กำลังจะผ่านเลยไปแล้ว กับ 58 ปีแห่งการก่อตั้งสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งถ้าเทียบกับอายุขัยคนเราแล้ว ก็นับได้ว่าเป็นผู้อาวุโส “รุ่นเก๋า” ในวงการ แต่บทบาทของสมาคมฯ ก็ยังไม่โดดเด่นนัก ทั้งนี้อาจเป็นด้วยระบบอาสาสมัครที่ขาดความต่อเนื่องและชัดเจนหรือไม่? และมีโอกาสไหมที่สมาคมวิทยาศาสตร์ของไทยจะมีบทบาทโดดเด่นเหมือนในต่างประเทศ? เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่ควรแก่การหาคำตอบ
ศูนย์กลางคนวิทย์ฯ สร้างความตระหนักแก่สาธารณชน
สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยได้รับการอนุญาตจากสภาวัฒนธรรมแห่งชาติให้มีการจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2491 ใช้อักษรย่อว่า ส.ว.ท. แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Science Society of Siam (S.S.S.) และมีการเปลี่ยนชื่อเป็น Science Society of Thailand เมื่อ ส.ค. 2492 ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2494 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าหาที่สุดมิได้
ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว ผอ.สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะอุปนายกสมาคมวิทยาศาสตร์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์การก่อตั้งสมาคมฯ ว่า เพื่อเป็นศูนย์กลางของคนที่อยู่ในวงการวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ระดับโรงเรียน มหาวิทยาลัย ประชาชนทั่วไป รวมถึงการเป็นองค์กรวิชาชีพสำหรับนักวิทยาศาสตร์ แต่จะเน้นหนักไปยังนักเรียนและครู-อาจารย์ในโรงเรียนมากที่สุด
สำหรับบทบาทสำคัญของสมาคมฯ ศ.ดร.สุพจน์ ระบุว่าคือการสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์แก่สังคมผ่านทางกิจกรรมวิทยาศาสตร์ในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การจัดกิจกรรมวิชาการในโรงเรียน - มหาวิทยาลัย การจัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับประเทศ การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ การจัดการอบรมครูวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ การจัดทำวารสาร “วิทยาศาสตร์” ซึ่งเป็นวารสารฉบับภาษาไทย และวารสาร “ไซน์เอเชีย” (Science Asia) เป็นวารสารฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งพยายามผลักดันให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล
ทั้งนี้ บทบาททางวิทยาศาสตร์ที่สมาคมฯ ได้ทำมาในอดีต เช่น การผลักดันให้มีการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย การผลักดันให้วันที่ 18 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันวิทยาศาสตร์ไทย และการบุกเบิกส่งตัวแทนเยาวชนไทยไปร่วมการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม บทบาทของสมาคมฯ มักจะเป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมต่างๆ มากมาย แต่เมื่องานนั้นๆ มีผู้รับไปทำอย่างชัดเจนแล้ว สมาคมฯ ก็จะลดบทบาทลงแล้วมอบให้หน่วยงานเหล่านั้นรับไปดูแลแทน อาทิ การเกิดขึ้นของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่แยกเป็นเอกเทศไปจากสมาคมฯ เพื่อดูแลการมอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ และรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่โดยเฉพาะ
สำหรับหน่วยงานที่สนับสนุนการดำเนินงานของสมาคมฯ จะมี 2 กระทรวงด้วยกันคือ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่เป็นผู้ให้การสนับสนุนหลัก เพราะกิจกรรมส่วนใหญ่ของสมาคมฯ จะเกี่ยวข้องกับโรงเรียนเป็นหลัก ส่วนอีกกระทรวงที่ให้การสนับสนุนคือกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) นอกจากนี้ยังมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และเครือซิเมนต์ไทย ฯลฯ
ทั้งนี้ ศ.ดร.สุพจน์ กล่าวถึงความพยายามในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิชาชีพวิทยาศาสตร์ด้วยว่า ได้มีการพูดคุยกันมาบ้างแล้ว แต่มีปัญหาคืออาจไปครอบคลุมหรือกระทบกับวิชาชีพอื่นๆ เช่น อาชีพวิศวกร จึงต้องพิจารณาให้ไปกระทบวิชาชีพอื่นให้น้อยที่สุด โดยทางสมาคมฯ จะเป็นแกนกลางในการผลักดันเรื่องนี้
ระบบอาสาสมัครเริ่มไม่เวิร์ก เตรียมจัดการแบบมืออาชีพ วอนรัฐให้ความสำคัญ
ศ.ดร.สุพจน์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ ทางสมาคมฯ มีสมาชิกประเภทสมาชิกตลอดชีพประมาณ 3,000 คน ซึ่งสมาชิกจะได้รับข่าวสาร-กิจกรรมความเคลื่อนไหวด้านวิทยาศาสตร์ต่างๆ จากสมาคมฯ อย่างไรก็ดี สมาชิกของสมาคมฯ จะเข้ามาในฐานะผู้ให้มากกว่าผู้รับ เนื่องจากสมาคมฯ จะใช้ระบบการทำงานแบบอาสาสมัคร สมาชิกจึงต้องช่วยเหลืองานต่างๆ ของสมาคมฯ ตามแต่ที่จะสามารถปลีกตัวมาจากงานหลักได้
ศ.ดร.สุพจน์ กล่าวว่า ระบบการทำงานแบบอาสาสมัครนี่เองที่กล่าวได้ว่าเป็นทั้งข้อดีและข้อด้อยของสมาคมฯ ในส่วนของข้อดีคือการเข้ามาทำงานด้วยความเต็มใจของสมาชิก จึงไม่ต้องพึ่งพิงงบประมาณจากรัฐมาก ซึ่งบุคลากรที่สมาคมฯ ต้องจ้างประจำจะมีอยู่ไม่มาก
อย่างไรก็ดี ข้อเสียจากการใช้ระบบอาสาสมัครทำให้ทำงานกันได้ไม่เต็มที่นัก การทำงานของสมาคมฯ จึงขึ้นๆ ลงๆ ไม่แน่นอน ซึ่งเคยมีการพูดคุยก่อนหน้านี้เพื่อให้สมาคมฯ เปลี่ยนระบบการทำงานให้เป็นมืออาชีพมากขึ้นเช่นในต่างประเทศที่มีการจ้างบุคลากรมาดูแลงานของสมาคมวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะ ซึ่งภาครัฐอาจให้การสนับสนุนบ้างในช่วงแรก แต่เมื่อดำเนินการไประยะหนึ่ง สมาคมฯ ก็จะมีกิจกรรมหารายได้เลี้ยงตัวเองต่อไป เช่น การจัดทำวารสารวิทยาศาสตร์เพื่อหารายได้จากการสมัครสมาชิกวารสาร หรือการจัดการประชุมวิชาการต่างๆ ซึ่งเมื่อภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมเห็นความสำคัญของกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมฯ ก็จะให้การสนับสนุนด้านการเงินต่อไป แต่หลังจากการพูดคุยเรื่องนี้แล้วก็ยังไม่มีความคืบหน้าอะไร
อุปนายกสมาคมวิทยาศาสตร์ กล่าวถึงภาพรวมการดำเนินงานของสมาคมฯ ว่า โดยส่วนตัวแล้วรู้สึกพอใจกับผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของสมาคมฯ มากโดยเฉพาะการเข้ามาทำงานด้วยใจของระบบอาสาสมัคร ส่วนบทบาทที่พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในอนาคตคือ การทำงานที่เน้นความเป็นมืออาชีพให้มากขึ้น และการทำงานในเชิงรุก เพื่อให้ทันท่วงทีกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลขึ้น ก็จะจัดให้ผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้แก่สาธารณชน
นายบำรุง ไตรมนตรี ผู้ช่วยนายกสมาคมวิทยาศาสตร์และประธานชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ (นจวท.) สะท้อนภาพสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ ว่า สมาคมฯ มีจุดแข็งอยู่ที่การเป็นองค์กรเอกชน (เอ็นจีโอ) ที่มีความอิสระ คล่องตัว และไร้พรมแดนในการทำงานร่วมกับนักวิชาการจากแหล่งต่างๆ ทั่วประเทศ ดังนั้น หากรัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญและใช้ประโยชน์สมาคมฯ มากขึ้นแล้ว วงการวิทยาศาสตร์ไทยย่อมมีความก้าวหน้าขึ้นอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของสมาคมฯ เกิดจากผู้บริหารระดับสูงของประเทศยังไม่ให้ความสำคัญกับงานด้านวิทยาศาสตร์เท่าที่ควร ทั้งด้านกำลังคนและงบประมาณ
สายตาคนวงนอก: เป็นกลางและเข้าถึงเยาวชน
นางฤทัย จงสฤษดิ์ นักวิชาการ โครงการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษและส่งเสริมอาชีพนักวิจัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวในฐานะที่เคยร่วมงานกับทางสมาคมฯว่า สมาคมวิทยาศาสตร์เป็นหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ที่ดีมาก มีการรวมบุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ มาไว้ด้วยกัน และมีความเป็นกลางในการทำงาน รวมทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการจัดหาเวทีนำเสนอผลงานของเยาวชนไทยในการแข่งขันต่างๆ
ส่วนนายปณิฐ เจริญกูล หรือน้องแกมม่า นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษดิ์ กล่าวเสริมว่า ได้รู้จักสมาคมวิทยาศาสตร์จากการติดตามวารสารวิทยาศาสตร์ที่ได้สมัครเป็นสมาชิก ทำให้ได้รับข่าวสารด้านวิทยาศาสตร์มากมาย รวมทั้งการเข้าค่ายที่สมาคมฯ จัดขึ้น ส่วนกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์อื่นๆ ที่สมาคมฯ นำไปจัดที่โรงเรียนเท่าที่เห็นคือ การนำกล้องโทรทัศน์ไปติดตั้งบนดาดฟ้าของโรงเรียนเพื่อให้นักเรียนได้สังเกตปรากฏการณ์บนท้องฟ้าปีละ 1-2 ครั้ง เช่น ปรากฏการณ์ดาวอังคารโคจรใกล้โลก
“สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์” จึงเป็นหน่วยงานส่งเสริมวิทยาศาสตร์ที่สำคัญหน่วยหนึ่งของประเทศไทย ที่สมควรได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ทั้งนั้น อุปสรรคข้อใหญ่ที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขคือการบริหารจัดการที่ต้องทำอย่างมืออาชีพ เพื่อการก้าวย่างขึ้นสู่ปีที่ 59 และปีต่อๆ ไป ของสมาคมฯ ที่แจ่มชัดมากขึ้นต่อไป...