xs
xsm
sm
md
lg

ใช้เซลล์สมองคนสร้างสมองหนู ทำโมเดลจริงไขปริศนาพาร์กินสัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอพี - นักวิจัยอเมริกันประกาศก้องสามารถสร้างหนูจากเซลล์สมองมนุษย์ เพื่อใช้เป็นโมเดลที่เป็นจริงของความผิดปกติในระบบประสาท อันจะนำไปสู่ความคืบหน้าในการพัฒนาวิธีการรักษาโรค อาทิ พาร์กินสัน

เฟร็ด เกจ (Fred Gage) จากสถาบันซัลค์ (Salk Institute) ในซานดิเอโก นำทีมนักวิจัยสร้างหนูด้วยการฉีดเซลล์ต้นแบบที่ได้จากตัวอ่อนระยะแรกประมาณ 100,000 เซลล์ต่อหนู 1 ตัว เข้าสู่สมองของตัวอ่อนของหนูที่มีอายุ 14 วัน อันจะทำให้หนูเหล่านั้นเกิดมาพร้อมเซลล์ของมนุษย์ราว 0.1% ในสมอง ซึ่งถือว่าห่างไกลมากจากการทำให้หนูมีลักษณะสังกัดของมนุษย์

“การทดลองนี้สะท้อนว่า การฉีดเซลล์ต้นแบบของคนเข้าไปในสมองหนู ไม่ได้ทำให้โครงสร้างในสมองหนูเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด” เกจกล่าว กระนั้น งานของนักวิจัยกลุ่มนี้ยิ่งเพิ่มความกังวลด้านศีลธรรมเรื่องการจับเซลล์ของคนกับสัตว์มาผสมกันในงานวิจัยเกี่ยวกับการโคลนนิ่งและเซลล์ต้นแบบ แม้หนูมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนมนุษย์ถึง 97.5% ก็ตาม

“สิ่งที่ห่วงกันก็คือ คุณกำลังล้ำเส้น ถ้าทำให้หนูมีลักษณะเหมือนมนุษย์มากเกินไป แต่ผมไม่คิดว่า งานวิจัยนี้จะเฉียดใกล้ความกังวลนั้น” เดวิด แมกนัส (David Magnus) ผู้อำนวยการศูนย์จริยธรรมชีวเวช สแตนฟอร์ด (Stanford Medical Center for Biomedical Ethics) กล่าว

ทั้งนี้ เซลล์ต้นแบบจากตัวอ่อนระยะแรกถูกสร้างขึ้นในวันแรกๆ หลังการปฏิสนธิ และเป็นต้นกำเนิดของอวัยวะและเนื้อเยื่อทั้งหมดในร่างกายมนุษย์ นักวิจัยหวังว่า วันหนึ่งจะสามารถนำเซลล์ต้นแบบมาทดแทนเนื้อเยื่อที่มีโรค ทว่า กลุ่มอนุรักษ์นิยมจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ต่อต้านหัวชนฝา โดยยกเหตุผลอ้างอิงว่า ตัวอ่อนจะถูกทำลายระหว่างการทดลอง

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยเริ่มลุกขึ้นมาชนกับสิ่งที่นักจริยธรรมชีวภาพเรียกว่า ‘yuck factor’ หรือความไม่พอใจอย่างรุนแรงที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติของคนหนึ่งๆ ต่อเรื่องราวหรือแนวคิดใดๆ

ตัวอย่างเช่น 3 นักวิจัยระดับหัวกะทิด้านการโคลนนิ่งกำลังทำเรื่องขอสิทธิบัตรการฉีดชุดดีเอ็นเอมนุษย์ที่สมบูรณ์เข้าสู่ไข่ของสัตว์ เพื่อผลิตเซลล์ต้นแบบมนุษย์จากตัวอ่อนระยะแรก โดยโจเซ ไซเบลลี (Jose Cibelli) 1 ใน 3 นักวิจัยทีมนี้ ทำการทดลองนี้ครั้งแรกในปี 1988 โดยการฉีดเซลล์จากแก้มของตัวเองเข้าสู่ไข่แม่โค

“ไอเดียก็คือ ขโมยกลไกของไข่” ไซเบลลี ที่ปัจจุบันทำงานให้กับมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิชิแกน (Michigan State University) ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเซลล์มนุษย์ที่เข้าข่ายละเมิดกฎหมายของรัฐ อธิบาย

ขณะเดียวกันก็มีนักวิจัยอีกจำนวนหนึ่งทำการทดลองในลักษณะคล้ายกัน โดยใช้ไข่ไก่และกระต่ายแทน ขณะที่นักวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนียในเออร์วิน รายงานว่า สามารถทำให้หนูที่เป็นอัมพาตกลับมาเดินได้ หลังจากฉีดเซลล์ประสาทของคนเข้าไป

หลายปีมาแล้ว แพทย์ปลูกถ่ายลิ้นหมูในหัวใจมนุษย์ แต่ก่อนหน้านั้นหลายปี นักวิจัยนำเซลล์มนุษย์เข้าไปทดลองในห้องวิจัยสัตว์ อย่างไรก็ดี สำหรับเซลล์สมองนั้นดูจะทำให้ระดับความกังวลรุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากมีบางคนจินตนาการสถานการณ์ฝันสยองเกี่ยวกับสัตว์ที่มีความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์อยู่ในสมอง

“โรคอย่างพาร์กินสันอาจบำบัดได้ด้วยการใช้เซลล์ต้นแบบ และอาจจินตนาการได้ แม้ไม่มีแนวโน้มที่จะเป็นอย่างนั้น ว่าความสามารถในการรับรู้ของสัตว์อาจได้รับผลกระทบจากการบำบัดด้วยวิธีนี้ก็ตาม” รายงานที่เผยแพร่โดยบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติอันทรงอิทธิพลของสหรัฐฯ เมื่อเดือนเมษายน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อร่างขอบเขตจริยธรรมในการวิจัย ระบุ

เท่ากับว่า รายงานแนะนำให้ทดลองในลักษณะดังกล่าวได้ แต่ต้องมีการกำหนดแนวทางจริยธรรมที่เข้มงวด อีกทั้ง “ควรมีการทบทวนพิธีการเพื่อให้มั่นใจว่า นักวิจัยคำนึงถึงความเป็นไปได้เหล่านั้น และมีแผนที่อ่อนไหวด้านจริยธรรมพร้อมแล้ว หากปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น” รายงานสรุป

ขณะเดียวกัน รายงานได้รับรองการวิจัยที่มีการนำเนื้อเยื่อคนและสัตว์มาผสมกัน ว่ามีความสำคัญต่อการสร้างหลักประกันว่า ยาตัวใหม่ที่อยู่ระหว่างการทดลองและการบำบัดด้วยการเปลี่ยนเนื้อเยื่อปลอดภัยต่อคนตามที่นักวิจัยกล่าวอ้าง

ทางด้านเกจกล่าวว่า ผลงานการวิจัยที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสารของสมาคมวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ฉบับวันจันทร์ที่ผ่านมา (12 ธ.ค.) เป็นอีกก้าวย่างหนึ่งสู่เป้าหมายในการเอาชนะอุปสรรคทางเทคนิคที่ใหญ่ที่สุดของการวิจัยเซลล์ต้นแบบ ซึ่งหมายถึงเวลาที่จะสามารถฉีดเซลล์ต้นแบบเข้าสู่คนไข้จริงๆ

ผลการวิจัยของเกจและทีมงานบ่งชี้ว่า เมื่อฉีดเซลล์ต้นแบบจากตัวอ่อนระยะแรกเข้าสู่คน เซลล์นั้นจะเติบโตและเข้าสู่เซลล์ที่อยู่รายล้อม แต่ขณะนี้ ยังไม่มีมนุษย์คนใดได้รับการฉีดเซลล์ต้นแบบจากตัวอ่อนระยะแรกเนื่องจากยังไม่รู้แน่ชัดว่า เซลล์เหล่านี้จะมีพัฒนาการอย่างไรเมื่อเข้าไปในร่างกายมนุษย์ อีกทั้ง เกจได้ปิดท้ายว่า ขณะนี้งานของเขาเป็นการยกระดับการทำความเข้าใจโรคมากกว่าการคิดค้นวิธีรักษา


กำลังโหลดความคิดเห็น