xs
xsm
sm
md
lg

ชี้นักวิจัยไทยต้องเก่งรอบด้านอย่าง "ทศกัณฑ์ "

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. ชี้ นักวิจัยยุคใหม่ต้องเก่งรอบด้านเหมือน "ทศกัณฑ์" เผยนักวิจัยไทยมีมากขึ้น แต่ต้องเพิ่มอีก 10 เท่าถึงจะพอเพียง แจงนักวิจัยควรได้ทำงานวิจัยเต็มที่ ยันนักวิจัยไทยมีคุณภาพไม่แพ้ต่างชาติ เป็นรองแค่สิงคโปร์ในกลุ่มอาเซียน

สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการปาฐกถาศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สิรินทร์ พิบูลนิยม ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 30 พ.ย.- 1 ธ.ค. ณ อาคารสถาบันวิจัยและพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยวานนี้ (1 ธ.ค.) ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ที่ปรึกษาอาวุโสสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นองค์ปาฐกเรื่อง “นักวิจัยไทย: ทศกัณฑ์ยุคใหม่” พร้อมกล่าวว่า นักวิจัยไทยยุคใหม่จำเป็นต้องมีความสามารถรอบด้าน เปรียบได้กับการเป็นทศกัณฑ์

ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า นักวิจัยไทยจะต้องไม่เพียงแต่การทำงานวิจัยเท่านั้น แต่ต้องติดต่อสื่อสารกับคนรอบข้างได้ ต้องทำงานอย่างมีเครือข่ายระหว่างกลุ่มเพื่อเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ต่างๆ ระหว่างกัน หมั่นเพิ่มพูนความรู้อยู่เสมอ ต้องมีความเป็นขบถในตนเองทำให้ช่างซักช่างถาม รู้จักการซ่อมแซม ปรับปรุง แก้ไขอุปกรณ์ต่างๆ ในห้องปฏิบัติการ โดยเมื่อได้ใช้ความรู้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่แล้ว ชื่อเสียงหรือตำแหน่งก็เป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ และความสุขก็จะเข้าหาเราเอง โดยที่เราไม่ต้องวิ่งแสวงหาความสุข

ต่อข้อถามถึงภาพรวมนักวิจัยไทยในปัจจุบัน ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า นักวิจัยไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ยังจัดเป็นประชาคมกลุ่มเล็กอยู่ เพราะการวิจัยไทยเพิ่งมีขึ้นมาไม่นาน ซึ่งแต่ก่อนหากมีงานวิจัยขึ้นมาก็จัดว่าดีแล้ว ขณะที่ปัจจุบันต้องการให้มีนักวิจัยที่มีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้ได้งานวิจัยที่มีประโยชน์และความหมายต่อสังคม ยกตัวอย่างเช่นที่มหาวิทยาลัยมหิดลที่นักวิจัยส่วนใหญ่จะทำงานวิจัยด้านสุขภาพของคนไทย แม้ว่าจะมีบางส่วนทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องพื้นฐานเช่น เรื่องยีนของมนุษย์ ซึ่งก็เป็นเรื่องจำเป็นเช่นกัน

“ด้านตัวอย่างงานวิจัยที่มีความหมายต่อสังคมได้แก่ การวิจัยเกี่ยวกับการตรวจวินิจฉัยโรค การผลิตยาหรือการสร้างวัคซีนใหม่ๆ เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีงานวิจัยที่หลากหลายมากขึ้นแล้ว จึงจัดว่าเป็นเรื่องที่ดีมากกว่าแต่ก่อนที่ต่างคนต่างทำงาน ไม่มีการรวมกลุ่มเพราะนักวิจัยมีน้อย นักวิจัยจึงเลือกทำการวิจัยตามความสนใจของตัวเองจึงขาดความเชื่อมโยงกับนักวิจัยคนอื่นๆ ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันอย่างชัดเจนที่นักวิจัยเริ่มทำงานเป็นทีมแล้ว” ที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. กล่าว

ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวต่อไปว่า ภาพรวมนักวิจัยไทยในปัจจุบันจึงดูน่าพอใจมากขึ้น แต่ดังที่ได้เปรียบแล้วว่านักวิจัยไทยมีหน้าที่มากเปรียบได้กับการเป็นทศกัณฑ์ นักวิจัยจึงถูกมอบหมายงานมากเกินไปจนขาดสมาธิกับงานวิจัย ในจุดนี้จึงต้องได้รับการแก้ไขต่อไป ทั้งนี้ งานบางอย่างนักวิจัยก็ไม่ควรปฏิเสธเช่น การแนะนำงานวิจัยตนเองสู่สังคมให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง

ขณะเดียวกัน งานบริหารจุกจิกก็ควรหลีกเลี่ยง ซึ่งผู้บริหารต้องรู้จักการบริหารนักวิจัยของเขาเองให้ทำงานวิจัยได้ รวมถึงงานสอนหนังสือที่อาจทำหน้าที่สอนนิสิตนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาเท่านั้น เพราะจะเน้นการวิจัยเป็นหลัก แต่ไม่สมควรที่จะให้นักวิจัยไปสอนหนังสือระดับพื้นฐานหรือระดับปริญญาตรีเลย

สำหรับแนวทางการพัฒนานักวิจัยไทย ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า ต้องมีการปรับสถานภาพนักวิจัยให้ดึงดูดมากขึ้นจากแต่เดิมที่ระบบข้าราชการได้จัดให้อาจารย์สอนหนังสือเป็นประเภทหนึ่ง ส่วนนักวิจัยเป็นประเภทสอง ซึ่งต่อไปหากมหาวิทยาลัยต่างๆ ออกไปเป็นมหาวิทยาลัยในการกำกับของรัฐแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็จะทำได้งานขึ้น เช่นเดียวกับนักวิจัยของสวทช.ซึ่งมีสถานภาพที่เอื้อต่อการทำงานวิจัยได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งมีแนวทางเติบโตในสายการวิจัยในขั้นสูงสุดได้

ต่อข้อกังขากันว่านักวิจัยไทยมีคุณภาพไม่เท่ากับนักวิจัยจากต่างประเทศ ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ซึ่งแม้ว่าการวิจัยไทยจะเริ่มต้นไม่นานนัก แต่ก็เห็นเป็นที่ชัดเจนว่าประเทศไทยมีนักวิจัยไทยและผลงานวิจัยที่ได้มาตรฐานนานาชาติจำนวนมากในหลากหลายสาขา โดยประเทศไทยจะมีความโดดเด่นในด้านชีวภาพ ส่วนด้านวิศวกรรมศาสตร์หรือด้านการเกษตรก็จัดว่าอยู่ในระดับที่ดี

อย่างไรก็ตาม เมื่อนำไปเทียบกับระดับโลก ต้องยอมรับว่านักวิจัยไทยยังมีอยู่น้อยและมีประสบการณ์น้อยกว่าประเทศสหรัฐอเมริกาหรือประเทศในยุโรป เพราะฉะนั้นไทยยังจัดเป็นน้องใหม่อยู่ แต่ถ้าเทียบในระดับอาเซียน ประเทศไทยก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประเทศใดในภูมิภาคนี้ ยกเว้นประเทศสิงคโปร์ที่มีการซื้อนักวิจัยจากต่างประเทศเข้ามาจึงไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกันได้

ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า เมื่อเปรียบประเทศไทยกับประเทศไต้หวันและเกาหลีใต้ ซึ่งได้ก่อร่างสร้างตัวจนมีความก้าวหน้าในกลุ่มนำระดับภูมิภาคเอเชียแล้วนั้น พบว่า ประเทศไทยยังตามหลังเขาอยู่ประมาณ 10-20 ปีในด้านวิศวกรรม แต่หากเปรียบกันในด้านเทคโนโลยีชีวภาพหรือวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานในหลากหลายสาขา ประเทศไทยนำหน้าเกาหลีใต้อยู่ ดูได้จากการอ้างอิงผลงานหรือดูจากจำนวนผลงานในหลากหลายสาขา

เมื่อกล่าวถึงภาวะการสมองไหลของนักวิจัยไทย ศ.ดร.ยงยุทธ แจกแจงว่า มีแต่ไม่มากเท่ากับบางสาขาอาชีพเช่น นางพยาบาลและวิศวกร โดยในส่วนของนักวิจัยนั้นจำเป็นต้องใช้ความพยายามที่จะดึงพวกเขากลับมาช่วยงานในประเทศ ซึ่งนักวิจัยเองก็อยากกลับมาในประเทศหากมีตำแหน่งงานที่เหมาะสมรองรับ โดยสวทช.ได้จัดทำโครงการสมองไหลกลับมากว่า 10 ปีแล้วและสามารถดึงนักวิจัยไทยกลับมาได้ประมาณ 10 คน โดยเฉพาะนักวิจัยที่ไปอยู่ ณ ประเทศญี่ปุ่นที่ดึงกลับมาได้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยบางรายที่ไปทำงานต่างประเทศแต่ยังไม่ตัดขาดจากประเทศไทยทีเดียวก็ถือว่าไม่เสียหายเพราะเทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้าเข้ามาช่วยให้สามารถติดต่อสื่อสารข้ามพรมแดนกันได้ อาทิ อินเตอร์เน็ต และการเดินทางที่ง่ายขึ้น นักวิจัยเหล่านั้นจึงยังมีความเชื่อมโยงกับประเทศไทยได้ โดยนักวิจัยไทยกลุ่มนี้จะมีมากกว่ากลุ่มที่กลับมาประเทศอย่างถาวร

ส่วนจำนวนนักวิจัยไทยในปัจจุบัน ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า ประเทศไทยมีนักวิจัยไทยแบบเต็มเวลาอยู่ประมาณ 30,000-40,000 คน ซึ่งถือว่ามากกว่าแต่ก่อนที่มีอยู่ประมาณ 20,000 คน ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร 10,000 คน นักวิจัยไทยยังมีอยู่เพียง 3-4 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับบางประเทศแล้วต้องจัดว่ามีอยู่น้อยมาก เช่นในประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาจะมีนักวิจัยเกือบ 100 คนต่อประชากร 10,000 คน ส่วนเกาหลีใต้และไต้หวันจะอยู่ที่ประมาณ 50 คนต่อประชากร 10,000 คน ดังนั้นประเทศไทยจึงควรมีนักวิจัยเพิ่มมากขึ้นอีกประมาณ 10 เท่าถึงจะเพียงพอ
กำลังโหลดความคิดเห็น