สมาคมวิทยาศาสตร์ฯ เปิดตัวหนังสือชู “ดร.พีรศักดิ์” อดีตผู้ว่า วว. “ยอดนักวิทยาศาสตร์ไทย” แจงคัดเลือกจากจำนวนสิทธิบัตร ยกตัวอย่างผลงาน “E-Plus” เครื่องประหยัดน้ำมัน ด้านเจ้าตัวชี้วงการวิทย์ไทยน่าห่วง ความสามารถแข่งขันอยู่อันดับ 45 ปลายแถวจาก 60 ประเทศ นักวิจัย 1,000 คนตีพิมพ์ผลงานแค่ 29.7 เรื่องต่อปี ส่งผลงานไม่มีประโยชน์กับประเทศ ต่อยอดธุรกิจไม่ได้
นายบำรุง ไตรมนตรี ผู้ช่วยนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์เปิดเผยว่าปัจจุบันหากถามถึงนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถ เด็กไทยมักจะรู้จักแค่นักวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นชาวตะวันตกแต่ไม่รู้จักนักวิทยาศาสตร์ชาวไทย ทั้งๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ไทยก็ไม่ได้ด้อยกว่าใคร ทางสมาคมฯ จึงหารือกันได้จัดทำหนังสือชุด “สุดยอดนักวิทยาศาสตร์ไทย” เพื่อเผยแพร่ความสามารถคนไทยให้เยาวชนได้รู้จัก โดยคัดเกณฑ์ผู้เหมาะสมทำหนังสือเผยแพร่ประวัติจากจำนวนการจดสิทธิบัตร
ทั้งนี้ได้จัดทำหนังสือเผยแพร่ประวัตินักวิทยาศาสตร์ก่อนหน้ามาแล้ว 1 เล่ม เป็นประวัติของ ดร.วิโรจน์ ตันตราภรณ์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาสภาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ส่วนนักวิทยาศาสตร์คนล่าสุดที่ทางสมาคมฯ คัดเลือกเพื่อเผยแพร่ประวัติคือ ดร.พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถภ อดีตผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วว.) ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานกรรมการกลุ่มบริษัท พีระบราเธอร์ จำกัด และเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท เมดโดซิน จำกัด โดยใช้ชื่อหนังสือว่า “ยอดวิศวกรนักพัฒนา ดร.พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ”
“ดร.พีรศักดิ์มีประวัติที่ที่น่าศึกษายิ่ง เพราะนอกจากมีความรู้ความสามารถระดับแนวหน้าของเมืองไทยแล้ว ยังมีผลงานวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ทดแทนการนำเข้าปีละหลายร้อยล้านบาทติดต่อกันกว่า 20 ปี และยังทำเครื่องประหยัดน้ำมันในเครื่องยนต์เบนซิน (E-Plus) ที่ช่วยประหยัดน้ำมันได้ถึง 25-30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งได้สิทธิบัตรจากสหรัฐอเมริกา ที่สำคัญยังเป็นผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาองค์กรใหญ่ เช่น ตำแหน่งผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วว.) ซึ่งนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกสู่ตลาดอย่างกว้างขวาง และยังสนับสนุนการจดทรัพย์สินทางปัญญาด้วย เมื่อศึกษาประวัติแล้วคงไม่ผิดตัว” นายบำรุงกล่าว
ด้าน ดร.พีรศักดิ์กล่าวว่าวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยค่อนข้างน่าเป็นห่วง โดยได้เปรียบเทียบความก้าวหน้าของไทยกับเกาหลีว่าเมื่อ 60 ปีที่แล้วรายได้ประชาชาติไทยสูงกว่า แต่ปัจจุบันรายได้ประชาชาติของเกาหลีสูงกว่าไทยมาก ทั้งนี้เพราะเกาหลีมีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปมาก ขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านวิทยาศาสตร์ของไทยก็อยู่แค่อันดับที่ 45 จาก 60 ประเทศ
“เรื่องประสิทธิภาพของนักวิจัยไทยในเวทีโลก จะเห็นว่ามีประสิทธิภาพต่ำมากเมื่อเทียบกับชาติต่างๆ โดยมีการตีพิมพ์เอกสารการวิจัยเพียง 29.7 เรื่องต่อนักวิจัย 1,000 คนต่อปี ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 118.2 เรื่อง ส่วนนิวซีแลนด์มีประสิทธิภาพสูงสุดคือ 197.5 เรื่อง ส่วนการจดสิทธิบัตรนวัตกรรมต่อนักวิจัย 1,000 คน คนไทยมีเพียง 4 เรื่อง ขณะที่ไต้หวันจดสิทธิบัตรมีถึง 225.2 เรื่อง เกาหลี 134.2 และญี่ปุ่น 128.4 เรื่อง อีกทั้งผลงานวิทยาศาสตร์ต่างๆ ไทยมักไม่มีผลงานที่ออกไปสู่ธุรกิจได้เลย”
พร้อมทั้งชี้ปัญหาถึงศักยภาพของวิทยาศาสตร์ในช่วง 20-30 ที่ผ่านมาว่างานวิจัยส่วนใหญ่มัก “ขึ้นหิ้ง” และไม่เป็นประโยชน์กับประเทศ ซึ่ง ดร.พีรศักดิ์เห็นว่ายังต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพงานวิจัยไทยอีกมาก