xs
xsm
sm
md
lg

“ฮิวแมนไนซ์แอนติบอดี” แปลงภูมิต้านทานหนูให้เหมือนคน สยบ “โรคฉี่หนู”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขึ้นชื่อว่าโรคฉี่หนูแล้วก็เชื่อว่าไม่ต้องบอกอะไรกันอีกก็รู้ว่าพาหะของโรคนี้คือหนูสายพันธุ์ต่างๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นหนูสีขาวตัวน้อยน่ารัก หรือแม้แต่หนูท่อตัวใหญ่สีดำที่พบดาษดื่นในเมืองกรุง
2 นักวิจัยทุนกาญจนาภิเษก ค้นพบโปรตีนร่วมในโรคฉี่หนู หวังเดินหน้าผลิต “ฮิวแมนไนซ์แอนติบอดี” แปลงแอนติบอดีหนูให้เหมือนของคน หมายสยบ “โรคฉี่หนู” แทนการใช้ยาปฏิชีวนะ โดยไร้ผลข้างเคียง

“โรคเลปโตสไปโรซิส” หรือที่รู้จักกันดีในชื่อโรคฉี่หนู เป็นโรคๆ หนึ่งที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนไทยมาก โดยเฉพาะกับเกษตรกรที่ต้องฝากชีวิตไว้กับหัวไร่ปลายนา เรื่อยไปจนถึงเจ้าหน้าที่ในโรงฆ่าสัตว์ สัตวแพทย์ หรือแม้แต่นักกีฬาทางน้ำ ที่เชื้อเลปโตสไปร่าอาจเข้าสู่ร่างกายได้โดยไม่รู้ตัว

ด้วยอาการของโรคที่มักไม่ปรากฏอาการ หรือรู้สึกเหมือนเพียงเป็นไข้สูงทั่วไป ทำให้ผู้ป่วยหลายต่อหลายคนชะล่าใจ ไม่คิดว่าตัวเองป่วยเป็นโรคฉี่หนู หรือแม้แต่แพทย์เองก็ยังอาจวินิจฉัยโรคผิดพลาดได้ ซึ่งพอรู้ตัวอีกทีก็ไม่ทันการเสียแล้ว และอาจคร่าชีวิตผู้ป่วยไปในที่สุด

ทั้งนี้ ขึ้นชื่อว่าโรคฉี่หนูแล้วก็เชื่อว่าไม่ต้องบอกอะไรกันอีกก็รู้ว่า พาหะของโรคนี้คือ หนูสายพันธุ์ต่างๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นหนูสีขาวตัวน้อยน่ารัก หรือแม้แต่หนูท่อตัวใหญ่สีดำที่พบดาษดื่นในเมืองกรุง โดยการตรวจวินิจฉัยโรคฉี่หนู นั้นต้องอาศัยการเพาะเชื้อจากเลือดของผู้ป่วยและติดตามผลด้วยอีกกว่า 1 เดือน ซึ่งถือว่านานเกินการณ์ไปมาก

หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือการตรวจหาภูมิคุ้มกันจากน้ำเหลืองของผู้ป่วยกับชุดตรวจโรค หากแต่ชุดตรวจเองก็ยังขาดความแม่นยำ นอกจากนั้น ชุดตรวจเหล่านี้ยังไม่สามารถตรวจกับเชื้อต่างสายพันธุ์ที่มีอยู่กว่า 200 สายพันธุ์ได้

ด้วยเหตุนี้ ศ.ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงมีแนวคิดบนสมมติฐานที่ว่า เชื้อโรคฉี่หนูทั้ง 200 สายพันธุ์ น่าจะมีโปรตีนที่ใช้ในการก่อโรค หรือโปรตีนที่มีผลในการอยู่รอดของเชื้อภายในร่างกายผู้ป่วยเป็นชนิดเดียวกัน และหากสมมติฐานเป็นจริงก็จะมีแนวทางในการรับมือกับเชื้อโรคฉี่หนูทุกสายพันธุ์ได้

และเพื่อการตรวจสอบแนวคิดดังกล่าว ศ.ดร.วันเพ็ญ ได้มอบหมายให้ น.ส.ยุวพร สากลวารี นักศึกษาโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ค้นหาโปรตีนของเชื้อที่พบเฉพาะในผู้ป่วยโรคฉี่หนู เพื่อเป็นข้อมูลในการผลิตวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคฉี่หนูได้ทุกสายพันธุ์ และเป็นข้อมูลสำหรับการผลิตแอนติบอดีต่อโปรตีนของเชื้อทุกสายพันธุ์

“หลังการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อมีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนที่มีความจำเพาะกับเชื้อทุกสายพันธุ์ โดยโปรตีนที่พบในผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคฉี่หนูทุกสายพันธุ์จำแนกได้เป็น 3 กลุ่มคือ 1.โปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ของเชื้อ เพื่อหลบหลีกระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย 2.โปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสารพิษ และ 3.โปรตีนที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการมีชีวิตอยู่ในร่างกายมนุษย์” น.ส.ยุวพร แจกแจง

สำหรับการใช้ประโยชน์จากผลการทดลอง น.ส.ยุวพร กล่าวว่า สามารถนำไปสู่การผลิตแอนติบอดีเฉพาะที่สามารถพัฒนาไปสู่การตรวจวินิจฉัยโรคจากโรคฉี่หนูทุกสายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และสะดวก เพื่อให้แพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที ขณะเดียวกัน ข้อมูลที่ได้ยังสามารถนำไปออกแบบวัคซีนป้องกันโรคแทนยาปฏิชีวนะได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน การรักษาโรคฉี่หนูมักใช้ยาปฏิชีวนะเป็นหลัก ควบคู่กับการรักษาตามอาการ ทว่าการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะก็เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับผู้ป่วยที่แพ้ยา รวมทั้งอาจเกิดผลข้างเคียงจากยาทีเรียกว่า “ปฏิกิริยาจาริชเฮิกซัยเมอร์” (JHR) ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการไม่พึงประสงค์ อีกทั้งอาจทำให้เชื้อเลปโตสไปร่าแตกออกและปล่อยสารพิษออกมา ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะยังอาจไม่ได้ผลหากผู้ป่วยมีอาการเลยจากระยะเฉียบพลันไปแล้ว

จากข้อมูลนี้เอง ศ.ดร.วันเพ็ญ จึงได้ริเริ่มโครงการวิจัยอีกชิ้นหนึ่งขึ้นพร้อมๆ กัน โดยมอบหมายให้นายสันติ มณีวัชระรังษี นักศึกษา คปก. อีกคนหนึ่งพัฒนาโมโนโคลนอลแอนติบอดีของหนูไมซ์ ซึ่งมีความจำเพาะต่อเชื้อเลปโตสไปร่ามาใช้ในการรักษาโรคฉี่หนู เพื่อให้แอนติบอดีดังกล่าวมีประสิทธิภาพสูงสุดโดยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงในผู้ป่วย ด้วยการใช้เทคนิค “ฮิวแมนไนซ์แอนติบอดี” หรือกล่าวง่ายๆ คือ การแปลงแอนติบอดีของหนูไมซ์ให้มีโครงสร้างเป็นของมนุษย์มากที่สุด โดยยังรักษาส่วนที่จับกับโปรตีนของเชื้อให้คงอยู่เท่านั้น

“ผลที่ได้คือฮิวแมนไนซ์แอนติบอดีที่มีส่วนของโปรตีนของมนุษย์เกือบทั้งหมด แต่มีประสิทธิภาพในการจับกับโปรตีนของเชื้อเลปโตสไปโรซิส โดยในการทดลองพบว่าสามารถลดการตายของสัตว์ทดลองที่ติดเชื้อโรคฉี่หนูได้ถึง 40% ซึ่งขณะนี้กำลังพยายามเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้แอนติบอดีแทนยาปฏิชีวนะ ด้วยการใช้ฮิวแมนไนซ์แอนติบอดีหลายชนิดร่วมกัน” นายสันติ อธิบาย

สุดท้ายนี้ ศ.ดร.วันเพ็ญ กล่าวเสริมว่า จากการทดลองในหนูทดลองพบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการปรับปริมาณแอนติบอดีให้เหมาะสม ทั้งนี้ ทีมวิจัยยังมีแผนนำความรู้ด้านแอนติบอดีมาพัฒนาเป็นวัคซีนป้องกันโรคฉี่หนูในสัตว์เศรษฐกิจก่อนใช้ในคน อาทิ วัว ควาย และหมู เพื่อป้องกันการแท้งลูกอีกด้วย โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 6 เดือน
อย่าละเลยความปลอดภัยของตัวเอง แม้ว่า หนู บางชนิดจะดูน่ารักน่าชังเพียงใด
ศ.ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา เมธีวิจัยอาวุโส
น.ส.ยุวพร สากลวารี และนายสันติ มณีวัชระรังษี 2 นักศึกษาทุน คปก.
น.ส.ยุวพร สากลวารี ผู้ค้นพบโปรตีนตัวสำคัญที่จะแกะรอยเพื่อกำจัดโรคฉี่หนูให้สิ้นซาก
กำลังโหลดความคิดเห็น