หากเอ่ยถึงการแข่งขันโอลิมปิกคนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับการแข่งขันกีฬาซึ่งเปรียบเหมือนการแสดงความสามารถของฝ่าย “บู๊” มากกว่าแข่งขันโอลิมปิกวิชาการที่เสมือนการประลองยุทธ์ของฝ่าย “บุ๋น” อีกทั้งเสียงเชียร์และกำลังใจก็ดูคึกคักว่าการแข่งขันวิชาการ แม้เหล่าเยาวชนจะอยู่ในสนามแข่งที่ไร้เสียงเชียร์ แต่พวกเขาก็ยังมานะสู้และคว้าเหรียญรางวัลกลับมา พวกเขาต้องเชี่ยวกรำการฝึกฝนแค่ไหน? และอะไรคือแรงดึงดูดให้พวกเขามุ่งมั่นที่จะเป็นผู้แทนประเทศไทย? ผลตอบแทนของพวกเขาคืออะไร? ผู้จัดการวิทยาศาสตร์จะพาไปหาคำตอบ
ในการคัดเลือกตัวแทนโอลิมปิกวิชาการประจำปี 2549 ผ่านเวทีของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ครั้งนี้มีนักเรียนเข้าร่วมประลองพลังสมองกว่า 3 หมื่นคน และสมัครเพื่อคัดตัวเข้าอบรมเข้มกับมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) อีกเกือบ 3 หมื่นคน
ทั้งนี้ในแต่ละปีจะคัดเลือกผู้แทนประเทศไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศทั้งหมด 23 คน โดย สาขาคอมพิวเตอร์โอลิมปิก เคมีโอลิมปิกและชีววิทยาโอลิมปิกคัดเลือกตัวแทน 4 คนต่อสาขา สาขาฟิสิกส์โอลิมปิกคัดเลือกตัวแทน 5 คน และสาขาคณิตศาสตร์โอลิมปิกคัดเลือกตัวแทน 6 คน
ทำไมเด็กๆ ถึงอยากไปแข่งโอลิมปิกวิชาการ?
"อยากได้ทุนไปเรียนต่อต่างประเทศและชอบที่จะเรียนในสิ่งที่อยากรู้" พฤทธิ์ ศิลาเดช หรือเฟินนักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นอีกคนหนึ่งที่มุ่งสู่เส้นทางโอลิมปิกซึ่งปัจจุบันเป็นนักเรียนในโครงการโอลิมปิกวิชาการสาขาฟิสิกส์ ของสอวน.ค่าย 2 ซึ่งเป็นค่ายที่เตรียมคัดเด็กทั่วประเทศ 40 คนไปสอบกับ สสวท.เพื่อหาผู้แทนประเทศต่อไปเผยถึงสาเหตุที่อยากลงแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ โดยเฉพาะวิชาฟิสิกส์ที่ยิ่งเรียนยิ่งมีอะไรให้อยากรู้มากขึ้น เนื่องจากเป็นศาสตร์ที่ไม่ตายเพราะเราสามารถโต้แย้งได้หากมีเหตุผลเพียงพอ อีกทั้งยังได้ความรู้นอกเหนือจากห้องเรียนเพราะมีกระบวนการสอนที่เน้นคิด พิสูจน์ ต่างจากการทำข้อสอบทั่วไปที่จำสูตรก็ทำได้
ขณะที่ ธนวัฒน์ เหลืองสุขฤกษ์ หรือแชมป์เจ้าของเหรียญเงินชีววิทยาโอลิมปิกปีล่าสุด ซึ่งปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่าเข้าร่วมโครงการโอลิมปิกเพราะอยากได้โควตาเข้าเรียนแพทย์ เนื่องจากผู้แทนประเทศจะได้รับสิทธิในการเข้าเรียนโดยไม่ต้องสอบ โดยตอนแรกไม่ได้ตั้งใจนักแต่ก็สอบผ่านมาได้เรื่อยๆ ไม่ตั้งความหวังจะเป็นตัวแทน คิดว่าเอาความรู้ดีกว่า
“สิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมโอลิมปิก อย่างแรกเลยได้ความรู้ อย่างที่สองได้ประสบการณ์ ได้เพื่อนใหม่ๆ จากประเทศอื่น เพราะเราไม่ได้ไปแข่งอย่างเดียว แต่ได้ไปทัศนศึกษาด้วย และอีกอย่างคือได้โควตาแพทย์ ทำให้เข้าเรียนแพทย์ได้ง่ายขึ้น ตอนนี้ก็เรียนแพทย์ จุฬาฯ” ธนวัฒน์กล่าว
ส่วนเด็กรักความท้าทายอย่างสุคลศักดิ์ ศักดิ์ชูวงษ์ หรือกี้นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสวนกุหลาบ ที่คว้าเหรียญเงินคอมพิวเตอร์โอลิมปิกปีล่าสุดมาได้คิดว่าการเข้าร่วมโครงการโอลิมปิกเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง และเป็นการพิสูจน์ความสามารถของตัวเองซึ่งช่วยให้ได้พัฒนาตัวเองและความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ ส่วนทุนการศึกษาที่ได้รับสิทธินั้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่เลือกสอบ แต่ยังไม่ตัดสินใจรับเพราะต้องดูแนวโน้มต่อไปในอนาคต
หลังจากได้เป็นผู้แทนประเทศแล้วปฐมพล แสงอุไรพร หรือต้นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจ้าของเหรียญเงินจากการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกที่ประเทศโปแลนด์เล่าประสบการณ์การสอบให้ฟังว่าต้องทำโจทย์ 6 ข้อโดยสอบ 2 วันๆ ละ 5 ชั่วโมงแต่สอบแบบวันเว้นวัน ซึ่งก็จะเครียดเฉพาะวันสอบเพราะวันที่ไม่ได้สอบนั้นจะมีเจ้าหน้าที่พาไปทัศนศึกษาโดยจะพยายามเกาะกลุ่มกับเพื่อนๆ ประเทศเดียวกัน สำหรับความยากง่ายในการคัดเลือกผู้แทนของแต่ละวิชาไม่สามารถเปรียบเทียบได้เพราะเป็นข้อสอบคนละแนวกัน
เช่นเดียวกับปองปราชญ์ พัวพัฒนกุล หรือรักเจ้าของเหรียญทองชีววิทยาโอลิมปิกปีล่าสุดเช่นเดียว ซึ่งปัจจุบันศึกษาคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความเห็นว่าความยากง่ายของการสอบคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศขึ้นอยู่กับความถนัด ถ้าถามเขาก็ตอบว่าวิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ยากซึ่งเรื่องแบบนี้เปรียบเทียบกันลำบากเพราะแต่ละวิชาก็แตกต่างกันไป
หินไม่หินไม่รู้ ต้องระดมสรรพความรู้สู้แก้โจทย์
สำหรับข้อสอบในการอบรมและคัดเลือกตัวแทนโอลิมปิกในทัศนะของ นัฐพงษ์ ธรรมสาร หรือนัฐชั้น ม.4 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์และนักเรียนในโครงการโอลิมปิกวิชาการค่าย 2 สาขาฟิสิกส์ สอวน.กล่าวถึงว่าเป็นข้อสอบที่ยากเพราะเป็นความรู้ระดับมหาวิทยาลัย บางเนื้อหาเป็นของชั้น ม.6 ซึ่งยังเรียนไม่ถึง แต่การได้เข้าร่วมโครงการทำให้ได้ความรู้และประสบการณ์ในการทดลองซึ่งบางอย่างไม่ได้ทำในห้องเรียน และยังฝึกให้เป็นคนมีวินัยเพราะต้องฝึกทำโจทย์อย่างสม่ำเสมอจึงต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง ทั้งนี้การเรียนในห้องเน้นแค่การทำโจทย์ทั่วๆ ไป แต่ในค่ายโอลิมปิกจะเน้นให้รู้จักคิดแก้ปัญหาเอง
ทางด้าน ผศ.ดร.ขวัญ อารยะธนิตกุล จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์ผู้ร่วมออกข้อสอบฟิสิกส์ในการอบรมนักเรียนโอลิมปิกทั้งในค่าย สอวน.และ สสวท.กล่าวว่าข้อสอบโอลิมปิกไม่ใช่เพียงแค่สังเคราะห์ วิเคราะห์ แต่ต้องรู้จักประยุกต์ความรู้ที่มีเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งแน่นอนว่าจะไม่ได้เห็นข้อสอบปรนัยในการสอบแข่งขันโอลิมปิก และต้องใช้เวลาค่อนข้างมากในการคิด อีกทั้งโจทย์มักไม่ให้ข้อมูลหรือแนะวิธีคิดให้
พร้อมกันนั้นได้ยกตัวอย่างข้อสอบที่ใช้ในการแข่งขันโอลิมปิกระหว่างประเทศซึ่งเป็นข้อสอบที่มีความยาวถึง 3 หน้าต่อข้อ นักเรียนจะต้องใช้ความพยายามและอดทนในการทำโจทย์อย่างมาก โดยข้อสอบเหล่านั้นสามารถนำติดตัวออกมาได้หลังจากสอบเสร็จแล้ว ส่วนข้อสอบในการคัดตัวแทนประเทศรอบแรกนั้นคล้ายๆ กับข้อสอบทั่วไป ซึ่งมีความยาวไม่กี่บรรทัดและให้ข้อมูล ตัวเลข และค่าต่างๆ แต่นักเรียนยังต้องใช้ความคิดในการแก้ปัญหามากกว่า
“บางครั้งนักเรียนต้องหาตัวเลขมาเอง ข้อสอบที่เราชินก็คือมีตัวเลขมาให้แล้วเราก็เอาตัวเลขทั้งหมดมาชนๆ กัน บวก ลบ คูณ หาร เราก็หาคำตอบได้ แต่ข้อสอบโอลิมปิกต้องหาค่าเอง ประมาณค่าเอง บางครั้งเขาอาจจะถามว่าฝนเวลาตกถึงพื้นจะตกลงมาเร็วเท่าไหร่ ซึ่งก็ถามได้ นักเรียนต้องฝึกเยอะๆ ข้อสอบต้องยากเพราะที่เราไปแข่งข้อสอบยากกว่านั้นเยอะ ปัญหาคือว่าจะใช้หลักอะไรมาวิเคราะห์เรื่องที่เกิดขึ้น มันไม่เกี่ยวว่าบ้านเราเรียนอะไรอยู่เพราะมันต่างกับที่เรียน ม.ปลาย ปี 1 เยอะ”
“ผมเข้าใจว่าการศึกษามีตั้งแต่ขั้นที่คุณจำได้ เข้าใจว่าพูดเรื่องอะไร เอาไปวิเคราะห์ สังเคราะห์อะไรต่อได้ แต่ข้อสอบโอลิมปิกถึงขึ้นว่าจะเอาไปประยุกต์ใช้อะไรได้ นักเรียนเหล่านี้ต้องฝึกให้ดื้อกับการคิดโจทย์ ไม่ใช่พอทำไม่ได้เลิก ไปทำข้ออื่น คุณต้องดื้อ บางโจทย์คิดนานแค่ชั่วโมงเดียวไม่พอ เพราะบางคนคิด 3 วันยังไม่เลิกเลย ต้องหาทางคิดและพยายามอย่างนั้น” พร้อมกันนั้น ผศ.ดร.ขวัญได้ให้ความเห็นว่าการอบรมในระบบคัดเลือกตัวแทนนั้นได้สอนให้นักเรียนรู้จักคิดไกลกว่าการศึกษาที่มีอยู่ และเด็กได้อะไรมากกว่าการศึกษาแบบเดิมๆ
”สร้างนักวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์” จุดเริ่มของไทยในเวทีโอลิมปิก
การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการในระดับสากลนั้นเริ่มขึ้นใน พ.ศ.2502 โดยประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมโรมาเนียได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกขึ้นครั้งแรก ภายใต้แนวคิดของนักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่าทุกประเทศย่อมมีเยาวชนอัจฉริยะทางปัญญาจำนวนมาก หากจัดให้แข่งขันด้านวิชาการเช่นแข่งขันกีฬาโอลิมปิก น่าจะช่วยพัฒนาสติปัญญาของเยาวชนให้สูงยิ่งขึ้น และจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว จากนั้นได้เพิ่มวิชาสำหรับแข่งขัน คือ ฟิสิกส์ เคมี คอมพิวเตอร์และชีววิทยาตามลำดับ ล่าสุดได้จัดให้มีการแข่งขันดาราศาสตร์เพิ่มอีก 1 วิชาในพ.ศ.2538
ทั้งนี้ นางดาราวรรณ เหลืงอร่ามโชติ หัวหน้าสาขาโอลิมปิกวิชาการและพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สสวท. กล่าวว่าเมื่อ พ.ศ.2532 ประเทศไทยเริ่มส่งตัวแทนไปร่วมแข่งขันโอลิมปิกวิชาการครั้งแรกในสาขาคณิตศาสตร์ ณ ประเทศเยอรมนี และส่งตัวแทนเข้าแข่งขันครบใน 5 สาขาคือคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี คอมพิวเตอร์และชีววิทยาตั้งแต่ พ.ศ.2534 ส่วนดาราศาสตร์โอลิมปิกไทยส่งตัวแทนเข้าร่วมใน พ.ศ.2540
นางดาราวรรณกล่าวว่า ณ เวลานั้นประเทศไทยยังขาดนักวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์บริสุทธิ์จำนวนมาก เมื่อตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงเริ่มส่งตัวแทนเข้าแข่งขัน เพื่อกระตุ้นบรรยากาศทางวิชาการและส่งเสริมให้เด็กได้แสดงสติปัญญาบนเวทีวิชาการ และส่งเสริมให้ครูและเด็กได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความสัมพันธ์อันดีกับตัวแทนต่างประเทศ
“ในเบื้องลึกเบื้องหลังของข้อสุดท้ายนั้นถ้าเด็กเก่งในแต่ละประเทศมาเจอกัน เมื่อได้รู้จักกับเขาก็เป็นเพื่อนกัน มีการแลกเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ มีการแลกเปลี่ยนอีเมล์กัน ฉะนั้นก็มีการติดต่อกัน อนาคตน้องๆ เหล่านี้ก็อาจจะเป็นนักชีววิทยา นักเคมี นักฟิสิกส์ ระดับหัวกะทิของประเทศนั้นๆ เมื่อระดับหัวกะทิได้รู้จักกัน ก็แน่นอนเป็นสิ่งที่ดี ก็จะช่วยกันคิด ช่วยกันทำ หาสิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับโลกเรา สิ่งที่มนุษย์มีความสุข สิ่งที่ทำให้มนุษย์ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และช่วยสร้างความคิดในทางสันติ เพราะเป็นเพื่อนกันก็ไม่เป็นศัตรูกัน”
สำหรับการคัดเลือกนักเรียนเพื่อเป็นตัวแทนประเทศนั้น ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมของทุกปีทาง สสวท.จะสอบคัดเลือกนักเรียนจากทั่วประเทศไว้วิชาละ 40 คน เพื่อเข้าสอบรอบ 2 รวมกับนักเรียนจากมูลนิธิ สอวน.อีก 40 คนในช่วงปลายเดือนสิงหาคม และคัดให้เหลือวิชาละ 25 คน นักเรียนที่ผ่านรอบนี้จะได้รับการอบรมเข้มจาก สสวท. 3 สัปดาห์ในเดือนตุลาคม จากนั้นจะคัดเลือกจากการเก็บคะแนนไว้ 15-20 คน และเข้าอบรมอีก 4 สัปดาห์ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน
นางดาราวรรณกล่าวว่าในรอบ 25 คนมีนักเรียนจากภูมิภาคมาอบรมที่ สสวท.มากพอสมควร จึงต้องเตรียมที่พักไปสำหรับนักเรียน และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมทั้งค่าอาหารและที่พักให้ โดย สสวท.จะมีหอพักไว้รองรับ ซึ่งเคยออกค่าใช้จ่ายสูงสุดประมาณ 2,000-3,000 บาทให้นักเรียนจากภาคใต้ที่ต้องเดินทางโดยรถไฟเป็นระยะทางไกลๆ
“ชีววิทยา” สาขายอดฮิต นักเรียนแห่สมัครเกือบหมื่น
สำหรับช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้นางดาราวรรณเปิดเผยว่ามีนักเรียนสมัครสอบในสาขาชีววิทยามากที่สุด โดยปีนี้มีนักเรียนสมัครสอบคัดเลือก 9,751 คน สำหรับสาขารองลงมาคือคณิตศาสตร์ เคมีและฟิสิกส์มีผู้สมัครประมาณ 7,000-8,000 คน ส่วนสาขาคอมพิวเตอร์มีผู้สมัครน้อยที่สุดประมาณ 2,000 คน ทั้งนี้ นางดาราวรรณประเมินว่าอาจจะเป็นเพราะผู้แข่งคอมพิวเตอร์โอลิมปิกต้องเก่งคณิตศาสตร์ด้วย แต่คนเก่งคณิตศาสตร์ก็มักจะเลือกสอบคณิตศาสตร์
เมื่อได้ผู้แทนประเทศแล้วก็จะจัดค่ายเตรียมความพร้อม 2 สัปดาห์ นางดาราวรรณกล่าวว่าสิ่งสำคัญนอกเหนือจากความสามารถทางปัญญาแล้วคือสมาธิและสุขภาพกาย เพราะนักเรียนตัวแทนจะต้องอยู่ในห้องสอบนานติดต่อกันหลายชั่วโมง ส่วนการเดินทางไปแข่งขัน ณ ต่างประเทศทาง สสวท.จะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด และจะมีอาจารย์ซึ่งทำหน้าที่หัวหน้าทีม รองหัวหน้าทีม ผู้ช่วยหัวหน้าทีมและผู้จัดการทีมตามไปดูแลด้วยสาขาละประมาณ 4-6 คน
ทั้งนี้นักเรียนไม่ต้องกังวลกับข้อสอบซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ เพราะอาจารย์ที่ทำหน้าที่หัวหน้าทีมและรองหน้าทีมจะช่วยแปลและตรวจข้อสอบให้โดยมีกรรมการกลางดูแล หากให้คะแนนสูงกว่ากรรมการกลางต้องมีเหตุผลอธิบาย ซึ่งตลอดการแข่งขันผู้แทนโอลิมปิกและอาจารย์จะไม่ได้พบกัน เพราะเจ้าหน้าที่ก็จะพานักเรียนไปทัศนศึกษาขณะที่อาจารย์แปลข้อสอบ เมื่อถึงเวลาสอบเจ้าหน้าที่ก็จะพานักเรียนไปทัศนศึกษา ทั้งนี้รวมระยะเวลาเดินไปแข่งขันต่างประเทศทั้งหมดประมาณ 10 วัน
คัดแล้วคัดอีก เกือบ 2 ปีถึงจะผ่านการเตรียมพร้อม
ทางด้านมูลนิธิ สอวน. ซึ่งมีบทบาทในการช่วยเตรียมความพร้อมทางวิชาการสำหรับเพื่อไปคัดตัวแทนร่วมกับ สสวท.นั้น รศ.เย็นใจ สมวิเชียร กรรมการและเหรัญญิกมูลนิธิ สอวน. กล่าวถึงที่มาของมูลนิธิว่าสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงทราบว่านักเรียนไทยนั้นมีความรู้ที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากลอยู่ 2 ชั้น ซึ่งหมายความว่าเราต้องอบรมนักเรียนมากกว่าประเทศอื่นๆ และเป็นสาเหตุว่าทำไมตัวแทนเยาวชนจึงไม่ได้ค่อยได้เหรียญรางวัล จึงควรที่ขยายการอบรมให้มากขึ้น
มูลนิธิ สอวน.ได้ถูกก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ.2543 ปัจจุบันมีศูนย์อบรม สอวน.ทั่วประเทศ 21 ศูนย์ แบ่งเป็นศูนย์ต่างจังหวัด 15 ศูนย์ซึ่งมีมหาวิทยาลัยในภูมิภาครับผิดชอบในการจัดอบรม 2-5 วิชาขึ้นอยู่กับศูนย์แต่ละแห่ง และศูนย์ในกรุงเทพฯ อีก 6 ศูนย์ซึ่งรับผิดชอบโดยศูนย์ซึ่งเป็นโรงเรียนและมีมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ เป็นศูนย์พี่เลี้ยง
รศ.เย็นใจกล่าวว่าการคัดเลือกนักเรียนเข้าอบรมจะเปิดรับสมัครในช่วงสิงหาคม และสอบคัดเลือกให้เสร็จภายในกันยายนจนได้นักเรียนมา 30-35 คนต่อวิชาสำหรับศูนย์ต่างจังหวัด และ 175 คนต่อวิชาสำหรับศูนย์ในกรุงเทพฯ เพื่อเข้าอบรมเข้ม 15-20 วันในค่าย 1 ช่วงเดือนตุลาคม
จากนั้นแต่ละศูนย์อาจจะคัดนักเรียนไว้ครึ่งหนึ่งเพื่อเข้าค่าย 2 ช่วงในเดือนเมษายน และจะมีการสอบแข่งขันของนักเรียนในค่าย 2 จากศูนย์ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อคัดเลือกตัวแทน 40 คนต่อวิชาเข้าสู่การคัดเลือกในขั้นตอนของ สสวท. ต่อไป กระบวนการทั้งหมดใช้เวลา 1 ปี ดังนั้นนักเรียนที่ผ่านขั้นตอนคัดเลือกจากมูลนิธิจึงใช้เวลา 2 ปีเพื่อเป็นผู้แทนประเทศไทยเมื่อรวมกับระยะเวลาคัดเลือกของ สสวท.
ส่วนการอบรมนั้นแต่ละศูนย์ต้องคัดเลือกเด็กและออกข้อสอบเอง แต่ต้องใช้หลักสูตรเดียวกันทั่วประเทศเพราะสุดท้ายต้องมาสอบข้อสอบชุดเดียวกัน โดยข้อสอบนั้นจะเป็นข้อสอบอัตนัยที่ฝึกให้นักเรียนคิดเป็น วิเคราะห์เป็น รวมทั้งต้องทำการทดลองได้ โดยแต่ละศูนย์ใช้งบฯ ไปประมาณกว่า 1 ล้านบาทต่อการจัดเตรียมความพร้อมแต่ละครั้ง ซึ่ง รศ.เย็นใจกล่าวว่าหากคิดถึงเงินที่ลงไปกับเด็กถือว่าคุ้มค่าเพราะใช้ไปในการสร้างคน
อย่างไรก็ดี รศ.เย็นใจกล่าวว่าจริงๆ แล้วจำเป็นต้องพัฒนาการสอนที่โรงเรียน เพราะในประเทศที่เจริญแล้วตัวแทนโอลิมปิกวิชาการใช้เวลาอบรมแค่ 2 อาทิตย์ก็สามารถเข้าแข่งขันได้ แต่ประเทศไทยต้องใช้เวลาในการเตรียมนักเรียนถึง 2 ปี ซึ่งความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ควร และเสริมว่านักเรียนไทยเก่งแต่เราไม่สามารถสอนเด็กได้เต็มศักยภาพ
สิทธิพิเศษเด็กโอลิมปิก
สำหรับสิทธิพิเศษที่นักเรียนในโครงการโอลิมปิกวิชาการจะได้รับคือ นักเรียนที่เป็นผู้แทนประเทศจะได้รับทุนศึกษาต่อต่างประเทศในสาขาที่แข่งขันจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากรัฐบาล รวมถึงศึกษางานวิจัยในระดับหลังปริญญาเอก (Post Doc) ทั้งนี้ในการศึกษาต่อต่างประเทศทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จะจัดหาสถานศึกษาให้ ส่วนนักเรียนที่ผ่านการอบรมค่าย 2 ของ สอวน.จะได้รับสิทธิเข้าศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศ และยังมีเงินอุดหนุนจากภาคเอกชนในหลักพันให้กับผู้แทนประเทศหลังกลับจากการแข่งขัน
ส่วนปลายทางของนักเรียนโอลิมปิกวิชาการหลายคนเลือกที่จะเดินต่อในเส้นทางของการเป็นนักวิจัย ขณะที่อีกหลายคนเลือกให้โอลิมปิกเป็นประสบการณ์หนึ่งในชีวิต แต่ไม่ว่าอย่างไรนักเรียนเหล่านั้นก็จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้เป็นผู้แทนประเทศก็ตาม
อ่านเรื่องเพิ่มเติม
- ตามรอยฝัน “อดีตเด็กโอลิมปิกวิชาการ” กับจุดเปลี่ยนที่เลือกเอง
- เด็กเตรียม - เด็กสวนขาประจำโอลิมปิกวิชาการ