xs
xsm
sm
md
lg

ทีมนักวิจัยไทยเดินหน้าผลิตยาจากซีรั่มจระเข้ คาดอีกไม่เกิน 2 ปี จะเห็นผลในเชิงพาณิชย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิจัยไทยผนึกกำลังเดินหน้าผลิตยาจากซีรั่มจระเข้ ชี้ดูจากความสามารถในการรักษาตนเองของจระเข้เป็นตัวอย่าง คาดสามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ภายใน 2 ปี ระบุต่อยอดได้ทั้งเป็นแผ่นปิดแผลสำหรับป้องกันการติดเชื้อ ครีมทาป้องกันการติดเชื้อในคนไข้เบาหวาน-แผลไฟไหม้-น้ำร้อนลวก-แผลผุพองติดเชื้อต่างๆ และแผลผ่าตัด หรือแม้แต่ใช้แทนสารกันบูดในอาหาร และใช้เป็นอาหารเสริมภูมิคุ้มกัน

จากรายงานข่าวต่างประเทศเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการกล่าวถึงเลือดจระเข้ว่าสามารถฆ่าเชื้อโรคเอดส์ได้ โดยเป็นผลงานวิจัยของนักวิจัยสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียที่ทดลองใช้สารสกัดจากเลือดจระเข้เพื่อทำลายเชื้อไวรัสเอชไอวีที่ก่อให้เกิดโรคเอดส์ได้สำเร็จ ด้วยข้อเท็จจริงนี้เอง จึงชวนให้สังเกตว่าประเทศไทยที่มีจระเข้มากมาย น่าจะมีการนำมาวิจัยเพื่อเป็นยารักษาโรคได้

นายยศพงษ์ เต็มศิริพงศ์ ผู้ดูแลงานด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาจากจระเข้ บริษัท ศรีราชาโมด้า จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กลุ่มนักวิจัยไทยได้ศึกษาคุณสมบัติของซีรั่มจระเข้ในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์มาตั้งแต่ปี 45 แล้ว และกำลังจะทดลองกับเชื้อไวรัสต่อไป โดยทางบริษัทศรีราชาโมด้า จำกัดได้ร่วมมือกับคณาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำการวิจัยและพัฒนาสินค้าที่คาดว่าน่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดและได้รับการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไป

“เป็นที่ทราบกันดีว่า มีองค์ประกอบภายในเลือดหลายชนิดที่ช่วยให้จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย (Crocodylus siamensis) มีความสามารถในการป้องกันตัวเองจากการบุกรุกของเชื้อแบคทีเรีย โดยจะเห็นได้จากกรณีที่เกิดการต่อสู้กันของจระเข้ แล้วเกิดแผลขนาดใหญ่ขึ้นกับจระเข้ ขณะที่จระเข้ต้องอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีจุลชีพจำนวนมาก แต่แผลที่เกิดจากการต่อสู้ก็หายสนิทได้โดยไม่มีการติดเชื้อ” นายยศพงษ์ กล่าวและว่า ด้วยเหตุนี้ คณะผู้วิจัยได้แก่ ผศ.วิน เชยชมศรี และ ผศ.ดร.จินดาวรรณ สิรันทวิเนติ ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะ ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนปี 45 จากศูนย์พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีรัฐร่วมเอกชน จึงได้เริ่มทำการศึกษาและพบว่าเลือดจระเข้มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียทั้งชนิดที่มีองค์ประกอบผนังเซลล์แบบแกรมบวกและแกรมลบหลายชนิด

“ฤทธิ์ที่ได้น่าจะมาจากสารโปรตีนที่มีอยู่ในเลือดจระเข้ เช่น โปรตีนสายสั้นๆ (เปปไทด์) ที่มีฤทธิ์ต้านการเจริญของจุลินทรีย์ (Anti-microbial peptides) และองค์ประกอบของคอมพลีเมนต์ (Complements) ในระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ ซึ่งจระเข้มีปริมาณคอมพลีเมนต์มากกว่าในคนถึงกว่า 4 เท่า” นายยศพงษ์ อธิบาย

สำหรับงานวิจัยในปี 47 นายยศพงษ์ เล่าว่า ดร.สมปอง ธรรมศิริรักษ์ นายสุทธิเดช ปรีชารัมย์ และคณะผู้วิจัยจากภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สามารถแยกบริสุทธิ์สารออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้เป็นผลสำเร็จ โดยแยกได้จากพลาสมาและซีรั่มของจระเข้ ซึ่งจากการศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่า สารดังกล่าวเป็นเปปไทด์ขนาดประมาณ 10 หน่วยกรดอะมิโน และจากการศึกษากลไกการออกฤทธิ์พบว่า สารที่แยกได้จากส่วนพลาสมาและซีรั่มของจระเข้จะเข้าทำลายแบคทีเรียบริเวณเยื่อเมมเบรนของแบคทีเรียทำให้แบคทีเรียตายในที่สุด

นอกจากนี้ ยังพบพ้องกันว่าเปปไทด์เหล่านี้สามารถทำลายแบคทีเรียก่อโรคได้ทั้งแกรมบวกและแกรมลบ โดยในเบื้องต้นมีการตั้งชื่อสารออกฤทธิ์ ว่า “คร็อกคอซินส์ แฟมิลี” (Crocosins family) ซึ่งคณะวิจัยค้นพบว่ามีเปปเทด์อย่างน้อย 6 ชนิดที่สามารถทำลายเชื้อแบคทีเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในด้านสรรพคุณการรักษา นายยศพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันได้ศึกษาเชื้อกลุ่มที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหาร ซึ่งจะต้องมีการศึกษาในคนต่อไปว่าควรทำอย่างไรจึงจะสามารถนำส่งสารออกฤทธิ์ไปยังบริเวณที่ต้องการได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติในการทำลายเชื้อแบคทีเรียกลุ่มที่ก่อให้เกิดโรคทางผิวหนัง ซึ่งหากสารดังกล่าวสามารถทำลายเชื้อแบคทีเรียได้ก็จะมีการพัฒนาเป็นยารักษาแผลติดเชื้อทางผิวหนังต่อไป ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นปิดแผลสำหรับป้องกันการติดเชื้อ หรือเป็นครีมทาป้องกันการติดเชื้อทั้งในคนไข้โรคเบาหวาน คนไข้แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก หรือกลุ่มที่เป็นแผลผุพองติดเชื้อต่างๆ รวมทั้งคนไข้หลังผ่าตัด

“นอกจากนี้ในอนาคตจะมีการพัฒนามาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารป้องกันการเน่าเสียและทำให้อาหารมีอายุยาวนานขึ้นทดแทนการใช้สารกันบูดซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับสัตว์เสริมภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อแล้วยังได้อาหารเสริมโปรตีนสำหรับสัตว์ที่ปลอดยาปฏิชีวนะอีกด้วย” นายยศพงษ์ กล่าวและเสริมว่า ผลงานวิจัยของ ผศ.ดร.จินดาวรรณ สิรันทวิเนติ ยังได้เพิ่มเติมและสนับสนุนความเชื่อที่มีมาแต่เดิมถึงสรรพคุณทางยาที่มีผู้บริโภคนิยมใช้เลือดของจระเข้เป็นอาหารเสริม และเครื่องยาสัตววัตถุ ซึ่งในประเทศจีนมีผลิตภัณฑ์เลือดจระเข้อบแห้งขายเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและรักษาผู้ป่วยโรคโลหิตจางอยู่ในขณะนี้ จึงแสดงให้เห็นว่าจระเข้เป็นสัตว์สมุนไพรที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

และเพื่อสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตที่ได้จากจระเข้ นายยศพงศ์ ระบุว่า ทางบริษัทศรีราชาโมด้าฯ ได้แปรรูปเลือดจระเข้ให้อยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์เลือดจระเข้แห้งแล้ว ส่วนเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคนั้น ทางคณะผู้วิจัยฯ ได้ศึกษาจระเข้ที่เพาะเลี้ยงในประเทศไทย ปราศจากหนอนพยาธิในเลือดและลำไส้ ซึ่งเมื่อทดสอบความปลอดภัยในสัตว์ทดลองพบว่า เมื่อให้หนูทดลองบริโภคเลือดจระเข้ทั้งแบบเลือดสดและเลือดแห้งเป็นอาหารเสริมแล้ว ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่าทางโลหิตวิทยา ค่าทางชีวเคมีในเลือด และไม่ก่อให้เกิดพยาธิสภาพกับอวัยวะภายในของหนูทดลอง

นอกจากนั้น ปัจจุบันยังทำการศึกษาผลของเลือดจระเข้ในหนูทดลองที่มีการติดเชื้อ ฤทธิ์ของเลือดจระเข้ต่อจุลินทรีย์อื่นๆ รวมถึงเชื้อไวรัส การใช้เลือดจระเข้ในการเสริมธาตุเหล็กในหนูทดลอง ตลอดจนการศึกษากระบวนการที่เหมาะสมในการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์เลือดจระเข้แห้งเพื่อส่งเสริมเป็นอาหารเสริมที่สะอาดและปราศจากเชื้อแบคทีเรีย และนำไปใช้เป็นแนวทางของการผลิตเลือดจระเข้เป็นอาหารเสริมในระดับอุตสาหกรรมต่อไป อย่างไรก็ดี คาดว่าจะเริ่มทำในส่วนของยารักษาแผลติดเชื้อทางผิวหนังก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งได้รับการเปิดเผยว่าจะมีการทดลองโดยคณะแพทย์เร็วๆ นี้

เรายังต้องทำการทดสอบการใช้งานในคนต่อไป เนื่องจากงานวิจัยดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์ และกำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติในการรักษาแผลให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น เพราะปัจจุบันเชื้อจุลินทรีย์มักดื้อต่อยาปฏิชีวนะที่มาจากการสังเคราะห์ จึงยังต้องทำการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อการรักษาบาดแผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคาดว่าจะเป็นผลสำเร็จภายใน 1 – 2 ปี ซึ่งหากสำเร็จจะเป็นทางเลือกใหม่ของการรักษาบาดแผลติดเชื้อทางผิวหนัง” ผู้ดูแลงานด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาจากจระเข้ บริษัท ศรีราชาโมด้า จำกัด กล่าวทิ้งท้าย

การผลิตยาจากซีรั่มจระเข้เพื่อใช้ภายในประเทศและขยายผลเพื่อการส่งออก จึงเป็นสินค้าที่ดูมีความหวัง และมีความเป็นไปได้สูง และด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่ายหลายหน่วยงานร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาแล้ว เชื่อว่าอีกไม่นานนัก ประเทศไทยเราจะผลิตยาจากซีรั่มจระเข้ได้และมีประสิทธิภาพไม่แพ้ต่างประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น