ปิดฉากปีไอน์สไตน์จบยังไม่หรู นักเรียน อาจารย์ ประชาชนบางส่วนยังไม่ทราบ ร้องขอประชาสัมพันธ์ให้มากกว่านี้จะได้รู้บ้าง แต่ผู้จัดก็พอใจผลงาน อดีตปลัดฯวิทย์แจงเพราะผลงานไอน์สไตน์เข้าถึงยากแต่คนในแวดวงรู้กันทั่ว ด้าน ผอ.สวทช.ชี้สื่อต้องช่วยมากขึ้น ส่วน ผอ.พิพิธภัณฑ์วิทย์ยกคาราวานทัวร์ต่างจังหวัดเผยได้รับเสียงตอบรับดีและจะมีอีก ขณะที่นักฟิสิกส์มหิดลชี้วัฒนธรรมยกย่อง “นักคิด” เป็นของแปลกแต่เป็นจุดเริ่มให้คนไทยสนใจ
ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นอีกปีที่คนในวงการวิทยาศาสตร์ให้ความสำคัญนั่นคือ “ปีไอน์สไตน์” (Einstein) หรือปีที่ทางองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศให้เป็นปี “ฟิสิกส์สากล” โดยที่ก่อนหน้านั้นสหภาพสากลแห่งฟิสิกส์บริสุทธิ์และประยุกต์ (The International Union of Pure and Applied Physics: IUPAP) ได้ถือเป็นโอกาสอันดีในการเผยแพร่ความรู้ทางด้านฟิสิกส์ จึงประกาศให้เป็น “ปีแห่งฟิสิกส์โลก” (World Year of Physics)
จัดงานทั่วโลกฉลองวาระไอน์สไตน์เสนอผลงานครบ 100 ปี
สำหรับความสำคัญของปีดังกล่าวถือเป็นวาระครบ 100 ปีมหัศจรรย์ (Miraculous Year) ของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ที่เสนอผลงานทางวิชาการถึง 5 ผลงาน ในระยะเวลาเพียง 4 เดือน ซึ่งมี 3 ผลงานที่ปฏิวัติโลกคือ “ปรากฏการณ์โฟโตอิเลกตริก” (Photoelectric Effect) “การเคลื่อนที่แบบบราวเนียน” (Brownian Motion) และ “ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ” (Special Theory of Relativity) และรวมผลงานที่คุ้นตาคนทั่วโลกมากที่สุดนั่นคือสมการที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างมวลและพลังงาน E=Mc2 ด้วย
ส่วนการเฉลิมฉลองที่เป็นข่าวแรกของปีเริ่มต้นที่ประเทศอังกฤษด้วยการโชว์ปั่นจักรยานผาดโผนไต่เพดาน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างนักฟิสิกส์และนักขี่จักรยานผาดโผนในการคิดท่าและการแสดง จากนั้นมีการแสดงบัลเลต์ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากสมการและปรากฏการณ์เคลื่อนที่ของบราวเนียนซึ่งไอน์สไตน์ได้ใช้สมการอธิบายเพื่อแสดงให้เห็นว่า “อะตอม” มีจริง ส่วนที่สหรัฐอเมริกาก็มี www.wyp2005.org เป็นเว็บไซต์ทางการที่รวบรวมกิจกรรมเกี่ยวกับไอน์สไตน์ของหน่วยงานต่างๆ ทั่วโลก พร้อมด้วยภาพและประวัติรวมถึงความสำคัญของการจัดงาน
กระทรวงวิทย์เป็นเจ้าภาพจัดงานในไทย
ลักษณะการจัดงานของต่างประเทศส่วนหนึ่งก็เป็นแบบฉบับของการจัดงานในเมืองไทยบางส่วน ทั้งนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เป็นเจ้าภาพอย่างทางการ โดยมีความร่วมมือจากหน่วยงานในกำกับคือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.), สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ(ปส.), ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ, องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์(อพวช.) และกรมวิทยาศาสตร์บริการ
การจัดงานที่เด่นชัดของกระทรวงฯ เท่าที่เห็นคือการจัดนิทรรศการในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ณ อิมแพค เมืองทองธานี ซึ่งได้ สวทช.เป็นเจ้าภาพ ในแง่ปริมาณผู้เข้าชมนับว่าประสบความสำเร็จอย่างมากเพราะมีนักเรียนและผู้เข้าชมงานหลายแสนคน ส่วนหน่วยงานในสังกัดอย่าง ปส.ก็ลุกขึ้นมาจัดกิจกรรมประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับ ม.ปลาย ฉลองปีไอน์สไตน์ พร้อมกันนี้หน่วยงานอื่นๆ ในความร่วมมือจัดงานต่างรับลูกเผยแพร่ข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตตามเว็บไซต์ขององค์กร
แม้กระทั่งการฉลองกันเองภายในแวดวงนักฟิสิกส์ก็มี อย่างการประชุมวิชาการนานาชาติทางฟิสิกส์ของกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิกครั้งที่ 3 (Asia-Pacific Conference on Few-Body Problems in Physics: APFB05) ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี(มทส.) ซึ่งมีนักฟิสิกส์จากเอเชีย-แปซิฟิกมาร่วมชุมนุมเสนอผลงานทางวิชาการกว่า 100 คน ซึ่งมี ศ.เฉิน หนิง หยาง (Prof.Chen Ning Yang) นักฟิสิกส์รางวัลโนเบลมาร่วมงานด้วย และยังเปิดโอกาสให้นักเรียนในเขตอีสานใต้ได้ร่วมในงานนี้ ซึ่งนักเรียนหลายคนเปิดใจว่าได้มุมมองใหม่ต่อวิชาฟิสิกส์
วงการหนังสือฉลองปีไอน์สไตน์กันคึกคัก
ส่วนวงการหนังสือดูจะคึกคักที่สุดเพราะมีหนังสือออกมาฉลองวาระปีไอน์สไตน์กันมากมาย เริ่มที่สำนักพิมพ์มติชนที่ได้นักแปลมือปืนอย่าง “รอฮีม ปรามาท” ที่แปลหนังสือ “ก้าวพ้นกรอบไอน์สไตน์” ตามด้วยหนังสือกึ่งสมุดโน้ต “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” ที่รวมวาทะดีๆ ของไอน์สไตน์ และยังมีหนังสือแนวสืบสวนสอบสวน “แฟ้มลับ FBI ล่าไอน์สไตน์” ขณะที่ค่ายซีเอ็ดได้ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิชาการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) มาแต่งหนังสือ “แฟนพันธุ์แท้ไอน์สไตน์” และยังมีหนังสือเก่าๆ ที่เกี่ยวกับไอน์สไตน์อีกมากมาย
นอกจากนี้นิตยสาร-วารสารที่เผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อยู่เป็นปกติก็ตีพิมพ์ฉบับพิเศษฉลองปีไอน์สไตน์กัน อย่างสำนักพิมพ์สารคดีที่ออกฉบับไอน์สไตน์มาก็ขายได้เกลี้ยงแผงภายในเวลาอันรวดเร็ว จนต้องออกหนังสือ “ไอน์สไตน์: 1 ศตวรรษแห่งปีมหัศจรรย์” ที่มีเนื้อหาเหมือนกันแต่เป็นฉบับย่อส่วนที่พกง่ายขึ้น ขณะที่สำนักพิมพ์บงกชก็ทำฉบับพิเศษให้กับ “โลกวิทยาศาสตร์” น้องใหม่ของนิตยสารวิทยาศาสตร์ ด้านสำนักพิมพ์นานมีก็ทำเรื่องพิเศษพร้อมหน้าปกไอน์สไตน์ให้กับนิตยสาร “Go Genius”
หลายหน่วยงานจัดงาน แต่หลายคนพลาดข้อมูล
ขณะที่หลายฝ่ายก็ร่วมกันจัดงานเพื่อประชาสัมพันธ์ปีไอน์สไตน์แต่ก็มีหลายคนที่พลาดข้อมูลนี้ไป น.ส.ณัฐพร เกลียวสีนาค นักเรียนชั้น ม.6 สายวิทย์-คณิต โรงเรียนวัดสังเวช ไม่ทราบว่าปีนี้มีงานดังกล่าว และรู้สึกแปลกใจว่ามีการจัดฉลองด้วย ทั้งนี้การจัดนิทรรศการสัปดาห์วิทยาศาสตร์ก็จัดไกลเกินไปสำหรับเธอ ส่วน น.ส.วรารัตน์ ศรีสุววรณ นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสัตหีบวิทยาคม จ.ชลบุรี กล่าวว่าเธอก็ไม่ทราบ แต่ว่ารู้ไอน์สไตน์เป็นนักวิทยาศาสตร์ ส่วนการเผยแพร่ข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตนั้นไม่เพียงพอสำหรับเธอเพราะเธอต้องใช้อินเทอร์เน็ตที่โรงเรียนเท่านั้น
ด้าน น.ส.อรทัย วรรณวัฒน์ อาจารย์ซึ่งสอนวิทยาศาสตร์พื้นฐานระดับ ปวส.1 ของวิทยาลัยบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีพิจิตร กล่าวว่าเธอไม่ทราบเลยว่าปีนี้เป็นปีไอน์สไตน์ แต่เธอทราบดีว่าไอน์สไตน์เป็นนักฟิสิกส์ที่มีบทบาทสำคัญต่อวงการวิทยาศาสตร์มาก แต่ผลงานของเขาค่อนข้างห่างไกลจากการรับรู้ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป และทางสถาบันก็ไม่ได้จัดนิทรรศการเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด
ขณะที่นายณัฐดนัย ปุณณะนิธิ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าทราบว่าปีนี้เป็นปีไอน์สไตน์แต่ไม่ทราบรายละเอียด เพราะไม่ค่อยได้ติดตามข่าวสาร แต่ทั้งนี้เขาเห็นด้วยว่าควรจะประชาสัมพันธ์ให้มากกว่านี้
อีกทั้ง น.ส.จินฑารัตน์ เภาประเสริฐ พนักงานบริษัทคูห์เน่ พลัส นาเกิล์ จำกัด ก็เป็นอีกคนที่ไม่ทราบและไม่รู้ว่าจัดขึ้นทำไม เธอรู้ว่าไอน์สไตน์เป็นนักวิทยาศาสตร์แต่ก็ไม่ทราบแน่ชัดว่าเขามีผลงานอะไร และโดยส่วนตัวก็ไม่คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญเท่าไหร่ที่จะต้องรู้ว่าปีนี้เป็นปีไอน์สไตน์ แต่เธอให้ความเห็นควรจะประชาสัมพันธ์ให้มากกว่านี้เพราะคนที่ไม่รู้จักจะได้ทราบว่าเขาเป็นใคร ทำอะไร และมีความสำคัญอย่างไร
ส่วน น.ส.หัสวิภา หมายมั่น นักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ทราบว่าปีนี้เป็นปีไอน์สไตน์และทราบดีว่าไอน์สไตน์คือใคร และมีผลงานอะไรบ้าง ส่วนข่าวคราวของการจัดงานนั้นเธอทราบจากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยมหิดลและเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ และทราบว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้จัดงานเพื่อประชาสัมพันธ์ ซึ่งเธอได้นำข้อมูลดังกล่าวมาจัดนิทรรศการในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย
ชี้นักวิทย์รู้จักปีไอน์สไตน์อยู่แล้ว แต่คนทั่วไปเข้าถึงยาก สื่อต้องช่วย
อย่างไรก็ดีแม้จะมีประชาชนบางส่วนไม่ทราบถึงวาระการเฉลิมฉลองแต่ผู้เกี่ยวข้องก็รู้สึกพอใจผลงาน อย่าง ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ซึ่งนอกจากจะแต่งหนังสือฉลองปีไอน์สไตน์แล้วยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของ สวทช. จัด Einstein Pavilion ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ได้เปิดเผยว่ารู้สึกพอใจกับการจัดงานมากเนื่องจากมีการตื่นตัวเกี่ยวกับฟิสิกส์โดยเฉพาะเรื่องของไอน์สไตน์กันมาก เห็นได้จากแวดลงหนังสือที่ออกหนังสือมาฉลองกันหลายเล่ม และยังมีบทความออกทางสิ่งพิมพ์มากสมควร ส่วนนิทรรศการในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ก็ได้รับความสนใจจากเด็กๆ จำนวนมาก พร้อมทั้งเสนอว่าปีใหม่นี้ควรจะมีกิจกรรมส่งเสริมวิทยาศาสตร์อย่างนี้อีก
ด้าน ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ อดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่เพิ่งเกษียณอายุเมื่อเดือน ก.ย. ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดงานฉลองปีไอน์สไตน์อีกคนและปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของ สวทช. ได้เท้าความว่าต้นปี 2548 ได้ตั้งคณะกรรมการ ผู้เชี่ยวชาญ ร่วมเสนอแผนจัดทำโครงการประชาสัมพันธ์งาน ซึ่งมีกิจกรรมหลายอย่าง อาทิ การจัดสัมมนาและสนทนาเกี่ยวกับไอน์สไตน์ซึ่งจัดทั้งหมด 9 ครั้ง การจัดนิทรรศการซึ่งมีทั้งหมด 7 ครั้ง รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ศ.ดร.ไพรัชประเมินความสำเร็จในการประชาสัมพันธ์งานว่าในหมู่นักวิทยาศาสตร์และนักฟิสิกส์ทราบกันอยู่แล้ว แต่การกระจายข้อมูลสู่สาธารณชนยังไม่มากนัก ซึ่งตรงนี้ทาง อพวช.ได้รับหน้าที่ไป โดยได้จัดคาราวานวิทยาศาสตร์กระจายไปทั่วประเทศ 13 จังหวัด ซึ่งได้นำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับไอน์สไตน์ไปเผยแพร่ อาทิ เกมที่ไอน์สไตน์ชื่นชอบซึ่งช่วยฝึกทักษะ หรือละครประวัติไอน์สไตน์ซึ่งการจัดงานดังกล่าวได้รับการตอบรับอย่างดี
นอกจากนี้ยังได้เผยเกี่ยวกับการเสวนาเรื่องไอน์สไตน์ในงาน “เทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชนครั้งที่ 3” ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่ง ศ.ดร.ไพรัชได้ร่วมเสวนากับนักวิทยาศาสตร์หลายๆ ท่านก็ได้รับความสนใจไม่น้อย และขณะนี้กำลังเขียนหนังสือเกี่ยวกับไอน์สไตน์และพร้อมจะตีพิมพ์ในต้นปีนี้
ส่วนกรณีที่ประชาชนทั่วไปยังไม่ทราบว่ามีการจัดงานฉลองให้กับไอน์สไตน์นั้น เป็นเพราะงานของไอน์สไตน์เป็นเรื่องที่เข้าใจยากและค่อนข้างไกลจากชีวิตประจำวัน ผลงานของไอน์สไตน์ที่ใกล้ตัวขึ้นมาก็คือ “เลเซอร์” ซึ่งมีพื้นฐานจากทฤษฎีของไอน์สไตน์ แต่ถ้าพูดถึงผลงานไอน์สไตน์ที่บอกว่าไม่มีอะไรเร็วกว่าแสง คนทั่วไปก็จะงงเพราะไม่มีใครเคยเคลื่อนที่ได้เร็วเท่าแสง
ทางด้านผู้มีบทบาทสำคัญในการนำกิจกรรมเข้าถึงประชาชนอย่าง ดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการ อพวช.กล่าวว่ากิจกรรมคาราวานวิทยาศาสตร์ที่ตระเวนจัดทั่วประเทศพร้อมด้วยนิทรรศการไอน์สไตน์ได้รับเสียงตอบรับที่ดี โดยแต่ละครั้งมีผู้เข้าชม 3,000-4,000 คน แต่ติดปัญหาที่จัดได้เพียงจังหวัดละ 1 วันทำให้ถูกต่อว่าในเรื่องเวลาที่จำกัด และละครวิทยาศาสตร์ที่พูดถึงประวัติไอน์สไตน์ก็เป็นอีกกิจกรรมซึ่งได้รับความสนใจมาก และทำให้หลายคนมองไอน์สไตน์ในทางบวกมากขึ้น โดยละครจะแสดงอีก 2 ครั้งคือวันที่ 7 ม.ค.นี้ ที่ จ.ยะลา และอีกครั้งในวันเด็กที่ อพวช. คาดว่าปีนี้จะมีกิจกรรมอย่างนี้อีกต่อเนื่อง ส่วนละครก็คงต้องเปลี่ยนเรื่องไป
อีกคนคือ รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการ สวทช. เผยว่าปีพิเศษที่ผ่านมานั้นได้ทาง สวทช.ได้ทำงานพิเศษเพิ่มจากปกติขึ้นมากและทีมงานก็ทำงานได้ผลดีทีเดียว โดย สวทช.ได้ร่วมทำงานกับกระทรวงในของการจัดนิทรรศการสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ส่วนกรณีที่ประชาชนบางส่วนยังไม่ทราบว่ามีการจัดงานนั้น รศ.ดร.ศักรินทร์ได้ให้ความเห็นว่าการรับรู้ของส่วนรวมก็ดีขึ้นแต่ยังไม่ดีใกล้เคียงกับที่ควรจะเป็น ทั้งนี้สื่อต้องช่วยเยอะมาก เพราะลำพังกระทรวงวิทยาศาสตร์และ สวทช.คงทำได้ไม่ถึงทั้งหมด ซึ่งหากต้องการให้ประชาชนทราบมากกว่านี้ต้องอาศัยสื่อช่วยเหลือเยอะพอสมควร โดยปีที่ผ่านสื่อก็เริ่มช่วยมากขึ้น บางฉบับก็มีพื้นที่ให้วิทยาศาสตร์พอสมควร แต่บางฉบับก็ยังไม่ให้ความสำคัญเท่าไหร่
ฉลองปีไอน์สไตน์แปลกกับสังคมไทย แต่จุดให้คนยกย่อง “นักคิด”
อย่างไรก็ดีในความเห็นของ ผศ.ดร.ธนากร โอสถจันทร์ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นว่าการจัดงานฉลองปีไอน์สไตน์นั้นเป็นสิ่งแปลกของสังคมไทย เพราะโดยปกติคนไทยไม่ค่อยได้ยกย่อง “นักคิด” แต่ในเมื่อเรารับวัฒนธรรมดังกล่าวมาแล้ว เชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้เราหันมาสนใจผู้ที่คิดอะไรให้กับสังคม