xs
xsm
sm
md
lg

ดำดิ่งใต้ทะเล “แอตแลนติก” ชมมหัศจรรย์ “สัตว์น้ำ” นานาพันธุ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Clio pyramidata  สัตว์จำพวกปลาหมึกและหอยตัวสามเหลี่ยมปิรามิด เป็นสิ่งมีชีวตชุดแรกๆ ที่ทางทีมสำรวจพบและบันทึกลำดับดีเอ็นเอไว้ ซึ่งเจ้าตัวนี้บอบบางมาก หากมีปริมาณกรดในน้ำทะเลเพิ่มมากขึ้นก็อาจจะไม่มีชีวิตรอด โดยกรดที่เพิ่มขึ้นมาจากปริมาณก๊าซ CO2 ในชั้นบรรยากาศที่เพิ่มมากขึ้น
บีบีซีนิวส์ – ทีมนักสำรวจสำมะโนประชากรสัตว์น้ำ เผยภาพจาก “แอตแลนติก” หลังดำดิ่งลึกกว่า 1,000 เมตรกว่า 3 สัปดาห์เพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิตในโลกอันเย็นเยียบ พบสิ่งมีชิวิตประหลาดมากมายมีทั้งหน้าตาแปลกประหลาด เปิดโลกแห่งวงการวิทยาศาสตร์ ซึ่งสัตว์น้ำหน้าใหม่ที่พบเห็นเหล่านี้มีทั้งที่คล้ายแพลงก์ตอนตัวบางโปร่งแสง อีกทั้งยังมีกุ้งตัวจิ๋วนับร้อยๆ ตัว รวมกับปลานานาชนิดช่างน่าตื่นตาไม่น้อย

การเดินทางสำรวจแอนแลนติกครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจสำมะโนประชากรสัตว์น้ำเค็ม (Census of Marine Life : CoML) โดยทางองค์กรต้องการจะทำแผนที่ของสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “แพลนก์ตอน” ที่เป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อาหารสัตว์น้ำทั้งหลายกำลังมีปริมาณลดลง อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน

อย่าง “แพลงก์ตอนสัตว์” (Zooplankton) สิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ ที่ไม่สามารถสร้างอาหารพวกสารอินทรีย์ได้ด้วยตัวเอง ต้องอาศัยเกาะและหาอาหารจากแพลงก์ตอนพืช (Phytoplankton) ก่อนที่จะกลายเป็นอาหารของปลาและสัตว์ทะเลทั้งหลาย ซึ่งการสำมะโนชีวิตสัตว์ทะเลครั้งนี้ก็รวมถึงการสำรวจจำนวนแพลงก์ตอนสัตว์ เพราะเป็นตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงของความอุดมสมบูรณ์ใต้ท้องทะเล

“ใต้ทะเลลึกลงไป 1,000 เมตรนั้นหาตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตได้ยากเหลือ” ปีเตอร์ วีเบอ (Peter Wiebe) นักวิทยาศาสตร์ผู้นำการสำรวจ จากสถาบันสมุทรศาสตร์ในวู๊ดส์ โฮล (Woods Hole) สหรัฐฯ เล่าพร้อมทั้งอธิบายว่าในการสำรวจครั้งนี้ต้องเตรียมสายเคเบิลยาวหลายพันเมตรจึงจะสามารถลงไปเก็บข้อมูลใต้ทะเลลึกที่ระดับ 1,000 – 5,000 เมตรได้

ตัวอย่างที่ทีมงานไปบันทึกภาพมาได้กว่าพันๆ ชนิดนั้นมี 500 ชนิดที่สามารถจัดทำบัญชีสิ่งมีชีวิตได้อย่างเรียบร้อยแล้ว มีทั้งสัตว์ปีเปลือกหน้าตาเหมือนกุ้ง กุ้งตัวน้อยๆ หนอนน้ำ รวมถึงแมงกะพรุนตัวน้อยๆ ที่ทั้งหนึบๆ และบอบบาง โดยสิ่งมีชีวิตเหล่านี้อาศัยอยู่ใต้ทะเลลึก ที่มีความหนาวเย็นและมีอุณหภูมิผันผวนเปลี่ยนแปลงไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ หากจะนำสัตว์ใต้ทะเลลึกขึ้นมาสู่ผิวน้ำเพื่อการค้นคว้านั่นหมายความว่าจะต้องนำสิ่งมีชีวิตเหล่านี้มาสู่ที่ที่อุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส โดยทันทีที่ลำเลียงสัตว์น้ำตัวอย่างมาถึงเรือ ทีมงานก็จะต้องรีบนำเข้าสู่ตู้น้ำเย็นเพื่อให้สัตว์เหล่านี้ได้อยู่ในอุณหภูมิที่คุ้นเคย (ซึ่งระหว่างการสำรวจก็มีสัตว์หลายชนิดตายลงก่อนที่จะได้ศึกษา)

นี่นับเป็นโครงการแรกที่ได้มีการเก็บลำดับดีเอ็นของสัตว์ชนิดต่างๆ ในท้องทะเล เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์สามารถระบุสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ได้อย่างง่ายดายในภายหลัง ซึ่งสัตว์น้ำที่สำรวจพบที่มหาสมุทรอินเดีย แปซิฟิก และแอตแลนติกนั้นอาจจะมีความเชื่อมโยงหรือไม่เกี่ยวข้องกันเลยก็ได้

อย่างไรก็ดี ทีมงานของ ดร.วีเบอยังคงจะเดินทางสำรวจสำมะโนประชากรสัตว์ทะเลอีกหลายทริป โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีนี้ทางทีมงานมีแผนที่จะสำรวจตรวจตราแพลงก์ตอนสัตว์ และจนกว่าจะสิ้นโครงการสำรวจในอีก 4 ปีข้างหน้าทาง ดร.วีเบอก็หวังว่าจะได้ทำความรู้จักกับแพลงก์ตอนสัตว์ได้ครบทุกชนิดในโลกนี้

คลิกที่ไอคอน Manager Multimedia
เพื่อรับชมภาพสัตว์น้ำหน้าตาประหลาดๆ ใต้ทะเลลึกเพิ่มเติม


ดูภาพชุดจาก Manager Multimedia

Hippopodius hippopus สิ่งมีชีวิตทะเลลึกที่หาพบได้ยาก
นี่ไม่ใช่กำเนิดเอเลี่ยน แต่คือ Dolioletta ตัวโตเต็มวัย พบได้ในทะเลลึก
ในการสำรวจประชากรสัตว์น้ำนั้น ได้ใช้แหที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษสำหรับการสำรวจทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น