xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องสั้นไซ-ไฟ แนว “โจ มณฑานี” ไม่รู้วิทย์ แต่บ้าจะเขียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากเอ่ยชื่อ “โจ มณฑานี ตันติสุข” เชื่อว่าคงมีน้อยคนมากที่ไม่รู้จัก เพราะภาพของนักจัดรายการวิทยุชื่อดัง(ในอดีต) พิธีกร นักวิจารณ์ นักแปล ยังคงติดตรึงใจใครหลายคน แต่หากเอ่ยชื่อ “ฉัตรเฉลิม ตันติสุข” อาจทำเอาบางคนขมวดคิ้ว แล้วตั้งคำถามว่าเป็นใคร?หรือเป็นอะไรกับนักจัดรายการสาวชื่อดังคนนี้ ทั้งที่จริงๆแล้วเขาทั้งคู่คือคนเดียวกัน หากแต่ “ฉัตรเฉลิม” เป็นนามปากกาของเธอจากเรื่องสั้นแนวไซ-ไฟ นั่นเอง

แม้จะหายหน้าหายตาไปจากวงการบันเทิงไปนาน แต่อดีตนักจัดรายการวิทยุสาวสวยชื่อดัง อย่าง"โจ มณฑานี ตันติสุข" ก็ยังคงโลดแล่นในบทบาทพิธีกรตามงานต่างๆ ล่าสุดได้เห็นเธอในมาดสาวนักบริหาร เจ้าของสำนักพิมพ์มณฑานี พร้อมเปิดตัวหนังสือ "ผู้หญิงฉลาดรัก" ด้วยภาพลักษณ์ของผู้หญิงแกร่งยุคใหม่ที่ผ่านเรื่องราวมากมายในชีวิต อาจทำให้ใครหลายคนมองว่า"โจ มณฑานี" ถนัดที่จะเขียนหนังสือฮาวทูที่ให้คำแนะนำแต่เรื่องรักๆใคร่ๆ จนลืมมองเห็นจินตนาการอีกด้านหนึ่งของเธอ นั่นคือ..งานเขียนเรื่องสั้นแนวไซ-ไฟ

"วิทยาศาสตร์มีเสน่ห์มากๆ เพราะมันกำลังบอกเราว่า ชีวิตไม่มีขีดจำกัด มันไม่ได้มีแค่โลกเรา แต่มันมีเป็นจักรวาล มันแสดงให้เราเห็นถึงความคิดที่ไร้ขีดจำกัด ศักยภาพที่มีเหลือเฟือ มันเป็นการทะลุกรอบ มันเป็นความตื่นเต้น ท้าทาย กับโลกใหม่ที่เราไม่เคยคิดฝันว่ามันจะมี มันเป็นการให้โอกาสเราได้ท่องเที่ยวอย่างอิสระ และกล้าหาญ"

โจกล่าวถึงความรู้สึกที่จุดประกายและชักจูงให้เธอก้าวเข้าสู่บทบาทนักเขียนแนวไซ-ไฟ ด้วยน้ำเสียงสดใสและกระตือรือร้นที่อยากจะบอก พร้อมทั้งเล่าย้อนอดีตว่า เธออยากเป็นนักเขียนมาตั้งแต่เด็ก โดยได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวที่อยู่ จ.สุรินทร์ บ้านของเธอเต็มไปด้วยหนังสือมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สกุลไทย ลลนา สตรีสาร ฯลฯ

“มันเหมือนอยู่ในสายเลือด เกิดมาก็ชอบกระดาษ เวลาก่อนเปิดเทอมต้องลงทะเบียนซื้อตำราเรียน ก็จะตั้งตารอวันนั้น เพื่อจะได้ไปเข้าแถวซื้อตำราเรียนที่เป็นตั้งๆ แล้วจะหอมกลิ่นกระดาษ ปกก็จะใหม่ รู้สึกว่าเราได้อ่านหนังสือก่อนใคร เวลาที่เหลือ 15 วันก่อนเปิดเทอม ก็จะอ่านตำรา พวกวิชาประวัติศาสตร์ สุขศึกษา สังคม แต่ไม่ใช่เด็กเรียนนะ” เธอกล่าวออกตัว พร้อมทั้งหัวเราะเสียงใส

“การ์ตูนโป๊” งานเขียนชิ้นแรกตอน ป.1

อดีตนักจัดรายการวิทยุชื่อดังเล่าว่า ตอนสมัยเด็กๆ เธอชอบอ่านการ์ตูนชัยพฤกษ์ หนูจ๋า เบบี้ ตุ๊กตา ขายหัวเราะ มหาสนุก ซึ่งหนังสือเหล่านี้จะมีแทรกความรู้รอบตัวทุกหน้า ทำให้เธอได้รับความรู้ คุณแม่ของเธอเป็นข้าราชการพลเรือน ส่วนคุณพ่อทำงานขับรถแท็กซี่ โดยเมื่อก่อนท่านเป็นทหารเรือ ทุกวันที่ 15 คุณพ่อจะรับออเดอร์จากลูกไปตามร้านแผงหนังสือ เพื่อซื้อหนังสือการ์ตูนให้ลูกอ่าน

“งานเขียนชิ้นแรก คือตอน ป.1 สมัยก่อนที่บ้านไม่มีพี่เลี้ยง แม่ก็ต้องเอาเราไปเลี้ยงที่ทำงาน โดยมีรุ่นน้องกับเจ้านายของแม่ผลัดกันเลี้ยง เขาก็จะเอากระดาษในออฟฟิศให้เรา เราก็จะวาดการ์ตูนโป๊ ทุกคนมาเห็นก็จะร้องโอ้ !(ทำหน้าตกใจสุดขีด) เด็ก ป.1 หมกมุ่นกับการเขียนการ์ตูนโป๊ คือเราเป็นลูกคนเดียวแล้วชอบดูทีวี สมัยก่อนทีวีรุนแรงนะ บางเรื่องเป็นละครที่ดี มีคติสอนใจ แต่เกินความเข้าใจของเด็กอายุ 5-6 ขวบ แบบนักโทษข่มขืนอ่ะ”

ได้งานเพราะโชคชะตา แต่ต้องกล้าที่จะฉวยโอกาส

โจบอกว่า ที่ผ่านมาเธอทำงานเยอะมาก เป็นทั้งเออี เลี้ยงเด็ก เป็นโฮสเตสของโรงแรม เป็นก็อบปี้ไรท์เตอร์ นักแต่งเพลง นักจัดรายการวิทยุ นักแสดง พิธีกร นักเขียน นักวิจารณ์ นักแปล จนกระทั่งมาเปิดสำนักพิมพ์มณฑานี ผลิตหนังสือที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้ อย่างหนังสือ “ผู้หญิงฉลาดรัก” เธอบอกว่าถ้าใครได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ก็จะได้แนวทางปรับปรุงคุณภาพความรัก ล้างทัศนคติด้านลบ โดยหนังสือของเธอจะไม่ใช้คำหยาบ ไม่แฉ ไม่ด่าผู้ชาย

“ไม่ใช่คนที่เชื่อเรื่องดวงมาก แต่ยอมรับว่าโชคชะตาทำให้ได้จังหวะอย่างไม่น่าเชื่อ เป็นคนที่ถ้าขวนขวายจะไม่ได้ แต่อะไรที่ปล่อยวางเฉยๆ มันจะมาเอง เราได้งานเพราะโชคชะตา แต่ต้องบวกความกล้าที่จะฉวยโอกาส เรามีลูกบ้าเยอะ เป็นคนชอบผจญภัย เมื่อก่อนเคยถามตัวเองว่า ถ้าอายุมากขึ้นจะยังผจญภัยเหมือนเดิมหรือเปล่า แต่ก็ค้นพบว่า ถ้าโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะมีความคิดสุขุมมากขึ้น แต่เราต้องไม่สูญเสียความกล้าเสี่ยง กล้าที่จะลองท้าทายอะไรใหม่ๆ ซึ่งการทำอะไรลงหลักปักฐานมันคงมันไม่ใช่ตัวเรา ดังนั้น การที่มีโอกาสได้ทำงานที่หลากหลายก็เพราะนิสัยชอบผจญภัยนั่นเอง”

ยังเชื่อ “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จต้องอยู่ที่นั่น”

อดีตนักจัดรายการวิทยุชื่อดังมีความเชื่อว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” เพราะเธอเชื่อเรื่อง “พลังใจ” เชื่อเรื่องการต่อสู้อย่างไม่ย่อท้อ เพราะเธอเป็นคนท้อแท้ แม้ในสายตาคนอื่นเธอจะเป็นคนเก่ง แต่จริงๆแล้วเป็นคนขี้อายมาก แม้จะไม่ใช่ป๊อบปูล่า แต่เธอก็มีคาแรคเตอร์ที่ชัดเจนของนักสู้ที่มีคนเอาเป็นแบบอย่างได้

“ทำไมในสายตาคนอื่นเขาถึงมองอย่างนั้น ก็เพราะความพยายามที่ไม่หยุดยั้ง มันมีผลระยะยาวที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ เราอาจไม่ใช่ป๊อบปูล่าเหมือนดีเจที่พุ่งขึ้นดัง แต่ก็มีคาแรคเตอร์เฉพาะที่คนนับถือ ซึ่งก็มาจากความพยายาม แต่ที่คนสมัยนี้มองว่าความพยายามใช้ไม่ได้ ก็เพราะไม่อดทนพอ ส่วนใหญ่หนุ่มสาวทั่วไปมักคิดว่าถ้าทำแล้วต้องได้ผลเลย เหมือนปลูกผักก็เอาสารไปเร่ง ถ้าชอบใครก็ต้องรักฉันตอบ มันไม่มีหรอก ทุกอย่างต้องใช้เวลา”

ค้นพบความชอบงานเขียนไซ-ไฟ ตอนตกงาน

โจเล่าถึงสิ่งที่จุดประกายให้หันมาเขียนเรื่องสั้นแนวไซ-ไฟว่า มันเริ่มจากการที่เธอไปได้หนังสือมือสอง ซึ่งตอนนั้นเธอตกงานประมาณ 4-5 เดือนแล้ว

“เป็นคนตกงานบ่อยมาก แต่จะไม่ปล่อยชีวิตไร้ค่า จะได้อนาคตใหม่ๆจากงานอดิเรกตอนตกงาน ครั้งแรกตกงานอายุ 20 ปี ตอนนั้นเริ่มเขียนงานวิจารณ์ ตกงานครั้งที่ 2 เริ่มอ่านเรื่องสั้นแนวไซ-ไฟ แล้วก็กลายเป็นนักเขียนไซ-ไฟ การที่เราตกงานว่างเปล่าไม่ใช่เราไร้ค่า แต่งานอดิเรกช่วงนั้นมันทำอะไรได้เยอะมาก มันได้แรงบันดาลใจจากความชอบ แล้วก็เริ่มต้นเขียนเรื่องสั้นแนวไซ-ไฟ โดยใช้นามปากกา “ฉัตรเฉลิม ตันติสุข”

เมื่อถามไถ่ถึงที่มาของชื่อนามปากกา เธอบอกว่า เพราะมันดูเข้มแข็ง มีพลัง แต่ถ้าเขียนเรื่องแนวไซ-ไฟแล้วใช้ชื่อผู้หญิง อาจไม่ค่อยเข้ากัน และฟังดูแปลกๆ งานเขียนของเธอได้ตีพิมพ์ในหนังสือลลนา แพรวสุดสัปดาห์ รวมแล้วประมาณ 20 กว่าเรื่อง หลังจากนั้นได้รวมเป็น 2 เล่ม คือเรื่อง “จินตนาการอนาคต” และ “จินตนาการย้อนศร”

ไม่รู้เรื่องวิทยาศาสตร์ แต่พลิกแพลงที่จะเป็นนักเขียนได้

เมื่อถามว่าการเขียนเรื่องสั้นแนวไซ-ไฟ จำเป็นต้องมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์หรือไม่? เจ้าของนามปากกา “ฉัตรเฉลิม ตันติสุข” ตอบทันทีว่า จำเป็นต้องมี แต่เธอไม่มี ดังนั้น เรื่องสั้นไซ-ไฟของเธอจึงแปลกกว่าชาวบ้าน คือจะเป็นแนวตลกร้าย เสียดสี หรือแนวสะท้อนสังคมของโลกอนาคต

“แนวไซไฟแบบฮาร์ดคอร์จริงๆ เราไม่แม่น เพราะตอนเข้าเรียนชั้นมัธยมเป็นโรคดิสเลสเซีย หรือโรคการเรียนรู้บกพร่อง ซึ่งไอสไตน์ ก็เป็น คือมองเห็นตัวเลขแล้วอ่านไม่ออก จึงตกวิชาคำนวณ วิชาภาษาอังกฤษ ตกระนาว แต่สังเกตว่าคนที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงครอบครัวมีปัญหาแล้วมันจะหายเอง ผลที่ตามมาทำให้ไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เพราะไม่เก่งวิทยาศาสตร์ แต่เราสามารถเรียนรู้ที่จะแปรปัญหาให้เป็นโอกาสได้ เลยไปเอาดีด้านการเขียนไซ-ไฟทางด้านเสียดสีสังคม ดังนั้น การที่เราไม่เป็นอะไรสักอย่างหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำสิ่งนั้นไม่ได้เลย เพียงแต่ต้องรู้จักพลิกแพลง”

อยากเป็นนักเขียนต้องช่างสังเกต-ซนที่จะคิด

“นักเขียนต้องเป็นคนซุกซนทางความคิด มองแล้วน่าสนใจไปหมด คนที่จะเป็นนักข่าว นักเขียน นักประดิษฐ์ ต้องอ่านเยอะๆ อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า แม้แต่ถุงกล้วยแขก ต้องเป็นคนที่ชอบดูภาพยนตร์ สารคดี คุยกับคนเยอะๆ ต้องเป็นคนหมั่นสังเกต อย่าให้อะไรผ่านตา เคยมีรุ่นน้องที่อยากเป็นนักเขียนหลายคนมาก แต่เป็นคนที่มองอะไรสักแต่ว่ามอง ไม่หมั่นสังเกต พ่อเราจะสอนให้รู้จักการสังเกต โดยให้อ่านป้ายข้างทาง พ่อจะบอกว่าอย่าลืมนะลูก นั่งรถอย่าสักแต่ว่านั่ง ให้สังเกตทุกทาง เลยทำให้เราเขียนหนังสือได้ดี เพราะเริ่มต้นจากการสังเกต”

เขียนให้สนุก ขั้นตอนยากที่สุดในงานเขียนเรื่องสั้นไซ-ไฟ

โจยอมรับว่า การเขียนเรื่องสั้นแนวไซ-ไฟ เป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับเธอ เพราะเธอไม่เก่งด้านวิทยาศาสตร์ อีกทั้งข้อมูลก็ไม่มี จึงต้องอาศัยการค้นคว้าหาข้อมูลมากๆ

“สิ่งที่ยากที่สุดในการเขียนเรื่องสั้นแนวไซ-ไฟ คือการพล็อตเรื่อง ผูกเรื่องยังไงให้คนทึ่ง ให้คนอ่านจบแล้วรู้สึกว่าคิดได้ยังไง เจ๋งอ่ะ ขนาดข้อมูลเป้ะๆยังไม่สนุกเท่าการคิดพล็อตเรื่อง ถ้าข้อมูลมากเกินไปก็เหมือนยัดเยียด ทำให้คนเบื่อ เรื่องสั้นไซ-ไฟที่ดี ต้องอ่านแล้วสนุก กินใจ ทึ่ง อ่านแล้วรู้สึกว่าโดนหลอก หรืออ่านแล้วรู้สึกว่าจบอย่างนี้ได้ยังไง ส่วนเรื่องสั้นไซ-ไฟของไทย สิ่งที่ยากที่สุดคือเขียนอย่างไรให้สนุก เพราะไซ-ไฟของไทยยังติดเรื่องข้อมูล เกี่ยวกับเรื่องโลกอนาคต ดาวศุกร์ ดาวอังคาร มันเลยไม่ทันสมัย”

สำหรับงานเขียนเรื่องสั้นไซ-ไฟใน Amazing Universe Magazine เธอบอกว่าคงอีกหลายเดือนจึงจะเห็นผลงานเขียนของเธอ โดยเรื่องแรกที่ออกมาจะเป็นแนวสะเทือนใจ สะท้อนปัญหาสังคม ส่วนเรื่องที่สองจะเป็นแนวไซ-ไฟ สยองขวัญ ซึ่งปัจจุบันนิยายแปลของไทยไม่ค่อยมีแนวนี้

อยากเป็นนักเขียนแนวไซ-ไฟ ต้องมีครู เพื่อหาแนวทางของตนเอง

อดีตนักจัดรายการชื่อดังที่หันมาเอาดีในงานเขียนเรื่องสั้นแนวไซ-ไฟ บอกว่า ปัญหาของเด็กไทยที่จะเขียนเรื่องไซ-ไฟคือ แรงบันดาลใจไม่มี ขณะที่เด็กต่างชาติจะมีฮีโร่ในดวงใจ มีแนวทางให้ได้ศึกษา  ซึ่ง Amazing Universe Magazine ก็ได้พยายามทำ แม้จะเป็นจุดเล็กๆ แต่เธอเชื่อว่าคงสามารถจุดประกายความฝันให้ใครบางคนได้

“สำหรับเด็กไทยที่เริ่มต้นเขียน อย่างแรก ควรจะอ่านงานของชั้นครูเยอะๆเพื่อหาแนวทางที่ชัดเจนของตัวเองให้ได้ ไม่มีวันที่เราจะเขียนนวนิยายได้ดี ถ้าเราไม่มีครู อย่างที่สอง เขียนแล้วต้องมีการแก้ รุ่นน้องหลายคนชอบเขียนแล้วไม่แก้ แต่เราได้ตัวอย่างมาจากกิมย้ง ซึ่งเขาจะเขียนในคำนำว่า ทุกครั้งที่เขาพิมพ์เล่มใหม่ นิยายของเขาทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นกระบี่เย้ยยุทธจักร จิ้งจอกภูเขาหิมะ มังกรหยก เขาจะแก้ใหม่ทุกครั้งที่พิมพ์ใหม่ เพื่อที่คนอ่านจะได้อะไรใหม่ๆ ดังนั้นงานของเขาจะทันสมัยตลอด ในขณะที่เด็กหลายคนเขียนแล้วไม่แก้ จริงๆไม่ต้องแก้ในเรื่องความคิด แต่ควรแก้ย่อหน้า คือเกลาจนกว่าจะนิ่ง”

เตรียมผจญภัยกับความฝัน “โปรดิวเซอร์แอนิเมชัน ไซ-ไฟ”

“ สิ่งที่อยากทำต่อไปมี 3 อย่าง คือการออกหนังสือเกี่ยวกับเรื่องการเงิน และความรักประมาณกลางปีนี้ เพราะเป็น 2 อย่างในชีวิตที่มีความสำคัญมาก เราอยู่กับมันตลอดเวลา แต่ไม่มีใครสอนเรา หลังจากหนังสือออกจะรณรงค์ออนทัวร์แคมปัสตามมหาวิทยาลัย สอนนักศึกษาให้ใช้เงินให้เป็น รู้จักบริหารเงินค่าขนมของตัวเองให้ได้ก่อน เมื่อเขาได้ทำงานก็จะรู้จักการจัดการกับรายได้ อย่างที่ 2 คือ จัดรายการวิทยุ สุดท้ายคือ อยากทำดีวีดีแอนิเมชันไซ-ไฟ โดยร่วมมือกับนานาประเทศในเอเชีย โดยที่เราเป็นโปรดิวเซอร์เอง สิ่งที่ทำไม่ใช่อุดมการณ์ แต่มันเป็นความมันส์ที่อยากจะทำ”

สมกับฉายา “เจ้าแม่จอมโปรเจค” จริงๆสำหรับสาวมากความสามารถอย่าง “โจ มณฑานี” ที่ไม่ว่าจะหยิบจับงานอะไรก็ล้วนแต่มีคุณภาพและประสบความสำเร็จทั้งนั้น ที่เป็นเช่นนี้ได้ เพราะเธอมี “พลังใจ” และเรียนรู้ที่จะแปรปัญหาให้กลายเป็นโอกาสนั่นเอง



กำลังโหลดความคิดเห็น