xs
xsm
sm
md
lg

“สำรองในน้ำดอกคำฝอย” เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจากรั้ว มทร.จันทบุรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มทร.จันทบุรี ทำสำรองในน้ำดอกคำฝอยเป็นเครื่องดื่มสุขภาพ หมายเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิต หลังพบวิธีต่อกิ่ง-ติดตาต้นสำรองให้ปลูก-เก็บเกี่ยวได้ง่ายกว่าเก่า เผยได้ต้นพุ่มเตี้ย 4-5 ปีก็เก็บเกี่ยวผลได้แล้ว ด้านเอกชนตบเท้าให้ความสนใจ ยอดการส่ง “หมื่นกระป๋องต่อเดือน” เดินหน้าเผยแพร่แก่ชาวบ้านในชุมชน ตอบโจทย์ “มหาวิทยาลัยรับใช้สังคม”

ในช่วง 1-2 ปีมานี้ หลายคนคงเคยได้ยินหรือแม้แต่เคยทานผลสำรองกันมาบ้างแล้ว เนื่องจากสรรพคุณแก้ไอ- กระหายน้ำ รวมถึงการรับประทานแทนอาหารเย็นเพื่อลดน้ำหนัก หรือเพื่อดูดไขมันส่วนเกินจากร่างกาย ทว่า สำหรับผู้ที่ยังไม่รู้จักสำรองก็อย่าพึ่งตกใจว่าจะตกกระแสแต่อย่างใด เพราะ “ผู้จัดการวิทยาศาสตร์” ได้ยกกระบุงข้อมูลและผลงานความสำเร็จของคนรุ่นใหม่ที่เกี่ยวข้องกับสำรองมาเล่าสู่กัน!!?

นายบุญญฤทธิ์ พินสระน้อย อุปนายกสโมสรมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี เล่าว่า มากกว่า 5 ปีแล้วที่ทางมหาวิทยาลัยได้บูรณาการหลายสาขาวิชาในคณะเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเกษตรให้เข้ามาศึกษาและวิจัยสำรองร่วมกัน อาทิ สาขาเทคโนโลยีการผลิตพืช และสาขาเทคโนโลยีการอาหาร ซึ่งได้ศึกษาทั้งในแง่การเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวผลสำรองเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ โดยมี อ.นฤศันส์ วาสิกดิลก และผศ.มาโนชญ์ กูลพฤกษี เป็นที่ปรึกษาโครงการ

ทั้งนี้ สำรอง (พุงทลายหรือหมากจอง) เป็นพืชที่กำเนิดและแพร่กระจายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา และอินโดนีเซีย ในประเทศไทยพบมากในภาคตะวันออกแถบ จ.จันทบุรี และ จ.ตราด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบมากที่ จ.อุบลราชธานี รวมทั้งยังแพร่กระจายในอีกหลายจังหวัดภาคใต้ โดยจะพบในพื้นที่เทือกเขาและป่าราบ

ด้านรูปพรรณสัณฐาน สำรองเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ลำต้นกลมทรงสูงตรงชะลูด มีกิ่งก้านเฉพาะเรือนยอดสูงจากพื้นดินประมาณ 30-40 เมตร ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายยอดหรือตาข้างของปลายยอด มีผลรูปกลมรี คล้ายผลสมอแห้ง กว้าง 1.0-1.5 ซม. ยาว 1.5-2.5 ซม. มีปีกรูปคล้ายเรือติดอยู่ 1 ปีก เรียกว่าตะเภาหรือสำเภา ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่เมื่อแห้งมีสีน้ำตาลและร่วงหล่นพร้อมปีก เมื่อนำผลแก่ไปแช่น้ำ เนื้อบางๆ ที่หุ้มเมล็ดจะพองขยายออกคล้ายวุ้นสีน้ำตาล ปกติจะออกดอกช่วงเดือนมกราคม และผลแก่ในช่วงมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน ลักษณะของต้นกล้า เมื่อยังเล็กจะมีรูปใบคล้ายใบโพธิ์ และเปลี่ยนรูปเป็น 3 แฉก 5 แฉก เมื่อโตเต็มที่ ใบก็จะเปลี่ยนรูปร่างไปจนมีลักษณะคล้ายหอก

“ต้นสำรองมีประโยชน์ด้วยกันหลายอย่าง เปลือกเมื่อแห้งจะมีความแข็งใช้ปูพื้นหรือทำฝาบ้านได้ โดยใช้ในขณะที่ยังสดใหม่เนื่องจากจัดรูปได้ง่ายและเมื่อแห้งจะอยู่ตัว ส่วนผลสำรอง ผลแห้งจะเป็นสินค้าส่งออกไปยังประเทศจีนและตะวันออกกลาง โดยใช้ผลแช่น้ำดื่มแก้กระหายและช่วยให้ชุ่มคอ ใช้ส่วนเนื้อที่พองน้ำเติมน้ำตาลหรือน้ำเชื่อมรับประทานเป็นของว่าง รวมทั้งอาจใช้เนื้อที่พองน้ำทำลูกประคบประคบแก้อาการตาอักเสบ หรือใช้เนื้อรับประทานแก้ร้อนใน ไอ ขับเสมหะ ซึ่งชาวจีนจะใช้ผลสำรองร่วมกับชะเอมเติมน้ำจิบแก้อาการเจ็บคอ” นายบุญญฤทธิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายบุญญฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า แม้สำรองจะเป็นไม้พื้นเมืองของประเทศไทย แต่เนื่องจากต้นสำรองตามธรรมชาติมีลำต้นสูงมาก และใช้เวลานานประมาณ 8-10 ปีขึ้นไปกว่าจะออกดอกและให้ผล อีกทั้งเก็บเกี่ยวลำบากเนื่องจากผลมีปีกปลิวตามลมไปได้ไกล ชาวบ้านจึงไม่ให้ความสนใจในการปลูกหรือขยายพันธุ์ ด้วยเหตุนี้ ทางมหาวิทยาลัยจึงคิดหาวิธีขยายพันธุ์ต้นสำรองแบบใหม่เพื่อให้ออกผลได้เร็วขึ้น อีกทั้งสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ไม่ยากจนเกินไป

“จากการศึกษาพบว่า สำรองสามารถขยายพันธุ์ด้วยการต่อกิ่งและติดตา โดยใช้ต้นตอจากการเพาะเมล็ดสำรองหรือสำรองกะโหลก (สำรองลิง) ที่มีอายุประมาณ 6 -12 เดือน ซึ่งต้นที่ได้จากการต่อกิ่งหรือติดตานี้จะมีทรงพุ่มเตี้ยเพื่อให้เก็บเกี่ยวได้ง่าย และให้ผลเร็วเมื่อมีอายุเพียง 4-5 ปี” อุปนายกสโมสรฯ กล่าว

นายบุญญฤทธิ์ กล่าวต่อว่า ภายหลังจากที่พบวิธีเพาะพันธุ์ต้นสำรองแล้ว ได้มีการนำผลสำเร็จที่ได้ไปเผยแพร่ให้แก่ชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียง รวมถึงนำต้นสำรองที่ผ่านการต่อกิ่งหรือติดตาแล้วไปแจกให้แก่ชาวบ้านด้วย นอกจากนั้น ทางมหาวิทยาลัยยังเดินหน้าสร้างผลิตภัณฑ์จากต้นสำรองเพื่อให้มีมูลค่าเพิ่ม โดยทำสำรองในน้ำดอกคำฝอยขึ้นในลักษณะเดียวกับน้ำอัดลมกระป๋องในนามของมหาวิทยาลัยเพื่อออกวางขายในราคากระป๋องละ 10 บาท ซึ่งก็ได้รับการติดต่อจากห้างร้านเอกชนให้ทำส่งขายเพื่อป้อนให้แก่บริษัทต่างๆ ในหลักหมื่นกระป๋องต่อเดือนจนผลิตไม่ทันเลยทีเดียว อีกทั้งทางมหาวิทยาลัยยังเปิดโอกาสให้ชาวบ้านที่สนใจมาเป็นลูกจ้างในขั้นตอนการผลิตสำรองในน้ำดอกคำฝอยด้วย

“นอกจากสรรพคุณของสำรองที่ผู้บริโภคจะได้รับจากสำรองในน้ำดอกคำฝอยแล้ว เขายังจะได้รับประโยชน์ด้านการลดไขมันในเลือดจากน้ำดอกคำฝอยด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ผ่านการรับรองจากห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยแล้ว อีกทั้งยังไม่มีการใส่สารกันเสียลงในผลิตภัณฑ์แต่อย่างใด” นายบุญญฤทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้สนใจผลิตภัณฑ์สำรองในน้ำดอกคำฝอย สามารถติดต่อได้ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี 131 ม.5 ถ.บำราศนราดูล ต.พลวง กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี โทรศัพท์ 0-3930-7001-4 ต่อ 121

“สำรองในน้ำดอกคำฝอย” จึงเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาพื้นบ้านที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจของคณาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี ที่มิใช่มีประโยชน์เพียงต่อตัวสถาบัน แต่ยังมีประโยชน์ต่อชุมชนใกล้เคียง สมกับการเป็นมหาวิทยาลัยรับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง !!!




กำลังโหลดความคิดเห็น