xs
xsm
sm
md
lg

“เครื่องตรวจระเบิดใต้ท้องรถ” ฝีมือเด็กอาชีวะแก้โจทย์ให้เรือนจำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักศึกษาอาชีวะหนองคายติดกล้องวงจรปิดให้เครื่องตรวจวัตถุระเบิดแก้โจทย์เรือนจำ หาสิ่งแปลกปลอมใต้ท้องรถได้สะดวกทั้งกลางวันกลางคืน พร้อมส่งสัญญาณวิทยุในรัศมี 200 เมตร ช่วยให้ผู้บัญชาการตรวจงานลูกน้องได้ จากผลงานใช้ประโยชน์ได้จริงทำให้คว้ารางวัลเกียรตินิยมจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์คนรุ่นใหม่ไปครอง

ในการประกวด "สิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ เทิดไท้ มหาราชันย์" ประจำปีการศึกษา 2548 ระหว่างวันที่ 1-4 ธ.ค. ณ ห้างเดอะมอลล์ บางกะปิ ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา มีผลงานที่แสดงพลังสมองของเยาวชนระดับอาชีวศึกษามากมาย “เครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดและสิ่งแปลกปลอมใต้ท้องรถยนต์” ผลงานนักศึกษาวิทยาลัยการอาชีพบึงกาฬซึ่งได้รับรางวัลเกียรตินิยมสำหรับสิ่งประดิษฐ์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต นับเป็นอีกผลงานที่น่าสนใจ

นายสงกรานต์ นีระวงศ์ นักศึกษา ปวช.3 แผนกวิชางานอิเล็กทรอนิกส์ จากวิทยาลัยการอาชีพบึงกาฬ จ.หนองคาย หนึ่งในผู้ประดิษฐ์เล่าถึงที่มาของผลงานว่าทางเรือนจำ อ.บึงกาฬได้ติดต่อให้ช่วยประดิษฐ์เครื่องตรวจวัตถุใต้ท้องรถแบบใหม่แทนเครื่องตรวจแบบเดิมที่ใช้กระจกตรวจหาแบบสิ่งแปลกปลอมและวัตถุระเบิดใต้ท้องรถที่วิ่งเข้า-ออกเรือนจำ เนื่องจากการใช้กระจกมีข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งสำรวจได้ไม่ถี่ถ้วนและใช้ในช่วงกลางคืนไม่ได้

“ได้ความคิดมาจากเรือนจำ คือเขามาติดต่อให้ทำเครื่องตรวจวัตถุระเบิดแบบใหม่ เพราะแบบเก่าใช้กระจกตรวจได้ไม่ละเอียด พอกลางคืนไม่มีแสงก็ใช้ไม่ได้ อีกอย่างที่เรือนจำมีรถเข้าออกประจำ แม้พยายามตรวจอย่างละเอียดแล้วก็ยังมีสิ่งผิดกฎหมายเล็ดลอดเข้าไปได้” นายสงกรานต์เล่าที่มา

สำหรับเครื่องตรวจวัตถุระเบิดนี้มีอุปกรณ์หลักๆ คือ กล้องวงจรปิดติดอยู่ที่ปลายแขนเครื่องตรวจซึ่งสามารถสิ่งบริเวณท้องรถที่การก้มมองในมุมตรงไม่สามารถเห็นได้ ทั้งนี้ตัวกล้องวงจรปิดจะสามารถรับสัญญาณได้ทั้งภาพและเสียง (AV) ภาพจากกล้องจะไปปรากฏที่มอนิเตอร์แบบเดียวกับที่ติดกับรถยนต์ และยังมีเครื่องส่งสัญญาณวิทยุ UHF ที่ความถี่ 2.4 GHz ไปยังเครื่องรับหรือมอนิเตอร์ในรัศมี 200 เมตร ซึ่งเป็นระยะหวังผล ในการทำงานช่วงกลางคืนมีชุดส่องสว่างจาก LED ที่ประหยัดพลังงานมากกว่าหลอดไส้ ส่วนแบตเตอรี่ที่ใช้มีขนาดแรงดัน 10 โวลต์ กระแส 5 แอมแปร์ สามารถใช้งานต่อเนื่องได้นาน 3.5 ชั่วโมง

นายสงกรานต์อธิบายว่าการติดสัญญาณวิทยุไปยังเครื่องรับที่อยู่ไกลออกไปจะช่วยให้ผู้บังคับบัญชาสามารถตรวจสอบการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชาได้ ทั้งนี้ได้มีการทดลองใช้เครื่องตรวจนี้แล้วที่เรือนจำ อ.บึงกาฬ และกองร้อยตำรวจตระเวรชายแดน (ตชด.) ที่ 244 ซึ่งทางเรือนจำหลังจากได้ติดต่อให้นักศึกษาช่วยปรับปรุงเครื่องตรวจวัตถุระเบิดก็ได้สั่งซื้ออุปกรณ์ดังกล่าว 2 เครื่อง ซึ่งราคาต่อเครื่องอยู่ที่ประมาณ 17,500 บาท

นายสงกรานต์กล่าวว่าผลงานชิ้นนี้สำเร็จลงได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจของนักศึกษาแผนกวิชางานอิเล็กทรอนิกส์อีก 9 คนคือ 1.นายนิรันดร์ หาญธงชัย 2.นายคมสันต์ เบ้ารักษา 3.นายนันทพงษ์ ลิมปิกุล 4.นางสาวยุดา ตันหยง 5.นายเฉลิมพล ดาศรี 6.นายนัฐพงษ์ เจริญยิ่ง 7.นางสาวไพรินทร์ คำพิพัฒน์ 8.นางสาวนารีรัตน์ วงศ์ที และ 9.นางสาวนันนภัส มณีเนตร ซึ่งทั้งหมดได้ใช้เวลาร่วมกันคิดและประดิษฐ์เครื่องดังกล่าวจนสำเร็จในช่วงเวลา 2-3 เดือน ทั้งนี้นายสงกรานต์ยังได้เปิดเผยอีกว่าจะพัฒนาให้ตัวฐานที่ติดกล้องสามารถปรับมุมโค้งงอได้ด้วยมอเตอร์ซึ่งจะทำให้การใช้งานสะดวกยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดียังมีผลงานของคนรุ่นใหม่อีกหลายชิ้นที่แม้จะไม่ได้รางวัลใดๆ แต่ก็เป็นผลงานที่มีคุณภาพและพร้อมที่ต่อยอดไปใช้ได้จริง ซึ่งนับว่ามีคุณค่ากว่า ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ขอเป็นกำลังใจให้เยาวชนเหล่านี้ได้สร้างสรรค์ผลงานที่ดีต่อไป

คลิกที่ไอคอน Manager Multimedia
เพื่อรับชมภาพเพิ่มเติม


ดูภาพชุดจาก Manager Multimedia

กำลังโหลดความคิดเห็น