xs
xsm
sm
md
lg

“ฟรีบรา” โคนมพันธุ์ใหม่ฝีมือคนไทยที่ให้ทั้งนมทั้งเนื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไบโอเทคจับมือกรมปศุสัตว์ พัฒนาโคนม “ฟรีบรา” เจ้ากระทรวงวิทย์ฯ ชี้ เป็นโคอเนกประสงค์ ให้ได้ทั้งนมทั้งเนื้อ แถมยังมีรสชาติเทียบได้กับเนื้อวัวเกรดเอของโลก เผยรัฐบาลเตรียมตั้งโรงงานนมผงรับมือเอฟทีเอ กระทรวงวิทย์ฯ เตรียมหนุนโครงการเต็มที่ พร้อมเผยแพร่สู่เกษตรกรทั่วประเทศ

การเลี้ยงโคนมในประเทศไทยเพิ่งได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างจริงๆ จังๆ เมื่อประมาณ 50 ปีก่อน (ตั้งแต่พ.ศ.2500) โดยมีอัตราขยายตัวอย่างรวดเร็วพร้อมๆ กับปริมาณความต้องการดื่มนมของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น กระนั้น ประเทศไทยยังต้องนำเข้าน้ำนมและผลิตภัณฑ์จากนมมากขึ้นทุกปี เพราะปริมาณการผลิตโคนมในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ อีกทั้งการนำเข้าพันธุ์โคนมจากต่างประเทศก็มีราคาแพง แถมโคนมเหล่านี้ยังไม่ใช่โคนมสายพันธุ์พื้นเมือง จึงทนทานต่ออากาศร้อนของประเทศไทยได้ไม่มากนัก

ด้วยเหตุนี้ จึงมีความพยายามในการพัฒนาโคนมสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาเพื่อสอดรับกับความต้องการ และความเหมาะสมต่อสภาพภูมิอากาศและการเลี้ยงดูในทุกภาคและทุกสภาพอากาศของประเทศไทย จนได้โคนมลูกผสมพันธุ์ใหม่ “ฟรีบรา” ในที่สุด โดยเป็นโคลูกผสมระหว่างแม่โคเนื้อลูกผสมที่มีเลือดบราห์มัน 75% กับโคนมพันธุ์โฮลสไตน์ฟรีเชี่ยนแท้ 100%

"โคนมฟรีบรา" นับเป็นโคพันธุ์อเนกประสงค์สำหรับเกษตรกรไทย ทั้งนี้ โคตัวผู้จะให้ปริมาณเนื้อมากและมีรสชาติดี เพราะเป็นเนื้อติดมันและมีเส้นใย เทียบได้กับเนื้อโคพันธุ์เลิศของโลก เช่น โกเบ และมัสซึซากะของญี่ปุ่น นอกจากนั้นยังเป็นโคโตเร็ว มีช่วงเอวยาวทำให้มีเนื้อสันมาก มีอกใหญ่ และมีบั้นท้ายเต็ม ซึ่งในขณะนี้ โคฟรีบราตัวผู้กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดมาก

ส่วนโคฟรีบราตัวเมียก็มีคุณสมบัติไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะเป็นโคนมที่เลี้ยงดูง่าย ให้ลูกถี่ และมีผลผลิตยืนนาน อีกทั้งสามารถให้น้ำนมได้มากกว่าโคนมทั่วไปมาก ซึ่งโคนมทั่วไปจะให้น้ำนมเฉลี่ยตัวละ 10 ก.ก./วัน ขณะที่โคนมฟรีบราสามารถให้น้ำนมได้ถึงตัวละ 14 ก.ก./วัน ทั้งนี้หากมีการเลี้ยงดูที่ดีพอก็จะสามารถให้น้ำนมได้มากถึง 20 ก.ก./วัน โดยสถิติที่มากที่สุดคือ 25 ก.ก./วัน นอกจากนี้เมื่อโคฟรีบราตัวเมียมีอายุมากขึ้นก็สามารถขุนเอาเนื้อได้ ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงก็ยืนยันว่าได้เนื้อที่มีรสอร่อยไม่ต่างจากโคฟรีบราตัวผู้เลย

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์โคนมฟรีบราให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น วานนี้ (9 ก.พ.) จึงได้มีการเปิดโครงการฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมเบื้องต้นแก่เกษตรกรขึ้น ณ ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ลำพญากลาง กรมปศุสัตว์ จ.ลพบุรี ด้วยความร่วมมือที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2544 ของ 2 หน่วยงานที่ข้ามกระทรวงมาทำงานร่วมกันคือ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการฝึกอบรมครั้งนี้มี ดร.ประวิช รัตนเพียร รมว.วิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธานในงาน พร้อมเยี่ยมชมการเลี้ยงโคนมของศูนย์ฯ ด้วย

ทั้งนี้ ภายหลังการเยี่ยมชมศูนย์ ดร.ประวิช ได้กล่าวแก่สื่อมวลชนที่ติดตามมาทำข่าวว่า เนื่องจากข้อดีหลายประการของโคนมฟรีบราดังที่กล่าวข้างต้น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงมีความยินดีให้การสนับสนุนการวิจัยพัฒนาโครงการนี้อย่างจริงจัง ทั้งการวิจัยด้านภูมิอากาศ อาหาร และวิธีการเลี้ยง ฯลฯ เพื่อให้เกิดการแข่งขันกับต่างชาติได้ต่อไป โดยเชื่อมั่นว่า โคนมฟรีบราจะสามารถนำมาสร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรของไทยได้พ้นจากความยากจน อีกทั้งยังช่วยลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศในการซื้อพันธุ์โคนม นม และผลิตภัณฑ์จากนมจากต่างประเทศไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย

ส่วนการขยายการเพาะเลี้ยงโคนมฟรีบรา ดร.ประวิช แจกแจงว่า ทางศูนย์จะประกันราคาลูกโคตั้งแต่แรกเกิดให้แก่เกษตรกร นอกจากนี้ยังมีการติดต่อไปยังภาคธุรกิจที่จะซื้อน้ำนมและเนื้อต่อไปด้วย จึงเป็นการดำเนินงานแบบครบวงจรตั้งแต่การผลิต การพัฒนาพันธุ์ รวมถึงการจำหน่ายผลผลิตสู่ตลาด

“โดยเฉพาะกับโคฟรีบราตัวเมียที่สามารถนำน้ำนมมาผลิตเป็นนมผงได้ ซึ่งทางรัฐบาลก็มีนโยบายที่ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าจะให้การสนับสนุนการตั้งโรงงานผลิตนมผงขึ้นในประเทศ เพื่อให้ทันกับการเปิดเสรีทางการค้าในระยะเวลา 10-20 ปีข้างหน้า ซึ่งประเทศไทยต้องเตรียมตัวเพื่อรองรับการแข่งขันในเวทีการค้าโลกให้ได้ เพราะหากมีการเปิดเขตการค้าเสรีแล้ว การเตรียมพร้อมในด้านนี้จะช่วยให้ประเทศไทยรับมือกับผลิตภัณฑ์นมผงจากต่างประเทศที่เข้ามาแข่งขันในประเทศได้”

รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวอีกว่า ในปัจจุบัน โคนมฟรีบราเริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่เกษตรกรแล้ว โดยเฉพาะในเขต จ.ชัยภูมิ ลพบุรี และนครราชสีมา ส่วนการสร้างการเป็นที่รู้จักไปยังเกษตรกรทั่วประเทศนั้น ก็มีความพร้อมแล้วทั้งในด้านเทคนิคการผลิตและการเลือกเพศของโค ซึ่งหากเกษตรกรรายใดสนใจอยากเลี้ยงโคพันธุ์นี้ก็สามารถมาติดต่อเพื่อขอดำเนินการได้ทันที

นายสงัด ธรรมไธสง ประธานสมาชิกฝ่ายวัตถุดิบ บริษัท ห้าศูนย์ห้าโภคภัณฑ์ จำกัด ซึ่งเป็นเกษตรกรจาก จ.นครราชสีมา ที่มาร่วมการฝึกอบรมครั้งนี้เปิดเผยว่า ปกติแล้วตัวเขาประกอบอาชีพเป็นชาวนา และเลี้ยงโคพันธุ์บราห์มันเป็นการหารายได้เสริมมามานานกว่า 4 ปีแล้ว ได้ผลตอบแทนประมาณ 3-4 พันบาท/เดือน แต่เมื่อ 5 เดือนก่อนได้เดินทางมาซื้อโคนมฟรีบราจากศูนย์ไปเลี้ยง พบว่าเป็นโคที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว ส่วนเนื้อก็มีรสชาติดีทั้งตัวผู้และตัวเมีย โดยขณะนี้เขาได้เลี้ยงโคนมฟรีบราทั้งสิ้น 190 ตัว เป็นตัวผู้ 120 ตัว และตัวเมีย 70 ตัว สำหรับการมาร่วมการฝึกอบรมในครั้งนี้ เขาได้ชวนเพื่อนเกษตรกรมาร่วมฝึกอบรมด้วย 42 คน และยอมรับว่าได้ความรู้กลับไปใช้งานหลายอย่าง








กำลังโหลดความคิดเห็น