xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเผยใช้ยีนบำบัดสร้างเส้นเลือด-กล้ามเนื้อหัวใจใหม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผอ.ไบโอเทคนานาชาติ ทำยีนบำบัด ฉีดสารวีอีจีเอฟให้หนูทดลอง พบในหัวใจสิ่งมีชีวิตมีเซลล์ที่สามารถสร้างเส้นเลือดและเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจใหม่ได้ จึงไม่ต้องง้อสเต็มเซลล์จากเลือดและไขกระดูกอีก

ภายในงานการประชุมประจำปี 2549 ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NAC2006) ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม- 1 เมษายน ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ได้มีการจัดการบรรยายพิเศษที่น่าสนใจในหลากหลายเรื่องหลากหลายสาขาวิชาด้วยกัน

หนึ่งในการบรรยายพิเศษวานนี้ (30 มี.ค.) คือการบรรยายของ ศ.ดร.มารูโอ เจียคา (Proff.Maruo Giaaca) ปรมาจารย์ด้านยีนบำบัดและผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพนานาชาติ (ไอซีจีอีบี) ประเทศอิตาลี ในหัวข้อ “มุมมองใหม่ของการใช้ยีนบำบัดและสเต็มเซลล์เพื่อการรักษาโรคหัวใจ”

ศ.ดร.เจียคา กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการทดลองเพิ่มจำนวนสารวีอีจีเอฟ (vascular endothelial growth factor: VEGF) ซึ่งเป็นสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ที่สร้างเส้นเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจให้แก่กล้ามเนื้อหัวใจของหนูทดลอง พบว่าการทดลองประสบผลสำเร็จมาก โดยสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจจนสามารถป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายด้วยการสร้างเส้นเลือดใหม่ได้

อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่า ผลสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นจากสารที่ฉีดเข้าไปได้ไปกระตุ้นเซลล์ที่มีการสร้างเส้นเลือดที่มีอยู่ในหัวใจอยู่แล้วด้วยวิธียีนบำบัด มิได้เกิดจากสเต็มเซลล์จากเลือดและไขกระดูกที่ฉีดเข้าไปแต่อย่างใด ซึ่งผลความสำเร็จที่ได้อาจนำไปใช้ในการรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการอุดตันของไขมันในเส้นเลือดในอนาคตต่อไป

ทั้งนี้ สเต็มเซลล์เป็นผลจากพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยเชื่อว่าเทคโนโลยีนี้ช่วยรักษาโรคร้ายหลายๆ อย่างที่มนุษย์ไม่เคยสามารถเอาชนะได้ อาทิ โรคหลอดเลือดหัวใจตาย โรคเบาหวาน และโรคพาคินสัน ฯลฯ จึงสร้างความหวังให้แก่วงการแพทย์ทั่วโลก

สำหรับในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้เป็นโต้โผตั้งโครงการวิจัยและพัฒนาห้องปฏิบัติการเซลล์ต้นกำเนิดขึ้นในปีงบประมาณ 2549-2551 และใช้งบประมาณทั้งสิ้น 40 ล้านบาท พร้อมกับจุดมุ่งหมายที่เป็นรูปธรรมว่าภายใน 1 ปีจะสามารถนำเซลล์ต้นกำเนิดมาใช้กับการรักษาโรคในมนุษย์ได้ 2-3 โรค

กำลังโหลดความคิดเห็น