xs
xsm
sm
md
lg

คาด 5 ปีนี้ประชากรเอเชียล้นหลาม “ข้าวจีเอ็ม” เตรียมยึดตลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซี – กระแสการต่อต้านจีเอ็มโอในเอเชียอาจจะละลายหายไปภายใน 5-7 ปีนี้ หลังจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นจนอาหารไม่เพียงพอ นักวิจัยเชื่อ “ข้าวจีเอ็ม” ทั้งพันธุ์ต้านโรค เสริมสารอาหารได้เข้าสู่ตลาดแน่ หากยังไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้

กัวเดฟ ซิงห์ คูช (Gurdev Singh Khush) ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยข้าวสากล (International Rice Research Institute : IRRI) เปิดเผยว่า กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมที่ออกมาต่อต้านและกระบวนการออกกฎหมายที่ยืดเยื้อน่ารำคาญในการรับรองพืชผลดัดแปรพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอทำให้การเปิดตัว “ข้าวจีเอ็ม” ยืดยาดและล่าช้าออกไปอย่างมาก

แต่คูชยังเชื่อว่าในที่สุดแล้วข้าวจีเอ็มจะออกสู่ท้องตลาดอย่างมากมายเช่นเดียวกับข้าวโพดที่ตอนนี้ขายกลาดเกลื่อนตามตลาดในฟิลิปปินส์มาตั้งแต่ปี 2002 แม้ว่าจะยังมีกลุ่มต่อต้านอย่างกรีนพีซ

"สักวันก็จะต้องมีข้าวจีเอ็มได้รับอนุญาตให้จำหน่ายในท้องตลาด" คำกล่าวของคูชผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในบิดาแห่งการปฏิวัติเขียวเมื่อช่วงปี 1960 โดยเขาได้พัฒนาข้าวที่มีผลผลิตจำนวนมากมายหลายสายพันธุ์

"ข้าวเหล่านี้จะได้รับการยอมรับทั่วเอเชียในไม่ช้า เพราะขณะนี้กำลังมีปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหาร ผมรู้สึกว่าภายใน 5-7 ปีข้างหน้า เหล่าผู้ต่อต้านจีเอ็มโอจะหายไป" คูชกล่าว

กรีนพีซและกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมอื่นๆ ได้พยายามประท้วงต่อต้านนโยบายของรัฐบาลฟิลิปปินส์ที่ผลักดันพืชผลที่ผ่านการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ โดยอ้างว่าพืชผลเหล่านี้ทำลายสุขภาพของผู้บริโภคและเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ดี รัฐบาลฟิลิปปินส์ไม่ใช่ชาติเดียวที่แผนการผลักดันพืชจีเอ็มถูกขัดขวาง ทว่ารัฐบาลจีนก็ประสบปัญหาเช่นกัน และทำให้การยอมรับข้าวดัดแปรพันธุกรรมเข้าสู่ท้องตลาดต้องล่าช้าออกไป โดยไม่ช่ปีนี้อย่างที่ตั้งใจไว้

จีน อินเดียและฟิลิปปินส์ได้ผลักดันงานวิจัยที่มุ่งศึกษาการตัดต่อพันธุ์ข้าวโดยใช้ยีนบีที (Bacillus thuringiensis : Bt) เพราะยีนดังกล่าวต้านทานวัชพืชและแมลงชนิดที่เป็นศัตรูตัวฉกาจจองพืชพันธุ์ในเอเชีย ซึ่ง คูชคาดว่าข้าวบีทีจะกลายขายดิบขายดีในท้องตลอดภายใน 2 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ยังมีข้าวจีเอ็มชนิดอื่นๆ ที่ใช้ "ยีนเอ็กซ์เอทเว็นตี" (Xa21) ตัดต่อเพราะต้องการให้ต้านทานโรคขอบใบแห้ง และยังมีข้าวสีทองที่บรรจุวิตามินเอเข้าไปเพื่อเพิ่มสารอาหาร แต่ขณะนี้กำลังอยู่ในระดับห้องทดลองและกว่าว่าจะสามารถนำมาใช้เป็นอาหารได้คงอีกหลายปี

ทั้งนี้ อิหร่านได้อ้างว่าเป็นประเทศแรกที่ขายข้าวจีเอ็มได้ โดยเริ่มมาตั้งแต่ปีที่แล้วหลังจากใช้เวลากว่า 10 ปีในการประเมินความเสี่ยง รวมทั้งการทดลองระดับไร่นา

ที่สคัญ คูชคาดการณ์อีกว่าในอนาคตจำนวนผู้บริโภคข้าวจะสูงขึ้น โดยปัจจุบันมีอยู่เพียง 3 พันล้านคน แต่จะเพิ่มขึ้นอีก 1 พันล้านคนในปี 2030 และผู้บริโภคข้าวส่วนใหญ่ 70% อาศัยอยู่ในเอเชีย อีกทั้งผลิตผลข้าว 90% ในโลกนี้ส่งออกจากประเทศแถบเอเชีย

"ขณะเดียวกันประชากรในเอเชียก็เพิ่มขึ้นแต่ละปีในอัตรา 1.6-1.7% และเราก็ยังไม่มีแผ่นดินอื่นให้ปลูกข้าวเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้ายังไม่มีผืนแผ่นดินเพิ่มเพื่อปลูกข้าวได้มากขึ้น พวกเราก็จะต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาทำให้ผลผลิตมีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้าวเพิ่มผลผลิต หรือสร้างความต้านทานแมลงและโรคต่างๆ" เขากล่าว

"เพราะอย่างนี้นี่เองเทคโนโลยีชีวภาพจึงมีความสำคัญในกานำมาช่วยผลิตอาหารให้พอเพียงแก่ชาวเอเชีย" คูชย้ำพร้อมทั้งชี้ว่า เทคโนโลยีชีวภาพช่วยให้ไร่นาในเอเชียผลิตข้าวได้ถึง 4 ตันต่อ 1 เฮกเตอร์ จากเดิมผลิตได้ 3 ตัน อีกทั้งไบโอเทคโนโลยียังช่วยให้ข้าวมีสารอาหารมากขึ้นกว่าข้าวปกติทั่วไปอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น