เมื่อเอ่ยถึง “การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ” ก็เป็นที่ทราบกันดีในวงการว่ามีอยู่เพียงไม่กี่โรงเรียนเท่านั้น ที่เป็นขาประจำทั้งการเป็นตัวแทนและไปกวาดรางวัลการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการมาเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้โรงเรียนหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงแน่ๆ คงหนีไม่พ้น “เตรียมอุดมศึกษา” ที่แน่นอนทั้งชื่อ-ชั้น ส่วนขาประจำอีกรายคือ “สวนกุหลาบวิทยาลัย” ที่ช่วงหลังๆ ก็มีดีกรีความสดไม่แพ้กัน
จากการเก็บข้อมูลย้อนหลังการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการตั้งแต่ปี 2532 ซึ่งเป็นปีแรกที่ประเทศไทยส่งตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมสอบแข่งขันโอลิมปิกวิชาการจนถึงปี 2548 ที่ผ่านมาพบว่า ตัวแทนประเทศไทยที่เข้าร่วมการแข่งขันมักจะเป็นนักเรียนจากโรงเรียนชั้นนำในเขตกรุงเทพมหานครมาโดยตลอด เรียกได้ว่าเดากันไม่ค่อยผิดเลยทีเดียว ได้แก่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่กวาดเหรียญมาแล้ว 104 รางวัล และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยที่เข้าป้ายอันดับ 2 ซึ่งกวาดมาแล้วอีก 54 รางวัล
5 โรงเรียนที่ได้รับเหรียญรางวัลสูงสุด จากการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ พ.ศ. 2532-2548
โรงเรียน | เหรียญทอง(เหรียญ) | เหรียญเงิน(เหรียญ) | เหรียญทองแดง(เหรียญ) | เกียรติคุณ ประกาศ (รางวัล) | รวม(รางวัล) |
เตรียมอุดมศึกษา | 16 | 33 | 43 | 12 | 104 |
สวนกุหลาบวิทยาลัย | 4 | 16 | 23 | 11 | 54 |
บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) | 0 | 4 | 10 | 4 | 18 |
อัสสัมชัญ | 3 | 5 | 2 | 0 | 10 |
สามเสนวิทยาลัย | 3 | 2 | 3 | 1 | 9 |
กระนั้น ก็มีบ้างที่จะมีโรงเรียนจากเขตรอบนอกกรุงเทพมหานครและจากต่างจังหวัดที่ได้เป็นตัวแทนประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งปีหนึ่งๆ จะมีเพียง 1-2 โรงเรียนเท่านั้นที่มีนักเรียนเป็นตัวแทนประเทศ โดยในแต่ละครั้งก็มักได้เป็นตัวแทนประเทศน้อยรายนัก ที่สามารถฟันฝ่าด่าน 18 อรหันต์ของการคัดตัวจนเป็นตัวแทนประเทศได้ก็ต้องถือว่าเป็นช้างเผือกดีๆ นี่เอง
“เตรียมอุดม” อุดมไปด้วยครีมของประเทศ
“นักเรียนในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาถือเป็นนักเรียนที่คัดมาแล้วจากทั่วประเทศ” คำอธิบายของ อ.สุนันทา นิลสิทธิ์สถาพร หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ผู้ดูแลโครงการโอลิมปิกวิชาการสาขาคณิตศาสตร์ เตรียมอุดมศึกษา ให้ข้อสรุปที่ชัดเจนถึงกรณีที่นักเรียนเตรียมฯ ชนะการสอบแข่งขันโอลิมปิกวิชาการจนได้รับเหรียญรางวัลและเกียรติคุณประกาศจำนวนมากเป็นประจำทุกปี นั่นก็เพราะการแข่งขันกันสอบเข้าเตรียมฯ นับว่าเป็นคัดเลือกในขั้นต้น
ทั้งนี้เมื่อเข้ามาเรียน นักเรียนก็จะมีการพัฒนาตัวเองให้เฉียบคมมากขึ้น เนื่องจากนักเรียนที่เข้ามาเรียนมักเป็นนักเรียนที่เรียนได้ดีมาจากโรงเรียนเดิม เช่นเรียนได้ที่ 1 ของห้อง แต่เมื่อเข้ามาเรียนที่โรงเรียนนี้แล้วอาจไม่เก่งเป็นที่ 1 อีก ทำให้นักเรียนทนไม่ได้ ต้องพยายามเรียนให้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นผลดีกับตัวนักเรียนเอง
นอกจากนี้เตรียมอุดมมีห้องเรียนโครงการเด็กความสามารถพิเศษอยู่ 2 ห้องๆ ละประมาณ 45 คน ได้แก่ คณิตศาสตร์ 1 ห้องและวิทยาศาสตร์อีก 1 ห้อง ซึ่งนักเรียนที่เข้าสอบแข่งขันโอลิมปิกวิชาการก็มักมาจากนักเรียนใน 2 ห้องนี้ อย่างไรก็ดี มีนักเรียนจากห้องอื่นๆ เข้ามาร่วมสอบบ้าง แต่พบว่าในรอบสุดท้ายมักจะเป็นนักเรียนจาก 2 ห้องข้างต้น ส่วนโรงเรียนจะจัดการกวดวิชาให้กับนักเรียนในรอบแรกโดยคณาจารย์ของโรงเรียน จากนั้นเมื่อนักเรียนได้เข้ารอบแล้วก็เป็นงานของหน่วยงานผู้จัดต่อไป
"กุหลาบเพชร" เคล็ดลับจับเพชรเจียระไน
ส่วน อ.ผกาวดี ทิพย์พยอม หัวหน้างานส่งเสริมศักยภาพนักเรียน ผู้ดูแลโครงการโอลิมปิกวิชาการสวนกุหลาบวิทยาลัย กล่าวถึงการสนับสนุนของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยบ้างว่า ทางโรงเรียนจะให้ขวัญและกำลังใจแก่เด็กๆ ที่เข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งนักเรียนก็รักกันดี รุ่นพี่มักให้คำแนะนำปรึกษาแก่น้องๆ แม้ว่าพี่คนนั้นจะไปศึกษาต่อต่างประเทศแล้วก็ตาม พี่ก็ยังโทรศัพท์ข้ามประเทศหรือคุยผ่านทางอินเทอร์เน็ตมาให้คำแนะนำปรึกษาแก่น้องๆ ที่จะเข้าร่วมการแข่งขันเสมอๆ ซึ่งสิ่งนี่เองที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย คือ เรามีพี่มีน้อง
“ที่โรงเรียนจะมีห้องส่งเสริมศักยภาพนักเรียนสำหรับการสอบแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ การสอบชิงทุนต่างๆ และการสอบเข้าโครงการนักเรียนความเป็นเลิศทางวิชาการคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งห้องดังกล่าวมีชื่อว่า “ห้องกุหลาบเพชร” เพราะเป็นห้องที่จะใช้เจียระไนดอกกุหลาบน้อยๆ เพื่อให้เป็นเพชร” อ.ผกาวดี กล่าว
"มหิดลวิทย์" น้องใหม่มาแรง แซงไปหลายโค้ง
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม ซึ่งเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ (Science School) แห่งแรกของประเทศไทยก็กำลังกลายเป็นแหล่งผลิตเด็กโอลิมปิกวิชาการแห่งใหม่ โดยสถิติที่น่าสนใน 2 ปีล่าสุด คือ เมื่อปี 2547 ได้เหรียญเงิน เหรียญทองแดง และเกียรติคุณประกาศอย่างละ 1 เหรียญ ปี 2548 ได้ 2 เหรียญทองและ 2 เหรียญทองแดง เรียกได้ว่า 2 ปีหลังฟอร์มกำลังไปได้สวยในเวทีโอลิมปิกวิชาการ
ณภัทร รุจีรไพบูลย์ นักเรียนชั้น ม.6 มหิดลวิทย์ฯ ซึ่งได้เหรียญทองแดงจากวิชาคณิตศาสตร์เมื่อปีที่แล้ว (2548) กล่าวถึงโอลิมปิกวิชาการของโรงเรียนในฐานะโรงเรียนวิทยาศาสตร์ว่า ในขณะนี้เชื่อว่าทางโรงเรียนมีความพร้อมในการแข่งขันมากขึ้นกว่าก่อน เพราะบรรยากาศในโรงเรียนได้เปลี่ยนไปแล้วจากการที่โรงเรียนได้รับรางวัลจากการแข่งขันมาบ้าง นอกจากนี้โรงเรียนก็ไม่ได้เริ่มจากศูนย์เหมือนในอดีต รุ่นน้องเห็นรุ่นพี่ชนะการแข่งขันก็คือทำให้ตื่นตัวมากขึ้น ทั้งครูและรุ่นพี่ที่เป็นอดีตตัวแทนประเทศก็ได้มาช่วยกวดวิชาให้ในเบื้องต้น ซึ่งมีอะไรก็สามารถขอคำปรึกษาแนะนำได้ บรรยากาศค่อนข้างอบอุ่น
ด้าน อ.ธัญญรัตน์ ดำเกาะ ผู้ประสานงานโอลิมปิกวิชาการสาขาชีววิทยา มหิดลวิทย์ฯ กล่าวว่าในการส่งนักเรียนไปคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยนั้น ต้องขึ้นอยู่กับความสนใจของนักเรียนเป็นหลัก ทางโรงเรียนไม่ได้ใช้วิธีบังคับหรือกะเกณฑ์ใดๆ และไม่มีการดำเนินการอะไรที่เป็นพิเศษกว่าปีก่อนๆ หากนักเรียนซึ่งแต่ละคนก็มีความสนใจของตัวเองที่ชัดเจนอยู่แล้วเกิดความสนใจในการแข่งขันใดๆ ขึ้นมา ทางโรงเรียนก็จะหาครูอาจารย์หรือรุ่นพี่อดีตตัวแทนประเทศมาช่วยกวดวิชาให้
นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนอื่นๆ ที่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันและสามารถคว้ารางวัลมาได้แบบนานๆ ครั้ง เช่น ศรัณย์ อาฮูยา มงฟอร์ตวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ที่คว้ารางวัล 2 ปีซ้อน โดยได้ 1 เหรียญทองแดงจากวิชาคณิตศาสตร์ ปี 2547 และอีก 1 เหรียญทองแดงจากวิชาคณิตศาสตร์ในปี 2548 แต่ตอนนั้นเขาย้ายมาเรียนต่อที่โรงเรียนนานาชาตินครพายัพ จ.เชียงใหม่
ก่อนหน้านั้นก็มีโรงเรียนอื่นๆ ได้เข้ารอบเป็นผ่านเข้ามาบ้างประปรายเช่น โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จ.ลำปาง ในปี 2545-2546 โรงเรียนนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ในปี 2545 และโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย จ.ภูเก็ต ในปี 2546 ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าขบคิดสำหรับตัวแทนประเทศจากโรงเรียนกลุ่มนี้คือความต่อเนื่องในการมีนักเรียนเป็นตัวแทนประเทศเป็นประจำ นั่นอาจกล่าวได้ว่า เด็กๆ ที่เข้ารอบก็คือช้างเผือกดีๆ นั่นเอง
โรงเรียนไม่ติดผังทำเหรียญ แต่เด็กๆ ก็ยังเดินหน้าแข่ง
ขณะเดียวกันเด็กๆ จากหลายโรงเรียนส่วนใหญ่ของที่ไม่เคยมีประวัติติดโผในฐานะตัวแทนประเทศเลยสักครั้ง ก็ยังคงเดินหน้าสมัครคัดเลือกในสาขาต่างๆ ทั่วประเทศปีละถึง 60,000 คนด้วยซ้ำ ซึ่งพัฒนภูมิ ผินจิรพงศ์ ชั้นปี 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตนักเรียนโรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งผ่านเข้ารอบ 25 คนสุดท้ายในการคัดตัวเป็นตัวแทนประเทศเมื่อ 2 ปีก่อน เผยว่า แม้ไม่ได้เป็นผู้แทนประเทศ แต่การได้เข้าค่ายคัดตัว ทำให้ได้รับความรู้มากมาย
"ไม่รู้สึกเสียดายที่ไม่ได้เป็นตัวแทนประเทศ แต่เสียดายที่ขณะเรียนชั้น ม.ปลาย น่าจะได้เรียนรู้มากกว่านี้ เพราะในแต่ละโรงเรียนจะมีการสอนคอมพิวเตอร์ไม่เหมือนกัน ซึ่งความรู้ที่ได้จากการเข้าค่ายคัดตัวมีประโยชน์มาก มีหลายอย่างที่หาไม่ได้ในห้องเรียนของโรงเรียน ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากในรั้วมหาวิทยาลัย" พัฒนภูมิย้อนเล่าเมื่อครั้งสมัครคัดเลือก
อ.นวลฉวี เรืองไรรัตนโรจน์ ผู้ดูแลการโครงการโอลิมปิกวิชาการสาขาคอมพิวเตอร์ เทพศิรินทร์ กล่าวถึงการส่งนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันว่า ทางโรงเรียนได้ให้การส่งเสริมในเรื่องดังกล่าวมาก ทางสมาคมผู้ปกครองก็ให้การสนับสนุนมากเช่นเดียวกันเช่น มีการจัดการอบรม และหากเห็นนักเรียนคนใดมีแววก็จะชักชวนให้เข้าร่วมโครงการ หรือบางคนก็เข้ามาสมัครด้วยตัวเอง อย่างไรก็ดี โรงเรียนเทพศิรินทร์ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ถึงมีนักเรียนเข้ารอบการคัดตัวบ้าง แต่ก็ยังไม่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทย
ข้อสังเกตหนึ่งที่พบคือ หากโรงเรียนใดที่เคยได้รับรางวัลมาบ้างแล้วก็จะมีประสบการณ์ และมีรุ่นพี่คอยชี้แนะแนวทางแก่รุ่นน้องได้ ซึ่งโรงเรียนเทพศิรินทร์ยังไม่มีในส่วนนี้ นอกจากนี้ นักเรียนและผู้ปกครองก็ไม่ได้คาดหวังในส่วนนี้เพราะต้องเคร่งเครียดกับการเรียนอย่างหนัก กระนั้นก็มีนักเรียนสมัครสอบในแต่ละรายวิชา เฉลี่ยปีละ 20-60 คน โดยในระยะหลังนักเรียนของโรงเรียนเทพศิรินทร์มีแนวโน้มในวิชาคอมพิวเตอร์ที่ดีมาก
เด็กหวั่นโอลิมปิกสร้างปัญหาตอนสอบเข้ามหา’ลัย
ส่วนประเด็นที่มีความกังวลกันว่าการเข้าสอบแข่งขันโอลิมปิกวิชาการจะมีผลให้นักเรียนอ่านหนังสือสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยได้ไม่เต็มที่นั้น อ.ผกาวดี เผยว่า สำหรับนักเรียนที่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยจะได้รับทุนจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศอยู่แล้ว แต่นักเรียนที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายของการคัดตัวแต่ไม่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยจะไม่ได้รับสิทธิ์ดังกล่าวด้วย
อ.ผกาวดี กล่าวว่า ในส่วนนี้ได้เป็นตัวแทนผู้อำนวยการไปประชุมกับ สสวท. ซึ่งมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วมประชุมด้วย ได้เสนอเรื่องนี้ไปหลายครั้ง ทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้เปิดรับนักเรียนกลุ่มดังกล่าวเข้าศึกษาต่อด้วยการสอบสัมภาษณ์ อาทิ คณะแพทย์ศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะแพทย์ศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กระนั้น บางคณะที่นักเรียนอยากเข้าศึกษาซึ่งเป็นคณะยอดนิยมยังไม่เปิดรับเช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะแพทย์ศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา อ.สุนันทา กล่าวว่า นักเรียนที่เข้าสอบมักได้รับสิทธิพิเศษด้านการเรียนต่ออยู่แล้ว โดยเฉพาะนักเรียนที่เป็นตัวแทนประเทศไทย ส่วนนักเรียนที่ไม่ได้เป็นตัวแทนประเทศแต่ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้ายก็มีทุนต่างๆ รองรับอยู่อย่างมากมาย ซึ่งนักเรียนเตรียมอุดมศึกษาจำนวนมากมักได้ทุนเหล่านี้ ทั้งนี้ นักเรียนเตรียมอุดมศึกษาจะเป็นเด็กที่เรียนเก่งทุกวิชา ไม่เฉพาะวิชาที่ส่งไปแข่งขัน ทำให้ไม่ต้องกังวลกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย
อาจารย์หวังนักเรียนโอลิมปิกอย่าทอดทิ้งสังคม
ด้านจำนวนนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันของแต่ละโรงเรียน อ.ผกาวดี กล่าวว่า ทางโรงเรียนไม่ได้กำหนดจำนวนนักเรียนที่จะส่งไป แต่เปิดรับตามความสมัครใจของนักเรียน นักเรียนทุกคนมีสิทธิ์สมัครสอบตามเงื่อนไขที่มีการกำหนดไว้แล้วของแต่ละการแข่งขัน โดยปีนี้ ทางโรงเรียนได้จัดงานฉลองให้กับนักเรียนโอลิมปิก มีพิธีประดับธงเกียรติยศให้ เป็นการจุดประกายให้นักเรียนอื่นๆ พอสมควร ซึ่งเขาเห็นแล้วก็สนใจ ขณะที่ อ.สุนันทา กล่าวว่า ทางโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องจำนวนนักเรียนที่ส่งไป แต่จะเน้นที่คุณภาพของนักเรียนมากกว่า ซึ่งหากส่งไปน้อยราย แต่ได้รางวัลเกือบทุกคนก็ถือว่าพอใจแล้ว
ทั้งนี้ อ.สุนันทา กล่าวทิ้งท้ายถึงเด็กนักเรียนโอลิมปิกวิชาการทั่วประเทศด้วยว่า ด้วยความที่นักเรียนกลุ่มนี้เป็นเด็กเรียนมาก อยากให้หันกลับมามองสังคมด้วย รู้จักเสียสละและรับผิดชอบต่อสังคม รับใช้ประเทศ เพราะทุนที่นักเรียนกลุ่มนี้ใช้เรียนก็มาจากภาษีประชาชนด้วย
อ่านเรื่องเพิ่มเติม
- ตามรอยฝัน “อดีตเด็กโอลิมปิกวิชาการ” กับจุดเปลี่ยนที่เลือกเอง
- โอลิมปิกวิชาการ : เส้นทางประลองกึ๋นของเด็กไทยฝ่าย “บุ๋น”