xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ชายชอบ “แก้แค้น” แถมสะใจเมื่อได้เห็นวายร้ายเจ็บปวด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เพราะจิตใจที่มุ่งมั่นว่าคนผิดต้องได้รับการลงโทษ จึงทำให้ผู้ชายอยู่ในตำแหน่งหน้าที่แห่งการตัดสินลงโทษผู้กระทำความผิด อย่างตำรวจ ผู้พิพากษาและกรรมการตัดสินกีฬาทั้งหลาย สามารถให้ใบแดงได้โดยไม่ต้องเห็นอกเห็นใจกัน
เอเจนซีส์ – เมื่อชายหนุ่มกล่าวแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อความเจ็บปวดของผู้อื่น...อย่าเพิ่งแน่ใจว่าเขาจะรู้สึกเช่นนั้นจริง เพราะผลวิจัยใหม่ล่าสุดชี้ว่าผู้ชายมีแนวโน้มที่จะรู้สึกสะใจเมื่อเห็นคนผิดถูกลงโทษ หรือเห็นความโชคร้ายของผู้อื่น ขณะที่ผู้หญิงกลับเห็นอกเห็นใจไม่ว่าคนๆ นั้นปฏิบัติต่อพวกเธออย่างเป็นธรรมหรือเอารัดเอาเปรียบก็ตาม

นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน (University College London) เชื่อว่า พวกเขาค้นพบหลักฐานในสมองที่ช่วยอธิบายว่า ความยุติธรรม เห็นอกเห็นใจ และพอใจเมื่อได้เห็นคนผิดถูกลงโทษ มาจากไหน รวมถึงอธิบายความแตกต่างของมุมมองและความรู้สึกที่มีต่อการลงโทษระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย

ทาเนีย ซิงเกอร์ (Tania Singer) ผู้เขียนหลักของรายงานการศึกษาฉบับนี้ ซึ่งตีพิมพ์ในเนเจอร์ (Nature) วารสารวิทยาศาสตร์รายสัปดาห์ของอังกฤษ โดยทีมนักวิจัยเชื่อว่า ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะรู้สึกพึงพอใจเมื่อเห็นคนอื่นถูกลงโทษจากการกระทำที่ไม่เป็นธรรม ขณะที่ผู้หญิงกลับรู้สึกเห็นใจคนที่ถูกลงโทษ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบคนๆ นั้นก็ตาม

ในการทดลองซึ่งแบ่งออกเป็นสองขั้นตอน นักวิจัยคัดเลือกอาสาสมัครชาย-หญิง 32 คน โดย 4 คนในนั้นเป็นนักแสดงที่ถูกจ้างให้แทรกซึมเข้ามา ขั้นตอนแรก อาสาสมัครถูกขอให้เล่นเกมการลงทุนโดยผู้รับเงินเป็นผู้ตัดสินใจเองว่า จะแบ่งกำไรให้หุ้นส่วนมากๆ แล้วตัวเองไม่ได้อะไรเลยหรือได้แค่นิดหน่อย หรือแบ่งให้นิดหน่อยหรือไม่ให้เลย เพื่อให้ตัวเองได้กำไรมาก

นักแสดงที่แฝงตัวเข้าไปคนหนึ่งรับบทนักลงทุนใจกว้างที่แบ่งกำไรก้อนใหญ่ให้หุ้นส่วนเสมอ ส่วนอีกคนเป็นนักลงทุนใจแคบที่เจียดกำไรให้แค่เศษเสี้ยว แถมบางครั้งไม่ให้เลย ภาษากายของอาสาสมัครบอกชัดว่า ไม่ชอบนักแสดงที่โกงพวกเขา ในทางกลับกัน นักแสดงที่ยุติธรรม ได้รับการยอมรับและความรู้สึกชมชอบมากกว่า

ขั้นตอนที่ 2 อาสาสมัครจะถูกนำเข้าเครื่องสแกนสมองเอ็มอาร์ไอ (MRI : Magnetic Resonance Imaging) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่แสดงการไหลเวียนของโลหิตภายในสมอง จากนั้นอาสาสมัครที่เป็นนักแสดงจะถูกช็อตด้วยไฟฟ้าอ่อนๆ ที่ให้ความรู้สึกพอๆ กับถูกผึ้งต่อย โดยมีอาสาสมัครคนอื่นยืนดูเป็นสักขีพยาน

ผลปรากฏว่า เมื่อนักแสดงที่ไม่เคยเอาเปรียบใครถูกช็อตไฟฟ้า เครื่องสแกนบ่งบอกว่าอาสาสมัครทุกคนมีความรู้สึกเดียวกันคือ “เห็นใจ” เครื่องเอ็มอาร์ไอแสดงผลให้เห็นว่า สมองส่วนหน้าฟรอนโต-อินซูลาร์ (fronto-insular) และ แอนเทอเรียร์ ซินกูเลต คอร์ติเซส (anterior cingulate cortices) ทำงานหนักขึ้น โดยก่อนหน้านี้เคยมีงานวิจัยที่ระบุว่า สมองสองส่วนนี้เป็นส่วนที่แสดงความรู้สึกไม่สบายใจเมื่อเห็นคนอื่นเจ็บปวด

แต่เมื่อนักแสดง ‘ขี้โกง’ ถูกช็อตไฟฟ้า สมองสองส่วนเห็นอกเห็นใจของอาสาสมัครหญิงส่วนใหญ่ทำงาน ส่วนอาสาสมัครชายนั้น สมองส่วนที่แสดงความเห็นใจคนอื่นไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบ แต่ส่วนที่ทำงานหนักขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคือ ส่วนนูคลีอัส อัคคัมเบนส์ (nucleus accumbens) ที่เกี่ยวโยงกับความพึงพอใจในรางวัล ในทางกลับกัน สมองส่วนนี้ในอาสาสมัครเพศหญิงไม่ทำงานเลย

นักวิจัยยังตั้งข้อสังเกตว่า อาสาสมัครพยายามหลีกเลี่ยงคนที่โกงพวกเขา และความรู้สึกไม่พอใจนี้ได้รับการตอกย้ำในการทดลองส่วนที่เป็นแบบสอบถาม

“ผู้ชายมีแนวโน้มมากกว่าผู้หญิงที่จะต้องการแก้แค้น หรือพอใจเมื่อคนที่ชอบเอาเปรียบคนอื่นได้รับการลงโทษทางกายภาพ” ซิงเกอร์อธิบายและว่า ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า ความเป็นธรรมในสังคมเป็นตัวกำหนดธรรมชาติของความเกี่ยวโยงทางอารมณ์ที่เรามีต่อคนอื่น

“เราเข้าใจและเห็นใจคนอื่น ถ้าเขาร่วมมือหรือปฏิบัติอย่างเป็นธรรม แต่ในทางตรงข้าม พฤติกรรมเห็นแก่ตัวและขี้โกง บั่นทอนความเกี่ยวโยงทางอารมณ์นี้”

ซิงเกอร์เชื่อว่า การตอบสนองขั้นพื้นฐานในระดับของปัจเจกบุคคลเหล่านี้ มีบทบาทสำคัญในวิวัฒนาการทางสังคม ซึ่งช่วยอธิบายปรากฏการณ์หลายอย่าง เช่นว่าเหตุใดชุมชนทุกหนแห่งจึงร่างกฎหมายมาลงโทษผู้ที่โกงคนส่วนใหญ่

อย่างไรก็ดี ความแตกต่างทางเพศที่มีอิทธิพลกับผลการศึกษานี้น่าแปลกใจ และจำเป็นต้องศึกษาเพื่อยืนยันในวงกว้างขึ้น โดยนักวิจัยทีมนี้เชื่อว่า ผู้หญิงอาจมีปฏิกิริยาแบบเดียวกับผู้ชาย หากคนโกงถูกลงโทษทางจิตใจหรือทางการเงิน แทนที่จะเป็นทางร่างกายในการทดลองนี้ แม้จะต้องวิจัยในวงการเพื่อชี้ชัดถึงความแตกต่างระหว่างเพศ แต่ซิงเกอร์กล่าวว่า ผลการทดลองช่วยอธิบายเหตุผลว่า เหตุใดผู้ชายจึงยึดกุมบทบาทในการรักษาความยุติธรรมและตัดสินลงโทษ
กำลังโหลดความคิดเห็น