xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนเส้นทางยืดเยื้อปัญหา “นิวเคลียร์องครักษ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลายเป็นประเด็นอีกครั้งเมื่อสตง.ตรวจพบมูลเหตุทุจริตหลายพันล้านบาท ในโครงการ “ศูนย์นิวเคลียร์องครักษ์” ซึ่งมีปัญหาคาราคาซังมายาวนาน ตั้งแต่เริ่มสร้างก็ส่อเค้ามีปัญหา ทั้งการประมูลหาบริษัทมาก่อสร้างอาคารปฏิกรณ์ที่หมิ่นเหม่ต่อความฉ้อฉล ทั้งบริษัทคู่สัญญาก็ไม่มีเอกสารรับรองความปลอดภัย ทั้งนโยบายที่หลากหลาย “ชะลอ-เดินหน้า” เปลี่ยนตามสมัยรัฐมนตรี ขณะที่นักวิชาการ-ชาวบ้านต่างออกมาคัดค้านอย่างต่อเนื่องเป็นเหตุให้โครงการต้องชะลอ

“ศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์” เป็นโครงการของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ(ปส.) เพื่อก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย ณ ต.ทรายมูล อ.องครักษ์ จ.นครนายก ตามมติคณะรัฐมนตรีที่มีเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2532 โดยมีจุดเริ่มมาจากการที่ พล.อ.ชาติชายชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้เข้าร่วมประชุมกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศหรือไอเออีเอ แล้วเห็นว่าเครื่องปฏิกรณ์ฯ เดิมซึ่งตั้งอยู่ที่บางเขนนั้นไม่ตรงตามหลักความปลอดภัยสากลที่จะต้องอยู่ห่างจากสนามบินนานาชาติ 14 กม. แต่เครื่องปฏิกรณ์ของปส.อยู่ห่างจากสนามบินดอนเมืองเพียงแค่ 8 กม.เท่านั้น จึงมีมติให้ย้ายเครื่องปฏิกรณ์เก่าไปสถานที่ใหม่แต่ในทางเทคนิคไม่สามารถทำได้ จึงนำไปสู่การเสนอซื้อเครื่องใหม่

“ทุจริตก่อสร้าง” ปัญหาใหม่หลัง 17 ปียังไม่ได้เครื่องปฏิกรณ์
เวลาผ่านไปเกือบ 17 ปีนับแต่มีมติครม. โครงการดังกล่าวก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะแล้วเสร็จ ไม่มีการสร้างเครื่องปฏิกรณ์ฯ จนกระทั่งหมดสัญญาว่าจ้าง ด้วยปัญหาทั้งจากตัวโครงการและแรงกดดันภายนอกที่ทั้งผลักทั้งยื้อโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการออกมาคัดค้านของเหล่านักวิชาการ หรือการออกมาประท้วงของชาวบ้านในพื้นที่ หรือนโยบายที่มีทั้ง “รุก” และ “ถอย” เปลี่ยนไปตามสมัยรัฐมนตรี จนล่าสุดก็พบกับปัญหาใหม่ที่ต้องแก้ไปพร้อมๆ กับเรื่องเก่าที่ยังไม่ชัดเจน เมื่อสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจพบว่ามีการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการ

ทั้งนี้ สตง.เตรียมยื่นเรื่องความไม่โปร่งใสในโครงการก่อสร้างสถาบันวิจัยนิวเคลียร์ของ ปส.โดยระบุถึงการทุจริตภายหลังตรวจสอบการจ้างเหมาออกแบบและก่อสร้างอาคารเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ พร้อมเครื่องอุปกรณ์ระบบผลิตไอโซโทปและอุปกรณ์ระบบขจัดกากกัมมันตรังสี พบว่ามีการจ่ายเงินให้กับผู้รับจ้างดำเนินการไปแล้วกว่า 1,400 ล้านบาทแต่ยังไม่มีการก่อสร้าง ทางคณะกรรมการฯ จึงเห็นควรแจ้งดำเนินคดีกับเลขาธิการปส.และผู้เกี่ยวข้อง พร้อมแจ้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและทางวินัยกับผู้เกี่ยวข้อง

ขณะที่ดร.ประวิช รัตนเพียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คนปัจจุบันได้สั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น และได้ส่งรายงานไปยังคณะกรรมการปส. เพื่อตรวจสอบพบความไม่ถูกต้องในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบวิธีปฏิบัติของทางราชการ โดยขณะนี้ได้ยกเลิกสัญญากับบริษัทเอกชนผู้รับเหมา ส่วนอาคารที่กำลังจะก่อสร้างทั้ง 18 หลังจะให้ดำเนินการต่อไป แต่เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูนั้นต้องหยุดการดำเนินการไว้ก่อน อย่างไรก็ดีหากบริษัทไม่ทำตามสัญญาก็จะขอความเห็นไปยังอัยการสูงสุดในเชิงกฎหมายว่าควรดำเนินการ พร้อมขอความเห็นกับทาง ปส.ถึงความจำเป็นในการสร้างศูนย์วิจัย ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปไม่เกินเดือนมีนาคม

ประมูลว่าจ้างบริษัท “คลุมเครือ” หนึ่งเหตุยืดเยื้อ
เหตุยืดเยื้อส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินงานของผู้ที่เกี่ยวข้องเอง ทั้งนี้โครงการสร้างเครื่องปฏิกรณ์ฯ ขนาด 10 เมกะวัตต์ซึ่งกำหนดระยะเวลาไว้ 14 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2535-2548 ด้วยงบประมาณกว่า 7 พันล้านบาท (7,216.420 ล้านบาท) เริ่มส่อเค้าความไม่ชอบมาพากลจากการประมูลคัดเลือกบริษัทสร้างเครื่องปฏิกรณ์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของศูนย์วิจัยใน พ.ศ.2538-2539 โดยบริษัทเจอเนอรัล อะตอมมิกส์ (General Atomics: GA) จากสหรัฐอเมริกาได้ผ่านการเกณฑ์การพิจารณาด้านเทคนิคเพียงบริษัทเดียว

อย่างไรก็ดีเมื่อถึงขั้นตอนการประกวดราคา คณะกรรมการพิจารณาได้ลงมติให้ยกเลิกการประกวดราคาด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 1 โดยกรรมการบางท่านตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทไม่มีประสบการณ์ในการสร้างเครื่องปฏิกรณ์ขนาดใหญ่ จากนั้นนายเกรียงศักดิ์ ภัทราคม เลขาธิการปส.ในขณะนั้นได้มีคำสั่งปลดกรรมการ 4 คนที่ลงมติยกเลิกการประกวดราคาออก ซึ่งเป็นจุดที่สร้างความกังขาให้กับหลายคน

ทำสัญญาแล้วสร้างไม่ได้-เหตุบริษัทรับเหมาขาดใบรับรองความปลอดภัย
แม้จะผ่านการประมูลจนกระทั่งบริษัท GA ได้ลงสัญญาว่าจ้างกับทาง ปส. เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2540 ให้ก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์ภายในระยะเวลา 48 เดือนด้วยวงเงินกว่า 3 พันล้านบาท (3,3335,574,465 บาท) แต่ทางบริษัทไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากไม่มีใบรับรองความปลอดภัยของเตาปฏิกรณ์จาก US-NRC (US Nuclear Regulatory Commission) ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมของสหรัฐอเมริกามาให้ได้ คณะอนุกรรมการความปลอดภัยโรงงานนิวเคลียร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงไม่สามารถให้ใบอนุญาตก่อสร้างได้

จากนั้นคณะอนุกรรมการความปลอดภัยฯ จึงอนุมัติให้ห้องปฏิบัติการโอ๊คริดจ์ซึ่งเป็นหน่วยงานเอกชนของสหรัฐประเมินความปลอดภัยแทน US-NRC แต่ทางปส. กลับลงนามข้อตกลงความร่วมมือให้ห้องปฏิบัติการอาร์กอนของสหรัฐอเมริกาประเมินความปลอดภัยแทนโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการฯ ระหว่างที่คณะอนุกรรมการฯ ขอให้ห้องปฏิบัติการอาร์กอนชี้แจงว่าขั้นตอนการตรวจสอบความปลอดภัยของเครื่องปฏิกรณ์ฯ ครบถ้วนตามที่กำหนดให้ห้องปฏิบัติการโอ๊คริดจ์ดำเนินการหรือไม่นั้น สัญญาว่าจ้างก็หมดลงเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2544

โครงการส่อแววล่ม GA เรียกค่าชดเชยอ่วม
หลังจากหมดสัญญาได้ไม่นาน ทาง GA ก็เรียกค่าปรับจากปส. เป็นเงิน 20 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 900 ล้านบาทในช่วงเวลาดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นฝ่ายทำให้โครงการล่าช้า และเมื่อเหตุการณ์ยืดเยื้อต่อมาจนกระทั่งค่าเงินบาทลดลงจาก 25 บาทต่อดอลลาร์เหลือประมาณ 40 บาทต่อดอลลาร์ ทางบริษัท GA ก็ได้เรียกค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากประมาณ 3,000 ล้านบาทเป็น 6,800 ล้านบาท โดยอ้างว่าเป็นค่าชดเชยจากอัตราเงินเปลี่ยนแปลง

ถึงอย่างไรก็ตามมีผู้ออกมาค้าน GA ว่าไม่สามารถเรียกร้องได้เพราะได้ทำสัญญาในอัตราคงที่ อีกทั้งบริษัทต้องรับผิดชอบความเสี่ยงนี้อยู่แล้ว และตรงความขัดแย้งที่ยังไม่มีข้อสรุปนี้นายมนูญ อร่ามรัตน์ เลขาธิการปส. คนปัจจุบันเผยว่ากำลังอยู่ระหว่างขอคำปรึกษาจากสำนักงานอัยการสูงสุดว่าจะดำเนินคดีได้อย่างไร ซึ่งยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าใครถูกใครผิดเพราะทั้ง ปส.และ GA ต่างเป็นเหตุให้โครงการล่าช้า

“สถานที่ไม่เหมาะ” เหตุยกมาต้านของชาวบ้าน-นักวิชาการ
ขณะที่บริษัทไม่สามารถดำเนินการใดๆ เนื่องจากยังไม่ได้รับอนุมัติ ก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวของนักวิชาการและชาวบ้านในพื้นที่คัดค้านโครงการก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์ฯ ตั้งแต่ พ.ศ.2541 โดยเหตุผลหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาต้านคือความไม่เหมาะสมของพื้นที่ โดยนายรังสรรค์ ผดุงธรรม ซึ่งเป็นผู้อาศัยอยู่ที่ ต.ทรายมูล อ.องครักษ์ จ.นครนายกและเป็นสมาชิกที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ให้ความเห็นกับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันเมื่อช่วงต้น พ.ศ.2546 ถึงความไม่เหมาะสมของพื้นที่โครงการ

นายรังสรรค์ให้ความเห็นในช่วงนั้นว่าบริเวณ อ.องครักษ์เป็นที่ทำนาและมีน้ำท่วมหลากในฤดูฝนทุกปี และการที่ ปส.แก้ปัญหาด้วยการถมดินให้สูงขึ้นจึงเกรงว่าจะเกิดการปนเปื้อนของสารรังสีสู่แหล่งน้ำได้ อีกทั้งสภาพดินที่เป็นกรดและมีสมบัติกัดกร่อนทำให้ชาวบ้านกังวลหากทาง ปส.จะนำกากกัมมันตรังสีซึ่งบรรจุในภาชนะโลหะมาจัดเก็บไว้ในสถานที่ดังกล่าว

ในส่วนของคณะอนุกรรมการความปลอดภัยโรงงานนิวเคลียร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.ปานจิต ฐานีพานิชสกุล ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานได้ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวในช่วง พ.ศ.2546 ที่แสดงถึงความวิตกในเรื่องความปลอดภัยว่ามีการเสนอข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน อาทิ ไม่มีรายงานเรื่องรอยแยกของแผ่นดิน ไม่มีรายงานการศึกษาผลกระทบของเขื่อน ผลกระทบของเส้นทางการบินที่พาดผ่านสถานที่ตั้ง หรือผลกระทบจากโรงงานผลิตกระสุนปืนซึ่งเป็นกิจกรรมทางการทหาร พร้อมชี้ว่าข้อมูลเหล่านั้นแสดงถึงการเตรียมพร้อมแผนป้องกันเมื่อเกิดปัญหา

อีกทั้งแจงว่าหลักเกณฑ์ที่ปส.ใช้พิจารณาเลือกสถานที่มีเพียง 2 เหตุผลคือ 1.ต้องเป็นพื้นที่ของรัฐเพื่อประหยัดงบประมาณฯ และ 2.อยู่ใกล้กรุงเทพฯ เพื่อความสะดวกในการขนส่งสารรังสีนั้น เป็นข้อจำกัดในการเลือกสถานที่ซึ่งเหมาะสมอย่างแท้จริง อีกทั้งสถานที่ตั้งซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่โดยยังอยู่ห่างจาก อ.องครักษ์เพียง 2 กม.และห่างจากแม่น้ำนครนายกเพียง 600 ม. ทำให้หลายคนกังวลเรื่องความปลอดภัย

“สะท้อน-สะเทือน” ชาวบ้านไม่รับประชาพิจารณ์ “จัดฉาก”
นอกจากนี้ในช่วงต้น พ.ศ.2546 หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันได้เสนอข่าวเชิงวิเคราะห์ถึงความไม่โปร่งใสในการทำประชาพิจารณ์ของ ปส. โดยให้ข้อมูลว่า ปส.ได้ทำการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชนด้วยการจัดพากำนัน ผู้ใหญ่บ้านและข้าราชการในเขต อ.องครักษ์มาดูงานที่สำนักงานในเขตบางเขนเพียงกลุ่มเดียว ขณะที่ของประชาชนทั่วไปแทบไม่ได้รับรู้รายละเอียดของโครงการเลย ทั้งนี้ใน พ.ศ. 2540 ชาวบ้านจึงได้เริ่มติดตามข้อมูลความเป็นมาของโครงการ และรวมกลุ่มเคลื่อนไหวคัดค้านใน พ.ศ. 2541 เนื่องจากหวั่นเกรงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

รายงานข่าวได้ยกตัวอย่างชาวบ้านที่เห็นว่าประชาพิจารณ์ไม่โปร่งใส ในกรณีของนางทุเรียน แก้วสาลี ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับโครงการซึ่งเข้าใจว่า “ปรมาณู” เป็นอันตราย แต่ไม่ทราบว่า “นิวเคลียร์” กับปรมาณูเป็นสิ่งเดียวกัน ซึ่งหากทราบก็จะคัดค้านตั้งแต่ต้นในการทำประชาพิจารณ์ หรือกรณีนายแฉล้ม ศรีทอง ซึ่งบริจาคที่ดินให้กับโครงการได้ชี้แจงว่ารับทราบข้อมูลจาก ปส.เพียงว่าจะมีศูนย์ฉายรังสีพืชให้เก็บได้นานขึ้นและจะให้ประชาชนได้ใช้ฟรี รวมทั้งมีไฟฟ้าใช้ด้วย

3 รัฐมนตรี 3 นโยบาย “ชะลอ-เร่งรัด-เดินหน้าถ้าคุ้มทุน”
อีกเหตุผลที่ทำให้โครงการไม่คืบหน้าน่าจะเป็นนโยบายของรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่เปลี่ยนผ่านเข้ามารับทราบปัญหาหลายสมัยไม่ได้มีทิศทางไปในทางเดียวกัน ช่วงต้น พ.ศ.2546 เมื่อมีแรงกดดันจากการคัดค้านของนักวิชาการและชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงการเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องของสื่อมวลชน จึงทำให้นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในขณะนั้นมีคำสั่งให้ทบทวนโครงการโดยอ้างเหตุผลเรื่องความปลอดภัยที่หลายคนวิตก ซึ่งทำให้ฝ่ายคัดค้านเริ่มมีความหวัง

ไม่ทันข้ามปีมีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรี พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ คนต่อมาได้ออกมาประกาศจะเร่งรัดโครงการโดยรีบแก้ไขสัญญาต่างๆ เพื่อดำเนินการสร้างต่อไป สืบเนื่องจากนายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการปรมาณูเพื่อสันติในขณะนั้นได้อนุมัติให้สร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2546 ซึ่งก็ได้จุดกระแสสังคมให้ออกมาค้านกันอีกรอบ

ขณะที่สถานการณ์ยังยืดเยื้ออยู่นั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์อีกครั้ง โดยนายกร ทัพพะรังสีได้เข้ามารับช่วงความยุ่งยากต่อ ทั้งนี้เขาให้แนวทางคล้ายๆ จะเป็นกลางว่าจะเดินหน้าโครงการต่อหากโครงการมีความคุ้มทุนเท่านั้น ซึ่งทาง ปส.ก็ได้ออกมาแจกแจงว่าการสร้างเครื่องปฏิกรณ์จะทำรายได้อย่างไรบ้าง แต่ถึงอย่างนั้นคำชี้แจงก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับ

ชาวบ้านออกโรงค้านอีกระลอก
หลังจากที่ พล.อ.เชษฐายืนยันที่จะเดินหน้า ร้อนถึงกลุ่มที่มีความหวังว่าโครงการจะถูกระงับ ดังนั้นในวันที่ 11 ธ.ค.2546 นายจรัล รุ่งเรือง แกนนำชาวบ้านองครักษ์ จ.นครนายกและนางวันเพ็ญ ไพจิตร ประธานประชาคมคนรักนครนายกจึงได้เดินทางเข้าพบ พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญสอบสวนและศึกษากรณีการทุจริตของวุฒิสภาในขณะนั้น เพื่อให้ข้อมูลการทุจริตในโครงการศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์ โดยได้ยื่นหนังสือร้องเรียนให้มีการตรวจสอบการทุจริตเกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องเตาปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยฯ

ทั้งนี้ทางกลุ่มได้ชี้แจงเหตุผล 3 ประการคือ 1.ความไม่โปร่งใส โดยทางกลุ่มได้ชี้ถึงขั้นตอนการพิจารณาซองประกวดราคา ซึ่งมีคณะกรรมการ 5 คนลงมติให้ยกเลิกบริษัท GA เหตุเพราะคุณสมบัติไม่เหมาะสมหลายประการ แต่ที่สุดคณะกรรมการ 4 คนในจำนวนนั้นถูกปลดออกจากตำแหน่ง 2.เรื่องความไม่เหมาะสมของพื้นที่ซึ่งตามกฎหมายให้ใช้เพื่อการเกษตรเท่านั้น และ 3.เรื่องความปลอดภัยที่อ้างว่าบริษัท GA ไม่มีประสบการณ์และยังปล่อยให้บริษัทละเลยสัญญา พร้อมทั้งยกกรณีโคบอลต์ 60 เป็นตัวอย่างความประมาทของพนักงาน ปส.ด้วย

ชี้จ่ายแล้ว 3.2 ล้าน ไม่ต่อโครงการคุ้มค่ากว่า
หลังจากที่นายกรได้ตั้งเงื่อนไขในการสานต่อโครงการว่าต้องคุ้มทุนกับผลประโยชน์ที่จะได้รับ ซึ่งทาง ปส.ได้รายงานว่าใน 40 ปีจะทำเงินรวม 12,400 ล้านบาท โดยได้จากการผลิตไอโซโทปรังสี 4,400ล้านบาท จากการนำไปรักษาโรคมะเร็ง 400 ล้านบาท จากงานด้านอัญมณี 3,200 ล้านบาท จากการผลิตซิลิกอน 4,000ล้านบาท และรับถ่ายภาพด้วยนิวตรอน 400 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามคำชี้แจงของ ปส.ไม่ได้ทำให้ นายภิมุข สะมะโรจน์ เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งตรงกับสมัยนายกร เห็นถึงความคุ้มทุน โดยเขาได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวในช่วงต้น ก.ค.2547 ว่าหากระงับโครงการจะได้ประโยชน์มากกว่า แม้จะจ่ายเงินไปแล้ว 3,200 ล้านบาทเพราะไม่ต้องจ่าย “ค่าโง่” อีก ส่วนอาคารต่างๆที่ลงทุนไปแล้วก็สามารถดัดแปลงไปใช้อย่างอื่นได้ พร้อมทั้งระบุว่าจะไม่มีการนำเรื่องให้คณะรัฐมนตรีในคณะนั้นพิจารณาต่อหากรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ไม่เสร็จ เนื่องจากไม่ต้องการให้มีเสียงคัดค้านจากชาวบ้านภายหลัง

หนังเรื่องยาวที่ต้องตามต่อ
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าในสมัยนายกรได้ชูธงจะเดินหน้าหากโครงการมีความคุ้มทุนกว่า 7 พันล้านบาทที่ได้ลงไป แต่ก็ยังไม่ได้มีความขัดเจนหรือก้าวหน้าใดๆ เพิ่มขึ้น จนกระทั่งถึงสมัย ดร.ประวิช รัตนเพียรเข้ามารับตำแหน่งเจ้ากระทรวงก็มีการตรวจพบจาก สตง.ว่ามีการทุจริตในการก่อสร้างอาคารเครื่องปฏิกรณ์ฯ ถึง 1,400 ล้านบาท ซึ่งทางนายมนูญ อร่ามรัตน์เจ้าบ้าน ปส.คนปัจจุบันเปิดเผยว่าต้องรอให้มีหนังสือแจ้งจาก สตง.จึงจะได้ชี้แจงกลับ และยังต้องปรึกษาสำนักงานอัยการสูงสุดในเรื่องสัญญากับ GA ไปพร้อมด้วย

คงต้องติดตาม “หนังเรื่องยาว” นี้กันต่อไป ว่าที่สุดแล้วประเทศไทยจะได้เป็นเจ้าของเครื่องปฏิกรณ์ฯ เครื่องใหม่หรือไม่ รวมถึงจะมี “การหมกเม็ด” เงินภาษีประชาชนหรือไม่และมากน้อยเพียงใด




กำลังโหลดความคิดเห็น