xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญไบโอเทคไทยชี้ความหวังสเต็มเซลล์พังทลายเมื่อ “หวาง” โกหก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดีเอ็นเอจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)
ผู้เชี่ยวชาญไบโอเทคชี้ ดร.หวาง ทำผิดจริยธรรมชัดเจนกรณีถอนรายงานวิชาการล่าช้า แจงพังทลายเส้นทางการนำสเต็มเซลล์มาใช้ประโยชน์ คาดเพราะมองโลกในแง่ดีทำให้เกิดโกหกคำโต

ข่าวคราววิทยาศาสตร์โลกในช่วงคาบเกี่ยวท้ายปีระกาหงอยและขึ้นรับปีจอดุนี้ คงมีข่าวที่เรียกได้ว่าครึกโครมชนิดทำให้ปีไก่ธรรมดาๆ เป็นปีไก่(งง)ตาแตกได้อยู่ไม่กี่ข่าวด้วยกัน ยิ่งชี้ชัดลงไปในเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพด้วยแล้ว หลายคนคงร้องอ๋อ และไม่ต้องให้บอกใบ้ใดๆ อีก ก็เพราะข่าวดังกล่าวช่างโด่งดัง (หรือฉาวโฉ่) มากจนใบบัวปิดไม่อยู่ ซึ่งข่าวที่ว่านี้ก็คือ “ข่าวลวงโลก” ผลงานของ ดร.หวาง วู-ซก (Hwang Woo-Suk) อดีตผู้อำนวยการเวิร์ลด สเต็มเซลล์ ฮับ (World Stem Cell Hub) นั่นเอง

ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดีเอ็นเอจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) แสดงความคิดเห็นว่า จากการตรวจสอบของคณะกรรมการของมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (Seoul National University) ประเทศเกาหลีใต้ งานวิจัยสเต็มเซลล์ของ ดร.หวาง เป็นงานวิจัยสเต็มเซลล์ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยการตกแต่งข้อมูล ไม่เป็นความจริง และไม่มีหลักฐานว่าเขาทำได้จริงหรือไม่ แต่ในส่วนของการโคลนนิง “สนัปปี้” (Snuppy) ซึ่งเป็นสุนัขโคลนนิงตัวแรกของโลกเชื่อว่าเขาน่าจะทำได้จริง

สำหรับงานวิจัยสเต็มเซลล์นั้น งานวิจัยของดร.หวาง ขาดตัวอย่างชิ้นงานกว่าครึ่งที่เขาประกาศว่าทำได้แล้วเพื่อมาแสดงให้คณะกรรมการได้พิสูจน์ โดยอ้างว่าเซลล์ติดเชื้อราและตายไปบ้าง ทั้งที่ชิ้นงานเหล่านี้ถือเป็นสมบัติที่น่าจะได้รับการดูแลอย่างระมัดระวัง จึงดูไม่สมเหตุสมผลเท่าที่ควร

นอกจากนั้นในส่วนชิ้นงานที่ ดร.หวางยืนยันว่าเป็นชิ้นงานจริงหลายชิ้นก็ยังพบว่าเป็นของปลอมอีก โดยจากการออกมายอมรับของลูกทีมของ ดร.หวาง พบว่า ดร.หวางได้ขอร้องให้ลูกทีมทำลายพิมพ์ดีเอ็นเอสเต็มเซลล์ขึ้นด้วยระบบดิจิตอลจากต้นแบบลายพิมพ์ดีเอ็นเอของผู้ป่วย จึงได้ลายพิมพ์ดีเอ็นเอที่เหมือนกันกับลายพิมพ์ดีเอ็นเอของผู้ป่วย แต่ไม่ใช่ลายพิมพ์ดีเอ็นเอจากสเต็มเซลล์ที่สร้างได้

อย่างไรก็ตาม จากกรณีลวงโลกของดร.หวาง สิ่งที่ร้ายแรงมากที่สุด ดร.นำชัย ระบุว่าคือการที่ ดร.หวาง อ้างว่าไม่รู้เรื่องที่มีคนในทีมงานบริจาคเซลล์ไข่เพื่อใช้ในการทดลอง กระนั้นเมื่อเขารู้เรื่องแล้วก็ไม่ออกมาประกาศถอนรายงานวิชาการที่ตีพิมพ์ลงในวารสารไซน์ (Science) ทันที แต่กลับรอให้มีการพิสูจน์จนต้องจำนนต่อหลักฐานแล้วถึงออกมาประกาศถอนรายงานวิชาการดังกล่าว ซึ่งหากเขาออกมารับผิดตั้งแต่เนิ่นๆ คนอาจยอมรับและให้อภัย

ในส่วนของผลงานวิจัยที่ ดร.หวาง เคยออกมาประกาศว่าเขาสามารถสร้างสายสเต็มเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์จากเซลล์ผิวหนังขึ้น 11 ไลน์ นั้นพบว่าเป็นของปลอมทั้งสิ้น จึงทำให้ไม่สามารถจะใช้ประโยชน์อะไรจากงานวิจัยเหล่านี้ของ ดร.หวางได้เลย ทั้งที่งานวิจัยสเต็มเซลล์ของดร.หวางเป็นเรื่องที่ถือว่าเป็นคอขวดของการวิจัยสเต็มเซลล์ก็ว่าได้ เพราะหากเรารู้วิธีการแยกชนิดและควบคุมสเต็มเซลล์เพื่อให้ทำประโยชน์ให้แก่มนุษย์ได้โดยไม่เกิดโทษต่อร่างกายตามที่ ดร.หวางอ้างมาก่อนหน้านี้แล้ว คอขวดตรงนี้ก็จะหมดไป และจะเป็นการบุกเบิกการนำสเต็มเซลล์ไปใช้ประโยชน์ต่างๆ ได้มากมาย เปรียบได้กับถนนที่เปิดกว้างแล้วนับ 10 ทาง ที่จะสามารถพัฒนาเป็นเส้นทางที่มั่นคงต่อไปได้

นอกจากนั้น การลวงโลกในครั้งนี้ยังทำให้แนวคิดที่ ดร.หวาง อ้างว่าสามารถผลิตสเต็มเซลล์จากเซลล์ของผู้ป่วยเพื่อฉีดกลับไปยังร่างกายผู้ป่วยโดยไม่เกิดอาการแพ้นั้นต้องพังพับไปด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ก็มีนักวิทยาศาสตร์รายอื่นที่เดินหน้าทำวิจัยในเรื่องนี้ต่อไป

ดร.นำชัย แสดงความคิดเห็นด้วยว่า ด้านที่มีข้อกังขาในการตีพิมพ์รายงานวิชาการลงในวารสารนั้น คิดว่าไม่สามารถหลอกกันได้ง่ายๆ โดยเมื่อนักวิทยาศาสตร์ส่งรายงานวิชาการไปแล้ว ทางวารสารนั้นๆ ก็จะนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญประเมินความเป็นไปได้ตามที่รายงานวิชาการระบุไว้ รวมทั้งดูความเป็นไปได้ในการตีพิมพ์ กระนั้น ความที่คนเรามักมองกันในแง่ดี จึงไม่คิดว่าจะมีการหลอกลวงเกิดขึ้น เพราะหากนักวิทยาศาสตร์โกหกก็ย่อมจะทำให้ความน่าเชื่อถือของเขาหมดไป คนก็จะตั้งคำถาม และไม่มีใครเชื่อถืออีก จึงพลอยให้รายงานวิชาการของนักวิทยาศาสตร์ผู้นั้นมีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะได้รับการพิจารณาตีพิมพ์อีก

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพบว่านานๆ ครั้งที่จะมีการลวงโลกตีพิมพ์รายงานวิชาการที่เป็นเท็จสักครั้งหนึ่ง แต่หากรายงานวิชาการเป็นเท็จจริงๆ ก็จะได้รับการเปิดเผยอย่างแน่นอน แต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น เพราะเมื่อมีการตีพิมพ์แล้วก็จะมีผู้นำไปทดลองว่าได้ผลจริงหรือไม่ หากพบว่าจริง ความเชื่อถือต่อรายงานวิชาการนั้นๆ ก็จะหนักแน่นมากขึ้น แต่หากมีคนนำไปทดลองแล้วพบว่าไม่เป็นจริงหลายๆ คนเข้า ก็จะเกิดการตั้งคำถามไปยังบรรณาธิการของวารสารต่อไป

“กรณี ดร.หวาง นั้น เขาก็ยังอาจทำหน้าที่ของเขาตามที่ตั้งใจไว้ว่าจะแก้ไขความผิดที่ทำไปได้อย่างยากลำบากขึ้น เพราะคนจะต้องตั้งเครื่องหมายคำถามตัวโตๆ เมื่อได้ยินชื่อของเขา และหากจะมีการตีพิมพ์รายงานวิชาการใดๆ ของเขาแล้ว บรรณาธิการก็ต้องเรียกข้อมูลและหลักฐานอย่างรอบด้านและระมัดระวังมากขึ้นแน่นอน” ดร.นำชัย กล่าวทิ้งท้าย
ดร.หวาง วู-ซก (Hwang Woo-Suk) อดีตผู้อำนวยการเวิร์ลด สเต็มเซลล์ ฮับ (World Stem Cell Hub)
กำลังโหลดความคิดเห็น