ไทม์ - “แนนซี่ ค็อกซ์” นักวิจัยหญิงหนึ่งเดียวจากเมืองลุงแซมขึ้นแท่นผู้ทรงอิทธิพลโลกในโผ “ไทม์ 100" สาขานักวิทย์-นักคิดที่มี 16 คน จากการทดลองผสมสายพันธุ์ “ไข้หวัดนก” และ “ไข้หวัดใหญ่” เพื่อหาความเป็นไปได้ที่ไวรัสจะกลายพันธุ์และหาวัคซีนป้องกัน ส่วนชายหนุ่มนักวิทย์-นักคิดอีก 15 นายที่เหลือก็ล้วนสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์มากมายไม่ว่าจะเป็น "ฮาวาสส" ผู้พยายามย้อนอดีตการสิ้นพระชนม์ของตุตันคาเมน หรือ "เวลส์" ผู้ให้กำเนิดสารานุกรมสุดฮิปอย่าง "วิกิ"
ฮือฮากันไปไม่น้อย หลังจากที่นิตยสารไทม์ฉบับล่าสุดได้ขึ้นปกสกูปใหญ่ เผยผู้ทรงอิทธิพลโลก 100 รายประจำปี 2549 โดยในสาขานักวิทยาศาสตร์และนักคิดมีทั้งหมด 16 คน ซึ่งแนนซี่ คอกซ์ (Nancy Cox) นักไวรัสวิทยาจากศูนย์ควบคุมโรค ในแอตแลนตา สหรัฐฯ เป็นนักวิจัยหญิงหนึ่งเดียวที่ติดอันดับในกลุ่มนี้
แนนซี่กำลังทำในสิ่งที่เป็นฝันร้ายของมนุษยชาตินั่นคือการผสมสายพันธุ์ไวรัสไข้หวัดนกและไวรัสไข้หวัดใหญ่ในคน เธอไม่ได้เพี้ยน!! เพราะว่าการกลายพันธุ์ในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นได้ในทุกที่ทั่วโลกกับใครก็ได้ทั้งนั้น เธอจึงหวังว่าการรวมกันของจุลินทรีย์จะเป็นโอกาสที่เหลืออยู่ในการผลิตวัคซีนป้องกันและเพื่อพิสูจน์ว่าไวรัสทั้ง 2 จะกลายพันธุ์ได้หรือไม่
“เมื่อคุณต้องทำงานกับสิ่งมีชีวิตอย่างเชื้อไข้หวัดใหญ่ซึ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คุณก็จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทุกปี ซึ่งจะทำให้สติปัญญาของคุณไม่มีวันเสื่อมถอย” แนนซี่ให้ความเห็นต่องานวิจัยของเธอ
ทั้งนี้เธอได้วิเคราะห์ตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยจากทั่วโลกที่ได้รับเชื้อไข้หวัดนกภายใต้การทดลองที่ระมัดระวังอย่างเข้มงวดเพื่อหาหนทางผลิตวัคซีน เธอเชื่อว่าอย่างน้อยจะต้องผลิตวัคซีนให้ได้ 2 ชนิด เพราะวัคซีนเดียวไม่เพียงพอต่อไวรัสที่กลายพันธุ์ตลอดเวลา และหากอนาคตข้างหน้าเชื้อโรคเป็นฝ่ายมีชัยจากการกลายพันธุ์อย่างรวดเร็ว แนนซี่ก็คือความหวังที่ยับยั้งสิ่งที่เกิดขึ้น
ขณะที่ ซาไฮ ฮาวาสส์ (Zahi Hawass) นักโบราณคดีอียิปต์ผู้มีมาดทันสมัยจากสภาโบราณสถานแห่งอียิปต์ (Egypt's Supreme Council of Antiquities) ก็เป็นอีกคนที่ติดอันดับผู้ทรงอิทธิพลโลก โดยก่อนหน้านี้เขาได้ใช้เทคนิค “ทีซีสแกน” เผยพระพักตร์ของฟาโรห์ “ตุตันคาเมน” และยังใช้เทคนิคเดียวกันนี้แสดงให้เห็นว่าฟาโรห์หนุ่มไม่ได้ถูกปลงพระชนม์
ฮาวาสส์เป็นนักโบราณคดีในรูปลักษณ์ใหม่ที่ชอบทำตัวโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปแสดงปาฐกถาทั่วโลก การปรากฏตัวทางโทรทัศน์หรือแม้แต่การออกหนังสือและเขียนบทความต่างๆ บุคลิกของเขาเป็นคนชอบโอ้อวด ชอบโต้เถียงและหลงใหลอะไรได้อย่างมากมาย เขาหลงใหลอียิปต์และความเก่าแก่นั้นโดยไม่ลังเลจะใช้คำว่า “ราวกับเวทมนตร์” “น่าซาบซ่าน” และ “น่าพิศวง” กับการค้นพบของเขาใน “หุบผาแห่งมัมมี่ทองคำ” (Valley of the Golden Mummies)
ผู้ทรงอิทธิพลอีกคนแห่งสาขาวิทยาศาสตร์ก็คือ จอห์น โจนส์ (John Jones) ผู้พิพากษาของศาลสหรัฐที่มีบทบาทมากในการตัดสินคดีเข้าข้างทฤษฎีของชาร์ล ดาร์วิน ซึ่งได้ตัดสินห้ามสอนเรื่องการออกแบบโลกโดยผู้มีสติปัญญาล้ำเลิศหรือไอดี (Intelligent Design: ID) ในโรงเรียนว่าเป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อจาก “การสร้างโลก” (Creationism) แต่เนื้อหายังยังคงเดิม แม้ว่าเขาจะเป็น “รีพลับลิกัน” และเป็นนักเทศน์ในนิกายลูเธอร์แรนซึ่งเชื่อเรื่องการสร้างโลกก็ตาม
ทั้งนี้ในสหรัฐมีกฎบัญญัติให้แยกเรื่องศาสนาและรัฐออกจากกัน ซึ่งเรื่องการสร้างโลกได้ถูกห้ามสอนมาตั้งแต่ปี 2530 ส่วนเรื่องไอดีนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับลักษณะของจักวาลและสิ่งมีชีวิตซึ่งมีความมหัศจรรย์ และไม่น่าจะเกิดจากแค่การคัดเลือกตามธรรมชาติ แต่น่าจะเกิดจากการผู้ที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดมากกว่า อย่างไรก็ดีผู้คนเริ่มตระหนักว่าหากเขาจะสอนเด็กเกี่ยวกับพระเจ้าก็ควรจะให้เด็กได้รับรู้จากโบสถ์มากกว่าในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์
นอกจากนี้ยังมี จิมมี่ เวลส์ (Jimmy Wales) ผู้ทำให้โลกแห่งการค้นคว้าเปลี่ยนไปชนิดที่อาจจะเป็นรองแค่ “กูเกิล” เท่านั้น โดยเขาได้สร้าง "วิกิพิเดีย" สารานุกรมออนไลน์ให้ชาวไซเบอร์เข้าไปค้นหาและร่วมสร้างข้อมูล หากเนื้อหาไม่สมบูรณ์ก็ช่วยกันเพิ่มเติมเนื้อหา หากผิดพลาดก็แก้ไข และหากเห็นว่าข้อมูลนั้นๆ มีอคติก็ตัดออก ด้วยแนวคิดดังกล่าวได้สร้างสารานุกรมออนไลน์เล่มใหญ่ที่สุดในโลก (และอาจจะดีที่สุดด้วย)
เวลส์หนุ่มวัย 39 เริ่มสัมผัสกับสารานุกรมเช่นคนอื่นๆ คือ ใช้บริการผู้เชี่ยวชาญเช่นบทความและตรวจพิสูจน์ ผ่านไป 18 เดือนเขามีบทความเพียง 12 ชิ้นซึ่งต้องใช้เวลาหลายพันปีกว่าจะมากเท่ากับเนื้อหาในสารานุกรม “บริแทนนิกา” (Britannica) เขาจึงใช้ความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมที่มีอยู่น้อยนิด สร้างปุ่ม “Edit this page” ให้เว็บเพจสารานุกรมออนไลน์ของเขา และจุดนั้นเองทำให้ Wikipedia ในทุกวันนี้มีบทความกว่าล้านชิ้น เกือบๆ จะมากกว่า 10 เท่าของบริแทนนิกา และยอดบทความก็เพิ่มขึ้น 2 เท่าในแต่ละปี สอดคล้องกับชื่อ “วิกิ” ซึ่งเป็นภาษาฮาวาเอียนที่หมายถึง “เร็ว”
ส่วนผู้ทรงอิทธิพลในกลุ่มนักวิทย์-นักคิดที่เหลือได้แก่ หม่า จวิ้น (Ma Jin) นักหนังสือพิมพ์แดนมังกรที่พลักดันให้รัฐบาลสนใจสิ่งแวดล้อม, จิม ยอง คิม (Jim Yong Kim) แพทย์ผู้ทุ่มเทให้กับผู้ป่วยเอดส์และทำให้ผู้คนรู้สึกถึงความหวัง, ไมค์ บราวน์ (Mike brown) ผู้ค้นพบ “ซีน่า” (Xena) ว่าที่ดาวเคราะห์ดวงที่ 10, เคลลี บราวเนลล์ (Kelly Brownell) ผู้รณรงค์ป้องกันโรคอ้วนในเด็กและต่อต้านอาหารฟาสต์ฟู้ดในสหรัฐ, ริชาร์ด เดวิดสัน (Richard Davidson) ผู้รวมศาสตร์ตะวันออกและตะวันตกเข้าไว้ด้วยกัน โดยศึกษาการทำงานของสมองที่สัมพันธ์กับการทำสมาธิขั้นสูง
แคร์รี่ เอ็มมานูเอล (Kerry Emanuel) ผู้ทำนายการมาของเฮอร์ริเคนแคทรินาและปลุกให้คนอเมริกันเห็นถึงภัยของโลกร้อน, จิม แฮนเซน (Jim Hansen) ผู้ชี้ให้เห็นถึงอันตรายของการบริโภคพลังงานที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกและการทำลายล้างจากสภาพอากาศ, บิล เจมส์ (Bill James) ผู้นำทางด้านสถิติในเรื่องเบสบอล, ฌาคส์ รุสโซ (Jacques Rossouw) นักวิจัยผู้ห่วงใยสุขภาพผู้หญิง
สตีเฟน เลวิทท์ (Steven Levitt) ผู้นำวิถีคิด-คิดนอกกรอบ, แอนดรูว์ ฟอน เอสเชนบัค (Andrew von Eschenbach) ผู้นำการต่อสู้เรื่องสุขภาพด้วยโภชนาการแก่คณะกรรมการอาหารและยาหรือเอฟดีเอ และสุดท้ายคือเจฟฟรีย์ เวสต์ (Geoffrey West) เจ้าของทฤษฎีความซับซ้อนที่อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ด้วยรูปแบบทางคณิตศาสตร์
คลิกที่ไอคอน Manager Multimedia
เพื่อรับชมภาพ 16 นักวิทย์-นักคิดผู้ทรงอิทธิพลโลก
