xs
xsm
sm
md
lg

ใช้แสงซินโครตรอนดูฮีโมโกลบินหาเหตุ “ธาลัสซีเมีย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อาจารย์เคมีมหิดลใช้แสงซินโครตรอนศึกษาโครงสร้างฮีโมโกลบินลูกผสมระหว่างหนูและคน หลังพบหนูรอดชีวิตแม้ยีนผิดปกติ สร้างฐานต่อยอดศึกษา “ธาลัสซีเมีย”

รศ.ดร.พลังพล คงเสรี อาจารย์จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดถึงการศึกษาโครงสร้างและการทำงานของฮีโมโกลบินลูกผสมระหว่างยีนของหนูและคนจากเลือดของหนูโดยใช้แสงซินโครตรอน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานไปสู่การศึกษาโรคธาลัสซีเมียชนิดอีซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมเกี่ยวกับความผิดปกติของเลือดที่พบในคนไทยมากที่สุด

ก่อนหน้านี้ได้มีการทดลองใส่ยีนฮีโมโกลบินสายเบต้าของมนุษย์เข้าไปในหนู ทำให้หนูมีฮีโมโกลบินลูกผสมเป็นสายอัลฟาของหนูและมีฮีโมโกลบินสายเบต้าเป็นของคน ซึ่งปกติหนูที่ไม่มีฮีโมโกลบินสายเบต้าหรือมีความผิดปกติจะเสียชีวิต แต่ปรากฏว่ามีหนูที่รอดชีวิต รศ.ดร.พลังพลจึงตั้งใจที่จะศึกษาโครงสร้างของฮีโมโกลบินลูกผสมดังกล่าว

รศ.ดร.พลังพลกล่าวว่าที่ต้องใช้แสงซินโครตรอนเนื่องจากมีความยาวคลื่นใกล้เคียงกับขนาดโมเลกุลของฮีโมโกลบิน โดยแสงซินโครตรอนที่ใช้เป็นรังสีเอ็กซ์พลังงานสูง (hard X-ray) ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ(ศซ.) ของไทยยังไม่สามารถผลิตได้ จึงต้องนำโมเลกุลไปศึกษาที่ต่างประเทศซึ่งผลิตได้

สำหรับความเกี่ยวเนื่องกับโรคธาลัสซีเมียนั้นคือธาลัสซีเมียชนิดอีเกิดจากความผิดปกติของฮีโมโกลบินสายเบต้า โดยเป็นความผิดปกติของกรดอะมิโนบนตำแหน่ง 26 ของสายเบต้าที่ควรจะเป็นกลูตาเมตแต่กลายเป็นไลซีน และการศึกษาโครงสร้างนี้เป็นการศึกษาความผิดปกติของฮีโมโกลบินสายเบต้าจากเลือดของหนู อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.กล่าวว่างานวิจัยนี้ยังอยู่ในขั้นพื้นฐานซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะมีใครนำไปต่อยอดอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น