หลากหลายพรวิเศษที่คนเราอยากขอต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (ถ้าขอได้) คงได้แก่ ขอให้ตัวเองร่ำรวย มีเงินทองมากๆ มีอำนาจเหลือล้น มีคนเอาใจใส่... และคงมีไม่น้อยที่ขอให้ตัวเองมีร่างกายแข็งแรง ไร้โรคภัยไข้เจ็บ ไม่เป็นโรคเบาหวาน หัวใจ มะเร็ง อัลไซเมอร์... แต่คงไม่มีใครคิดว่า สุขภาพฟันที่ดีก็เป็นอีกหนึ่งความสุขที่ละเลยไม่ได้เช่นกัน
ลองจินตนาการดู หากเราในวันนี้ต้องเปลี่ยนไป เป็นเราที่มีฟันเหลืออยู่น้อยหรือไม่มีฟันในปากเลย เราจะเป็นอย่างไร? เราจะกินอาหารได้ไหม อาหารในปากของเราจะเอร็ดอร่อยเหมือนขณะที่เรายังมีฟันขบเคี้ยวอยู่หรือเปล่า มันฝรั่งทอดยังกรุบกรอบน่ารับประทานอีกหรือไม่ หรือกลับแข็งเป็นกระเบื้อง จนกระเดือกไม่ลง!!?
มิวายทำให้เราต้องคิดถึงคนชราที่สังขารร่วงโรย จนสุขภาพฟันเริ่มถดถอย ความสุขในการรับประทานอาหาร หรือแม้แต่การกินเพื่อดำรงชีวิตอยู่ก็พลอยจากไปด้วย ซึ่งนี่เองที่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุส่วนหนึ่งต้องจากเราไปก่อนเวลาอันควร เนื่องจากไม่สามารถรับประทานอาหารได้ ส่งผลให้สุขภาพร่างกายโดยรวมแย่ลง
“การทำรากฟันเทียม” จึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือก ที่เป็นตัวช่วยให้ผู้สูงอายุก้าวข้ามสภาวะแห่งความทุกข์นั้นมาได้ ทว่า ราคาค่าใช้จ่ายในทำการรากฟันเทียมก็แสนจะทรมานใจผู้มีรายได้น้อยเสียเหลือเกิน เพราะแม้คุณหมอจะใจดี รักษาผู้ป่วยแบบไม่เอากำไรเลย การทำรากฟันเทียมก็ยังมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นบาทต่อซี่ แถมที่แพงสุดๆ ก็ปาเข้าไปเป็นเรือนแสน จนกล่าวได้ว่า การทำรากฟันเทียมในผู้ป่วยบางรายนั้นใช้เงินมากพอๆ กับการถอยรถป้ายแดงคันหรูคันหนึ่งเลยทีเดียว... การทำรากฟันเทียมจึงหมายถึงรายจ่ายที่ต้องตะกายเอาสำหรับคนหมู่มาก
“โครงการวิจัยพัฒนาและผลิตวัสดุและอุปกรณ์ของรากฟันเทียม” โดย ผศ.ทพ.สรรพัชญ์ นามะโน ภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะจึงเกิดขึ้นมา โดยได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยประจำปีงบประมาณ 2548 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่ง ผศ.ทพ.สรรพัชญ์ เล่าถึงที่มาของโครงการอย่างเป็นกันเองว่า ตามปกติแล้ว รากฟันเทียมเป็นอุปกรณ์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงมีราคาแพง คนบางกลุ่มเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้ ดังนั้นหากสามารถทำรากฟันเทียมให้มีราคาถูกลงเพื่อใช้ในประเทศแล้ว คนส่วนใหญ่ก็จะมีโอกาสใช้งาน
เขาและผู้ร่วมโครงการอีก 24 คน จึงร่วมกันคิดหาวิธีการผลิตรากฟันเทียมราคาประหยัดขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นรากฟันเทียมในอุดมคติของทันตแพทย์ และเหมาะกับกายวิภาคและสรีระของคนไทยมากที่สุด ซึ่งเมื่อนำมาใช้จริงแล้ว ก็รับรองได้ว่าผู้ป่วยจะไม่มีการเจ็บตัวเพิ่มขึ้นกว่าการทำรากฟันเทียมแบบเดิม
ที่มาของรากฟันเทียมในอุดมคติของทันตแพทย์ เกิดขึ้นจากการระดมสมองของผู้เชี่ยวชาญจาก 8 มหาวิทยาลัยที่มีโรงเรียนทันตแพทย์ ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยรวมเอาลักษณะดีๆ ของรากฟันเทียมแบบต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน จนได้แบบร่างชุดอุปกรณ์รากฟันเทียมอุดมคติขึ้นมาชุดหนึ่ง ประกอบด้วย หัวกรอกระดูก 3-4 ตัว รากฟันเทียม หมวกปิดรากเทียม ตัวพิมพ์ปาก และตัวสมานแผล โดยใช้วัสดุชนิดเดียวกันกับที่มีวางขายในท้องตลาดคือ โลหะผสมไททาเนียมอัลลอยด์ ซึ่งเป็นโลหะที่เข้ากับร่างกายคนได้ดีอยู่แล้ว แต่ก็จะมีการพัฒนาให้ยึดเกาะกับกระดูกได้ง่ายและดีขึ้นกว่าเดิมอีกขั้นหนึ่ง
สำหรับความคืบหน้าล่าสุดของการทำรากฟันเทียมแบบใหม่นี้ ผศ.ทพ.สรรพัชญ์ บอกว่า ยังอยู่ในช่วงจัดซื้อจัดจ้าง โดยได้ส่งแบบร่างไปผลิตยังโรงงานในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นโรงงานของบริษัทเดียวกับที่ผลิตรากฟันเทียมวางขายในท้องตลาด สั่งทำทั้งหมด 50 ชุด เป็นเงินประมาณ 1 ล้านบาท ขั้นตอนการวิจัยพัฒนาที่เหลือจึงได้แก่ การทดสอบความเป็นพิษของโลหะเพื่อความมั่นใจแก่ผู้ใช้งาน และการทดสอบการยึดเกาะกับกระดูก ซึ่งจะทดลองในสุนัขก่อนเป็นเวลา 8 เดือน จากนั้นจะยื่นเรื่องผ่านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) แล้วทำการทดลองในคนกับโรงเรียนทันตแพทย์ทั้ง 8 แห่งข้างต้นต่อไป ซึ่งจะเป็นขั้นตอนที่ใช้งบประมาณมากที่สุด โดยจะเปิดรับอาสาสมัคร 50 ราย ที่มีสุขภาพแข็งแรง มารับการรักษาด้วยรากฟันเทียมแบบไม่คิดค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ คาดว่าการพัฒนาทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายใน 3 ปี และหากรากฟันเทียมแบบใหม่เป็นที่ยอมรับแล้ว ก็จะย้ายการผลิตทั้งหมดมาไว้ในประเทศ เป็นเป้าหมายสูงสุดที่ตั้งไว้ ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมอยู่แล้ว ทำให้การรักษาด้วยรากฟันเทียมจะมีราคาถูกลงกว่าครึ่ง เพราะเป็นการทำงานวิจัยโดยไม่หวังผลกำไร เพื่อให้คนส่วนใหญ่ได้ใช้ โดยยิ่งผลิตมากก็จะยิ่งมีราคาถูกลง...
ประเทศของเรายังมีคนจนและคนชนชั้นกลางมากกว่าคนรวยหลายเท่า และความการุณย์ต่อผู้สูงอายุก็จัดเป็นความกตัญญูกตเวทีอย่างหนึ่ง การพัฒนารากฟันเทียมราคาประหยัด เพื่อขยายโอกาสแก่ผู้มีรายได้น้อยของ ผศ.ทพ.สรรพัชญ์ และคณะ จึงนับเป็นอีกหนึ่งงานวิจัยคุณภาพของคนไทย โดยคนไทย เพื่อคนไทย และได้รับเสียงเชียร์จากคนไทยให้ประสบผลสำเร็จในเร็ววัน เพื่อสุขภาพฟันที่ดีของคนไทยจะถูกเติมเต็มให้สมบูรณ์มากขึ้นต่อไป...