xs
xsm
sm
md
lg

ประวัติความเป็นมาของควินิน

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ลอกเปลือกต้น cinchona ที่ขึ้นในป่า
ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่ามาลาเรียได้เคยประสบความสำเร็จในการทำอารยธรรมล่มสลายมาหลายอารยธรรมแล้ว เช่น จักรพรรดิ Alexander มหาราชเมื่อสิ้นพระชนม์ด้วยโรคมาลาเรียในปี พ.ศ. 220 อาณาจักรของพระองค์ก็เริ่มแตกแยกหรือเวลาโรคมาลาเรียระบาดในโรม องค์สันตะปาปาทรงต้องอพยพสำนักจากกรุง Vatican ไป Avignon ในฝรั่งเศสนานถึง 68 ปี บรรดาผู้คนในประเทศในยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี เมื่อ 500 ปีก่อน เวลาใครล้มป่วยด้วยมาลาเรีย ไม่ว่าคนคนนั้นเป็นยาจกหรือกษัตริย์ เขาก็จะต้องตายเพราะไม่มีใครรู้วิธีรักษา และไม่มีใครรู้สาเหตุของโรคเลย หมอบางคนจึงหันไปใช้วิธีรักษาตามมีตามเกิด เช่น ใช้วิธีเจาะเลือด “เสีย” ทิ้ง หรือให้คนไข้กินสมุนไพรที่ตนปรุง บางคนใช้วิธีโหราศาสตร์สะเดาะเคราะห์คนไข้ บางคนใช้วิธีอ่านมหากาพย์ Iliad ให้ฟัง ฯลฯ และถึงแพทย์จะพยายามเพียงใดและด้วยวิธีการใด คนไข้ของเขาก็มีแต่ตายกับตายลูกเดียว

ในปี พ.ศ. 2179 (รัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง) ได้มีรายงานจากนักบวชสอนศาสนาชื่อ Antonio de Calancha ว่า ยาที่ได้จากต้นไม้ชนิดหนึ่งชื่อ cinchona ซึ่งขึ้นในป่าเมือง Loxa บนเทือกเขา Andes ในอเมริกาใต้ สามารถรักษามาลาเรียได้ โดยได้พบว่าเวลาเอาเปลือกสีน้ำตาลของต้น cinchona นี้มาบดเป็นผงแล้วละลายดื่มกับน้ำ ยาที่ได้สามารถรักษามาลาเรียได้

อีก 2 ปีต่อมา สุภาพสตรีชื่อ Dona Francisca Henriquez de Ribera ซึ่งเป็นสตรีที่สูงศักดิ์ตำแหน่ง Condesa de Chinchon ที่ 4 ได้เขียนบันทึกยืนยันว่า เมื่อครั้งที่นางเดินทางไปเยือนประเทศ Peru นางได้ล้มป่วยด้วยโรคมาลาเรีย แต่เมื่อได้รับยาพื้นเมืองซึ่งเป็นเปลือกไม้จากหมอสอนศาสนานางก็หาย นางจึงได้รวบรวมเปลือกไม้ที่หมอให้นำส่งให้คนอื่นๆ ที่ยังนอนป่วยอยู่ต่อ

และเมื่อถึงปี พ.ศ. 2285 Carl Linnaeus ก็ได้เรียกชื่อสกุลของต้นไม้ที่ให้ยารักษาโรคมาลาเรียตามชื่อของสุภาพสตรีตำแหน่งสูงผู้ได้ล้มป่วยและหายจากโรคมาลาเรีย เมื่อปี 2181 ว่า Cinchona โดยได้สะกดชื่อผิด แทนที่จะเป็น Chinchon และเรียกชื่อชีววิทยาของต้นไม้มหัศจรรย์ว่า Cinchona officinalis ซึ่งแปลว่า เรือนยา ทั้งๆ ที่ Linnaeus เองก็ไม่เคยเห็นต้น cinchona ด้วยตาเลย

ในส่วนของเปลือกต้นไม้ที่แพทย์พบว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาไข้มาลาเรียได้นั้น ตำนานอ้างว่า บาทหลวง John de Lugo เป็นบุคคลแรกที่นำมันไปเผยแพร่ใช้รักษาโรค จึงทำให้คนหลายคนเรียกเปลือกไม้ชนิดนี้ว่า เปลือกไม้ของบาทหลวง ถึงกระนั้นการยอมรับและนิยมบริโภคก็ไม่ทันที และกว้างขวางเพราะหลายสาเหตุ เช่น ยาที่กินมีรสขม และต้องกินกับน้ำร้อนซึ่งขัดกับคำสอนของ Galen ที่ว่าเวลาคนไข้มีอาการไข้สูงต้องกินยาเย็น ส่วนสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ยานี้มิสามารถรักษาโรคได้หลายโรค แต่รักษาได้โรคเดียวคือโรคมาลาเรีย และในการรักษานั้น บางครั้งก็ได้ผล แต่บางครั้งก็เสียผล นอกจากนี้แพทย์ก็ไม่มีข้อมูลว่าสมควรจะให้ยาบ่อยเพียงใดหรือมากเพียงใด ส่วนเหตุผลข้อสุดท้ายคือยานี้เป็นยาพระบอก ซึ่งพระในสมัยนั้นเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับกษัตริย์ คนอังกฤษส่วนใหญ่จึงคิดว่ามันเป็นยาพิษ

แต่เมื่อเวลาผ่านไป คนทั่วไปก็เริ่มประจักษ์ในประสิทธิภาพของยา ทำให้ต้น cinchona ในป่าของเทือกเขา Andes ถูกตัดโค่นมากมาย และต้น cinchona เป็นต้นไม้หายากขึ้นๆ จนชาวยุโรปคิดส่งคนไปนำต้น cinchona จากทวีปอเมริกาใต้มาปลูกในยุโรปหรือเอเชีย เพื่อสนองความต้องการของตลาดยาเป็นครั้งแรก เมื่อ 260 ปีก่อน โดยได้มอบหมายให้ Charles-Marie de La Condamine ผู้เป็นนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปเมือง Quito ใน Ecuador เพื่อทดสอบทฤษฎีโครงสร้างโลกของ Newton ซึ่งกล่าวว่าโลกมิได้กลมเหมือนลูกบิลเลียด แต่เป็นรูปไข่ ซึ่งมีบริเวณส่วนกลางโป่งออกเล็กน้อย และ Condamine ก็ได้นำต้นกล้า และเมล็ดของต้น cinchona บรรทุกเรือ แต่เรือถูกกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากกระแทกจนภาชนะที่บรรจุต้นอ่อนตกจากเรือจมหายไปที่เมือง Belem

อีกหลายปีต่อมา คณะนักสำรวจชาวยุโรปอีกหลายคณะที่ได้เดินทางไปผจญภัยในทวีปอเมริกาใต้ได้รายงานว่า ต้น cinchona เป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวอินเดียนนับถือ และใช้เปลือกของต้นไม้รักษาไข้ตัวร้อนมานานแล้ว โดยไม่รู้เลยว่ามันรักษาไข้มาลาเรียได้ และเมื่อจำนวนคนที่ล้มป่วยมีเพิ่มตลอดเวลา และป่าที่มีต้น cinchona ก็กำลังลดขนาดตลอดเวลาเช่นกัน รัฐบาลเนเธอร์แลนด์และอังกฤษจึงแถลงว่า โลกจำเป็นต้องอนุรักษ์ต้น cinchona เพื่อรักษามวลมนุษยชาติ โดยจะต้องนำต้นไม้วิเศษชนิดนี้จากอเมริกาใต้ไปปลูกในประเทศอาณานิคมของตน และให้ชาวพื้นเมืองในประเทศเหล่านั้นหารายได้เสริมจากการขายเปลือกต้น cinchona

บุคคลที่ได้รับการไว้วางใจให้ไปนำต้น cinchona มาปลูกในยุโรปคือ Richard Spruce นักชีววิทยาผู้เคยป่วยเป็นมาลาเรีย ขณะเดินทางเก็บพืชตัวอย่างในป่าของประเทศ Ecuador ส่วนบุคคลที่สองคือ Clements Markham นักภูมิศาสตร์ผู้ไม่มีความรู้ด้านพฤกษศาสตร์เลย แต่รู้จักบุคคลสำคัญทางการเมืองในประเทศ Ecuador และบุคคลสุดท้ายคือ Charles Ledger ผู้เป็นพ่อค้าที่เคยเดินทางไปทั่วทวีปอเมริกาใต้เป็นเวลานานหลายปี และรู้จักต้น cinchona ดีกว่าเพื่อนอีก 2 คน แต่ถ้าจะพูดถึงความสำคัญของคนในทีมทำงานนี้ Manuel Incra Mamani ซึ่งเป็นชาวอินเดียนที่อาศัยในประเทศ Bolivia คือคนที่สำคัญที่สุด เพราะเขาถูก Ledger ฝึกให้รู้จักต้น cinchona ดังนั้น ความรู้ของ Mamani กับความสัมพันธ์ระหว่างเขากับ Ledger จึงมีบทบาทมากในการทำให้ชาวอังกฤษ และชาวเนเธอร์แลนด์มีไร่ cinchona ในอาณานิคมของประเทศทั้งสอง

cinchona เป็นต้นไม้วงศ์ Rubiaceae ที่สามารถผลิตสาร alkaloid ได้หลายชนิด แต่ชนิดที่สำคัญที่สุดคือ quinine (คำนี้มาจากคำ quinquina ในภาษา Quechua ที่แปลว่า เปลือกไม้ ตามปกติ cinchona ชอบขึ้นตามไหล่เขาที่สูง และดิน ภูเขาไฟ คือดินที่เหมาะสำหรับการปลูกต้นไม้ยานี้ และหากบริเวณนั้นมีฝนตกชุกถึง 1.5 เมตร/ปี ต้นจะออกดอกเมื่อมีอายุได้ 3-4 ปี ดอกมีขนาดเล็กสีเหลือง ขาว หรือชมพู ผลมีลักษณะรียาว 1-3 เซนติเมตร ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดเมล็ดมีปีกจึงสามารถร่อนไปจากต้นได้ไกล เปลือกต้น cinchona ที่ขึ้นในป่าให้ควินินเพียง 7% แต่ต้น cinchona ที่ปลูกในไร่จะให้ควินินได้มากกว่าถึง 2 เท่า

ทุกวันนี้นักพฤกษศาสตร์ได้พบแล้วว่า มีต้น cinchona เพียง 4 ชนิดเท่านั้นที่ให้ quinine คือ Cinchona calisaya, Cinchona legeriana, C. officianalis และ C. succirubra

เมื่อไม่นานมานี้ Mark Honigsbaum ได้เรียบเรียงหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ The Fever Trail : In Search for Malaria หนังสือนี้จัดพิมพ์โดย Farrar, Strauss and giroux, New York หน้า 341 หน้า ราคา 25 เหรียญ ซึ่งหนังสือเล่มนี้จะนำผู้อ่านผ่านป่าดงดิบในอเมริกาใต้ ในยุคที่ชาวยุโรปตามล่าหาควินินจากต้น cinchona และต้องต่อสู้กับชาวอินเดียน และสัตว์ร้าย ฯลฯ รวมทั้งโรคมาลาเรีย เพื่อนำต้นกล้าและเมล็ดต้น cinchona ที่ขึ้นในป่าทึบบนสองฝั่งแม่น้ำ Rio Negro, Casiguiau และ Orinoco ไปปลูกในเอเชียอาคเนย์

หนังสือมิได้กล่าวถึงยุง Anopheles และหนังสือก็มิได้กล่าวถึงเหตุการณ์ว่า ใครเป็นคนรู้เป็นคนแรกว่า เปลือกต้น cinchona รักษามาลาเรียได้ ถึงอย่างไรก็ตาม หนังสือก็ได้กล่าวถึง Ledger กับ Mamani ว่าได้ประสบความสำเร็จในการนำเมล็ดต้น cinchona ไปปลูกในชวา จนทำให้ชวาเป็นแหล่งปลูก cinchona มากที่สุดคือ 95% ของทั้งโลก และต้น cinchona ของชวาให้ควินินมากถึง 13.25%

แต่เมื่อถึงวันนี้ โลกมียารักษามาลาเรียที่ดีกว่าควินินแล้ว การใช้ควินินในการบำบัดไข้มาลาเรียจึงลดลงไปมาก ถึงกระนั้นชาวอินเดียนบางคนก็ยังใช้ควินินเป็นยาบำรุง ยาทากันแดด และแมลงบ้าง และทั้งๆ ที่ไร่ cinchona ในชวาไม่มีให้เห็นอีกต่อไป แพทย์ก็ยังไม่มีวัคซีนป้องกันมาลาเรียเลย มาลาเรียก็ยังฆ่าคนต่อไปประมาณ 2 ล้านคน/ปี และนักวิจัยก็ยังพยายามศึกษาผลกระทบของ quinine ต่อเชื้อมาลาเรีย (Plasmoduim vivax) ต่อเพื่อพัฒนายาสู้มาลาเรีย และนี่ก็คือความสำคัญของควินินต่อมนุษยชาติครับ

สุทัศน์ ยกส้าน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สสวท
เปลือก cinchona ถูกบรรจุลงถุง เพื่อการส่งออก
เปลือก cinchona ถูกบรรจุลงถุง เพื่อการส่งออก
ใบและดอกของ cinchona
กำลังโหลดความคิดเห็น