xs
xsm
sm
md
lg

‘เคลฟเวอร์’ ยานยนต์จิ๋วแห่งอนาคต ประหยัดทั้งพลังงานและพื้นที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โมเดลของ เคลฟเวอร์ เมื่อพัฒนาจนเสร็จสมบูรณ์ จะกลายเป็นรถสามล้อที่ปลอดภัยกว่ามอเตอร์ไซค์ และไม่ใหญ่เท่ารถยนต์ ไม่กินพื้นที่ตามท้องถนนและที่จอด อีกทั้งยังใช้พลังงานน้อยลงอย่างมาก
เอเจนซี - นักศึกษาอังกฤษเปิดตัวรถสามล้ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดในการผลิตยานยนต์รุ่นใหม่ที่ประหยัดพลังงาน ลดมลพิษ มีความปลอดภัยกว่ามอเตอร์ไซค์ และขนาดไม่ใหญ่เท่ารถยนต์ทำให้เพิ่มประโยชน์ใช้สอยของพื้นที่จราจรอันแออัดอย่างคุ้มค่าที่สุด

"เคลฟเวอร์" (Clever : Compact Low Emission Vehicle for Urban Transport) รถ 3 ล้อ 2 ที่นั่ง มีความกว้างเพียง 1 เมตร ปล่อยไอเสียน้อยกว่ายานยนต์ปกติ ความเร็วสูงสุดในการขับขี่ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เชื้อเพลิง 2.5 ลิตรต่อระยะทางขับขี่ 100 กิโลเมตร เป็นรถต้นแบบจากโครงการวิจัยที่ใช้เวลา 40 เดือนของนักวิจัยจาก 9 ประเทศในยุโรป ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุน 1.5 ล้านปอนด์จากสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อผลิตยานยนต์รุ่นใหม่ที่ไม่เหมือนใครและออกแบบมาสำหรับการขับขี่ในเมืองโดยเฉพาะ

“ทางออกทางเดียวในขณะนี้คือ รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ ไอเดียก็คือ พยายามผสานขนาดเล็กกะทัดรัดและประสิทธิภาพของจักรยานยนต์ เข้ากับความสะดวกสบายและความปลอดภัยของรถยนต์” เบน ดริว (Ben Drew) เจ้าหน้าที่วิจัยของมหาวิทยาลัยบาท (University of Bath) ทางตะวันตกของอังกฤษ หนึ่งในสถาบันที่เข้าร่วมโครงการนี้ กล่าว

ทั้งนี้ รถต้นแบบ "เคลฟเวอร์" ที่นำมาแสดงที่มหาวิทยาลัยบาทเป็นรุ่นที่ใช้โครงโลหะ ขณะที่เคลฟเวอร์ตัวจริงเมื่อเสร็จสมบูรณ์ จะมีหลังคาปกป้องทั้งคนขับและผู้โดยสารที่นั่งซ้อนอยู่ข้างหลังกรณีเกิดอุบัติเหตุ และมีแผ่นพลาสติกที่ยึดด้วยโครงอะลูมิเนียม ปกป้องผู้ขับขี่และผู้โดยสารจากวัตถุที่อาจกระเด็นกระดอนเข้าสู่ห้องโดยสาร

ด้วยความกว้างเพียง 1 เมตร เคลฟเวอร์จึงมีขนาดเล็กกว่าสมาร์ทคาร์ต้นแบบของเดมเลอร์เบนซ์ ทำให้หาที่จอดง่าย พร้อมกันนี้ยังเปิดกว้างในความเป็นไปได้ของการเพิ่มพื้นที่สัญจรไปมาบนท้องถนนอันแออัด ขณะเดียวกัน การมีรถมากขึ้นบนถนนไม่ได้หมายถึงการเพิ่มควันพิษเสมอไป เพราะเคลฟเวอร์ใช้ก๊าซธรรมชาติอัด (CNG)

“เคลฟเวอร์ใช้ต้นทุนน้อยกว่าในการขับขี่ เงียบกว่า และสร้างมลพิษน้อยกว่ารถปกติ” ดร. จอส ดาร์ลิง อาจารย์อาวุโสที่ดูแลโครงการเคลฟเวอร์ของมหาวิทยาลัยบาท บรรยายสรรพคุณ อีกทั้งมีการคาดว่าต้นทุนการผลิตเคลฟเวอร์น่าจะอยู่ระหว่าง 5,000-10,000 ปอนด์ หากผลิตออกมาล็อตใหญ่

อย่างไรก็ดี ทีมนักวิจัยของบาทยังต้องออกแบบโครงรถแบบใหม่ ที่ป้องกันไม่ให้รถคันแคบๆ คว่ำขณะเข้าโค้ง โดยทางออกคือ ระบบไฮดรอลิกไฟฟ้าอัตโนมัติและช่วงล่างที่ปรับเอียงได้ ซึ่งทำงานในลักษณะเดียวกับการควบคุมรถของผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ช่วงเข้าโค้ง

“ระบบนี้จะเข้าควบคุมรถแทนคนขับ ทั้งด้านการหมุนพวงมาลัยและระดับความเร็วให้พอเหมาะพอเจาะขณะเข้าโค้ง อาจต้องใช้เวลาในการทำความคุ้นเคยกับเคลฟเวอร์ แต่เมื่อคุ้นเคยดีแล้ว ผมเชื่อว่าคุณจะรู้สึกแปลกๆ ถ้าต้องกลับไปขับรถปกติ” ” ดริว หนึ่งในผู้ออกแบบระบบควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้งแบบใหม่ อธิบาย

ดร. เกอเรนต์ โอเวน (Geraint Owen) อาจารย์อาวุโสของบาท สำทับว่า เคลฟเวอร์นับเป็นยานยนต์รุ่นแรกที่ใช้ระบบไฮดรอลิกเพื่อให้เคลื่อนที่เหมือนมอเตอร์ไซค์ แต่ให้ความรู้สึกในการขับขี่เหมือนรถยนต์

เคลฟเวอร์ที่นำมาสาธิตที่บาทเป็น 1 ใน 5 รุ่นที่พัฒนาโดยคอนซอร์เตียมแห่งยุโรป โดย 3 รุ่นในจำนวนนี้สิ้นสภาพในการทดสอบการชน และอีกรุ่นที่เหลืออยู่ในเยอรมนี ภายใต้การประคบประหงมของค่ายรถหรูบีเอ็มดับเบิลยู ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมโครงการ

นอกเหนือจากบาทและบีเอ็มดับเบิลยูแล้ว พันธมิตรในโครงการนี้ยังประกอบด้วยมหาวิทยาลัยเทคนิคเบอร์ลิน (Technische Universitaet Berlin) สถาบันปิโตรเลียมแห่งฝรั่งเศส (the Institut Francais Du Petrole in Vernaison near Lyon) และสถาบันการศึกษาอีกหลายแห่งในออสเตรีย และประเทศอื่นๆ ในยุโรป

อย่างไรก็ดี แม้พรั่งพร้อมด้วยนวัตกรรมใหม่หลายอย่าง แต่ไม่มีแนวโน้มว่า เคลฟเวอร์จะเข้ามาแทนที่รถสปอร์ตอเนกประสงค์ (SUV) ซึ่งเป็นรถยอดนิยมของคนเมืองอย่างรวดเร็ว เนื่องจากรถต้นแบบที่นำออกมาแสดงยังเป็นเพียงโครงการวิจัย และไม่มีวี่แววว่าจะผลิตออกจำหน่ายในเร็ววันนี้

กระนั้น นักวิจัยหวังว่า บริษัทรถยนต์ค่ายต่างๆ อาจลุกขึ้นมาพัฒนารถจิ๋วเพื่อสิ่งแวดล้อมของตัวเอง ซึ่งจะเป็นการปูทางสำหรับยานยนต์ประเภทใหม่ที่อยู่ตรงกลางระหว่างมอเตอรไซค์กับรถยนต์
รถต้นแบบที่ทีมนักศึกษานำมาโชว์สู่สาธารณชน ให้ดูสมรรถนะเครื่องยนต์และไอเดียกันก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น