xs
xsm
sm
md
lg

สแกนนิ้วมือ-ม่านตา “ไบโอเมตริกซ์” ฝีมือคนไทยใกล้ได้วางแผง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทีมนักวิจัย ม.เกษตรฯ จับมือเนคเทค พัฒนาระบบ “ไบโอเมตริกซ์” หวังใช้ภายในประเทศ เผยภายใน 3 เดือนเตรียมวางแผงระบบตรวจลายนิ้วมือ ส่วนระบบตรวจลายม่านตาใช้เวลาอีก 1 ปี ชี้ประสิทธิภาพอาจสู้ของต่างชาติไม่ได้ แต่ยังมุ่งมั่นพัฒนา ด้วยต้นทุนถูกกว่านับสิบเท่า

ในภาพยนตร์แนวไซ-ไฟ (Sci-Fi: Scientific Fiction) ของต่างประเทศหลายเรื่อง ผู้ชมจะได้พบกับระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะของหน่วยราชการลับชั้นสูง ที่บรรดานักโจรกรรมตัวฉกาจยากจะเล็ดลอดไปได้ หรืออาจจะมีเพียงพระเอก-นางเอกเท่านั้นที่ตบตาระบบสมองกลได้อย่างแนบเนียน (และเหลือเชื่อ) ไม่ว่าจะเป็นการตรวจลายม่านตา (Iris) ลายพิมพ์นิ้วมือ (Fingerprint) หรือแม้แต่การตรวจเรตินา (Retina) ซึ่งเรามีชื่อเรียกระบบตรวจสอบความปลอดภัยทางชีวภาพเหล่านี้ไว้อย่างเท่ๆ ว่า “ไบโอเมตริกซ์” (Biometrics)

แต่หยุดก่อน! หากคิดว่ามันเป็นเพียงจินตนาการที่อยู่ไกลโขจากตัวเรา ในทางกลับกันวิทยาการที่ว่าอยู่ใกล้แค่เอื้อม และกำลังจะเป็นวิทยาการที่ถูก “บังคับให้มา” ในเร็วๆ นี้ และอาจเป็นอุปกรณ์อำนวยความสะดวก “พื้นๆ” ที่เราต้องพบต้องเจอทุกๆ วันในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็ได้ เนื่องจากความมั่นใจในระบบความปลอดภัยของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 เป็นเรื่องที่ล้อเล่นไม่ได้อีกต่อไป เพราะใครจะรู้ว่าตัวเลขเพียงตัวเดียวที่ถูกโจรกรรมไปเมื่อคืน อาจตัดสินชะตากรรมของพนักงานในบริษัทยักษ์ใหญ่นับหมื่นที่ต้องถูกลอยแพในวันรุ่งขึ้น!!?

ผศ.ดร.วุฒิพงศ์ อารีกุล จากห้องปฏิบัติการประมวลผลสัญญาณและภาพมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าทีมพัฒนาระบบไบโอเมตริกซ์ เผยว่า ในขณะนี้ พวกเขาพัฒนาระบบตรวจสอบความปลอดภัยทางชีวภาพที่เป็นของคนไทยขึ้นมาได้แล้ว โดยใช้การตรวจสอบลายนิ้วมือและการตรวจลายม่านตา ซึ่งจะวางจำหน่ายได้ภายใน 1 ปีต่อจากนี้

ผศ.ดร.วุฒิพงศ์ เล่าว่า แรงบันดาลใจในการทำงานชิ้นนี้เกิดขึ้นจากความต้องการอยากเรียนรู้ของลูกศิษย์ที่อยากทำระบบตรวจสอบลายนิ้วมือขึ้น โดย ผศ.ดร.วุฒิพงศ์ ได้ช่วยศึกษาข้อมูลเพื่อดูความเป็นไปได้ของโครงการ และร่วมทำงานกันเรื่อยมา โครงการดังกล่าวจึงเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2542 พร้อมได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ในปี 2545-2546 จำนวน 1.5 ล้านบาท และในปี 2546-2548 อีก 3.7 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 5.3 ล้านบาท

เราเริ่มต้นกันจากศูนย์ แล้วค่อยๆ พัฒนามาเรื่อยๆ มีอาจารย์หลายท่านและผู้เชี่ยวชาญจากเนคเทคมาร่วมกันทำงาน รวมถึงลูกศิษย์ปริญญาโทที่เข้ามาช่วยตั้งแต่ตอนแรกๆ ที่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์ที่วางขายในท้องตลาด แล้วพัฒนามาเป็นรุ่นๆ จนถึงวันนี้ที่เราสามารถผลิตเองได้ทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ เพื่อไม่ให้เป็นการยืมจมูกคนอื่นหายใจ แต่เราก็จะพัฒนาต่อไปอีก คาดว่าในส่วนของเครื่องอ่านลายนิ้วมือจะได้รับการปรับปรุงและวางขายได้ใน 3 เดือนข้างหน้า ส่วนเครื่องอ่านลายม่านตายังต้องใช้เวลาอีก 6-12 เดือน

สำหรับการทำงานของระบบ เขาแจกแจงว่า เครื่องตรวจสามารถแยกกันทำงานเป็นเอกเทศ (Stand Alone) โดยอัตโนมัติ หรือทำงานเชื่อมโยงข้อมูลเป็นเครือข่ายก็ได้ โดยมีคอมพิวเตอร์เป็นแม่ข่าย 1 เครื่องที่สามารถพ่วงกับเครื่องอ่านได้ 250 ตัว ซึ่งหากต้องการพ่วงเครื่องอ่านให้มากขึ้น ก็สามารถทำได้โดยต่อคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นอีก ระบบดังกล่าวจึงสามารถนำมาใช้กับระบบรักษาความปลอดภัยในธุรกิจโรงแรมแทนกุญแจ การ์ดอิเล็กทรอนิกส์ หรือระบบการตอกบัตรได้

ด้านการทำงาน ระบบจะรับข้อมูลคือ ลายนิ้วมือ และลายม่านตา ณ เครื่องอ่านเพื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลในฐานข้อมูล ซึ่งเป็นการทำงานแบบ one-to-many หรือผู้ใช้อาจพิมพ์รหัสพิน (PIN) เข้าไปก่อนแล้วตามด้วยการตรวจลายนิ้วมือหรือลายม่านตา เพื่อให้ระบบเรียกข้อมูลจากฐานข้อมูลมาเปรียบเทียบกับลายนิ้วมือหรือลายม่านตา ซึ่งเป็นการทำงานแบบ one-to-one ก็ได้

หรือแม้แต่ในกรณีที่ไม่สามารถให้เครื่องอ่านลายนิ้วมือหรือลายม่านตาได้ เช่น กรณีที่นิ้วมือเปื่อยหรือเกิดบาดแผล ก็สามารถพิมพ์รหัสพินและพาสเวิร์ด (Password) เพื่อยืนยันความเป็นตัวจริง-ไม่ใช่ตัวปลอมเพื่อเข้า-ออกสถานที่ได้เช่นกัน

“ในส่วนของการจดจำลายนิ้วมือและลายม่านตานั้น ทีมงานได้ออกแบบซอฟต์แวร์ให้สามารถค้นหาบริเวณจุดกึ่งกลางของลายนิ้วมือและม่านตาได้ รวมทั้งลักษณะเด่นบนลายนิ้วมือ เช่น ส่วนของก้นหอยที่แต่ละคนจะมีแตกต่างกัน และตำแหน่งศูนย์กลางของรูม่านตาเพื่อให้เป็นจุดอ้างอิงพิกัดตำแหน่ง พร้อมทั้งปรับลักษณะโทนสีของลายนิ้วมือเพื่อให้เหมาะสมกับการประมวลผลมากที่สุด”

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับระบบไบโอเมติกซ์ที่มีการวางขายในท้องตลาด ซึ่งมีเกาหลีใต้และจีน เป็นผู้ครองตลาด และตามมาด้วยนวัตกรรมจากฟากฟ้ายุโรป-อเมริกาแล้ว ผศ.ดร.วุฒิพงศ์ยอมรับว่า ระบบที่พัฒนาขึ้นยังด้อยกว่าพอสมควร เช่นในด้านความรวดเร็วที่ยังมีความเร็วน้อยกว่าหนึ่งในพันวินาทีตามที่มีการวางขายในท้องตลาด

ส่วนประสิทธิภาพความแม่นยำ ยังอยู่ระดับกลางๆ ของโลก ซึ่งในส่วนของลายนิ้วมือนั้น หากมีความชื้นจากเหงื่อ หรือมีระยะการประทับลายนิ้วมือไม่มั่นคงก็ทำให้ประมวลผลผิดพลาดได้ ส่วนการประมวลผลลายม่านตาก็ยังมีความคลาดเคลื่อนของลายเส้นสูง นอกจากนี้ยังมีเรื่องต้นทุนการผลิต ขนาด และการออกแบบที่ยังต้องมีการปรับปรุงอีกเล็กน้อย ทว่า เมื่อทางทีมพัฒนาได้ทดสอบระบบดูแล้วว่าสามารถทำงานได้จริง ขั้นต่อไปก็คือการปรับปรุงประสิทธิภาพในส่วนนี้ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากนัก

สำหรับความเชื่อมั่นต่อระบบที่จะรับมือกับการตบตาด้วยเจตนาอันไม่ซื่อ เช่น การใช้อวัยวะจากผู้ตายมาใช้กับเครื่องอ่านเพื่อหลอกเข้าสู่ระบบ (เหมือนในภาพยนตร์ต่างประเทศ) ซึ่งต่างชาติจะใช้วิธีการต่างๆ เข้ามาช่วยรับมือ เช่น ระบบตรวจอุณหภูมิ หรือ ดูความมีชีวิตของเส้นเลือดนั้น ทางทีมพัฒนาเผยว่าไม่ได้ละเลย และได้มีการวางเรื่องนี้เป็นเป้าหมายข้อหนึ่งที่ต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนการวางจำหน่ายอย่างแน่นอน แต่คงต้องอุบไว้ก่อน เพราะเป็นความลับเชิงพาณิชย์

ด้านสนนราคานวัตกรรมฝีมือคนไทยชิ้นนี้ ผศ.ดร.วุฒิพงศ์ ให้รายละเอียดว่า เครื่องต้นแบบที่ผลิตได้ ถ้าเป็นเครื่องอ่านลายนิ้วมือจะมีราคาประมาณเครื่องละ 1 หมื่นบาท แต่หากผลิตจำนวนมากก็จะทำให้มีราคาต่ำกว่า 5 พันบาทได้ เช่นเดียวกับของที่นำเข้าจากจีน ส่วนเครื่องอ่านลายม่านตานั้น เครื่องต้นแบบที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาจะมีราคาประมาณ 3 หมื่นบาท (พ่วงกับคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง) ขณะที่ของนำเข้าจะมีราคาประมาณ 2 แสนบาท

ด้านกลุ่มลูกค้าของนวัตกรรมชิ้นนี้ หัวหน้าทีมพัฒนาระบบไบโอเมตริกซ์ให้รายละเอียดว่า หากมีการวางจำหน่ายแล้ว กลุ่มลูกค้าของผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้จะเป็นการขายระบบไบโอเมตริกซ์เพื่อตอบโจทย์การใช้งานต่างๆ (Solutions) ของลูกค้าที่อาจมีงานที่ต้องทำไม่เหมือนกัน เพื่อให้ระบบมีประสิทธิภาพสูงสุด ขณะที่มีต้นทุนต่ำที่สุด จึงไม่ได้ขายเป็นชุดสำเร็จรูปดังที่มีอยู่ในท้องตลาด

สุดท้ายนี้ ผศ.ดร.วุฒิพงศ์ ผู้ดั้นด้นค้นหาความเป็นเลิศ (In Search of Excellence) ตลอดระยะเวลา 7 ปี ทิ้งท้ายว่า จุดเด่นของระบบที่พัฒนาขึ้น อาจมีเพียง 2 ข้อเท่านั้น แต่เป็น 2 ข้อที่เป็นความภาคภูมิของคนไทยได้คือ 1.ระบบทั้งหมดเป็นน้ำพักน้ำแรงของคนไทย ทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ สิทธิบัตรจึงเป็นของเราเอง ซึ่งสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้ และ 2.ระบบที่พัฒนาขึ้นถูกออกแบบให้สามารถนำไปปรับใช้กับกิจการต่างๆ ได้หลายรูปแบบ จึงมีความยืดหยุ่นสูง “โดยเฉพาะกับการใช้งานในประเทศ”

“ไบโอเมตริกซ์” ฝีมือคนไทย จึงเป็นอีกหนึ่งความพยายามที่น่าสนับสนุน แม้ว่าจะเป็นเพียงก้าวแรกๆ แต่ระยะเวลากว่า 7 ปีที่พากเพียรอุตสาหะก็พิสูจน์ตนเองถึงความมุ่งมั่นที่มีอยู่เต็มเปี่ยม อีกทั้ง ทีมพัฒนาก็ย้ำอย่างชัดเจนว่า “สิ่งประดิษฐ์นี้ไม่ต้องการให้เป็นเพียงการประดิษฐ์ที่นำไปอ้างว่าทำได้แล้วเพียงเท่านั้นและหยุดไป หากแต่ยังต้องการทำให้ครบวงจรสู่เชิงพาณิชย์ด้วย” จึงสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่คนไทยควรทุ่มเทกับ “ว” และ “ท” หรือ “วิทยาศาสตร์” และ “เทคโนโลยี” ซึ่งต้องร่วมกันมองไปข้างหน้าต่อไป…








กำลังโหลดความคิดเห็น