xs
xsm
sm
md
lg

กุ้งไทยยังบู่ โรคหัวเหลือง-ตัวแดงดวงขาว-ทอร่า ซินโดรม ไวรัส รังควานไม่เลิก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กุ้งไทยยังช้ำ โรคหัวเหลือง-ตัวแดงดวงขาว-ทอร่า ซินโดรม ไวรัส ยังรังควานไม่เลิก นักวิจัยชี้ วิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้กุ้งติดเชื้อ แย้มอนาคตป้องกันได้แน่ ไบโอเทคแจงเริ่มผลิตกุ้งปลอดเชื้อแจกจ่าย ด้านผู้ส่งออกกุ้งเผย โรคระบาดเป็นดาบสองคม ถ้าแก้ได้ อุตสาหกรรมกุ้งทะเลไทยส่อแววหวานหมู

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จัดการประชุมวิชาการและนิทรรศการเทคโนโลยีชีวิภาพ “ไบโอไทยแลนด์ 2005” ระหว่างวันที่ 2 -5 พ.ย. ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีการประชุมวิชาการเรื่องโรคในกุ้ง

ทั้งนี้โรคในกุ้งสามารถแบ่งตามพันธุ์ของกุ้งได้แก่ กุ้งกุลาดำจะมีการระบาดของโรคตัวแดงดวงขาว (White Spot Syndrome Virus: WSSV) และโรคหัวเหลือง (Yellow Head Virus: YHV) ส่วนกุ้งขาวลิโทพีเนียส แวนนาไมจะพบการระบาดของโรคทอร่าซินโดรมไวรัส (Taura Syndrome Virus: TSV)

ศ.ดร.โรเจอร์ ดอยล์ (Prof.Dr.Roger Doyle) ประธานบริษัทจีเนติก คอมพิวเทชั่น ลิมิตเต็ด เมืองฮาลิแฟกซ์ ประเทศแคนาดา (Genetic Computation Limited,Halifax,Canada) กล่าวถึงความหลากหลายทางพันธุกรรมของกุ้งขาวว่า กุ้งขาว ณ สถาบันสมุทรศาสตร์ (Oceanic Institute) บนเกาะฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ถูกเลือกสายพันธุ์ต้านทอร่าซินโดรมไวรัส ในระยะแรกมีอัตราการเจริญเติบโตต่ำคือ ต้านทานไวรัสได้แต่โตช้า อย่างไรก็ตามในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เชื่อว่าจะสามารถพัฒนาพันธุ์กุ้งที่ทั้งต้านทานไวรัสและโตเร็วได้

นอกจากนี้ ศ.ดร.โรเจอร์ กล่าวเสริมว่า ขณะนี้เขาได้ทำการพัฒนาพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำบ่อดินที่ปลอดเชื้อให้มีประสิทธิภาพเช่น ให้มีความต้านทานโรคโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพของพันธุกรรมในการคัดเลือกให้เร็วขึ้น

จากนั้น ศ.ดร.ทิมโมที วิลเลียม ฟลีเกล (Prof.Dr.Tim William Flegel) ผอ.หน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศ เทคโนโลยีชีวภาพกุ้ง (Center of Excellence for Shrimp Molecular Biology and Biotechnolog: Centex Shrimp) ประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาที่เกิดจากการไม่ระมัดระวังในการนำกุ้งเข้ามาจากต่างประเทศว่า มีปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วคือ ปัญหาโรคไวรัสตัวแดงดวงขาวและโรคทอร่าซินโดรมไวรัส โดยปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไม่สามารถยับยั้งได้แล้ว จึงต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีการเดียวคือการป้องกันไม่ให้กุ้งติดเชื้อโรคเหล่านี้ โดยใช้พ่อแม่พันธุ์กุ้งที่ปลอดเชื้อ ซึ่งศูนย์ไบโอเทคได้ริเริ่มผลิตพ่อแม่พันธุ์เหล่านี้แล้ว

ศ.ดร.ทิมโมที กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเกษตรกรจะได้พ่อแม่พันธุ์หรือลูกกุ้งที่ปลอดเชื้อแล้ว แต่โรคที่เกิดขึ้นระหว่างการเลี้ยงก็ยังมีอยู่ ดังนั้นจึงต้องมีวิธีการรักษากุ้งติดเชื้อเหล่านี้ ส่วนการวิจัยเกี่ยวกับโรคไวรัสในกุ้งและความก้าวหน้าในการพัฒนาวิธีการรักษาโรคไวรัสที่เกิดขึ้น ขณะนี้เขาได้ประยุกต์นำเอาวิธีการทางเทคโนโลยีชีวภาพที่น่าสนใจและมีประสิทธิภาพมาใช้ในการแก้ปัญหาดังกล่าวแล้ว

ต่อมา ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา นักวิจัยจากศูนย์ไบโอเทค กล่าวว่า ไวรัสโรคหัวเหลืองในประเทศไทยนั้นมีหลายชนิด ทั้งชนิดที่ก่อโรคและชนิดที่ไม่ก่อโรค โดยงานวิจัยที่ทำอยู่เป็นไปเพื่ออธิบายกลไกของไวรัสว่าทำไมจึงไม่ก่อโรค ซึ่งจะมีประโยชน์ในการป้องกันโรคในกุ้งกุลาดำต่อไป

ด้าน ทพ.สุรพล ประเทืองธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย เผยว่า การเกิดโรคระบาดถือเป็นดาบสองคม เพราะถ้าประเทศไทยสามารถแก้ปัญหาได้ ในขณะที่ประเทศคู่แข่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หรือมีปัญหามากกว่าประเทศไทย ก็จะทำให้ยอดการส่งออกกุ้งของไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ในประเทศไทยก็มีนักวิจัยที่มีคุณภาพและมีการทำวิจัยในแนวลึก จึงถือว่ามีความพร้อมและได้เปรียบประเทศคู่แข่งในเรื่องของปัญหาโรคระบาดในกุ้ง

นายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย แจกแจงว่า อุตสาหกรรมกุ้งเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่ประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่งในตลาดโลกมาเกือบ 10 ปีแล้ว โดยช่วงปี 40-44 มียอดการส่งออกต่อปีสูงถึง 100,000 ล้านบาท และในปี 48 นี้ คาดว่าจะมียอดการส่งออกประมาณกว่า 70,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี พบว่าปัจจุบันมีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้นทำให้ยอดขายกุ้งทะเลไทยลดลง โดยมีประเทศอินโดนีเซียและบราซิลเป็นคู่แข่งสำคัญ

“ส่วนตลาดที่ประเทศไทยทำการส่งออกกุ้งมากกว่า 50% คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งไทยมีความได้เปรียบประเทศคู่แข่งในเรื่องของภูมิศาสตร์ของประเทศ ประสบการณ์ในการเลี้ยง ความขยัน และมีโรงงานแปรรูปที่มีคุณภาพ” นายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทยกล่าว

ด้านปัญหาที่พบในอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้ง เขาระบุว่าได้แก่ สเถียรภาพของราคาในตลาดซึ่งมีการขึ้นลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากกุ้งเป็นสินค้าการเกษตรที่ไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน เมื่อจับขึ้นจากบ่อเลี้ยงแล้วจะต้องขายออกทันที ดังนั้นเมื่อมีการจับพร้อมๆ กันหลายๆ บ่อ ก็จะทำให้มีปริมาณกุ้งในตลาดมาก ราคาจะลดลงทันที นอกจากนี้ ปัญหาที่สำคัญอีกประการคือ โรคระบาดในกุ้ง โดยโรคที่สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งสูงถึงประมาณหลายพันล้าน-หมื่นล้านบาทคือโรคไวรัสตัวแดงดวงขาว โรคหัวเหลือง และโรคทอร่า ซินโดรม ไวรัส


กำลังโหลดความคิดเห็น