าหมายของค่ายในโครงการสำหรับเด็กเจเอสทีพีคือ 1.เด็กเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและปฏิสัมพันธ์กันในเด็กที่มีความสนใจเรื่องเดียวกัน แล้วนำความคิดมาสร้างงานใหม่ๆ ได้ 2.พยายามสร้างแนวคิดและจุดประกายอบรมความรู้ให้เด็กเกิดความคิดทางด้านวิทยาศาสตร์ต่างๆ เติมเต็มให้เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพ เราไม่ได้อบรมแค่วิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่เสริมให้เขาในส่วนอื่นๆ ด้วย”

“เราก็พยายามคิดโปรแกรมที่ทำให้เด็กมารวมตัวกันในช่วงของภาคฤดูร้อน แล้วสอบถามเด็กว่าเขามีความต้องการพัฒนาส่วนไหน เช่น เด็กบางคนเก่งวิทยาศาสตร์แต่ยังมีจุดอ่อนทางด้านภาษาอังกฤษ ก็จะจัดอบรมให้เขาโดยเน้นภาษาอังกฤษที่ใช้ในงานวิทยาศาสตร์ เด็กบางคนมีงานวิจัยแล้วอยากเขียนผลงาน เราก็พยายามให้อาจารย์มาสอนว่าต้องเขียนอย่างไร แล้วก็มีกิจกรรมเสริมอื่นๆ เช่น ถ่ายภาพและวาดภาพทางวิทยาศาสตร์”

“การเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพ เขาต้องไม่เก่งเรื่องวิทยาศาสตร์อย่างเดียว เขาอาจจะเก่งในเรื่องอื่นด้วยเพราะเขาต้องอยู่กับคนอื่นในสังคม และเด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่ใช้ทุนจากเงินภาษีของประชาชน ดังนั้นส่วนหนึ่งของค่ายก็ต้องทำให้เขานึกตรงนี้ให้ท่องแท้เหมือนกันว่า เขาใช้เงินของประชาชนพัฒนาตนเองหรือทำอะไร จบมาแล้วเขาก็ต้องพยายามคิดเรื่องใหม่ๆ ให้กับสังคมด้วย

“สิ่งสำคัญอีกอย่างของการจัดค่ายคือให้เขามาเจอกัน ให้เขารู้ว่าถ้าเขาอยู่ที่โรงเรียนแล้วสนใจในบางเรื่อง เขาอาจจะดูโดดเดี่ยว ไม่ได้มีคนสนใจเหมือนกับเขามากนัก เวลาที่เขามาเจอเพื่อนๆ ที่พฤติกรรมหรือความชอบคล้ายๆ กัน อาจจะดีขึ้น ให้เขามาแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เด็กในสาขาคณิตศาสตร์อาจตจะมาคุยกัน หรือแม้กระทั่งเด็กต่างสาขาอาจจะเอางานต่างสาขามาเชื่อมกลายเป็นงานใหม่ๆ ได้” ฤทัยชี้แจง

อัจฉริยะคอมพิวเตอร์เจอนักชีววิทยา-ลงตัวที่โปรแกรมนับสาหร่าย

ตัวอย่างของการสร้างงานวิจัยแบบบูรณาการซึ่งเกิดจากเยาวชนที่มีความสามารถต่างสาขาคือ การพัฒนาโปรแกรมวัดการเจริญเติบโตของสาหร่าย ซึ่งต้องใช้ทักษะทางด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ผสานเข้ากับความรู้ทางด้านชีววิทยา และผลจากการทำงานเป็นทีม ทำให้เจ้าของผลงานคือนายอารยะ สวัสดิชัย และนายพันธุ์วงค์ คุณธนะวัฒน์ ชนะเลิศการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

งานดังกล่าวเริ่มจากที่พันธุ์วงค์ซึ่งปัจจุบันกำลังศึกษาปริญญาเอกทางด้านชีววิทยา ณ มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ (University of Glasgow) สหราชอาณาจักรได้ศึกษาเรื่องสาหร่ายและต้องการวัดการเจริญเติบโต ทั้งนี้การวัดการเจริญเติบโตของสาหร่ายทำได้ 2 วิธี อย่างแรกคือนับจำนวนจากหยดน้ำที่เลี้ยงสาหร่ายด้วยกล้องจุลทรรศน์ซึ่งต้องใช้แรงงานมากและเสียเวลา อีกวิธีคือใช้เครื่องสเปกโตรมิเตอร์(Spectrometer) วัดการดูดกลืนแสงซึ่งถ้ามีสาหร่ายมากก็ดูดกลืนแสงมากแต่ถ้ามีสาหร่ายน้อยก็ดูดกลืนแสงน้อย แต่วิธีดังกล่าวต้องเรียนรู้เทคนิคการใช้เครื่องจึงจะวัดได้ผลดี

พันธุ์วงค์จึงมาปรึกษากับอารยะซึ่งทำงานเกี่ยวกับการประมวลผลภาพ (image processing) และขณะนั้นเพิ่งทำโปรแกรมนับเมล็ดข้าวสารได้เพื่อทำโปรแกรมวัดการเจริญเติบโตของสาหร่าย โดยเริ่มทำงานจากการคุยกันว่าจะออกแบบโปรแกรมให้มีหลักการอย่างไร สร้างอัลกอลิทึมอย่างไรให้คอมพิวเตอร์เข้าใจโครงสร้างของสาหร่าย ซึ่งทั้งสองแบ่งงานกันโดยอารยะเป็นผู้เขียนโปรแกรมและพันธุ์วงค์เป็นผู้ทำการทดลองและเก็บข้อมูล

อารยะซึ่งปัจจุบันกำลังศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 ภาควิชาคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่าโดยธรรมชาติของเด็กที่เรียนคอมพิวเตอร์มักจะไม่ชอบชีววิทยา แต่เมื่อได้ร่วมงานต่างสาขากับพันธุ์วงค์จึงเห็นว่าชีววิทยาก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ และยอมมาทำงานด้วยส่วนหนึ่งก็เพราะสนิทกันจากการเข้าค่ายมาก่อน

ธรรมชาติไม่แยกวิชา

ตามธรรมชาติของเด็กคอมฯ ไม่ชอบชีวะอยู่แล้ว แต่วันหนึ่งตอนทำการทดลองวัดการกระจายของเส้นสาหร่าย ผมคิดว่าไม่น่าจะมีอะไรมาก การกระจายตัวน่าจะเท่ากันหมด แต่ผลการเก็บตัวอย่าง 28 วัน กราฟเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ก็สงสัยว่าทำไม พี่ต้น(พันธุ์วงค์) ก็บอกว่าตัวเต็มวัยเริ่มแตกฟิลาเม็นต์ (filament) นะ เลยแตกเป็นตัวเล็กๆ ไง ผมก็ว่า..เออ..เจ๋งดีนะ” อารยะกล่าว

ในขณะที่พันธุ์วงค์ให้ความเห็นว่าการทำงานร่วมกันดังกล่าวเป็นการฝึกระบบความคิด และการที่ไม่ได้เรียนด้านคอมพิวเตอร์แต่มีโอกาสได้ฝึกฝนและคิดแบบนักคอมพิวเตอร์ ทำให้ได้ฝึกสมองและเปิดโลกของตัวเองแทนที่จะอยู่กับสาหร่ายอย่างเดียวและอยู่แค่นั้นตลอดไปซึ่งบางคนก็อาจจะปิดตัวเองอย่างนั้น แต่ที่จริงแล้วทุกอย่างเกี่ยวข้องกันหมด

“เป็นมนุษย์เราเองเข้าไปแยกว่าธรรมชาติแบบนี้เรียกว่าอะไร ถ้าธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับชีววิทยาเราก็เรียกว่าชีวะ ถ้าเป็นเรื่องของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เราก็เรียกคอมพิวเตอร์ จริงๆ แล้วเกี่ยวกันหมด เราไม่ควรปฏิเสธว่าทำชีวะแล้วจะไม่ยุ่งกับฟิสิกส์เลย เป็นไปไม่ได้เพราะสิ่งมีชีวิตก็คือสสารชนิดหนึ่งซึ่งอยู่ภายใต้กฎของฟิสิกส์” พันธุ์วงค์ให้ความเห็น

นอกจากเก่งวิทย์แล้วยังมีแววทางศิลป์

สำหรับกิจกรรมที่ทางเจ้าหน้าจัดให้กับเยาวชน JSTP ปีนี้คือการวาดรูปทางวิทยาศาสตร์ซึ่งหลังจากอบรมแล้วจะต้องวาดภาพสิ่งมีชีวิตให้อาจารย์ตัดสิน และการถ่ายภาพธรรมชาติซึ่งเยาวชนในค่ายจะต้องถ่ายภาพบรรยากาศภายในไร่กุลวณิชย์และส่งประกวดหาภาพถ่ายดีที่สุดซึ่งก็มีน้องๆ หลายคนถ่ายภาพได้สวย

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมให้เยาวชนได้พบกับผู้ที่ทำงานทางด้านหนังสือจากกองบรรณาธิการนิตยสาร “สารคดี” และ “อัพเดต” ซึ่งหลายคนแสดงความสนใจที่จะเขียนบทความทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยได้ซักถามถึงโอกาสและแนวทางที่จะทำให้งานเขียนได้รับการตีพิมพ์ ซึ่งได้รับคำแนะนำว่าควรจะเขียนเรื่องที่ “อ่านสนุก” ไม่ซับซ้อนเกินไปและตรงกับลักษณะของหนังสือ

ทางด้านความเห็นของวิทยากรอย่าง ดร.ศศิวิมล แสวงผล จากภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งเป็นวิทยากรเรื่องการวาดภาพทางวิทยาศาสตร์กล่าวว่าเด็กกลุ่มนี้มีความตั้งใจและเรียนรู้ได้เร็ว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีความช่างสังเกตและช่างสงสัย ทำให้การอบรมไม่ค่อยมีปัญหามากนัก โดยเยาวชนเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มที่สอนได้ดีที่สุดเท่าที่เคยสอนมา

นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงการวาดภาพทางวิทยาศาสตร์ด้วยว่ามีความสำคัญในการบอกลักษณะของสิ่งมีชีวิต ซึ่งจะสามารถบอกลักษณะที่ถูกต้องขององค์ประกอบที่สำคัญๆ ของสิ่งมีชีวิตหรือสิ่งของได้ครบถ้วน ต่างจากภาพถ่ายซึ่งเก็บรายละเอียดสิ่งของหรือสิ่งมีชีวิตนั้นๆ แต่ไม่ได้เป็นตัวแทนลักษณะทั้งหมด

ขณะที่ทีมวิทยากรจากนิตยสาร “บ้านและสวน” ซึ่งมาให้ความรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพให้ความเห็นว่าเด็กๆ หลายคนมี “แวว” ที่จะถ่ายภาพได้ดี โดยในส่วนของการเตรียมตัวมาให้ความรู้เยาวชนก็ไม่ได้เตรียมตัวอะไรมากนัก เพราะเป็นเรื่องที่ตรงกับสายงานอยู่แล้ว แต่มีเวลาในการสอนค่อนข้างจำกัดเพียงแค่ 1 วัน จึงเตรียมตัวอย่างภาพถ่ายมาให้เด็กดูมากๆ เพื่อเป็นแบบอย่าง

สร้างเครือข่ายนักวิจัยคือหัวใจสำคัญของค่าย

ทั้งนี้เด็กๆ ที่ได้ชื่อว่าเป็นอัจฉริยะทางด้านวิทยาศาสตร์ ส่วนใหญ่ให้ความเห็นไปแนวทางเดียวกันว่าชอบลักษณะกิจกรรมที่จัดให้และไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เพราะถือว่าการเข้าค่ายเป็นการพักผ่อน เนื่องจากปกติตลอดทั้งปีจะต้องทำงานวิจัยร่วมกับนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงซึ่งถือว่าหนักพอสมควร และหากเป็นไปได้อยากให้จัดให้นานขึ้น

“การรวมตัวเป็นเครือข่ายสำคัญที่สุดแล้ว” นายกิตติรัช ดวงเอี่ยม เยาวชนในโครงการ JSTP นิสิตชั้นปีที่ 1 ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นซึ่งสอดคล้องกับนายพิสิษฐ์ เกียรติกิตติกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิยาลัยเชียงใหม่ที่กล่าวว่าการเข้าค่ายของพวกเขาทำให้ได้เครือข่ายซึ่งจะช่วยเหลือในการทำงานวิจัยได้

ส่วนนายวนรักษ์ ชัยมาโย นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่าประโยชน์ของการเข้าค่ายคือการอัพเดตข้อมูลของเพื่อนๆ ในโครงการว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร เพราะไม่ได้เจอกันนานก็มารับรู้ข้อมูลว่าใครไปเรียนที่ไหนหรือทำอะไร และก็เรื่องไร้สาระทั่วไป ซึ่งอาจจะช่วยให้คำแนะนำในเรื่องการเรียนต่อกันได้

การอัพเดตข้อมูลเพื่อนสำคัญในแง่ที่ว่าพวกเราเป็นกลุ่มเดียวกัน เครือข่ายเดียวกัน แล้วทุกคนค่อนข้างจะไปมีเป้าหมายไปทางเดียวกันคือ “ทำวิจัย” เพราะฉะนั้นเรื่องราวของแต่ละคนจึงสำคัญ เมื่อเรามีจุดมุ่งหมายเดียวกันแล้ว การดำเนินชีวิตก็ออกแนวคล้ายๆ เพื่อที่เราจะได้มีจุดมุ่งเดียวกันได้ เช่น คนนั้นไปค่ายนี้มา เขาได้อะไรบ้าง หรืออีกคนเพิ่งไปดูงานที่ญี่ปุ่นก็มาเล่าสู่กันฟัง เพราะไม่ใช่ว่าเยาวชนทุกคนจะได้รับส่งเสริมเหมือนๆ กัน จึงเป็นการแลกเปลี่ยนที่ทำให้เรารู้เรื่องของคนอื่น แม้เราจะไม่ได้ทำกิจกรรมนั้นๆ ก็ตาม” วนรักษ์กล่าว

บรรยากาศค่ายเหมือนพี่พบน้อง

ส่วน ด.ญ.อติพร เทอดโยธิน นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนคินทรวิโรฒ ปทุมวัน ซึ่งเป็นน้องเล็กที่สุดในค่ายให้ความเห็นว่าไม่ได้คาดหวังอะไรจากค่าย แต่การเข้าค่ายทำให้ได้เปิดโลกทัศน์ และทำให้ได้รู้จักมองวิทยาศาสตร์ในมุมที่กว้างขึ้น ได้รู้จักเพื่อนๆ พี่ๆ ที่ชอบทางด้านเดียวกัน อีกทั้งได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ค่อนข้างเยอะ โดยเคยไปดูการปั้นดินเผา และได้ไปเลี้ยงวัวของชาวบ้านซึ่งสาธิตการรีดนมวัวให้ดูด้วย แต่ถ้าเป็นไปได้อยากให้จัดค่ายนานกว่านี้ ประมาณ 1 อาทิตย์กำลังดี

นอกจากนี้ น.ส.ชนกานต์ สืบถวิลกุล เยาวชนในโครงการที่ผ่านเข้าอบรมโอลิมปิกวิชาการสาขาเคมีในรอบสุดท้ายเพื่อคัดผู้แทนไปแข่งขันระหว่างประเทศ และปัจจุบันเป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวถึงค่ายว่าเป็นการรวมกลุ่มเหมือนพี่น้องที่คอยช่วยเหลือกัน และไม่เครียดเหมือนค่ายโอลิมปิกวิชาการ

ประทับใจค่ายเพราะเด็กในโครงการนี้ก็คอยช่วยเหลือกัน ไม่มีการแข่งขันกัน ทุกคนเป็นพี่เป็นน้อง คอยช่วยเหลือกัน ช่วยกันเรียน รู้สึกดี คาดหวังที่จะได้ประสบการณ์ ได้เจอพี่ๆ ที่สนใจในเรื่องเดียวกันมากกว่า ก่อนหน้านี้ก็เคยเข้าค่ายโอลิมปิกวิชาการ แต่ก็ได้แค่นั่งเรียน ไม่สนุก แต่ค่ายนี้ไม่รู้สึกเครียด ไม่กดดันตัวเอง สบายๆ แล้วก็ได้ทั้งเพื่อนและความรู้โดยที่ไม่ต้องไปแข่งขันอะไรกับใคร ส้มได้ความรู้ทางทฤษฎีจากค่ายโอลิมปิกและก็ได้มาปฏิบัติในค่ายนี้” ชนกานต์กล่าวถึงประสบการณ์ที่ได้รับ

ดีใจที่เด็กอัจฉริยะรู้เรียน-รู้เล่น

ในส่วนของผู้ดูแลกิจกรรมของเยาวชนในค่ายอย่าง "อติพร สุวรรณ" ผู้ประสานงานโครงการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษและส่งเสริมอาชีพนักวิจัย สวทช. ซึ่งเข้ามาคลุกคลีและทำงานค่ายเด็กอัจฉริยะอย่างเต็มตัวได้เกือบ 2 ปี โดยก่อนหน้านี้เคยมาเป็นวิทยากรให้กับค่ายบ้างกล่าวถึงเด็กๆ ในโครงการว่าเป็นเด็กที่มีความรับชอบ เมื่อถึงเวลาทำงานวิจัยก็ทำอย่างจริงจังและเมื่อถึงเวลาเล่นก็เล่นอย่างเต็มที่

ในมุมมองของพี่ที่มีต่อน้องๆ กลุ่มนี้ พี่ดีใจที่ถึงเวลาเขาทำวิจัยอย่างเต็มที่ หลายคนก่อนมาที่ค่ายก็รีบทำแล็บให้เสร็จ บางคนต้องนอนดึกเพื่อเข้าแล็บตลอด แต่พอมาถึงที่ค่ายเขาก็เต็มที่ ร้องเพลง เล่น ไม่ต้องกังวลกับงานวิจัย พี่ว่าก็ดีนะ ชีวิตเขาจะเต็มที่ไม่ใช่แค่เรื่องเรียนอย่างเดียวก็แบ่งส่วนหนึ่งมาเรื่องของกิจกรรม มาเสริมทักษะอย่างอื่น มาเจอเพื่อนๆ ช่วยเหลือกัน พี่น้องมาเจอกันเป็นเหมือนครอบครัว เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน”

อติพรกล่าวว่ารู้สึกดีที่เด็กเหล่านี้ไม่ได้มีแค่ไอคิวแต่ยังมีอีคิวซึ่งจะเป็นสิ่งที่ดีต่อการงานในอนาคต พร้อมทั้งยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับเพื่อนที่เก่งๆ สมัยเรียนของตัวเองว่าเอาแต่เรียนไม่สนใจกิจกรรม ซึ่งหลังจากเรียนจบแล้วก็มีปัญหาในการทำงานร่วมกับผู้อื่นและต้องใช้เวลาในการปรับตัวพอสมควร

...แม้ว่าปัจจุบันวงการวิทยาศาสตร์ในเมืองไทยจะยังไม่หวือหวา แต่เชื่อว่าการบ่มเพาะต้นกล้านักวิจัยเหล่านี้ให้รู้จักรักสามัคคี ร่วมกันบูรณาการเชื่อมงานวิจัยต่างสาขา เชื่อว่าอนาคตพวกเขาจะเป็นกำลังผลักดันชาติไปสู่ความก้าวหน้าได้อย่างไม่ยากเย็น...


คลิกที่ไอคอน Manager Multimedia
เพื่อรับชมภาพ กิจกรรมใน "ค่ายเด็กอัจฉริยะ"


ดูภาพชุดจาก Manager Multimedia






กำลังโหลดความคิดเห็น