นักนิวเคลียร์ไทยแจงเสริมสมรรถนะยูเรเนียมผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์หรือทำระเบิดใช้วิธีเดียวกัน แค่เหวี่ยงเพิ่มความเข้มข้นยูเรเนียม-235 แจงผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ความเข้มข้นแค่ 2-3 เปอร์เซ็นต์ แต่ผลิตระเบิดต้องใช้ 90 % ขึ้นไป
ระหว่างที่ข่าวการเมืองภายในประเทศกำลังร้อนแรง บรรยากาศการเมืองระดับโลกก็มีอุณหภูมิครุกรุ่นไล่ระดับไม่แพ้กัน อย่างข่าวการลักลอบเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมของอิหร่านซึ่งทำให้หลายประเทศกังวลว่าจะเป็นการซุ่มผลิตอาวุธนิวเคลียร์ และประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐและองค์กรปรมาณูระดับโลกอย่างทบวงการพลังปรมาณูระหว่างประเทศหรือ “ไอเออีเอ” ก็กำลังเล็งว่าจัดการจะมีมาตรการใดออกมาใช้กับอิหร่าน
แม้ว่าจะซุ่มเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมแต่อิหร่านก็อ้างว่าเพื่อใช้กับโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เท่านั้นและไม่ได้ทำไปเผื่อผลิตอาวุธร้ายแต่อย่างใด แต่ทางไอเออีเอก็จะลงมติในวันที่ 28 เม.ย.นี้ว่าอิหร่านผิดจริงหรือไม่ ระหว่างรอผลตัดสินที่ใกล้เข้ามา เรามาทำความเข้าใจกันว่าการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้านั้นสามารถนำไปผลิตระเบิดนิวเคลียร์ได้อย่างไร โดย “ผู้จัดการวิทยาศาสตร์” ได้สอบถามไปยังผู้รู้ซึ่งคร่ำหวอดในแวดวงนิวเคลียร์ไทย
นายอารีรัตน์ คอนดวงแก้ว นักวิจัยจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ(ปส.) อธิบายทั้งการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์และการสร้างระเบิดนิวเคลียร์นั้นจะต้องเสริมสมรรถนะของยูเรเนียมให้มีความเข้มข้นของยูเรเนียม -235 ซึ่งเป็นยูเรเนียมที่จะทำให้เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ได้ ให้ได้ความเข้มข้นในปริมาณที่จะนำไปใช้ได้
ในธรรมชาติแร่ยูเรเนียมจะประกอบด้วยยูเรเนียม-235 สัดส่วนเป็นประมาณ 0.7 %และยูเรเนียม-238 ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 99 เปอร์เซ็นต์ เพื่อใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าจำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนยูเรเนียม-235 ให้ได้ 2-3 % ซึ่งจะทำให้เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์แบบฟิชชันที่ควบคุมได้ ส่วนการสร้างระเบิดนิวเคลียร์จำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนยูเรเนียม-235 ให้ได้ 90 % และในปริมาณที่เป็นมวลวิกฤติจึงจะเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์แบบควบคุมไม่ได้หรือเกิดการระเบิด
“การทำเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ไม่ใช่มีแร่ยูเรเนียมแล้วใช้ได้เลยนะ คุณจะต้องเปลี่ยนให้เป็น “yellow cake” (U3O8) แล้วต้องไปผ่านกระบวนการให้เป็นก๊าซยูเรเนียมเฮกซะฟลูออไรด์ (UF6) แล้วนำไปแยกเป็นยูเรเนียม -235 และยูเรเนียม 238 พอแยกได้ 2-3 % ก็ต้องผ่านกระบวนการเปลี่ยนเป็นยูเรเนียมออกไซด์ (UO2) แล้วเอาไปอัดที่ความดันสูงๆ ออกมาเป็นเม็ดเชื้อเพลิง แล้วนำเม็ดเชื้อเพลิงเอาเข้าเรียงในหลอดเชื้อเพลิงเรียกว่า fuel pin ซึ่งจะจับรวมกันเป็นมัดเชื้อเพลิงซึ่งจะเอาไปประกอบเป็นแกนเครื่องปฏิกรณ์”
พร้อมกันนี้นายอารีรัตน์ยังได้อธิบายเพิ่มเติมว่าปฏิกิริยาฟิชชันที่จะเกิดในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใช้ Thermal neutron ในการจุดระเบิดให้เกิดการแตกตัว โดยปฏิกิริยาฟิชชันแต่ละครั้งจะได้พลังงานประมาณ 200,000,000 eV ซึ่งจะทำให้เกิดความร้อนมหาศาลและนำไปใช้ต้มน้ำให้เดือดเพื่อหมุนกังหันสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าเช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าทั่วไป
ส่วนการจุดระเบิดให้กับระเบิดนิวเคลียร์นั้นต้องใช้ fast neutron ซึ่งเชื้อเพลิงของทั้งโรงไฟฟ้าและระเบิดนิวเคลียร์จะมีมวลวิกฤตที่ทำให้เป็นปฏิกิริยานิวเคลียร์เหมือนกัน แต่มวลของยูเรเนียมในระเบิดนิวเคลียร์จะถูกแยกออกเป็น 2 ส่วนไว้ก่อน แล้วจะใช้วิธีการผลักให้มารวมกันซึ่งจะได้มวลวิกฤตและจะทำให้เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันได้
ด้าน ผศ.ปรีชา การสุทธิ์ อุปนายกสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทยกล่าวว่าการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมนั้นมีไม่กี่ประเทศที่ทำได้ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่นละอังกฤษ เป็นต้น โดยจะใช้เทคนิคการเหวี่ยงก๊าซหรือเซนทริฟิวจ์(Centrifuge) เพิ่มความเข้มข้นยูเรเนียม-235 ซึ่งยูเรเนียม-238 ที่หนักกว่าจะถูกเหวี่ยงให้อยู่ชิดผนังเครื่องหมุนเหวี่ยง ขณะที่ยูเรเนียม-235 ที่เบากว่าจะถูกเหวี่ยงให้ลอยขึ้นสู่เครื่องหมุนเหวี่ยงถัดไป ขั้นตอนดังกล่าวจะทำให้ได้ยูเรเนียม-235 ที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เป็นยูเรเนียมเสริมสมรรถนะตามต้องการ
“การผลิตยูเรเนียมทำระเบิดก็ใช้วิธีเซนทริฟิวจ์ไปเรื่อยๆ จนได้ความเข้มข้น 90 % และใช้วิธีเพิ่มยูนิต ถ้าผลิตเพื่อใช้ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็อาจจะใช้แค่ 30 ยูนิต แต่ถ้าจะทำระเบิดก็ต้องเพิ่มหลายร้อยยูนิต และไม่ต้องใช้พื้นที่มากเพราะเซลล์ที่ใช้เล็กนิดเดียวเท่ากับท่อน้ำประปา” ผศ.ปรีชาอธิบายถึงขั้นตอนการเตรียมสารตั้งสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และการผลิตระเบิดนิวเคลียร์ซึ่งมีขั้นตอนเดียวกันแต่ต่างกันแค่ระยะเวลา
พร้อมกันนี้ได้ให้ความเห็นที่อิหร่านถูกกดดันว่าเพราะไม่แจ้งให้ไอเออีเอทราบถึงถูกต้องสงสัย ทั้งนี้การทำเซนทริฟิวจ์หรือเสริมสมรรถนะของยูเรเนียมนั้นประเทศไหนๆ ก็ทำได้แต่ต้องแจ้งให้ทางไอเออีเอทราบว่าทำอะไรก่อน