xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนระลึกบิดาไซ-ไฟไทยจากความทรงจำแฟนๆ “จันตรี ศิริบุญรอด”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม้จะเป็นถึง “บิดานิยายวิทยาศาสตร์ไทย” แต่ชื่อของ “จันตรี ศิริบุญรอด” ก็อาจจะไม่เป็นที่คุ้นหูของคนทั่วไปนัก อย่างไรก็ตามงานเขียนหลายร้อยชิ้นผ่านพ็อกเกตบุ๊ค “วิทยาศาสตร์มหัศจรรย์” และ “วิทยาศาสตร์อัศจรรย์” ของเขาก็ได้สร้างฝันให้กับเหล่าเยาวชนเมื่อช่วง 30-50 ปีก่อนได้ไม่น้อย จากจินตนาการบนตัวหนังสือสร้างบันดาลใจให้ “วินทร์ เลียววาริณ” อินไปกับนิยาย จนต่อยอด “พระอภัยมณี” เป็นไซ-ไฟฉบับวินทร์ ขณะที่หลายคนใฝ่ฝันที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ และหลายคนก็ยึดถือเขาเป็นแบบอย่างในการเป็นนักเขียนแนวไซ-ไฟ

จันตรี ศิริบุญรอดได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดานิยายวิทยาศาสตร์ไทย” จากผลงานที่เป็นนิยายวิทยาศาสตร์ บทความและสารคดีกว่า 300 ชิ้น ที่ได้ตีพิมพ์ผ่านนิตยสาร “วิทยาศาสตร์มหัศจรรย์” และ “วิทยาศาสตร์อัศจรรย์” ซึ่งได้สร้างความฝันอันบรรเจิดให้กับเยาวชนเมื่อ 30-50 ปีก่อนถึงจินตนาการหลุดโลกที่ท่องไปในอวกาศ และเมื่อไม่นานมานี้ชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ (นวจท.) ก็ได้ตั้งรางวัล “จันตรี ศิริบุญรอด” สำหรับการประกวดนิยายวิทยาศาสตร์ซึ่งได้มอบรางวัลในการประกวดครั้งที่ 1 เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา

“วิทยาศาสตร์มหัศจรรย์” เวทีสร้างฝันไซ-ไฟเมื่อ 50 ปีก่อน

นิตยสารวิทยาศาสตร์มหัศจรรย์เป็นหนังสือที่จันตรี ศิริบุญรอดหรือ “อ.จันตรี” ใช้เวลาว่างระหว่างเป็นครูวิทยาศาสตร์ระดับ ม.ปลายของโรงเรียนเคนเน็ตแมคเนซีใน จ.ลำปางเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ บทความวิทยาศาสตร์ ประวัตินักวิทยาศาสตร์เพื่อตีพิมพ์ลงหนังสือดังกล่าว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ดร.ปรีชา อมาตยกุล ผู้ช่วยเลขาธิการสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในขณะนั้น โดยฉบับแรกตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2498

เมื่อวางแผงครบ 3 ปี วิทยาศาสตร์มหัศจรรย์ก็เปลี่ยนตัวเองจากนิตยสารรายเดือนไปเป็นนิตยสารรายปักษ์ โดยมี อ.จันตรีเป็นหัวแรงหลักในการสร้างงานเขียน แต่อุปสรรคทางด้านการพิมพ์ทำให้หนังสือออกไม่ตรงเวลา จนเป็นเหตุให้ยอดจำหน่ายลดลง และเมื่อเดินทางมาครบ 5 ปีในฉบับที่ 75 นิตยสารก็ต้องปิดตัวลงเนื่องจากภาวะขาดทุน แต่ อ.จันตรีก็ไม่ยอมแพ้และได้จัดทำหนังสือคล้ายๆ ใกล้ในชื่อ “วิทยาศาสตร์อัศจรรย์” ขึ้นอีกครั้ง แต่ก็ประสบปัญหาในการกระจายหนังสือและต้องปิดตัวลงอีกครั้ง

“วินทร์” เปิดใจงานเขียน อ.จันตรีทำให้จินตนาการหลุดโลก

อย่างไรก็ดีนิตยสารทั้ง 2 เล่มก็ยังอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน อย่างเช่น “วินทร์ เลียววาริณ” นักเขียนรางวัลซีไรต์ผู้มีผลงานที่เป็นนิยายวิทยาศาสตร์บ้าง จากการนำจินตนาการเรื่อง “พระอภัยมณี” ของท่านสุนทรภู่มาต่อยอดเป็นเรื่องสั้นนิยายวิทยาศาสตร์ อย่างเรื่อง “เดือนช่วงดวงเด่นฟ้าดาดาว” และ “จรูญจรัสรัศมีพราวพร่างพร้อย” เขากล่าวว่าเคยอ่านนิยายของจันตรีในนิตยสารวิทยาศาสตร์มหัศจรรย์ซึ่งทำให้เขารู้สึกอินกับจินตนาการอันหลุดโลกของบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทยผู้นี้มาก

“ตอนเด็กๆ ผมเคยอ่านผลงานของคุณจันตรี ศิริบุญรอดในนิตยสารวิทยาศาสตร์มหัศจรรย์ มีอะไรบางอย่างที่ทำให้ผมอินกับมัน มีการผจญภัยต่างๆ ที่เป็นจินตนาการหลุดโลก ท่องไปในอวกาศ อ.จันตรีเป็นคนที่เขียนนิยายวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องเป็นราว ท่านเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลมากในยุคนั้น ผู้ที่เขียนนิยายวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันหลายคนเคยอ่านนิยายของ อ.จันตรีกันทั้งนั้น หรือแม้กระทั่งนักวิทยาศาสตร์หลายคนในปัจจุบันถ้าลองถามดูก็จะรู้ว่าเป็นแฟน อ.จันตรีเช่นกัน อ่านแล้วเกิดความรู้สึกว่าวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์จริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่ตำรายากๆ ที่เรามักจะท่องจำ”

นักเขียนวัยเกษียณเผยนิยาย อ.จันตรี สร้างฝันผจญภัยเหมือน “สตาร์วอร์”

ด้านนายบำรุง ไตรมนตรี ประธานชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ (นวจท.) และรองนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งอยู่ในวัยเกษียณกล่าวว่าเขาได้อ่านนิตยสาร “วิทยาศาสตร์มหัศจรรย์” มาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ม.ปลายก่อนที่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งเขาได้รับแรงบันดาลและสร้างจินตนาการให้กับเขาอย่างมาก และแม้เขาจะเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์แทนวิทยาศาสตร์ตามที่ใฝ่ฝัน แต่ผลงานของ อ.จันตรีก็ผลักดันให้เขาหันมาทำงานเขียนทางด้านวิทยาศาสตร์อย่างในปัจจุบัน พร้อมทั้งเปิดเวทีให้คนรุ่นใหม่ได้สร้างผลงานผ่านเวที “รางวัลจันตรี ศิริบุญรอด”

“ประมาณปี 2498-2499 รุ่นนั้นยังไม่ค่อยมีหนังสือให้อ่านนัก ส่วนมากก็จะอ่านหนังสือเล่มนี้กัน ช่วงนั้นอ่านกันงอมแงมเลย ผลงานของ อ.จันตรีเป็นนิยายที่ให้จินตนาการที่ดี เป็นนิยายเรื่องอวกาศเหมือนกับ “สตาร์วอร์” ในสมัยนี้เลย ตอนนั้นอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ ก็คิดเหมือนเด็กๆ อยากไปเที่ยวอวกาศ จินตนาการว่ามองทางช้างเผือกในอวกาศคงจะเหมือนกับสวรรค์ นิยายของอาจารย์ทำให้เราเกิดความคิด จินตนาการ มีความสุขมากเลยนะ”

“นิยายของ อ.จันตรีเป็นเรื่องที่เขียนแบบง่ายๆ เวลาอ่านแล้วทำให้เรารู้สึกเหมือนท่องไปในอวกาศ และโดยมากงานเขียนของ อ.จันตรีก็ไม่ได้ใช้ศัพท์ทางวิทยาศาสตร์เลย ทำให้เข้าใจง่ายและเราก็อยากติดตาม เป็นเรื่องของการผจญภัยที่มีพระเอกเก่ง มีการต่อสู้กัน มีการเดินทางไปพบนางเอกที่ต่างดาว ผมเชื่อว่าการที่เราสร้างจินตนาการจากงานเขียนเป็นเรื่องที่ดี น่าจะส่งเสริมให้มีนักเขียนอย่างนี้มากขึ้น เมื่อมีนักเขียนก็มีคนอ่าน แต่เมืองไทยไม่ค่อยมีคนเขียนต้องไปแปลหนังสือต่างประเทศ”

อ.ชัยวัฒน์แจง “จันตรี ศิริบุญรอด” คือตัวอย่างผู้ใฝ่รู้

ขณะที่ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล อาจารย์ฟิสิกส์มหาวิทยาลัยและนักวิทยาศาสตร์ซึ่งผันตัวเองมาเป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ และปัจจุบันเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Amazing Universe หรือจักรวาลมหัศจรรย์ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ประทับใจในผลงานของจันตรี เขากล่าวว่างานเขียนของ อ.จันตรีได้สร้างจินตนาการจนทำให้เขาอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์และยังมีส่วนส่งเสริมให้เขากลายมาเป็นนักเขียนแนวไซ-ไฟด้วย

“อ.จันตรี ถือเป็นบุคคลเดียวที่ทุ่มเทให้งานเขียนทางด้านนี้อย่างจริงจัง แม้ว่าสมัยก่อนจะมีคนเขียนงานลักษณะนี้อยู่บ้างแต่ไม่ใครจริงจังเหมือน อ.จันตรี อาจารย์เป็นบุคคลที่มีการศึกษาไม่สูงนักแต่มีความใฝ่รู้สูง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมประทับใจ อีกทั้ง อ.จันตรียังเป็นคนที่มีความรู้แตกฉานถึงขั้นสร้างจินตนาการที่สื่อวิทยาศาสตร์ให้เป็นเรื่องเข้าใจง่ายได้ และเป็นตัวอย่างของคนที่ใฝ่รู้ ใฝ่คิด ใฝ่จินตนาการและมีความตั้งใจที่จะทำให้คนไทยหันมาสนใจวิทยาศาสตร์” รศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าว

นอกจากผลงานเด่นๆ ที่เป็นนิตยสารรายเดือนและรายปักษ์แล้ว จันตรี ศิริบุญรอดยังได้ทุ่มเทเวลาให้กับงานเขียนแนวไซ-ไฟมาตลอด และเขายังมีพ็อกเกตบ๊คอีกหลายเล่มที่รวบรวมนิยายวิทยาศาสตร์ อาทิ ผู้สร้างอนาคต ผู้พบแผ่นดิน มนุษย์คู่ และผู้ดับดวงอาทิตย์ เป็นต้น โดย “ผู้ดับดวงอาทิตย์” ได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 88 เล่มหนังสือดีวิทยาศาสตร์ที่มี รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุลเป็นบรรณาธิการในการคัดเลือก

วิพากษ์งานปู่ “จินตนาการล้ำแต่ภาษายังไม่แจ่ม”

แม้จะไม่ได้ทำหนังสือนิตยสารวิทยาศาสตร์รายเดือนแล้ว แต่ อ.จันตรีก็ทุ่มเทเวลาที่เหลืออยู่ให้กับงานเขียนนิยายวิทยาศาสตร์โดยไม่ได้ดูแลสุขภาพตัวเองจนทรุดโทรม จากคำบอกเล่าของ น.ส.กรเกษ ศิริบุญรอดหลานสาวของจันตรีซึ่งรับฟังมาจากบิดาอีกทีกล่าวว่าปู่ของเธอเป็นผู้ที่ทุ่มเทให้กับงานเขียนมากและไม่สนใจดูแลสุขภาพทำให้ปู่มีอายุที่ไม่ยืนนัก โดยคุณปู่ไม่ค่อยรับประทานอาหาร มักจะดื่มแต่กาแฟและกินยาแก้ปวดเป็นประจำ สุดท้ายจึงจบชีวิตลงด้วยโรคไตพิการด้วยวัยเพียง 51 ปีเท่านั้น

เธอกล่าวถึงงานเขียนของปู่ว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสังคมในสมัยนั้นถือว่างานเขียนของจันตรีค่อนข้างล้ำยุคล้ำสมัยแต่เมื่อผ่านมาถึงทุกวันนี้ก็นับว่าเก่าไปบ้าง ยกตัวอย่างเช่นการจินตนาการว่ามนุษย์จะไปเหยียบดวงจันทร์ได้ก็ทำได้แล้ว เธอมองว่าผลงานเขียนของปู่เธอนั้นมีความโดดเด่นทางด้านแนวคิดซึ่งเสนอเรื่องแปลกๆ ใหม่ๆ แต่ถ้ามองทางด้านภาษาเธอยอมรับว่ายังไม่ดีนัก สำหรับงานเขียนทั้งหมดของ อ.จันตรีได้ทำสัญญาให้สำนักพิมพ์ประพันธ์สาสน์ตีพิมพ์เผยแพร่เป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งใกล้จะหมดสัญญากับทางสำนักพิมพ์แล้ว

อย่างไรก็ดี น.ส.กรเกษกล่าวว่างานเขียนในสมัยก่อนนั้นก็ยังเลี้ยงตัวเองไม่ค่อยได้ ฐานะของครอบครัว “ศิริบุญรอด” จึงไม่ดีนัก กรเกษเล่าว่าภายหลังคุณปู่เสียชีวิตเจ้าหนี้ต่างๆ จึงมายึดทรัพย์สินรวมทั้งงานเขียนต่างๆ ทำให้ผลงานปู่ของเธอค่อนข้างกระจัดกระจาย ซึ่งเธอประมาณว่าน่าจะมีผลงานประมาณ 300 ชิ้นโดยแบ่งเป็นบทความ สารคดีและเรื่องสั้นอย่างละไม่ต่ำกว่า 100 ชิ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น