ประวัติศาสตร์อียิปต์ได้บันทึกว่า ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2341 (รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ) กองทัพเรือฝรั่งเศสภายใต้การนำของ Napoleon Bonaparte ที่มีทหาร 36,000 คน และเรือ 400 ลำได้เดินทางถึงเมือง Alexandria ในอียิปต์ และได้ทำสงครามชนะกองทัพของ Mamaluke ผู้ครองอาณาจักรอียิปต์ในขณะนั้นอย่างราบคาบในอีก 3 สัปดาห์ต่อมา แต่เมื่อถึงวันที่ 31 กรกฎาคม ปีเดียวกัน นายพล Horatio Nelson แห่งอังกฤษก็ได้ใช้แสนยานุภาพของกองทัพเรือที่เกรียงไกรกวาดล้างกำลังทหารเรือของ Napoleon จนหมดสิ้น ทำให้ทหารเรือฝรั่งเศสที่ได้เดินทางขึ้นฝั่งแล้ว ตกค้างอยู่ในดินแดนอียิปต์อย่างไม่มีเรือจะโดยสารกลับบ้านเกิดเมืองนอน จึงได้ใช้เวลาที่ถูกตัดขาดจากฝรั่งเศสเดินทางสำรวจอียิปต์ต่อเป็นเวลานาน 3 ปี
สำหรับนายพล Napoleon ซึ่งได้ขึ้นฝั่งพร้อมทหารก็ได้ทิ้งทหารของตน หลังเวลาผ่านพ้นไปได้ 1 ปี หลบหนีผ่านกองทัพเรืออังกฤษที่ปิดกั้นกลับฝรั่งเศสได้ ส่วนกองทหารที่นโปเลียนนำไปสำรวจอียิปต์นั้น ประกอบด้วยนักวิชาการหลายประเภท เช่น นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร แพทย์ ฯลฯ รวมทั้งสิ้น 151 ชีวิต โดยมีจุดมุ่งหมายจะศึกษาอารยธรรม และวัฒนธรรมของอียิปต์ในทุกๆ ด้าน และกองทัพวิชาการนี้ก็ได้ประสบความสำเร็จสูง เมื่อได้พบโบราณวัตถุ เช่น พีระมิด รูปปั้น ฯลฯ มากมายซึ่งแสดงให้เห็นความเป็นอารยะของอียิปต์ เมื่อ 5,000 ปีก่อนอย่างที่โลกไม่เคยรู้มาก่อน
จะอย่างไรก็ตาม การพบแผ่นหิน Rosetta โดยพลทหารชื่อ Boussard ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2342 อาจถือได้ว่าเป็นการค้นพบที่สำคัญที่สุด และมีชื่อเสียงที่สุด อนึ่ง การที่แผ่นดินมีชื่อเช่นนี้ เพราะถูกพบที่ Rosetta ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่ห่างจากเมือง Alexandria ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 56 กิโลเมตร ตัวแผ่นทำด้วยหิน basalt ที่ยาว 1.3 เมตร มีสีดำโดย Boussard ได้สังเกตเห็นมันปักโผล่ขึ้นจากพื้นทราย และมีลักษณะคล้ายแผ่นหินประดับที่หน้าหลุมฝังศพ แต่เมื่อเขาพินิจพิจารณามันอย่างรอบคอบ เขาก็เห็นว่ามันมีตัวอักษรรูปร่างประหลาดๆ จารึกอยู่ และถึงแม้พยายามจะอ่านสักเพียงใด เขาก็อ่านไม่ออก จึงตัดสินใจนำแผ่นหินลึกลับไปให้นายพล Menou ผู้บังคับบัญชาดู และทันทีที่ Menou เห็น เขาก็รู้ว่ามันมีค่ามากจึงนำไปเก็บไว้ที่บ้านตน แต่เมื่อ Napoleon ทราบข่าวการพบศิลาจารึกลึกลับ เขาก็มีบัญชาให้นำไปเก็บที่ French Institute ใน Cario เพื่อศึกษาต่อไป การแพ้สงครามของฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2344 ทำให้อังกฤษต้องการศิลา Rosetta มาไว้ในครอบครองบ้าง จึงได้บังคับยึดศิลา Rosetta จากฝรั่งเศสเพื่อนำมาประดิษฐานที่ British Museum ของอังกฤษ และศิลาแผ่นนี้ก็ยังอยู่ที่ London และเป็นสิ่งประดิษฐ์ชิ้นหนึ่งที่นักท่องเที่ยวผู้ไปเยี่ยมชม British Museum ทุกคนต้องแวะไปดู
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ศิลา Rosetta สำคัญ และเป็นสมบัติที่มีค่าควรเมือง คำตอบคือศิลานี้มีภาษาจารึกอยู่ 3 ภาษา ส่วนบนเป็นอักษรภาพอียิปต์ที่เรียกว่า hieroglyph ส่วนกลางเป็นภาษา demotic และส่วนล่างคือภาษากรีก ซึ่งเป็นภาษาราชการของอียิปต์ในสมัยเมื่อ 2,200 ปีก่อน โดยภาษาที่ปรากฏทั้ง 3 ภาษานี้ บรรยายเรื่องเดียวกัน ดังนั้น การเข้าใจความหมายที่เขียนเป็นภาษากรีก จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจความหมายที่เขียนเป็นภาษา demotic และ hieroglyph ด้วย
และบุคคลผู้ที่ประสบความสำเร็จในการอ่านศิลา Rosetta เป็นคนแรกคือ Jean Francois Champolion ผู้ต้องใช้เวลานานถึง 20 ปี จึงอ่านศิลา Rosetta ออกในปี พ.ศ. 2365 เมื่ออ่านจบ Champolion ก็ล้มเจ็บ ขณะนอนนิ่งในอาการโคม่าจนสิ้นชีวิต ขณะมีอายุ 40 ปี
อัจฉริยะ Champolion ผู้นี้เป็นชาวฝรั่งเศส บิดาเป็นคนขายหนังสือ ในวัยเด็กเขาสนใจศึกษาภาษาโบราณมาก ดังนั้น จึงรู้ภาษาละติน กรีก อารบิก ฮิบรู เปอร์เซียน และ Chaldean ดี เมื่ออายุ 20 ปี เขาได้ทำบรรณานุกรมภาษา Coptic ซึ่งเป็นภาษาอียิปต์โบราณที่มีคำมากถึง 2,000 คำ เหตุการณ์การพบศิลา Rosetta ทำให้ Champolion หันมาสนใจอ่านภาษาลึกลับที่จารึกบนศิลาทันที และเขาก็ได้พบว่า ทั้ง 3 ภาษานั้น พูดถึงเหตุการณ์เดียวกันคือกล่าวสดุดีปโตเลมี Epiphanes เมื่อขึ้นครองราชสมบัติ
ความสำเร็จนี้จึงเปรียบได้กับการเข้าใจสิ่งที่ผู้ล่วงลับไปเมื่อ 2,000 ปีก่อน พยายามจะบอกเป็นครั้งแรก และนี่ก็คือการเปิดศักราชของวิทยาการด้านอียิปต์วิทยา โดยศิลา Rosetta ที่อังกฤษได้ไปครอบครอง และที่อียิปต์เรียกร้องจะได้คืน แต่ไม่มีสิทธิ์ เพราะตามข้อตกลงขององค์การสหประชาชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2514 ระบุว่า วัตถุโบราณใดก็ตามที่ถูกขโมยหรือส่งออก หลังจากปี 2514 จะต้องคืนเจ้าของ เพราะ Rosetta ถูกพบและถูก ขโมย ก่อน ดังนั้นศิลา Rosetta จึงไม่อยู่ในเกณฑ์ และเพื่อไม่ให้คนอียิปต์เสียใจมากรัฐบาลอียิปต์ก็ได้นำก๊อบปี้ของศิลา Rosetta มาติดตั้งที่พิพิธภัณฑ์อียิปต์เป็นการทดแทน
นอกจากวิทยาการด้านโบราณคดีแล้ว กองทัพวิชาการของ Napoleon ในครั้งนั้นก็ยังได้บุกเบิกวิทยาการอีกหลายแขนง
เช่นได้ไปสำรวจ Valley of the Nile ซึ่งยิ่งใหญ่อลังการ และนี่นับเป็นครั้งแรกที่ชาวยุโรปได้ยลโฉมของอารยธรรมอียิปต์อย่างจะจะด้วยตา จากที่เคยได้ฟังหรืออ่านเอกสารของ Herodotus, Shabo และ Diodorus แห่ง Sicily ซึ่งทำให้คนทั่วไปคิดว่าเป็นอาคารขนาดย่อม แต่ปราสาทฟาโรห์ของจริงมีขนาดมโหฬารมาก หรือเมื่อเห็นมงกุฎของฟาโรห์ นักสำรวจชุดนั้นหลายคนคิดว่า นั่นคือทรงผมที่ประหลาดๆ เป็นต้น เพราะนักสำรวจเหล่านั้นไม่รู้อะไรๆ ที่เกี่ยวกับอียิปต์เลย ดังนั้น เมื่อเห็นอักษร hieroglyphe เห็นภาพที่ปรากฏตามกำแพง ตามผนังพีระมิด นักศิลป์ก็จะวาดบันทึกหมด และวาดอย่างละเอียดโดยไม่รู้แม้แต่น้อยว่า ที่วาดๆ และบันทึกๆ ลงไปนั้นคืออะไร นอกจากนั้น คณะนักวิชาการชุดนี้ก็ยังได้สเกตช์ภาพภูมิประเทศ อาหาร และวิหารต่างๆ ที่เรียงรายทั้งสองฝั่งของแม่น้ำไนล์ด้วย และได้รวบรวมข้อมูลทุกชนิดที่ได้จากการสำรวจนี้ลงพิมพ์ในหนังสือชื่อ La Description de l' Egypte ในปี พ.ศ. 2352 หนังสือที่หนา 7,000 หน้านี้มีทั้งหมด 10 เล่ม ภายในมีภาพวาดของอาคาร สิ่งก่อสร้าง แผนที่ ฯลฯ ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นอียิปต์โบราณ อียิปต์สมัยใหม่ และประวัติหนังสือ La Description de l' Egypte ก็นับเป็นเอกสารอีกชิ้นหนึ่งที่มีส่วนในการทำให้โลกสนใจศึกษาอียิปต์โบราณ
ในส่วนที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์นั้น Gaspard Monge ซึ่งเป็นผู้หนึ่งในคณะนักสำรวจก็ได้ เป็นบุคคลแรกที่อธิบายปรากฏการณ์ภาพลวงตา (mirage) ในทะเลทรายได้เป็นครั้งแรก เมื่อเขาเห็นน้ำที่ขอบฟ้าเป็นละลอกคลื่น ขณะเขาอยู่ในทะเลทราย แต่เมื่อเขาเดินเข้าไปใกล้น้ำก็ถดถอยหนี การ 'เห็น' เช่นนี้ได้ทารุณทหารที่กำลังเดินในทะเลทรายมาก และ Monge ก็ได้อธิบายสาเหตุการเกิดภาพลวงตา เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2341 ว่าเกิดจากแสงสะท้อนที่ผิวทราย หักเหผ่านชั้นบรรยากาศที่มีความหนาแน่นไม่เท่ากันเข้าสู่ตา
ส่วน Claude-Louis Bertholet ซึ่งเป็นนักเคมีผู้หนึ่งก็ได้เรียบเรียงหนังสือชื่อ Observations sur le natron ซึ่งได้กล่าวถึงความรู้ใหม่ที่เขาพบจากการศึกษาปฏิกิริยาเคมีในทะเลสาบน้ำเค็มที่อยู่ห่างจาก Cairo ประมาณ 100 กิโลเมตรว่า ความดันอุณหภูมิ และแสงสว่างเป็นปัจจัยที่ควบคุมการเกิดปฏิกิริยาเคมีนอกเหนือไปจากความรู้เดิมๆ ที่ว่าคุณสมบัติของสารที่ใช้ในการทำปฏิกิริยาเคมีอย่างเดียวเท่านั้น คือปัจจัยสำคัญ
สำหรับนักชีววิทยาเช่น Etienne Geoffroy Saint-Hilaire และ Jules-Cesar Lelorgne de Savigny นั้นก็ได้บันทึกข้อมูลสัตว์ต่างๆ ที่คณะนักสำรวจชุดนี้ได้พานพบตลอดเวลา 3 ปีที่ท่องอาณาจักรฟาโรห์
เมื่อเร็วๆ นี้หนังสือชื่อ Science and Policy in France : The Revolutionary and Napoleonic Years ที่เขียนโดย C. C. Gillispie และจัดพิมพ์โดย Princeton University Press หนา 667 หน้า ราคา 80 เหรียญสหรัฐออกวางตลาด
หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงเหตุการณ์ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 68 ว่า ขณะที่อังกฤษมีปฏิวัติอุตสาหกรรม ฝรั่งเศสก็กำลังมีการปฏิวัติการเมือง และปฏิวัติวิทยาศาสตร์เช่นกัน โดยในการปฏิวัติวิทยาศาสตร์นั้น นักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์ นักเคมี และนักสรีรวิทยาของฝรั่งเศสต่างก็ได้พัฒนาความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมา และได้จัดตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูงขึ้นหลายแห่ง โดยเฉพาะ Lazare Carnot กับ Gaspard Monge ผู้เป็นนักคณิตศาสตร์ และ Louis-Bernard Guyton de Morveau ผู้เป็นนักเคมีนั้นได้ใช้ความสามารถเฉพาะทางของตน ในการต่อสู้ป้องกันประเทศ การช่วยประเทศลักษณะนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์มีอำนาจ และในขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ก็มีส่วนทำให้ฐานกำลังของ Napoleon เข้มแข็งขึ้นด้วย นอกจากนี้ตัว Napoleon เองก็เป็นคนที่รักวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เช่น ชอบแก้ปัญหาแบ่งวงกลมออกเป็นสี่ส่วนเท่าๆ กัน โดยใช้วงเวียนเท่านั้น และชอบมีเพื่อนเป็นนักวิทยาศาสตร์ ดังนั้นการผสมผสานระหว่างการเมืองกับวิทยาศาสตร์ จึงทำให้ฝรั่งเศสมีอำนาจ และความสามารถตั้งแต่นั้นมาจนทุกวันนี้ครับ
สุทัศน์ ยกส้าน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สสวท