xs
xsm
sm
md
lg

"ภูมิแพ้แมลงสาบ" อันตรายอันดับ 2 รองจากไรฝุ่น นักวิจัยไทยพัฒนาวัคซีนสู้ !!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าปีกดำ หนวดยาว ขาหนาม แมลงสาบ แหล่งที่มาแหล่งใหญ่ของสารก่อภูมิแพ้ ภัยใกล้ตัวที่เราต้องระมัดระวัง
นักวิจัยทุน คปก. พัฒนาชุดตรวจและวัดสารก่อภูมิแพ้จากแมลงสาบ เจาะจงสายพันธุ์ที่พบในไทย หวังต่อยอดทำดีเอ็นเอวัคซีนป้องกันโรค พร้อมคุณสมบัติที่ทั้งสะดวกและปลอดภัย เผยข้อมูล “อพาร์ทเมนท์” เป็นแหล่งเพาะสารก่อภูมิแพ้จากแมลงสาบแหล่งใหญ่ที่สุดในเมืองกรุง

เมื่อกล่าวถึง “แมลงสาบ” ขึ้นมาครั้งใด หลายๆ คนทั้งผู้หญิงและผู้ชายก็เชื่อว่าจะรู้สึกขนพองสยองเกล้ากันไม่น้อย ทำให้จินตนาการภาพเจ้าปีกดำ หนวดยาว ขาหนาม กันจนแทบอยากจะเมินหน้าหนี มิพักต้องคิดถึงกลิ่นที่ไม่รัญจวนใจของมันที่ทำให้รู้สึกสะอิดสะเอียน อย่างไรก็ตาม รู้ไหมว่าโรคภูมิแพ้ซึ่งเป็นโรคยอดนิยมของคนเมือง และมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับเด็กๆ นั้น มีสารก่อภูมิแพ้จากแมลงสาบเข้ามาเป็นอันดับที่ 2 รองจากไรฝุ่น !!!

กล่าวได้เต็มปากทีเดียวว่า สารก่อภูมิแพ้จากแมลงสาบนับว่าเป็นภัยใกล้ตัวที่ถูกมองข้ามมาโดยตลอด ทั้งๆ ที่อยู่ภายในบ้าน ในครัว หรือแม้แต่ในห้องนอนของเรา ปะปนอยู่กับอากาศและฝุ่นผง โดยเมื่อมนุษย์เราได้รับสารก่อภูมิแพ้จากเจ้าวายร้ายที่ว่านี้แล้ว ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจะทำการสร้างภูมิคุ้มกันที่เรียกว่าแอนติบอดีชนิดไอจีไอขึ้น และไอจีอีจะไปจับกับเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดมาสต์เซลล์ (Mast Cells) อีกต่อหนึ่ง ซึ่งหากร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ขึ้นอีกครั้งในเวลาต่อมา มาสทเซลล์ก็จะปล่อยสารที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ขึ้น

นายนิทัศน์ สุขรุ่ง ดุษฎีบัณฑิตปริญญาเอก คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นนักศึกษาในโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) จึงได้ริเริ่ม “โครงการพัฒนาน้ำยาตรวจสารภูมิแพ้แมลงสาบในคนไทย: การค้นหาสารก่อภูมิแพ้แมลงสาบ” ขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อน เพื่อหาสารก่อภูมิแพ้จากแมลงสาบสายพันธุ์ที่พบมากในบ้านเรา

นายนิทัศน์ ได้แจกแจงถึงอาการภูมิแพ้ดังกล่าวว่า อาจแสดงออกในหลายรูปแบบ ตามความหนักเบาของอาการแพ้ ตั้งแต่เกิดผื่นคัน บวมแดง น้ำมูกไหล น้ำตาไหล คันลูกตา คัดจมูก โดยอาการแพ้ในระยะแรกๆ จะไม่มีอันตรายถึงชีวิตแต่ก็ก่อให้เกิดความรำคาญ และความไม่สะดวกในการดำเนินชีวิต อย่างไรก็ตาม บางรายที่ได้รับสารก่อภูมิแพ้ติดต่อกันนานๆ เช่น เด็กเล็กที่ต้องนอนในห้องที่มีสารก่อภูมิแพ้มากๆ แล้ว อาการจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นหลอดลมตีบและมีอาการหอบหืด เนื่องจากเนื้อเยื่อของหลอดลมบีบเข้ามาจนหายใจไม่สะดวก ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

ตัวอย่างอาการป่วย เช่น ในเด็กบางรายจะตื่นขึ้นมากลางดึก พร้อมกับมีอาการหายใจไม่ออก จนพ่อแม่ผู้ปกครองต้องเร่งพาตัวส่งโรงพยาบาลกันจ้าละหวั่น ซึ่งเมื่อถึงมือแพทย์ๆ เองก็จะให้การรักษาได้ตามอาการเท่านั้น เช่น หากเด็กคัดจมูกก็จะให้ยาแก้คัดจมูก แต่ถ้าเด็กมีอาการหายใจไม่ออก ก็จะฉีดยาขยายหลอดลมให้ เป็นต้น

นายนิทัศน์ เล่าต่อว่า อย่างไรก็ดี แม้การศึกษาเกี่ยวกับสารก่อภูมิแพ้ในปัจจุบันได้พัฒนาไปมากแล้ว แต่การศึกษาส่วนใหญ่มักเน้นไปที่ไรฝุ่น จึงแทบไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับแมลงสาบเลย ทั้งที่เป็นสาเหตุของการก่อโรคที่มีอัตราสูงมาก ส่งผลให้ไม่มีข้อมูลว่าในแมลงสาบมีโปรตีนซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้กี่ชนิด และส่วนใดบ้างที่ก่อภูมิแพ้ในคนไทย รวมถึงยังไม่มีชุดตรวจหาและวัดปริมาณสารก่อภูมิแพ้แมลงสาบในประเทศไทยโดยเฉพาะแต่อย่างใด

ปัจจุบัน แพทย์อาศัยชุดตรวจสารก่อภูมิแพ้แมลงสาบจากต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นสารพันธุ์แมลงสาบต่างชนิดกับที่พบในประเทศไทย นอกจากนี้ในการประเมินสภาวะการแพ้แมลงสาบของผู้ป่วยนั้น แพทย์ได้ใช้สารที่สกัดมาจากแมลงสาบโดยตรง ซึ่งทำให้ปริมาณสารก่อภูมิแพ้ที่ใช้แต่ละครั้งผันแปรไปตามแหล่งที่มาของแมลงสาบที่นำมาสกัดและวิธีการสกัด กล่าวคือน้ำยาที่ใช้ไม่ได้มาตรฐาน” นายนิทัศน์ กล่าว

ทั้งนี้ งานวิจัยที่เขาได้ทำคือ การนำโปรตีนที่แยกไว้ได้จากแมลงสาบทั้งตัว โดยใช้แมลงสาบตัวใหญ่สีน้ำตาลเข้ม สายพันธุ์อเมริกัน หรือ Periplaneta americana ที่พบมากในประเทศไทย มาศึกษาอย่างละเอียด โดยค้นพบโปรตีนใหม่ 11 ชนิดที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ที่ไม่การค้นพบมาก่อน ซึ่งมีทั้งโปรตีนที่คล้ายโปรตีนของมนุษย์ และบางชนิดพบได้ทั่วไปในแมลงต่างๆ ผึ้ง แมลงหวี่ และ แมลงวัน

ผลงานวิจัยนี้จึงนำไปสู่การพัฒนาชุดตรวจสอบและวัดปริมาณสารก่อภูมิแพ้แมลงสาบชนิดที่พบในประเทศไทยในฝุ่นที่ได้จากบ้านเรือนของผู้ป่วยซึ่งเป็นต้นเหตุของอาการภูมิแพ้ ทดแทนชุดตรวจที่แพทย์ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งต้องนำเข้ามาจากยุโรปหรือจากอเมริกา ที่สามารถตรวจได้ 50 เคส มีราคาชุดประมาณละ 2-3 หมื่นบาท ขณะที่ชุดตรวจที่เขาพัฒนาขึ้น จะมีคุณสมบัติที่เหมือนกับชุดตรวจนำเข้าทุกประการ แต่มีราคาถูกกว่า คือประมาณชุดละ 1 หมื่นบาท

เขาเผยด้วยว่า ขณะนี้ ศิริราชพยาบาลได้นำชุดตรวจนี้ไปใช้งานแล้ว และจากการตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ในฝุ่นที่ได้จากบ้านเรือนของผู้ป่วยพบว่า มีสารก่อภูมิแพ้มากมายทุกห้อง โดยเฉพาะตามหอพัก (อพาร์ทเม้นต์) ที่แต่ละห้องจะมีส่วนของครัว พื้นที่รับประทานอาหาร และเตียงนอนอยู่ในห้องเดียวกัน นอกจากนี้ผลการวิจัยยังนำไปสู่การสังเคราะห์สารก่อภูมิแพ้มาตรฐาน โดยวิธีทางพันธุวิศวกรรมสำหรับนำไปใช้ประเมินสภาวะภูมิแพ้ในผู้ป่วย

นายนิทัศน์ ระบุด้วยว่า เมื่อรู้แล้วว่าโปรตีนจากแมลงสาบตัวใดที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ และเป็นโปรตีนที่ไม่พบในคน ก็สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปออกแบบสร้างวัคซีนรักษาโรคภูมิแพ้แบบดีเอ็นเอวัคซีนได้ โดยใช้หลักการเบี่ยงเบนระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยที่เคยตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้แบบการสร้างแอนติบอดีชนิดไอจีอี ที่ทำให้เกิดอาการแพ้ มาเป็นการสร้างภูมิต้านทานของร่างกายชนิดใช้เซลล์ขึ้นแทน เป็นการหลอกระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้อีกทางหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่การสร้างไอจีอี ซึ่งผลที่ได้คือร่างกายก็จะไม่มีอาการแพ้เกิดขึ้นอีก วิธีนี้ถือเป็นก้าวใหม่ในการรักษาโรคภูมิแพ้โดยใช้วัคซีนรักษาแทนยา

“การสร้างวัคซีนรักษาโรคภูมิแพ้แมลงสาบได้ใช้วิธีสร้างดีเอ็นเอวัคซีน โดยการนำชิ้นของดีเอ็นเอที่สร้างโปรตีนแมลงสาบมาเชื่อมต่อกับดีเอ็นเอของสารช่วยกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันมนุษย์ หรือ ซัยโตคายน์ ยีน (Cytokine Gene) ที่เหมาะสม ผลที่ได้คือดีเอ็นเอวัคซีนจะทำให้ผู้ป่วยตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้แมลงสาบด้วยวิธีการสร้างเม็ดเลือดขาวแทนการสร้างแอนติบอดีชนิดไอจีอี โดยขณะนี้การทำวัคซีนต้นแบบทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยังอยู่ในขั้นการทดลองในหนูทดลอง แต่ก็เชื่อว่าในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าจะแล้วเสร็จ และจะนำไปทดลองต่อในมนุษย์ ซึ่งต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมก่อนจึงจะทดลองต่อได้” นายนิทัศน์ กล่าว

สุดท้ายนี้ นายนิทัศน์ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ในการพัฒนาดีเอ็นเอวัคซีนนั้นจะเป็นก้าวสำคัญในการรักษาอาการภูมิแพ้แมลงสาบของผู้ป่วย เนื่องจากวัคซีนชนิดนี้รักษาได้โดยวิธีหยดจมูกหรืออมใต้ลิ้นเพียงไม่กี่ครั้ง เป็นวิธีที่สะดวก เพราะไม่ต้องฉีดสารก่อภูมิแพ้บ่อยๆ เหมือนวิธีเดิม อีกทั้งไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการช็อกในผู้ป่วยแบบวิธีฉีด และลดการทรมานจากการฉีดสารกระตุ้นต่างๆ เป็นระยะเวลาหลายปีลงได้
“โครงการพัฒนาน้ำยาตรวจสารภูมิแพ้แมลงสาบในคนไทย: การค้นหาสารก่อภูมิแพ้แมลงสาบ” ของนายนิทัศน์ สุขรุ่ง ดุษฎีบัณฑิตปริญญาเอก คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นนักศึกษาในโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) เป็นอีกหนึ่งของพยายามในการป้งอกันโรคภูมิแพ้แมลงสาบ
นายนิทัศน์ สุขรุ่ง เจ้าของโครงการ ผู้หาทางป้องกันภัยจากแมลงสาบ ด้วยการพัฒนาชุดตรวจวัดและหาปริมาณสารก่อภูมิแพ้จากแมลงสาบ และพัฒนาดีเอ็นเอวัคซีนเพื่อรับมือกับโรคนี้
นายนิทัศน์ กำลังสาธิตการตรวจวัดหาปริมาณสารก่อภูมิแพ้โชว์แก่ผู้สื่อข่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น