xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอยฝัน “อดีตเด็กโอลิมปิกวิชาการ” กับจุดเปลี่ยนที่เลือกเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สิรพัฒน์ ประโทนเทพ นักวิจัย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ(นาโนเทค) อดีตผู้แทนเยาวชนไทย ที่ร่วมแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ปี 2535 ด้านฟิสิกส์
เส้นทางชีวิตของแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกันไป บางคนเดินบนถนนสายเดียวกับผู้อื่น แต่เมื่อถึงทางแยกก็ต้องเลือกเส้นทางที่เหมาะสมกับตนเอง เช่นเดียวกับชีวิตของ “ผู้แทนเยาวชนไทย” ที่เคยเข้าร่วมการแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ เมื่อการแข่งขันจบสิ้นลง บางคนยังคงเดินบนทางสายนั้นต่อ ขณะที่บางคนหักเหเปลี่ยนเส้นทางอื่น เป็นเพราะอะไร? ทำให้เขาเลือกที่จะมี “จุดเปลี่ยน” เช่นนั้น

“ผู้จัดการวิทยาศาสตร์”ขอต้อนรับวันเด็กด้วยการพาไปสัมผัสชีวิตของ ดร.สิรพัฒน์ ประโทนเทพ นักวิจัย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ(นาโนเทค) อายุ 31 ปี “อดีตผู้แทนเยาวชนไทย” ที่เคยร่วมแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ปี 2535 ด้านฟิสิกส์ และนายพิชัย เกรียงศักดิ์เจริญ วิศวกรซ่อมบำรุง บริษัท ฟาบริเนท จำกัด อายุ 29 ปี ที่เคยได้รับรางวัลเหรียญทองแดงคณิตศาสตร์ จากการแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ปี 2536 พร้อมทั้งย้อนวันวานไปรู้จักกับความฝัน ความมุ่งมั่นในวัยเด็ก และ “จุดเปลี่ยน”ที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจเลือกเดินบนเส้นทางที่มุ่งหวัง

หลังจากได้เข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

ดร.สิรพัฒน์ : “ช่วงนั้นในปี 2535 เป็นปีแรกที่เขา (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.)) มีทุนให้ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ซึ่งเป็นทุนที่สามารถเรียนต่อไปถึงระดับปริญญาเอก ผมก็รอทุนอยู่ประมาณ 1 ปี แล้วก็ตัดสินใจไปเรียนต่อ คณะฟิสิกส์และดาราศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเบริมมิงแฮม (Birmingham,U.K.) ประเทศอังกฤษ แล้วก็กลับมาเป็นนักวิจัยที่นาโนเทค”พิชัย: “หลังจากแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ ในปี 2536 ผมก็เลือกเรียนต่อระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโท ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนได้เป็นวิศวกรตามที่ตั้งใจไว้ โดยเริ่มทำงานตั้งแต่ปี 2543 ที่บริษัทซีเกท เทคโนโลยี(ประเทศไทย)จำกัด ต่อมาในปี 2546 ย้ายมาทำงานที่บริษัทซีเมน จำกัด และย้ายมาทำงานเป็นวิศวกรบำรุงอยู่ที่ บริษัทฟาบริเนท จำกัด ในปี 2547 โดยการที่ได้มีโอกาสไปแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ จะช่วยในด้านการเรียน เพราะเป็นวิชาที่สามารถนำไปใช้ในวิชาต่างๆได้ ทั้งทางด้านวิศวกรรม และวิทยาศาสตร์ ซึ่งทำให้เราเข้าใจเนื้อหาต่างๆได้ดีขึ้น”


ก่อนที่จะไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ เคยตั้งความหวังไว้อย่างไร

ดร.สิรพัฒน์ : “ก็อยากเป็นนักวิจัยครับ เพราะอยู่ในโครงการ สสวท.ซึ่งเป็นโครงการที่จะสร้างนักวิทยาศาสตร์พื้นฐานทางด้านฟิสิกส์ เคมี ชีวะ หรือทางด้านคณิตศาสตร์ และสมัยที่เรียนที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัยก็มีการทำโครงงานวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว ก็เลยชอบการคิดประดิษฐ์มาตั้งแต่เด็กๆ”
พิชัย: “ที่ไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ เพราะผมชอบวิชาคณิตศาสตร์ตั้งแต่เด็ก แล้วก็ทำคะแนนได้ดีมาตลอด พอทราบว่ามีการแข่งขัน จึงสนใจอยากเข้าร่วม แต่ก็ไม่ได้ตั้งความหวังว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัย เพราะอยากเป็นวิศวกรมากกว่า จึงไม่ได้ขอทุนไปศึกษาต่อยังต่างประเทศเหมือนคนอื่นๆ”


อะไรที่ทำให้ยังคงมีความมุ่งมั่นอยากจะทำงานในอาชีพที่มุ่งหวัง

ดร.สิรพัฒน์ :“ก่อนที่จะรับทุนของ สสวท. ตั้งแต่ผมเรียนอยู่ชั้น ม.4 ก็มีคนถามเหมือนกันว่า ทำไมไม่อยากเป็นแพทย์ หรือวิศวกร แต่ผมว่าแล้วแต่คน บางทีก็เป็นค่านิยมที่ผิดเหมือนกันที่มองว่า การเป็นแพทย์หรือวิศวกรนั้นดีที่สุด จริงๆแล้วมันไม่มีอะไรทึ่ดีที่สุดสำหรับทุกคนหรอก แต่เราต้องหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเรา ซึ่งผมก็ชอบงานที่ต้องค้นคว้าต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ต้องพยายามแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ก็เลยอยากเป็นนักวิจัย”
พิชัย:"เพราะผมคิดว่าการเป็นวิศวกรเป็นการนำความรู้ไปใช้งานจริงๆ ส่วนการเป็นนักวิจัยความรู้ค่อนข้างจะอยู่บนกระดาษ หรือผลงานวิจัยอาจจะยังไม่ได้นำไปใช้จริง แต่ถ้าเป็นวิศวกรจะสามารถนำความรู้ไปใช้ได้จริงแน่ๆ ซึ่งเพื่อนร่วมรุ่นที่ไปแข่งขันด้วยกัน ส่วนใหญ่จะเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย หรือเป็นอาจารย์กวดวิชาคณิตศาสตร์บ้าง แต่ที่เป็นวิศวกรก็มี”


มีความคิดเห็นอย่างไร ที่บางคนมองว่าการเป็นนักวิจัยอาจไม่มีความก้าวหน้าเทียบเท่ากับอาชีพวิศวกร หรือแพทย์

ดร.สิรพัฒน์ :ถ้าเทียบกับเพื่อนรุ่นเดียวกันที่เป็นแพทย์หรือวิศวกร ในด้านความก้าวหน้าก็ไม่ได้ดีกว่าเรา แต่เส้นทางอาชีพบางคนอาจไม่เห็นเป็นรูปธรรม เช่น การมาทำงานวิจัย แต่ก็มีความก้าวหน้าของตนเองเช่นกัน ซึ่งผมก็รู้สึกสนุก บางทีก็แล้วแต่คนว่าคนนั้นมีความถนัดงานด้านไหน ซึ่งก็ต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง ไม่ใช่เอาตามคนอื่นไปทุกอย่าง พิชัย:
ผมคิดว่าทุกอาชีพก็มีความก้าวหน้าที่แตกต่างกันครับ

นายพิชัย เกรียงศักดิ์เจริญ วิศวกรซ่อมบำรุง บริษัท ฟาบริเนท จำกัด อดีตเยาวชนไทยที่ได้รับรางวัลเหรียญทองแดงคณิตศาสตร์ จากการแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ปี 2536
ผู้แทนเยาวชนไทยที่เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ จำเป็นหรือไม่ที่กลับมาต้องเป็นนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์


ดร.สิรพัฒน์ : “ก็มีหลากหลายครับ บางคนเรียนสายคณิตศาสตร์จะไปเป็นนักวิเคราะห์เชิงธุรกิจก็ได้ เพราะเป็นการใช้ความรู้ด้านคณิตศาสตร์เหมือนกัน ซึ่งแนวโน้มในสาขาวิชาต่างๆก็เริ่มคละกัน โดยสามารถใช้ความรู้ข้ามสาขาวิชาได้ ซึ่งตรงนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิจัย ขึ้นอยู่กับว่าเราชอบอะไรหรือเหมาะสมกับอะไรมากกว่า แต่การที่มุ่งส่งเสริมให้เป็นนักวิจัย เนื่องจากตอนนี้เมืองไทยกำลังขาดแคลนงานด้านการพัฒนาวิจัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานแก้ปัญหา ก็ต้องอาศัยคนที่ทำงานวิจัย พิชัย: “ผมคิดว่าไม่จำเป็นเลยที่เด็กที่ไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการแล้วต้องมาเป็นนักวิจัยทุกคน เพราะคนเราก็มีความฝันไม่เหมือนกัน เพียงแต่บางคนอาจจะมีความถนัดด้านคณิตศาสตร์ ด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งการที่มีโอกาสไปแข่งขันทำให้ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆและได้เห็นความรู้เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ของต่างชาติว่าไปไกลแค่ไหนแล้ว แต่ช่วงหลังๆก็เห็นว่า ประเทศไทยมีการพัฒนามากขึ้น ช่วงแรกๆวิชาคณิตศาสตร์จะได้แค่เหรียญทองแดง ระยะหลังก็จะมีเหรียญเงินและล่าสุด 2 ปีที่แล้วก็ได้เหรียญทอง


-เมื่อเลือกที่จะทำงานในอาชีพที่มุ่งหวัง งานเป็นไปตามที่วาดฝันหรือตั้งใจไว้หรือไม่


ดร.สิรพัฒน์ : “ถ้าวาดฝันเป็นนักวิจัย ซึ่งต้องมีการวิเคราะห์หรือประดิษฐ์ก็คิดว่าตรงตามที่คิดไว้ตั้งแต่เด็ก แต่ถ้าถามว่าตรงกับสาขาที่เรียนไหม ผมเรียนมาทางด้านฟิสิกส์ พอมาทำงานด้านนาโนเทคโนโลยี ก็ต้องเปิดกว้าง คือต้องมีความรู้ทั้งเคมี วัสดุศาสตร์ ทางชีวภาพและงานหลายๆอย่างด้วย ซึ่งปัจจุบันผมมีงานที่ต้องช่วยบริหารจัดตั้งห้องปฏิบัติการที่ศูนย์นาโนเทค อย่างไรก็ดี การที่ได้มีโอกาสไปแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ก็ทำให้ผมได้รับความรู้ มีความกระตือรือร้น อยากเรียนรู้เพิ่มความสามารถของเราให้สูงกว่าระดับการเรียนปกติ ซึ่งน่าจะเป็นการใฝ่รู้และเพิ่มประสบการณ์ในการแก้ปัญหา เพราะการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการจะเน้นการแก้ปัญหา ไม่มีคำตอบที่ตายตัวเหมือนในห้องเรียน”พิชัย: “ก็เป็นตามที่ตั้งใจไว้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะงานจริงๆอาจจะไม่ได้นำเอาความรู้ทุกส่วนที่เรามี มาใช้อย่างเต็มที่ ก็อาจจะผิดหวังบ้างนิดๆ แต่ก็รู้สึกพอใจที่ได้เป็นวิศวกรและได้นำความรู้มาใช้บ้าง”


-ระหว่างการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการในปีที่คุณเข้าร่วมแข่งขัน กับปีหลังๆมีความแตกต่างกันอย่างไร


ดร.สิรพัฒน์ : “รุ่นหลังๆการฝึกอบรมจะเป็นระบบมากกว่า มีการพัฒนากระบวนการทำให้ได้เหรียญและมีผลงานมากขึ้น แต่ความใหม่และความตื่นเต้นอาจไม่เหมือนสมัยก่อน(ปี 2535) ที่เวลาได้เหรียญทองแดงก็ดีใจแล้ว ผมว่าเป็นเรื่องปกติเพราะเขาทำงานเป็นระบบ แต่คาดว่าน่าจะขยายในวงกว้างมากขึ้น เพราะตอนนั้นเหมือนเป็นกลุ่มนักเรียนที่เก่งเฉพาะทาง แต่ตอนนี้เริ่มที่จะพัฒนาหลักสูตรให้ขยายไปยังนักเรียนทั่วไป ซึ่งก็มีการพัฒนาการไปเรื่อยๆ แต่ในรุ่นผมก็มีคนขอรับทุนและกลับมาเป็นนักวิจัยไม่ต่ำกว่า 30% และรุ่นหลังๆก็ขอรับทุนไปเรียนต่างประเทศหลายคน คาดว่าก็คงจะกลับมาทำงานเป็นนักวิจัยกันมากขึ้น”พิชัย:รุ่นของผม( ปี 2536)เมื่อแข่งกลับมาแล้วจะต้องมาสอบเอนทรานส์เหมือนคนทั่วๆไป ซึ่งเขาจะมีเวลาในการอ่านหนังสือมากกว่าผม ส่วนผมต้องไปเข้าค่าย จึงมีเวลาในการเตรียมตัวสอบเอนทรานส์แค่ปีเดียว แล้วทุนที่รองรับต่อก็ไม่ค่อยเปิดกว้างเท่าไหร่ อย่างผมอยากเข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯก็จะไม่มีทุนให้ แต่ในปัจจุบันถ้าเป็นเด็กที่ไปแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ โอลิมปิกฯ แล้วอยากเข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เขาก็รับแล้ว ก็คิดว่าเด็กรุ่นใหม่จะได้รับโอกาสมากขึ้นครับ”


-วางแผนอนาคตไว้อย่างไร

ดร.สิรพัฒน์ : “ก็คงพยายามทำงานวิจัยให้ประสบความสำเร็จตามกำลังที่จะช่วยเหลือประเทศได้ ส่วนอนาคตอยากเป็นนักวิจัยไปตลอดไหม ก็ต้องคิดดูอีกทีครับ แต่ในขณะนี้ยังชอบงานวิจัยอยู่ ซึ่งในอนาคตอาจจะเปลี่ยนไปดูโครงการที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งผมก็ต้องพัฒนาศักยภาพของตนเองเพิ่มขึ้นด้วยครับ”พิชัย: “ผมก็อยากเป็นวิศวกรไปเรื่อยๆ ยังไม่คิดจะไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ก็คิดว่าความรู้ที่มีอยู่ขณะนี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับการประกอบอาชีพครับ”


นี่คือความรู้สึกของสองอดีตผู้แทนเยาวชนไทยที่เคยเข้าร่วมการแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ที่สะท้อนให้เราเห็นถึงความฝัน ความตั้งใจในวัยเด็ก และแม้ทั้งสองจะเลือกเดินบนเส้นทางที่แตกต่างกัน แต่มีสิ่งหนึ่งยังดำรงอยู่ใน “จุดร่วมกัน” นั่นคือ ความรักและศรัทธาในอาชีพของตนเองอย่างไม่เสื่อมคลาย


อ่านเรื่องเพิ่มเติม

- เด็กเตรียม - เด็กสวนขาประจำโอลิมปิกวิชาการ
- โอลิมปิกวิชาการ : เส้นทางประลองกึ๋นของเด็กไทยฝ่าย “บุ๋น”
กำลังโหลดความคิดเห็น