คงไม่ดีแน่หากคุณๆ จะแอบพกมะม่วงใส่กระเป๋าเดินทางเข้าสหรัฐ เพราะพี่เบิ้มเขามีมาตรการควบคุมศัตรูพืชที่จะเข้ารุกล้ำอธิปไตยการเกษตรของเขา ไม่เพียงแค่คุณจะอดลิ้มรสผลไม้จากถิ่นเกิดเท่านั้น แต่ยังกฎเกณฑ์ดังกล่าวยังจำกัดการขยายตลาดส่งออกผลไม้ที่มีมูลค่ามหาศาลด้วย แต่สิ้นเดือน ก.ย.นี้สหรัฐจะเปิดให้ไทยส่งออกผลไม้ฉายรังสี 6 ชนิดเข้าไปได้ ซึ่งฝ่ายไทยก็ต้องเตรียมพร้อมกับโอกาสอันดีนี้
นายปราการ วีรกุล ที่ปรึกษาสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (สกอช.) กล่าวถึงการเปิดตลาดผลไม้ 6 ชนิดไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้แก่ มะม่วง มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ สับปะรด และเงาะ หลังจากสิ้นเดือน ก.ย.นี้ โดยผลไม้เหล่านั้นจะต้องผ่านการฉายรังสีเนื่องจากสหรัฐมีมาตรการป้องกันการแพร่ของศัตรูพืชทั้งแมลงและเพลี้ย ซึ่งการฉายรังสีจะฆ่าศัตรูพืชเหล่านั้นหรือทำให้เป็นหมันได้ ทั้งนี้ไทยเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวที่ได้รับอนุญาตให้ส่งผลไม้ฉายรังสีเข้าสหรัฐได้ ซึ่งปัจจุบันมีเพียงมะขามหวาน มะพร้าวและทุเรียนเท่านั้นที่ส่งเข้าสหรัฐได้
ด้านเตรียมความพร้อมนายปราการกล่าวว่าการรองรับการฉายรังสีผลไม้ในปัจจุบันมีเพียงโรงงานที่รับหน้าที่ฉายรังสีอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูกของเกษตรกรที่ต้องได้รับมาตรฐาน GAP ซึ่งรับรองว่าผลิตผลปลอดสารพิษ จากนั้นต้องมีโรงงานคัดแยกคุณภาพผลไม้ตั้งแต่ขั้นตอนคัดขนาด ทำความสะอาดและบรรจุก่อนส่งเข้าโรงงานฉายรังสี ขณะที่โรงงานก็ต้องปรับปรุงเพื่อให้ฉายรังสีได้เพียงพอกับความต้องการของประเทศคู่ค้าอย่างสหรัฐ แต่ทั้งนี้มาตรการผลไม้ฉายรังสีดังกล่าวจะใช้ได้เฉพาะที่สหรัฐเท่านั้น ส่วนประเทศคู่ค้าอื่นต้องพิจารณาตามเงื่อนไขของแต่ประเทศ
ทั้งนี้คาดว่าจะมีความต้องการถึง 500 ตัน/สัปดาห์ แต่ปัจจุบันโรงงานฉายรังสีของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติสามารถฉายรังสีได้สูงสุด 20 ตัน/สัปดาห์เท่านั้นโดยฉายรังสีที่กำลัง 400-2,000 เกรย์ พร้อมทั้งยกตัวอย่างราคาลำไยที่ผ่านกระบวนดังกล่าวว่าหากขยายในประเทศอาจได้ราคา 10 บาท/กก. แต่เมื่อฉายรังสีจะได้ราคาถึง 400 บาท/กก. โดยมีต้นทุนที่ 80 บาท/กก. นับว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าที่น่าลงทุน ขณะเดียวกันก็มีโรงงานฉายรังสีของเอกชน 2 แห่งคือ บริษัท ไอโซตรอน (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทไอบีเอ จำกัด แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมธุรกิจฉายรังสีผลไม้เพื่อส่งออกไปยังสหรัฐ แต่กำลังศึกษาความคุ้มทุนในการปรับปรุงโรงงานฉายรังสีเดิมซึ่งรับฉายรังสีอุปกรณ์ทางการแพทย์และสมุนไพรอยู่ก่อนแล้ว
ทางด้านนายประเวทย์ แก้วช่วง หัวหน้าศูนย์ฉายรังสีอาหารและผลิตผลการเกษตร สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ(ปส.) กล่าวถึงการรับรองโรงงานฉายรังสีว่าขึ้นอยู่กับการกำหนดของแต่ละประเทศ ทั้งนี้โรงงานที่จะฉายรังสีผลไม้ส่งเข้าสหรัฐได้ต้องได้รับใบอนุญาตที่กระทรวงเกษตรของสหรัฐออกให้เท่านั้น โดยสหรัฐจะส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบมาตรฐานของผลไม้ที่ไทยซึ่งโรงงานต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เอง ขณะเดียวกันไทยต้องมีหน่วยงานอารักขาพืชระดับชาติ (NPPO) เข้าร่วมตรวจสอบด้วย ซึ่งมีกรมวิชาการเกษตรรับหน้าที่ดังกล่าว และขณะนี้ ปส.กำลังเตรียมความพร้อมโรงงานฉายรังสีเพื่อขอรับใบอนุญาต โดยทำตามเงื่อนไขต่างๆ ที่สหรัฐต้องการ และจากนั้นจะได้ส่งจดหมายเพื่อยื่นคำร้องขอรับใบอนุญาต ซึ่งเจ้าหน้าที่จากสหรัฐจะได้เข้ามาตรวจสอบโรงงานหลังจากนั้น
พร้อมกันนี้ ดร.วลัยกร รัตนเดชากุล จากสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตรได้ช่วยขยายความขั้นตอนการอนุญาตนำเข้าผลไม้ฉายรังสีไปยังสหรัฐอเมริกาว่าตามมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) ได้ตั้งอนุสัญญาอารักขาพืชระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นอนุสัญญาเพื่อป้องกันการระบาดของศัตรูพืชที่ติดมากับพืชและผลิตผลพืชซึ่งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติให้การยอมรับเมื่อ พ.ศ.2494 ซึ่งไทยโดยกรมวิชาการเกษตรต้องรวบรวมข้อมูลศัตรูพืชส่งให้ประเทศสหรัฐ ซึ่งจะทำหน้าที่วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชต่อไป