xs
xsm
sm
md
lg

“ระบบหลังคาเย็น” บ้านเย็นด้วยอากาศร้อน-ลดค่าแอร์ได้ 40 %

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ซีแพค เปิดตัว “ระบบหลังคาเย็น” นวัตกรรมสะอาดเพื่อการประหยัดพลังงาน ชี้ใช้อากาศร้อนสร้างอากาศเย็น หล่อเย็นตัวบ้าน ลดค่าแอร์ได้ 40% ขณะที่ลดความร้อนในบ้านได้ถึง 2 องศาเซลเซียส แนะ 3 “ส” สังเกต-สงสัย-สอบถาม เพื่อสร้างนวัตกรรม

เนื่องจากกระแสความตื่นตัวเรื่องการประหยัดพลังงานในอาคารสำนักงานและตามบ้านเรือนกำลังเป็นที่จับตามองของประชาชนอย่างน่าสนใจ โดยจะเห็นการรณรงค์ประหยัดพลังงานมากมายหลายรูปแบบอยู่เนืองๆ เช่น ให้ปรับเปลี่ยนความเคยชินในการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า ปิดเมื่อไม่ใช้ หรือใช้อย่างประหยัด อย่างไรก็ตาม การออกแบบอาคารบ้านเรือน รวมทั้งการเลือกวัสดุก่อสร้างก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการประหยัดพลังงานด้วย

วันนี้ (31 ม.ค.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จึงจัดการสัมมนาขึ้น พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ ทั้งนี้ได้มีการนำเสนอนวัตกรรม “ระบบหลังคาเย็น” (Cool Roof System) โดยนายสิทธิชัย เนี๋ยมเจริญ ผู้จัดการส่วนบริการเทคนิค บริษัท กระเบื้องหลังคาซีแพค จำกัด

นายสิทธิชัย
เผยว่า ทางบริษัทได้รับแนวคิดสร้างนวัตกรรมมาจากบ้านบรรยากาศชีวภาพ (Bio-Climate House) ของ 2 ผู้เชี่ยวชาญคือ ศ.ดร.โจเซพ เคดารี ผู้เชี่ยวชาญด้านอาคารประหยัดพลังงาน บริษัท ซันซีร์ จำกัด และ ศ.ดร.จงจิตร์ หิรัญลาภ เมธีส่งเสริมนวัตกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม สนช. ซึ่งบ้านดังกล่าวมีแนวคิดที่ภายในผนังบ้านจะมีช่องลมให้อากาศถ่ายเทได้ เปรียบได้กับเป็นเปลือกอาคารที่จะช่วยป้องกันความร้อนและระบายอากาศตามธรรมชาติ แทนที่แนวคิดเดิมซึ่งจะใช้วิธีการติดฉนวนกันความร้อน

ทั้งนี้ ทางบริษัทได้คิดค้นระบบหลังคาเย็นขึ้น โดยมี ศ.ดร.จงจิตร์ และศ.ดร.โจเซพ เป็นผู้ทดสอบผลิตภัณฑ์ให้ ซึ่งระบบนี้อาจแบ่งเป็นส่วนประกอบหลักๆ คือ แผ่นสะท้อนคลื่นความร้อนที่ทำจากอลูมินัมฟอยล์ ช่องระบายความร้อน และชุดครอบสันหลังคาระบายอากาศ

นายสิทธิชัย อธิบายว่า 87 % ของความร้อนในบ้านเกิดจากความร้อนที่ทะลุผ่านหลังคาลงมา โดยส่วนของสันหลังคาจะร้อนกว่าชายหลังคา การป้องกันความร้อนที่ถูกจุดและได้ผลดีที่สุด จึงต้องหยุดความร้อนไว้ที่หลังคา ด้วยการติดตั้งแผ่นสะท้อนความร้อน เพราะจะทำหน้าที่สกัดความร้อนที่ทะลุกระเบื้องหลังคาลงมา และสะท้อนกลับไปทันทีถึง 95% ความร้อนจึงไม่เล็ดลอดเข้ามาในตัวอาคาร

นายสิทธิชัย อธิบายอีกว่า ส่วนความร้อนส่วนใหญ่ที่ถูกสกัดโดยแผ่นสะท้อนความร้อนจะถูกดูดซับโดยอากาศที่อยู่ในช่องว่างระหว่างแผ่นสะท้อนความร้อนกับใต้ท้องกระเบื้อง ทางบริษัทจึงนำเอาอากาศร้อนดังกล่าวมาสร้างเป็นระบบหมุนเวียนอากาศที่มีประสิทธิภาพเพื่อกำจัดความร้อนออกไปบริเวณสันหลังคาและหลังคาเย็นลง จึงเหมือนการหล่อเย็นด้วยลม

ทั้งนี้เพราะความเข้าใจที่ว่า “อากาศร้อนจะลอยตัวขึ้นสูงและดูดอากาศเย็นเข้าไปแทนที่” กลายเป็นแนวคิดสำคัญที่จะใช้อากาศร้อนในช่องว่างระหว่างแผ่นสะท้อนความร้อนกับใต้กระเบื้องมาเป็นกลไกสำคัญในการดูดอากาศเย็นเข้าไปแทนที่ ขณะที่อากาศร้อนจะถูกระบายออกไปในบริเวณสันหลังคา หลังคาจึงเย็นเพราะมีอากาศเย็นไหลผ่านตลอดเวลา ภายในบ้านจึงเย็นสบาย

“ดังนั้น เมื่อหลังคายิ่งร้อน ยิ่งเร่งให้อากาศเย็นถูกดูดเข้าไปแทนที่อากาศร้อนได้เร็วขึ้น ภายในหลังคาจึงไม่มีอากาศร้อนตกค้าง ภายในบ้านจึงไม่ใช่แค่ไม่ร้อน แต่จะเย็นสบายเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม” นายสิทธิชัย กล่าวและแจกแจงข้อดีของระบบนี้ว่าได้แก่ 1.เพิ่มประสิทธิภาพให้กับแผ่นสะท้อนความร้อนในการป้องกันความร้อนได้สูงกว่าเดิม 2 เท่า 2.ลดอุณหภูมิภายในตัวบ้านลงได้ 2 องศาเซลเซียส 3.ลดการใช้ไฟฟ้าจากการใช้เครื่องปรับอากาศได้มากกว่า 40% และ 4.เป็นเทคโนโลยีสะอาด เพราะใช้เพียงอากาศในหลังคาเป็นตัวทำงาน จึงไม่ต้องพึ่งพาพลังงานอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่แผ่นสะท้อนความร้อนถูกปกคลุมด้วยฝุ่นจนดำ นายสิทธิชัย อธิบายว่า จะส่งผลให้ประสิทธิภาพของระบบลดลง 10-15 % ทว่าระบบนี้ก็ยังจะมีประสิทธิภาพสูงกว่ากรณีที่ใช้แผ่นสะท้อนความร้อนอย่างเดียวประมาณ 30% ซึ่งจากข้อดีเหล่านี้ทำให้ระบบหลังคาเย็นได้รับรางวัลผลงานนวัตกรรมเด่นด้านเศรษฐกิจในการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ 2548 มาแล้ว ส่วนสนนราคาของระบบหลังคาเย็น เขาเผยว่า หากเปรียบเทียบกับกระเบื้องมุงหลังคาทั่วไปที่มีสีเดียวกันแล้ว ระบบนี้จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าประมาณตารางเมตรละ 70 บาท

สุดท้ายนี้ นายสิทธิชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ยุคต่อไปจะเป็นยุคของนวัตกรรม ลำพังการสร้างจุดต่างสินค้า หรือการลอกเลียนสินค้าจะไม่สามารถนำมาใช้ได้อีก ซึ่งเขาให้นิยามของนวัตกรรมว่ามี 5 ข้อ คือ สินค้านั้นๆ ต้อง 1.ใหม่ต่อตลาด 2. ใหม่ต่อตัวเอง 3.ขยายสายผลิตภัณฑ์ออกไป 4.สร้างตลาดใหม่ หรือ 5.สร้างลูกค้าใหม่ นอกจากนั้น นวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยหลัก 3 “ส” ด้วยกันคือ สังเกต สงสัย และสอบถาม




กำลังโหลดความคิดเห็น