การนำ“แก๊สชีวมวล” หรือ “ไบโอแมส” มาใช้เป็นพลังงานทดแทน คล้ายดั่งจินตนาการฝันหวานที่บางคนมองว่าเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ และยากที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม แต่ในวันนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯได้รุกหน้าไปอีกขั้น ด้วยการพากองทัพนักข่าวไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตแก๊สชีวมวลให้เห็นกับตา พร้อมพิสูจน์ว่าพลังงานทดแทนที่ว่านำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้จริงๆ
นายทศพล ตันติวงษ์ ประธานกรรมการ บริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด เจ้าของบ้านได้พา ดร.ประวิช รัตนเพียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) พร้อมกองทัพนักข่าวเข้าเยี่ยมชม บริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตมันสำปะหลังที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในเอเชีย ตั้งอยู่ที่ จ.นครราชสีมา โดยนายทศพลเล่าว่า บริษัท สงวนวงษ์ฯ มีประสบการณ์ในการผลิตมันสำปะหลังนานถึง 30 ปี โดยขณะนี้มีกำลังการผลิตสูงถึง 1,000 ตัน จึงเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้ร่วมกับบริษัท โคราชเวทูเนอร์ยี่ จำกัด (ไบโอแก๊ส) ในการที่จะหาวิธีกำจัดปัญหา พลังงงานที่ต้องใช้น้ำมันเตาเดือนละ 600,000 ลิตร ซึ่งคิดเป็นมูลค่ามหาศาลเกือบ 10 ล้านบาทต่อเดือน
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องน้ำเสียที่เกิดจากภาคการผลิตอุตสาหกรรมทั้งหมด เรื่องกากมันสำปะหลัง การล้างมันที่ทำให้เกิดแก๊ส และส่งผลต่อปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมต่าง ซึ่งทางโรงงานมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหานี้มาโดยตลอด จึงร่วมกับบริษัทโคราชเวทูเนอร์ยี่ฯ ในการลงทุนผลิต “แก๊สชีวมวล” (Biomass)จากของเสีย แล้วนำมากลับมาใช้ทดแทนน้ำมันเตา ที่เคยต้องซื้อในอัตราถึง 6 แสนลิตรต่อเดือน หรือประมาณเดือนละ 10 ล้านบาท
สำหรับกระบวนการในการผลิต “แก๊สชีวมวล” ก็ไม่ได้มีความยุ่งยาก โดยเริ่มจากการนำน้ำเสียที่ใช้ล้างมันสำปะหลัง หรือกากเหลือทิ้งไปหมักในบ่อโดยมีผ้าใบคลุม เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 2 สัปดาห์ผ้าใบจะพองขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณบอกว่าเกิดแก๊สมีเธนแล้ว จากนั้นแก๊สดังกล่าวจะถูกส่งไปตามท่อ เพื่อนำมาใช้ในการขับเคลื่อนเครื่องจักรโรงงานต่อไป
“ตอนนี้มาใช้แก๊สที่เกิดจากของเสียโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้แก๊ชเข้าไปขับเคลื่อนเครื่องจักรให้ใช้งานได้อีก โดยลดค่าใช้จ่ายได้เดือนละ 5-6 ล้านบาท นอกจากนี้ยังใช้ในโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดย่อม 3 เครื่อง โดยเครื่องหนึ่งใช้ได้ 1 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งช่วยทดแทนการซื้อพลังงานจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคลดลงครึ่งหนึ่ง ที่ปกติใช้ 7-8 เมกกะวัตต์ต่อชั่วโมง”นายทศพล กล่าว
ด้าน ดร.ประวิช กล่าวว่า สิ่งที่เป็นปัญหาเดิมคือเรื่องน้ำเสีย มาถึงวันนี้ก็มีน้ำที่ดีย้อนกลับมาใช้ในอุตสาหกรรมได้ถึง 50% ซึ่งแสดงให้เห็นว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถนำไปใช้ให้เกิดรูปธรรมได้จริง ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯพร้อมเปิดโอกาสให้โรงงานต่างๆ ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่มีปัญหาเรื่องเดียวกัน สามารถร่วมมือกับบริษัทที่ทำเกี่ยวกับการนำเอาของเสียไปทำให้เกิดแก๊สชีวมวล และนำกลับมาใช้งานได้อีกโดยในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้มีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ได้ดำเนินการนำของเสียจากโรรงานผลิตแป้งมันมาผลิตแก๊สชีวมวล ที่ จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นการนำเอากระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลบีมาใช้แก้ปัญหาพลังงานทดแทนในประเทศ
“สวทช. มีกองทุนที่เตรียมไว้สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมภาคการผลิตที่มีความประสงค์จะแก้ไขปัญหาเดียวกัน โดยได้จัดตั้งกองทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ โครงการหนึ่งประมาณ 20 ล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนาให้เกิดการแก้ไขปัญหาเรื่องพลังงานและปัญหามลภาวะ และหากโรงงานใดที่ก้าวไกลไปถึงการวิจัย สวทช.ก็มีกองทุนถึง 50 ล้านบาท โดยจะพิจารณาในแต่ละโครงการ เพื่อให้เกิดการวิจัยในเรื่องการใช้พลังงาน โดยนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาจัดการกับน้ำเน่าเสีย”ดร.ประวิช กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวอีกว่า ส่วนใหญ่โรงงานอุตสาหกรรมแทบทุกแห่งก็มีของเสีย ที่อยู่ในเกณฑ์นำมาปรับใช้ได้ โดยสิ่งสำคัญที่สุดในการผลิต “แก๊สชีวมวล” คือ โรงงานนั้นจะต้องมีปริมาณของเสียต่อเนื่องสม่ำเสมอ ซึ่งทาง สวทช.ก็ทำสำเร็จแล้ว ในหลักการเดียวกัน คือนำของเสียไปบ่มบำบัดให้เกิดแก๊ส และนำมาใช้ในการขับเคลื่อนเครื่องจักรโรงงาน ทั้งนี้ ในส่วนการหาบริษัทร่วมลงทุน อย่าง บริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรมฯ ก็มีบริษัทร่วมลงทุนให้ก่อนประมาณ 200 ล้านบาท แต่สามารถคืนทุนได้ภายใน 3-4 ปี ซึ่งเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่า แม้ไม่มีเงินทุน ก็สามารถสร้างเม็ดเงินกลับมาตอบแทนได
นับเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นในการนำของเสียมาทำให้เป็นพลังงานทดแทน ซึ่งจากนี้ไปคงต้องดูกันว่า เมื่อเกิดโรงงานต้นแบบแล้ว โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆทั่วประเทศจะขานรับ และนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ประโยชน์อย่างจริงจังหรือไม่