xs
xsm
sm
md
lg

นศ.มหิดลลงใต้ตรวจสารหนูในตับปลานิล ชี้ “ยังปลอดภัย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิจัยทุน พสวท.จากรั้วมหิดล ศึกษาปริมาณสารหนูในตับและเนื้อปลานิลในแหล่งน้ำเสีย จ.นครศีธรรมราช พบตับปลาเกิดความผิดปรกติชัดเจน แต่ยังใช้กินเนื้อได้ เพราะมีปริมาณสารหนูไม่เกินเกณฑ์ ที่จะส่งผลเสียต่อร่างกายผู้บริโภค

เคยสงสัยบ้างหรือไม่ว่า … ปลาที่อาศัยในแม่น้ำลำคลองต่างๆ ในบ้านเรามีความปลอดภัยที่จะนำมาวางอยู่บนโต๊ะอาหารหรือไม่เพียงใด? ทั้งนี้ก็ตามที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า นับวันแหล่งน้ำต่างๆ จะยิ่งปนเปื้อนไปด้วยสารพิษจำพวกโลหะหนัก อาทิ สารปรอท แคดเนียม และสารหนู ฯลฯ มากขึ้นทุกที ยิ่งกว่านั้น ยังทำให้สงสัยด้วยว่า ปลาที่เราบริโภคเป็นประจำนั้น จะเป็นปลาที่เป็นโรคจากสารพิษเหล่านั้นด้วยหรือไม่? เพราะหากปลาเหล่านั้นได้รับสารพิษจนป่วยแล้ว เราซึ่งเป็นผู้บริโภคในฐานะผู้ล่าชั้นบนสุดของห่วงโซ่อาหารจะไม่พลอยย่ำแย่ไปด้วยหรือ !!?

ดังสโลแกนของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ที่ว่า “วิทยาศาสตร์มีคำตอบ” นายพีรพงษ์ พรวงศ์ทอง นักศึกษาชั้นปี 4 ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นนักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ในฐานะนักวิจัยเลือดใหม่จึงช่วยหาคำตอบให้เราด้วยโครงการศึกษาสารหนูในตับปลานิลที่จับมาจากแหล่งน้ำที่มีการปนเปื้อนของสารหนูในปริมาณสูง ณ อ.ร่อนพิบูล จ.นครศรีธรรมราช

“ปลานิลเป็นปลาเศรษฐกิจที่พบโดยทั่วไป และชาวบ้านก็รับประทานกันเป็นปรกติในชีวิตประจำวัน ส่วนสารหนูก็เป็นสารพิษก่อมะเร็ง” นายพีรพงษ์ กล่าวและเล่าว่า การศึกษานี้ เขาเริ่มทำตั้งแต่ ม.ค. 2547 โดยต้องการศึกษาใน 2 จุดประสงค์คือ เพื่อตรวจสอบรูปแบบทางเคมีของสารหนูและปริมาณสารหนูในตับปลานิล และเพื่อตรวจสอบความผิดปรกติของเนื้อเยื่อตับปลานิลที่เกิดจากสารหนูและสารพิษต่างๆ ในแหล่งน้ำ

เขาเล่าว่า จากการศึกษาพบว่าสารหนูที่ตรวจพบในตับปลานิลสามารถจำแนกได้เป็น 2 ลักษณะคือ สารหนูที่อยู่ในรูปของสารอินทรีย์ และสารหนูที่อยู่ในรูปของสารอนินทรีย์ ทั้งนี้ สารหนูที่อยู่ในรูปของสารอนินทรีย์จะมีพิษรุนแรงกว่าสารหนูที่อยู่ในรูปของสารอินทรีย์ ซึ่งพบว่า ในตับปลานิลที่ศึกษามีสารหนูที่อยู่ในรูปของสารอินทรีย์เป็นส่วนใหญ่คือ 94-97% ขณะที่มีสารหนูที่อยู่ในรูปของสารอนินทรีย์เพียง 3-6% เท่านั้น

ส่วนในการศึกษาความผิดปกติของสารหนูในตับปลานิล ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่กำจัดสารพิษในร่างกายปลา พบว่า มีความผิดปกติเกิดขึ้นหลายประการ คือ มีเลือดคั่งที่เส้นเลือดฝอยบริเวณเซลล์ตับปลานิล นิวเคลียสของเซลล์ตับผิดปกติ และเม็ดเลือดขาวลิมโฟซัยด์เข้าทำลายเซลล์ตับจนเซลล์ค่อยๆ ตายลงในที่สุด โดยในส่วนของเซลล์กล้ามเนื้อปลาหรือเนื้อปลาเองก็มีการสะสมของสารพิษด้วยเช่นกัน แต่ไม่มากเท่ากับเซลล์ตับ และไม่พบความผิดปกติใดๆ อย่างที่พบในตับปลานิล

“การศึกษาสรุปได้ว่า ชาวบ้านใน อ.ร่อนพิบูล ยังสามารถกินปลานิลในแหล่งน้ำท้องถิ่นได้ตามปรกติ และมีความปลอดภัยดี เพราะเนื้อปลายังมีปริมาณสารหนูในเกณฑ์ที่ร่างกายยอมรับได้ และน้อยกว่าเกณฑ์ที่จะส่งผลเสียต่อร่างกาย” นายพีรพงษ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยเลือดใหม่รายนี้กล่าวอีกว่า การศึกษานี้ยังเป็นการศึกษาความผิดปกติของปลานิลตามหลักกายวิภาค (Anatomy) เท่านั้น แต่ยังไม่มีการศึกษาความผิดปกติในด้านระบบการทำงานของร่างกายปลานิลแต่อย่างใด ซึ่งเขาก็จะเดินหน้าศึกษาต่อในเรื่องนี้ต่อไป นอกจากนั้น งานวิจัยของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบก่อนหน้านี้ว่า เนื้อปลาที่ผ่านการต้มหรือทอดแล้วจะมีปริมาณสารหนูในเนื้อปลาลดลง ยังกระตุ้นให้เขาอยากทดลองต่อไปอีกว่า เนื้อปลาดิบและเนื้อปลาสุกมีปริมาณสารหนูต่างกันจริงหรือไม่ด้วย

นายพีรพงษ์ จึงเป็นอีกหนึ่งนักวิจัยรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง รวมถึงผลงานของเขาที่มีประโยชน์ต่อชุมชนอย่างแท้จริง เพราะเป็นการทำงานในพื้นที่ แล้วยังเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่นั้นๆ อย่างมิต้องสงสัย


กำลังโหลดความคิดเห็น