หลายคนคงยังจำภาพปลาน้อยสีส้มที่ชื่อ “นีโม” ซึ่งพลัดจากพ่อและถูกพรากจากทะเล กลายเป็นการผจญภัยครั้งยิ่งใหญ่ของปลาการ์ตูนทั้ง 2 ในโลกภาพยนตร์ แต่ในโลกของความเป็นจริงความนิยมเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามจากท้องทะเลไม่ได้ลดน้อยลง ปลาการ์ตูนอย่างนีโมก็ยังถูกจับขึ้นจากทะเลอย่างต่อเนื่อง ทาง ม.บูรพาจึงได้เพาะเลี้ยงปลาการ์ตูนขึ้นเพื่อส่งขายและอนุรักษ์ไปพร้อม โดยสามารถทำได้ในระดับฟาร์มและพร้อมถ่ายทอดให้กับเอกชนผู้สนใจ
ดร.วรเทพ มุธุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพาเปิดเผยว่าสามารถเพาะเลี้ยงปลาการ์ตูนได้ในระดับฟาร์มและพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เอกชนแล้ว ทั้งนี้เหตุผลในการเพาะเลี้ยงปลาการ์ตูนเพราะเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วโลกและไม่สามารถหยุดยั้งได้ จึงได้เพาะเลี้ยงขึ้นเพื่อลดการนำปลาขึ้นจากทะเลและยังเพิ่มรายได้ทางเศรษฐกิจได้อีกด้วย อีกทั้งปลาที่ได้จากการเพาะเลี้ยงจะมีชีวิตได้นานกว่าปลาที่นำขึ้นมาจากทะเล ซึ่งปลาการ์ตูนมีอายุได้นานถึง 15 ปี และคาดว่าอนาคตปลาการ์ตูนจะกลายเป็นปลาตู้เช่นเดียวกับปลาทอง
จากการประเมินด้านการตลาดพบว่ามีการซื้อขายปลาทะเลสวยงามทั่วโลกประมาณ 10 ล้านตัวต่อปี และปลาการ์ตูนเป็นที่นิยมในอันดับต้นๆ โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่นำเข้าปลาทะเลสวยงามอันดับ 1 ของโลก คิดมูลค่าได้ประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 210,000 ล้านบาท ขณะที่อังกฤษนำเข้าปลาสวยงามมูลค่าถึง 29.51 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 1,240 ล้านบาท ทั้งนี้ปลาการ์ตูนที่เพาะเลี้ยงในสหรัฐจากฟาร์มในรัฐฟลอริดามีมูลค่าขายปลีกถึงตัวละ 16 ดอลลาร์หรือประมาณ 640 บาท ส่วนราคาขายส่งอยู่ที่ประมาณ 8 ดอลลาร์หรือ 320 บาท
ทั้งนี้ทางสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลได้เพาะเลี้ยงปลากการ์ตูนมาตั้งแต่ พ.ศ.2541 ซึ่งปัจจุบัน ดร.วรเทพกล่าวว่าสามารถพัฒนาระบบเพาะเลี้ยงได้สมบูรณ์ทั้งเรื่องอาหาร พันธุ์ปลาและระบบจัดการน้ำซึ่งใช้น้ำทะเลที่ต้องผ่านการบำบัดโดยไม่ต้องเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ โดยจะเพาะเลี้ยงปลาในตู้ขนาด 24 x 15 x 15 นิ้ว และใส่ปลาการ์ตูนลงไป 1 คู่ ซึ่งในระบบหนึ่งนั้นจะเชื่อมต่อการเลี้ยงในตู้ทั้งหมด 56 ตู้ ซึ่งจะมีการหมุนเวียนและบำบัดน้ำในระบบดังกล่าวไปพร้อมกัน ส่วนการจัดการน้ำเสียจะใช้สาหร่ายและแบคทีเรียช่วยในการบำบัด
สำหรับช่วงปฐมวัยปลาการ์ตูนจะไม่มีเพศที่ชัดเจนแต่จะพัฒนาไปตามระบบสังคม โดยในการเลี้ยงจะแยกปลาเป็นคู่ซึ่งปลาที่ข่มอีกตัวได้จะพัฒนาไปเป็นตัวเมียซึ่งมีขนาดใหญ่ตัวผู้หลายเท่า แต่ทั้งนี้ตัวผู้สามารถพัฒนาไปเป็นตัวเมียได้หากอีกตัวตายลงแต่จะไม่สามารถเปลี่ยนกลับมาเป็นตัวผู้ได้อีก โดยปลาการ์ตูนจะวางไข่ได้เมื่ออายุ 12-18 เดือนและจะวางไข่ทุกๆ 2 อาทิตย์ ซึ่งมีอัตราการรอดของลูกปลา 20 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้การพัฒนาระยะแรกสีสันของไข่และตัวปลาไม่สวยเหมือนในทะเลแต่ปัจจุบันพัฒนาให้มีสีเข้มใกล้เคียงกับในธรรมชาติได้แล้ว
สำหรับสิ่งแวดล้อมในฟาร์มเพาะเลี้ยงของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลจะไม่ใช้ดอกไม้ทะเลซึ่งเป็นบ้านตามธรรมชาติของปลาการ์ตูน ทั้งนี้ ดร.วรเทพอธิบายว่าในทะเลปลาการ์ตูนมีศัตรูทางธรรมชาติมากมายแต่ในฟาร์มมีความปลอดภัยมากกว่า จึงไม่จำเป็นต้องเพาะเลี้ยงไปพร้อมดอกไม้ทะเล อีกทั้งการเลี้ยงดอกไม้ทะเลค่อนข้างยุ่งยากและยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย อย่างไรก็ดี ดร.วรเทพกล่าวว่าปลาการ์ตูนที่เพาะเลี้ยงจะทนในสภาพถูกกักขังได้ดีและยังคุ้นเคยกับคนมากกว่าปลาที่นำขึ้นมาจากทะเลด้วย
ดร.วรเทพชี้แจงว่าสามารถแยกแยะฟาร์มที่เพาะเลี้ยงกับฟาร์มที่นำปลาการ์ตูนขึ้นมาจากทะเลได้ โดยในฟาร์มเพาะจะเห็นขั้นตอนการเติบโตตั้งแต่การวางไข่ การฟักออกมาเป็นตัวไปจนถึงการจับคู่ผสมพันธุ์ ในขณะที่ฟาร์มซึ่ง “สวม” หรือนำปลาขึ้นมาจากทะเลจะไม่เห็นขั้นตอนดังกล่าวได้ชัดเจน อีกทั้งปลาที่เพาะเลี้ยงจะมีขนาดใกล้เคียง แต่การเลี้ยงตามบ้านอาจจะระบุความแตกต่างจากการมองได้ลำบาก
สำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีนั้นทางบริษัท ซี บอร์น ฟาร์ม จำกัดได้สนใจที่นำระบบของทางสถาบันไปเพาะเลี้ยงปลาการ์ตูนเพื่อจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศและต่อยอดทางธุรกิจต่อไป ซึ่งได้มีการลงนามตกลงความเข้าใจระหว่างสถาบันและบริษัท ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(สนช.) โดย สนช.ได้มอบทุนในการพัฒนาทางด้านวิชาการแก่สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล 900,000 บาท และให้เงินกู้ยืมแก่บริษัทซีบอร์นในโครงการ “นวัตกรรมดีไม่มีดอกเบี้ย” จำนวน 6 ล้านบาท ซึ่งมีระยะปลอดดอกเบี้ย 3 ปี
ทางด้านนายณัฐวุฒิ พงศ์พาณิชย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซี บอร์น ฟาร์ม จำกัดเปิดเผยว่าได้เข้ามาเยี่ยมชมระบบการเพาะเลี้ยงปลาการ์ตูนของทางสถาบันจึงเกิดสนใจที่จะเพาะเลี้ยงเพื่อจำหน่าย โดยเน้นที่ตลาดต่างประเทศซึ่งเป็นตลาดใหญ่ แต่หากตลาดในประเทศให้ความสนใจก็อาจจะเน้นทำตลาดในประเทศแทนก็ได้ โดยประมาณการว่าปีแรกจะผลิตปลาได้ 9,300 ตัวคิดเป็นเงินประมาณ 7 แสนบาท และปีที่ 2 จะเพาะได้ 10,000-15,000 ตัว คิดเป็นรายได้ 1.5 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้คืนทุนใน 2-3 ปี ทั้งนี้จะสามารถเพาะเลี้ยงปลาได้หลังจากปรับปรุงสถานที่ให้พร้อมในระยะเวลา 3 เดือน