xs
xsm
sm
md
lg

เนคเทคปรับโฉม "เครื่องวัดแอลกอฮอล์" ตรวจขี้เมาบนท้องถนน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไม่ว่าจะเทศกาลสงกรานต์ เทศกาลปีใหม่หรือลอยกระทง ช่วงเวลาไหนๆ “พี่ไทย” ก็เมา เมาเฉยๆ ไม่เท่าไหร่แต่เมาแล้วขับนั้นน่าปวดใจ เกิดอุบัติเหตุมากมายทั้งสูญเสียชีวิตและพิกลพิการ มาตรการ “เมาไม่ขับ” ต้องถูกงัดออกมาใช้ หากใครถูกตรวจพบว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกำหนดอาจโดนโทษทั้งจำและปรับ ตามท้องถนนจึงต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมเครื่องมือประจำกายสำหรับตรวจวัดแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่บนท้องถนน

ทั้งนี้อุปกรณ์ตรวจวัดแอลกอฮอล์ก็ใช่ว่าจะมีราคาถูกๆ และต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ หน่วยงานวิจัยอย่างศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค) จึงได้พัฒนา “เครื่องวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจแบบพกพา” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนนจากการขับขี่ขณะมึนเมา ซึ่งก็ได้เปิดตัวไปเมื่อปี 2547 แต่รูปร่างที่เทอะทะและไม่สะดวกต่อการใช้งานจึงต้องปรับปรุงผลิตภัณฑ์กันใหม่ จนได้ผลิตภัณฑ์รุ่นที่ 5 ที่สวยเพรียวและสะดวกใช้งานยิ่งขึ้น

ทั้งนี้เนคเทคได้ผลิตเครื่องต้นแบบของเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ในลมหายใจแบบ screening (Screeening Alcohol Meter:SAM) ในรุ่นที่ 5 ชื่อ SAM-05 ซึ่งมีหัววัดที่สร้างด้วยเทคโนโลยีเซนเซอร์แบบเซมิคอนดักเตอร์ที่จะตรวจวัดระดับออกไซด์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ไม่แพงและตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจของผู้ขับขี่ได้ในเบื้องต้น อีกทั้งเครื่องดังกล่าวไม่จำเป็นต้องใช้หลอดเป่า จึงช่วยลดการสิ้นเปลืองและสะดวกต่อการใช้งานเพราะใช้เวลาเพียง 2-5 วินาทีก็ทราบผล

ด้าน ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ นักวิจัยนาโนเทคและหัวหน้าโครงการพัฒนาเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์กล่าวว่าได้ปรับปรุงเครื่องตรวจนี้ให้สะดวกต่อการใช้งานของตำรวจ จากเดิมที่มีรูปร่างคล้ายกระบอกไฟฉายและมีขนาดใหญ่เทอะทะ ก็ปรับให้เล็กลงและมีรูปร่างคล้ายหีบเป่าเพลง(เมาธ์ออร์แกน) อีกทั้งยังได้เพิ่มสัญญาณไฟที่เป็นสัญญาณบอกว่าปริมาณแอลกอฮอล์ผ่านหรือไม่ผ่าน ช่วยให้ไม่เสียเวลาในการตรวจ

สำหรับผลงานคนไทยชิ้นนี้พร้อมจะผลิตในอุตสาหกรรมได้ในราคา 5,000 บาท ซึ่ง ดร.อดิสรกล่าวว่าขึ้นอยู่กับทางภาครัฐว่าจะให้ผลิตออกมาในปริมาณเท่าไหร่ และยินดีถ้าเอกชนสนใจจะนำไปผลิต และ ดร.อดิสรยังเปิดเผยอีกว่าเครื่องตรวจวัดแอกอฮอล์นี้ได้พัฒนามาถึงรุ่นสุดท้ายและไม่ต้องปรับปรุงแล้ว โดยผลตอบรับจากการใช้การของตำรวจซึ่งทางทีมวิจัยและพัฒนาได้ออกไปทดสอบตามท้องถนนในกรุงเทพฯ นั้นได้รับรับความพอใจจากเจ้าหน้าที่พอสมควร

นับเป็นอีกนวัตกรรมในการดูแลและควบคุมความปลอดภัยบนท้องถนน แต่ทางที่ดีควรระลึกไว้เสมอว่า “ดื่ม(แอลกอฮอล์) แล้วไม่ขับ ขับแล้วไม่ดื่ม(แอลกอฮอล์)” เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของคนรอบข้างและตัวคุณเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น