xs
xsm
sm
md
lg

ปรากฏการณ์ “เมก้าเคลฟเวอร์” ฉลาดสุดๆ ก้าวแรกสร้างกระแสคนไทยใส่ใจวิทย์ฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สร้างกระแสฮือฮาได้ไม่น้อยทีเดียวกับรายการ “เมก้าเคลฟเวอร์ ฉลาดสุดสุด” ที่ออกอากาศทางช่อง 9 อสมท.อยู่ในขณะนี้ โดยสร้างกลุ่มผู้ชมได้มากพอสมควร เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จเหนือความคาดหมาย แม้จะไม่ได้ดังเปรี้ยงปร้างติดลมบนเหมือนละครยอดนิยม แต่ก็เถียงไม่ได้ว่า มีแฟนรายการจำนวนหนึ่งนั่งติดหน้าจอรอชมทุกวันพฤหัสบดีหลังข่าวภาคค่ำ จนถึงการเป็นหัวข้อสนทนาในเว็บบอร์ดต่างๆ ต่อเนื่องนับเดือนเศษ

นับตั้งแต่มีการแถลงข่าวเปิดตัวรายการไปเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ไม่เว้นแม้แต่เจ้ากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่าง ดร.ประวิช รัตนเพียร ที่ยิ้มหน้าบานกับเรทติ้งของรายการ ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า เมก้าเคลฟเวอร์ ฉลาดสุดสุด ได้กลายเป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” น้อยๆ ไปแล้ว

หลายคนจึงอยากรู้ความเป็นมาของรายการนี้มากขึ้น... ใครเป็นผู้จัดทำ... และเขาคาดหวังอะไรกับรายการ?

“ผู้จัดการวิทยาศาสตร์” จึงขันอาสารับหน้าที่หาข้อมูลมาคลายความสงสัยแก่ผู้อ่านทันที โดยได้พูดคุยกับ "คุณแอ้น" ลัดดา หงส์ลดารมภ์ โฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ 1 ใน 3 ผู้มีส่วนสำคัญที่ทำให้ “เมก้าเคลฟเวอร์ ฉลาดสุดสุด” (Mega Clever) ในประเทศไทยถือกำเนิดขึ้น

ก่อนอื่นขอเท้าความให้ผู้ที่ยังไม่เคยชมรายการ "เมก้าเคลฟเวอร์ ฉลาดสุดสุด" ให้ได้เห็นภาพรายการก่อนเป็นอันดับแรก โดยรายการ "เมก้าเคลฟเวอร์ ฉลาดสุดสุด" หากดูเผินๆ แล้ว ก็คงจะเหมือนกับรายการเกมโชว์ทั่วไปในบ้านเมืองเรา ซึ่งมีการตั้งคำถามพร้อมตัวเลือกปรนัยอีก 3 ข้อ ให้ผู้เข้าร่วมการแข่งขันเลือกตอบพร้อมอธิบายเหตุผลในการเลือกคำตอบ ซึ่งก็แน่นอนว่าผู้เข้าร่วมการแข่งขันต่างพยายามตอบคำถามตามความเข้าใจของตัวเอง มีทั้งที่ถูกบ้างและผิดบ้าง

ทว่า จุดต่างซึ่งเป็นไม้เด็ดสำคัญของรายการกลับเป็นกลวิธีการอธิบายปรากฏการณ์วิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวันที่เราๆ ท่านๆ อาจไม่สนใจ และไม่มีใครอยากลงทุนทำการทดลองจริงๆ เพื่อสนองความอยากรู้ ด้วยเม็ดเงินลงทุนสูงกับด้านการผลิต ทำให้รายการดูสมจริง และกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น ประหนึ่งผู้ชมสามารถสัมผัสกับเหตุการณ์ได้ด้วยประสาทสัมผัสจริงๆ ไม่ใช่เพียงการถาม-ตอบตามหลักทฤษฎีที่น่าเบื่อตามแบบฉบับเดิมๆ เมก้าเคลฟเวอร์ ฉลาดสุดสุด จึงเป็นรายการตอบคำถามวิทยาศาสตร์แบบใหม่ที่ปฏิวัติรายการแบบเดิมๆ ให้หมดไปได้อย่างไม่ต้องสงสัย

ตัวอย่างคำถามในรายการ เช่น ในสภาวะสุญญากาศ น้ำในแก้วจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง? (เดือดแล้วค่อยๆเย็นตัวลงเป็นน้ำแข็ง) ทำไมคนเราจึงไม่กล้ารับประทานอาหารที่มีสีน้ำเงิน? (เพราะไม่คุ้นเคย,เป็นสีอาหารที่ผิดจากธรรมชาติทั่วไป) อวัยวะใดในร่างกายมนุษย์เป็นอวัยวะที่มีหน้าที่รับสารฟีโรโมนจากเพศตรงข้าม? (ต่อมเล็กๆ สีขาวภายในจมูก) เป็นต้น ซึ่งคำถามน่ารู้พร้อมการอธิบายอย่างเห็นภาพนี้เองที่เป็นเสน่ห์ของเมก้า เคลฟเวอร์ ฉลาดสุดสุด ซึ่งผู้ชมจำนวนมากหลงรัก...

กว่าจะเป็น "ฉลาดสุดสุด" รายการวิทย์ฯ ทุนหนักจากเมืองเบียร์

คุณแอ้น เล่าว่า แรกทีเดียวนั้น “ประภาส ชลศรานนท์” ซึ่งรู้จักกันเป็นการส่วนตัวกับ ดร.ประวิช ได้นำเทปรายการจากเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส มาให้ดูเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว (48) โดยดูร่วมกันกับ ดร.ประวิช และตัวคุณแอ้นเอง ณ ห้องทำงานรัฐมนตรี ในกระทรวงวิทยาศาสตร์ เห็นว่าเป็นรายการที่ดี คุณประภาสจึงเสนอว่าน่าจะมีรายการแบบนี้ในเมืองไทยบ้าง แต่เมื่อคำนึงถึงต้นทุนการผลิต ทางเยอรมนีได้ลงทุนสูงมาก เช่น การจ้างเครื่องบินเจ็ทขึ้นบินเพื่ออธิบายสภาพไร้น้ำหนัก เป็นการลงทุนที่สูงเกินไป ทำได้ยาก และหาโฆษณาได้ยากเช่นกัน จึงเห็นว่าน่าจะซื้อรายการของเยอรมันมาพากย์เสียงไทยจะดีกว่า

และเมื่อมีการพูดคุยแล้ว ทางช่อง 9 ยินยอมให้ออกอากาศรายการได้ทุกวันพฤหัสบดีในช่วงไพร์มไทม์ หลังข่าวภาคค่ำ และรับอาสาติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์การเผยแพร่เองจากเจ้าของลิขสิทธิ์ คือ บริษัท เซเว่นวันอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด รวมทั้งหาทีมพากย์เสียงภาษาไทย ซึ่งได้ทีมเดียวกับที่พากย์เสียงรายการทีวีแชมป์เปี้ยนทางช่องยูบีซีมาพากย์เสียงให้ โดยมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบรายการโดยตรง เข้าไปช่วยเหลือด้านข้อมูลเพื่อให้พากย์ได้ถูกต้อง และเหมาะสมมากที่สุด แต่ก็ยังมีบ้างที่พลาดไป

“ในการออกอากาศรายการเทปหนึ่ง มีผู้ปกครองของเด็กโทรศัพท์มาต่อว่ารายการว่า ผู้ดำเนินรายการชักชวนให้เด็กไปทดลองวิทยาศาสตร์กับเตาไมโครเวฟที่บ้าน แล้วเด็กก็ไปทำกันจริงๆ เพื่อจะได้ตอบคำถามถูกแล้วโทรฯ มาชิงเสื้อแจ็กเก็ต ซึ่งตรงนี้ ผู้ดำเนินรายการของทางเยอรมันอาจพูดอย่างนั้นจริงๆ การแปลเสียงตามต้นฉบับจึงอาจไม่เหมาะสมกับบ้านเรา ภายหลังจึงขอให้ขึ้นตัวหนังสือด้านล่างของจอ เพื่อไม่ให้เด็กทดลองเองโดยไม่มีผู้ปกครองดูแล แต่ถึงอย่างนั้น เราก็พยายามบอกให้ทีมพากย์บอกกับทางบ้านอีกทางหนึ่งด้วย เพราะบางคนอาจไม่ทันได้อ่านตัวหนังสือที่ขึ้นมาบนจอ”

กระทรวงวิทย์ฯ ไม่น้อยหน้า เร่งผลิตรายการวิทย์ฯ "ไทยทำ" เชื่อคนไทยทำได้ดีไม่แพ้ต่างชาติ

สำหรับชื่อรายการ “เมก้าเคลฟเวอร์” ที่พ่วงท้ายด้วย “ฉลาดสุดสุด” นั้น คุณแอ้น เล่าว่า เกิดมาจากการร่วมกันคิดระหว่างดร.ประวิช และคุณแอ้น เพื่อให้ฟังดูน่าสนใจมากที่สุด โดยรายการที่นำมาออกอากาศอยู่ในขณะนี้ เป็นภาคที่ 4 มี 37 ตอน ซึ่งทางเยอรมนีเพิ่งฉายจบไปเมื่อไม่นาน และได้ฉายภาคที่ 5 ซึ่งมีอีก 20 ตอนไปบ้างแล้ว สำหรับประเทศไทยจะฉายภาคที่ 4 ต่อเนื่องไปจนหมดเทปสุดท้ายราวเดือนพฤศจิกายน หลังจากนั้นอาจเป็นการออกอากาศรายการที่ทำขึ้นเองในประเทศบ้าง ซึ่งมีการพูดคุยกันอยู่และมีความเป็นไปได้มาก เพราะต่างเห็นตรงกันว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ หรือมิฉะนั้นก็อาจซื้อลิขสิทธิ์ภาคที่ 5 มาฉายต่อเป็นตัวเลือกข้อหลัง

อย่างไรก็ตาม รายการที่นำออกอากาศนี้ก็ไม่ได้มีเพียงส่วนที่ซื้อลิขสิทธิ์มาจากเยอรมนีเท่านั้น คุณแอ้นบอกว่า ยังมีอีกช่วงที่เป็นของคนไทยเอง คือช่วง “สนุกคิดกับ สวทช.” เป็นการนำผลงานวิจัยที่น่าสนใจในประเทศมาเสนอแก่ผู้ชม เช่น งานวิจัยโรคมาลาเรีย การพัฒนาพันธุ์มะเขือเทศ และการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย ฯลฯ ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้ ทางกระทรวงฯ ไม่อยากให้ประชาชนคิดว่าเป็นการทำวิจัยขึ้นหิ้งอย่างเดียว โดยพยายามดึงผู้ชมให้เข้ามาสนใจในวิทยาศาสตร์ก่อนแล้วจึงสอดแทรกงานวิจัยของไทยเข้าไป โดยเมื่อนำเสนอไปแล้วก็มีผู้สนใจจำนวนมากติดต่อมาทางศูนย์รับเรื่องราว (Call Center) ที่เปิดไว้ว่าอยากได้รับการถ่ายทอดวิทยาการบ้าง

ทั้งนี้ ในส่วนของการพัฒนารายการขึ้นมาเองนั้น คุณแอ้น บอกอีกว่า ขณะนี้ กระทรวงวิทย์ได้พัฒนารายการด้านวิทยาศาสตร์ไปสอดแทรกตามรายการต่างๆ บ้างอยู่แล้วเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ในรายการ “มันแปลกดีนะ” ของกลุ่มบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด ซึ่งทางแกรมมี่ได้เสนอตัวเข้ามาช่วยเหลือทางกระทรวงฯ โดยเปิดช่วงให้มีการเผยแพร่กิจกรรมของกระทรวงฯ และหน่วยงานลูกในรายการ เช่น งานกิจกรรมค่ายนาโนโซล่าร์เซลล์ของ สวทช. และการแนะนำสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เป็นต้น ซึ่งต่อไปทางกระทรวงฯ ก็อาจพัฒนาเป็นช่วงวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีของกระทรวงเอง

ทว่า ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่ซื้อลิขสิทธิ์รายการนี้ไปออกอากาศในประเทศตัวเอง แต่มีถึง 5-6 ประเทศที่ซื้อ “เมก้าเคลฟเวอร์" ไปออกอากาศในลักษณะเดียวกัน เว้นแต่ออสเตรเลียเท่านั้นที่ซื้อรูปแบบรายการไปผลิตเอง กระนั้น คุณแอ้น ก็เชื่อว่า ประเทศไทยมีศักยภาพมากพอที่จะผลิตรายการแบบนี้ขึ้นเองด้วยคุณภาพทัดเทียมกับของเยอรมนี แต่ปัญหาหลักคือ ต้นทุนการผลิตที่สูงมาก ขณะที่ผู้ชมค่อนข้างน้อย จึงหาผู้สนับสนุนรายการได้ยาก

ไม่รอด-ไม่โต ชะตาชีวิตรายการวิทย์ฯไทย วอนสื่อให้ความสนใจ
เผยเรทติ้ง 2-3 ล้านคนต่อตอน


ในส่วนนี้ “ผู้จัดการวิทยาศาสตร์” ตั้งข้อสังเกตว่า รายการตอบปัญหาวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยที่ผ่านมาพอมีอยู่บ้างเช่นกัน แต่มักไม่ใช่การตอบปัญหาด้านวิทยาศาสตร์ล้วนๆ คือมีคำถามด้านภาษาและสังคมศาสตร์รวมอยู่ด้วย เช่น รายการ 180 ไอคิว เมื่อช่วงหลายปีก่อน และรายการคนเก่งกับแอลจีที่ยืนหยัดออกอากาศมาอย่างต่อเนื่องกว่า 7 ปีแล้ว หรือแม้แต่รายการไอทีจีเนียส ซึ่งเป็นรายการตอบปัญหาด้านไอทีโดยเฉพาะ ซึ่งก็ทานกับกระแสความนิยมของผู้ชมโทรทัศน์ไม่ไหวและต้องหลุดผังรายการไปในที่สุด จึงเหลือแต่รายการสารคดีวิทยาศาสตร์ที่ซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศมาออกอากาศ แต่ก็มิวายถูกเบียดตกผังรายการหรือได้ออกฉายในเวลาที่ไม่เหมาะสม เช่น เช้าหรือดึกเกินไปบ้าง จึงไม่มีใครติดตามดู

อย่างไรก็ดี หากจะถามว่า “เมก้า เคลฟเวอร์ ฉลาดสุดสุด” เป็นรายการแนววิทยาศาสตร์ที่ไม่มีคู่แข่งเลยหรือ? คงตอบว่า “ไม่ใช่” เพราะทางวิกช่อง 7 มีรายการลักษณะใกล้เคียงกับ “เมก้า เคลฟเวอร์ ฉลาดสุดสุด” ออกอากาศอยู่ก่อนแล้ว คือ รายการ “ดาดฟ้าท้าทดลอง” ของพิธีกรหนุ่ม “เติ้ล” ตะวัน จารุจินดา ซึ่งจับคู่กับโยกเยก เชิญยิ้ม พาน้องๆ เด็กประถม ไปสนุกสนานกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ นานา จนเข้าตากรรมการ คว้ารางวัลโทรทัศน์ทองคำครั้งที่ 19 ประจำปี 2547 สาขารายการเด็กและเยาวชนดีเด่นมาครองได้ กระนั้นแม้ว่า หนุ่มเติ้ลจะเคยให้สัมภาษณ์ว่า รายการได้รับความนิยม มีเรทติ้งดี แต่ “ดาดฟ้าท้าทดลอง” ก็ยังมีกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก และไม่สามารถสร้างกระแสความนิยมทางวิทยาศาสตร์ในวงกว้างได้อย่างชัดเจน

คุณแอ้น เรียกร้องว่า ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ต้องส่งไปยังสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะกับสื่อที่มีความสามารถเข้าถึงผู้ชมจำนวนมากให้เห็นความสำคัญของรายการประเภทนี้มากขึ้น โดยหากมีผู้สนับสนุนรายการๆ ก็จะอยู่ได้นานขึ้น

การสร้างกระแสความนิยมทางวิทยาศาสตร์ให้แก่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ทุกเพศทุกวัย เป็นเรื่องที่ต้องทำ ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ส่วนตัวแล้วไม่อยากให้คิดว่าการทำรายการเมก้า เคลฟเวอร์เป็นการนำงบประมาณมาละเลงแบบสูญเปล่า” คุณแอ้นแจกแจงพร้อมยกตัวอย่างว่า ในการทำรายการเมก้าเคลฟเวอร์ฯ มีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 40-50 ล้านบาท หากดูทั้งก้อนก็จะดูว่าเยอะ แต่จริงๆ แล้ว ไม่เยอะเมื่อเทียบกับอัตราค่าโฆษณาต่อนาที อีกทั้งรายการยังต้องออกอากาศต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน

ทั้งนี้ ภายหลังการออกอากาศได้ระยะหนึ่ง คุณแอ้น บอกว่า เท่าที่ตัวเองได้ติดตามสังเกต ระยะหลังมานี้ คนไทยให้ความสนใจกับเรื่องวิทยาศาสตร์มากขึ้น จากเดิมที่รายการใดมีจำนวนผู้ชม 2-3 แสนคนต่อตอน ก็ดีใจแล้ว แต่เมก้า เคลฟเวอร์ ฉลาดสุดสุด กลับมียอดผู้ชมต่อตอนมากถึง 2-3 ล้านคน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก จึงพอใจในระดับหนึ่ง ทางช่อง 9 เองก็พอใจ จากตอนแรกที่ต่างกลัวกันว่าจะไม่มีใครสนใจ แต่เมื่อฉายจริง กลับได้รับความนิยมเกินคาด ด้านผู้สนับสนุนรายการเองก็เริ่มทยอยเข้ามา เช่น ขณะนี้ที่มีค่ายรถยนต์เยอรมันค่ายหนึ่งเข้ามาติดต่อลงโฆษณาในรายการด้วย

นอกจากนี้ หาก “คลิ๊ก” เข้าไปตามเว็บบอร์ดยอดนิยมต่างๆ เช่น พันธ์ทิพย์ดอทคอมในห้องหว้ากอและห้องเฉลิมไทย มีกระทู้ที่กล่าวถึง เมก้าเคลฟเวอร์ ฉลาดสุดสุด อยู่เป็นระยะๆ ด้วยเสียงตอบรับค่อนข้างอบอุ่น หลายความคิดเห็นเอ่ยเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นรายการที่ดี ได้ความรู้ใหม่ๆ ควรค่าแก่การติดตามชม บ้างก็เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นจากประเด็นคำถามในรายการอย่างไม่ขัดเขิน แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่เห็นว่ามีความลักลั่นระหว่างวัฒนธรรมไทยและเยอรมันเกิดขึ้น ในกระทู้ยังมีผู้พลาดชมรายการมาบ่นเสียดายบ้างประปราย แต่ผู้ร่วมสนทนาอื่นๆ ก็จะเล่าและแบ่งปันความรู้ที่ได้จากรายการให้แก่กัน โดยปรากฏการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้ยังได้เกิดขึ้นกับวิชาการดอทคอม รวมถึงเว็บไซต์แหล่งรวมของวัยทีนต่างๆ ทั้งที่เป็นเว็บไซต์ทั่วไป เช่น เอ็กซ์ทีนดอทคอม และโฮมเพจส่วนตัวอาทิ บัณฑิตดอทเน็ต

โดยในส่วนของเว็บไซต์วัยทีนคือ เอ็กซ์ทีนดอทคอมนั้นมีบทความวิเคราะห์และเปรียบเทียบรายการเมก้าเคลฟเวอร์ ฉลาดสุดสุด กับรายการเกมโชว์ในประเทศไทยได้อย่างเผ็ดร้อน แม้ว่าภาษาที่ใช้จะไม่มีคำที่ดุดันหรือแดกดันเท่าใดนักก็ตาม แต่หากวิเคราะห์ให้ถึงแก่นแล้ว ต้องขอบอกว่าทำให้รู้สึกแสบๆ คันๆ จนถึงขั้น “คันคะเยอ” ทีเดียว เช่นการระบุว่า “เมก้าเคลฟเวอร์ ฉลาดสุดสุด เป็นทางเลือกสำหรับผู้เบื่อเกมโชว์ปัญญาอ่อน” หรือตอนหนึ่งที่ผู้เขียนได้วิพากษ์รายการเกมโชว์ในบ้านเราอย่างแสบสันต์ว่าห่วงแต่เรทติ้งตัวเองมากกว่าสาระที่ผู้ชมจะได้รับจากรายการ

“การแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรง ทำให้รายการเกมโชว์พยายามปรับตัวหาอะไรใหม่ๆ มานำเสนอเพื่อเรียกเรทติ้ง กลุ่มรายการที่เป็นที่นิยมในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาย่อมหนีไม่พ้นรายการ "ท่องจำ" ขณะที่กลุ่มรายการของทศวรรษก่อนก็หนีไม่พ้นรายการ "สอดรู้สอดเห็น" ชีวิตคนดัง ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะนิสัยพฤติกรรมของคนไท้ไทเป็นอย่างดี ทำให้รายการเกมโชว์เหล่านี้ไม่ล้มหายตายจากไปง่ายๆ”

จากมุมนักวิทย์ฯ-เยาวชน อยากเห็นรายการวิทย์ฯ ฝีมือคนไทยให้มากขึ้น

ส่วนมุมมองจากสายตาของนักวิทยาศาสตร์ ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ ผอ.ฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยีฯ ศูนย์นาโนเทค หรือ “คุณเต้ย” มองว่า โดยส่วนตัวแล้ว เมก้า เคลฟเวอร์ ฉลาดสุดสุด เป็นรายการที่ดีรายการหนึ่ง มีเสียงตอบรับทั้งจากผู้ปกครองและเยาวชนดี แต่อาจมีความไม่ลงตัวบางจุดดังที่ปรากฏในเว็บบอร์ด เช่น คนไทยอาจไม่เข้าใจมุกตลกหรือไม่รู้จักหน้าค่าตาของผู้ดำเนินรายการชาวเยอรมันมาก่อน ทำให้รู้สึกไม่คุ้นเคย วัฒนธรรมเยอรมันบางจุดก็อาจไม่เหมาะสมกับบ้านเมืองเรา เนื่องจากเป็นรายการที่นำเข้ามาจากประเทศเยอรมัน เช่น การแต่งกายนุ่งน้อยห่มน้อยของผู้ร่วมรายการ กระนั้นในด้านเนื้อหาต้องยอมรับว่าผู้ผลิตทำได้ดีมาก มีการสืบค้นข้อมูลเพื่อนำมาอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้เป็นอย่างดี ส่วนความไม่ลงตัวอีกอันหนึ่งเกิดมาจากทีมพากย์ ที่ไม่เข้าใจเนื้อหารายการมากเท่าที่ควร การนำเสนอข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในรายการจึงดูขัดเขิน ไม่สนุกสนานเหมือนกับรายการทีวีแชมป์เปี้ยนที่ทีมพากย์เดียวกันนี้ทำอยู่

ทั้งนี้ คุณเต้ย ยังให้ความเห็นถึงช่วง “สนุกคิดกับสวทช.” ด้วยว่า งานวิจัยที่นำเสนอยังเข้าถึงได้ยาก แม้ว่า สวทช.จะพยายามนำภาพการ์ตูนมาช่วยอธิบายแล้วก็ตาม อีกทั้งเวลานำเสนอก็ค่อนข้างน้อย ผู้ชมอาจได้แค่ฟังแล้วผ่านเลยไป ไม่ได้จดจำ จึงไม่น่าจะได้รับการตอบรับมากนัก ทั้งนี้ สำหรับรายการแนววิทยาศาสตร์อื่นๆ ในประเทศ คุณเต้ย มองว่า มีบ้างเหมือนกัน แต่ยังห่างชั้นกันมาก ทั้งที่บ้านเราควรมีรายการประเภทนี้มากๆ และคนไทยก็มีความสามารถทำได้ โดยเขามีความคิดเห็นตรงกันกับคุณแอ้นว่า เป็นเพราะคนไทยให้ความสำคัญกับสาระน้อยกว่าความบันเทิง รายการโทรทัศน์จึงออกมาในรูปแบบเดียวกันคือ มีความบันเทิง 80% ต่อความรู้ 20% ผิดกับ เมก้าเคลฟเวอร์ ฉลาดสุดสุด ที่อาจกล่าวได้ว่ามีอัตราส่วนกลับกันหน้ามือเป็นหลังมือคือ มีความบันเทิง 20% ต่อความรู้ 80%

คราวนี้ ลองมาฟังเสียงสะท้อนจากเยาวชนผู้ชมรายการบ้าง โดย น้องอ๊อฟ “อิทธิกร เติมสารทรัพย์” นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งเป็นเยาวชนในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน (เจเอสทีพี) รุ่นล่าสุด ได้บอกความรู้สึกภายหลังชมรายการบ้างว่า เป็นรายการหนึ่งที่ชื่นชอบมาก เพราะได้รับความรู้และเป็นสิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เป็นความรู้ใหม่ๆ เช่น การเอาน้ำมาทำให้เกิดภาวะสุญญากาศ ว่าต้องทำอย่างไร อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่อ๊อฟอยากเห็นเพิ่มเติมจากรายการคือ การเชื่อมต่อระหว่างห้องส่งของต่างประเทศและในเมืองไทย เพื่อให้เป็นรายการสดพูดคุยกันได้ อีกทั้งเขายังอยากเห็นรายการวิทยาศาสตร์ที่เกิดจากฝีมือคนไทยบ้าง

“เมก้าเคลฟเวอร์ ฉลาดสุดสุด” จึงเป็นรายการวิทยาศาสตร์รายการหนึ่งในไม่กี่รายการ ที่พอมีหวังกับการสร้างกระแสความนิยมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เกิดขึ้น และเป็นที่น่าติดตาม พอๆ กับรายการวิทยาศาสตร์ “เมดอินไทยแลนด์” ที่สังคมไทยเฝ้ารอชมกันต่อไป ...






ด้วยมาดนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง คอยเรียกเสียงฮา คุณโบนนิ่ง ก็กลายเป็นอีกดาราหน้าจอโทรทัศน์ไทยไปโดยปริยาย


กำลังโหลดความคิดเห็น