แม้จะกล่าวไม่ได้ว่าวงการนิยายวิทยาศาสตร์ในเมืองไทยกำลังได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม แต่หลายองค์กรก็พยายามที่จะส่งเสริมให้มีนักเขียนหน้าใหม่ออกมาประดับวงการ “ไซ-ไฟ” ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นประกวดรางวัล “จันตรี ศิริบุญรอด” หรือการซุ่มฝึกการเขียนของชมรมนิยายวิทยาศาสตร์ไทยที่นำโดย “ดร.ชัยวัฒน์ คุปตระกูล” ซึ่งคาดว่าอนาคตวงการนี้คงจะได้รับความสนใจมากขึ้น
อย่างไรก็ดีในทัศนะของนักเขียนรุ่นใหญ่อย่าง “วินทร์ เลียววาริณ” วิจารณ์ว่างานเขียนในลักษณะนี้มักจะมีกลิ่นอายตะวันตก เพราะนิยายวิทยาศาสตร์ที่มีให้อ่านส่วนใหญ่ก็เป็นนิยายที่ฝรั่งเขียน อีกทั้งเทคโนโลยีต่างๆ ก็ล้วนเป็นผลงานที่มาจากโลกตะวันตกเสียส่วนใหญ่
“แนวคิดต่างๆ ในโลกปัจจุบันนี้เป็นของฝรั่งซะ 99 เปอร์เซ็นต์ มันไม่มีเทคโนโลยีใหม่อะไรเลยที่สร้างโดยคนไทย เพราะฉะนั้นเราพูดถึงเรื่องดาราศาสตร์ คนไทยก็จะตามฝรั่งอย่างเดียว เราพูดถึงแกแลกซี่ภายนอก เรื่องอะตอม เรื่องโครงสร้างสิ่งมีชีวิต เหล่านี้เป็นของฝรั่งหมด เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่ไม่ว่าคุณจะเขียนนิยายวิทยาศาสตร์อย่างไรก็ตามมันยังมีกลิ่นของฝรั่งอยู่บ้าง เพราะว่าเทคโนโลยีเป็นของฝรั่ง แทบจะหนีไม่พ้น”
จากเหตุผลข้างต้นและความคิดที่ว่าเนื้อเรื่องของนิยายวิทยาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในโลกอนาคต อาจจะหยิบยกเรื่องราวในสมัยสุโขทัยหรือในอดีตมาใช้ก็ได้ จึงทำให้เขาพยายามที่จะทดลองงานเขียนไซ-ไฟที่มีฉากหลังเป็นเรื่องราวแบบไทยๆ อย่าง “พระอภัยมณี” ซึ่งก็มีผลงานที่เกี่ยวเนื่องกัน 2 เรื่องคือ “เดือนช่วงดวงเด่นฟ้าดาดาว” และ “จรูญจรัสรัศมีพราวพร่างพร้อย”
“ผมคิดตลอดว่าจะทำยังไงให้นิยายวิทยาศาสตร์มีความเป็นไทยๆ มากขึ้น นิยายวิทยาศาสตร์เท่าที่อ่านดูร้อยละ90 จะเป็นนิยายวิทยาศาสตร์จากต่างประเทศ ซึ่งแนวติดต่างๆ จะเป็นแนวคิดจากต่างประเทศหรือตะวันตกเสมอ ยังไม่มีใครหรือผมไม่เห็นว่าใครจะดึงเรื่องเก่าๆ ของเรา เช่นเรื่องพระอภัยมณีหรือเรื่องราวในอดีตของเรามาเล่นเป็นนิยายวิทยาศาสตร์แบบไทยๆ ก็เลยอยากจะลองดู เพื่อดูว่าจะมีความเป็นได้แค่ไหนที่จะเล่นนิยายวิทยาศาสตร์แบบไทยๆ ดูบ้าง”
นอกจากนี้เขายังให้ความเห็นว่าในแวดวงการอ่านของไทยนั้น หนังสือที่มีคำว่า “วิทยาศาสตร์” ขึ้นปกมักจะขายได้ไม่ดี แต่หนังสือเล่มเดียวกันหากตัดคำนี้ออกจะขายได้ ซึ่งได้ให้เหตุผลว่าเพราะคนกลัววิทยาศาสตร์ อะไรก็ตามที่มีคำว่าวิทยาศาสตร์จะฟังดูยากมาก เหมือนเรื่องไกลตัวและไม่น่าสนุก ช่วงหลังเมื่อเขียนนิยายวิทยาศาสตร์เขาจึงต้องตัดคำว่าวิทยาศาสตร์ออกจากหน้าปกไม่อย่างนั้นมันขายไม่ได้
“มันก็สะท้อนให้เห็นว่าระบบการศึกษาของบ้านเราไม่เหมาะสมกับนิยายวิทยาศาสตร์ แม้แต่ครูบาอาจารย์ก็อาจจะไม่ได้อ่านนิยายวิทยาศาสตร์เพราะคิดว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน เป็นเรื่องไกลตัว แต่ในมุมมองของผม ผมคิดว่าการที่เราให้เด็กอ่านนิยายวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เด็กทำให้ได้รับจินตนาการ และไม่ได้หมายความว่าจะต้องโตมาจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่เป็นการฝึกให้รู้จักจินตนาการซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า แม่ค้า ถ้ามีจินตนาการคุณสามารถทำอะไรที่ดีกว่าเดิมได้ เพราะฉะนั้นจินตนาการตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ และปลูกฝังด้วยนิยายวิทยาศาสตร์ได้”