เทศกาลหนังวิทย์ฯ พาจัดอันดับสัตว์อายุยืนที่สุดในโลก ระบุ “เต่า” ได้แค่ที่ 2 ส่วนที่ 1 น่ะเหรอ? ต้องดำดิ่งสู่ก้นสมุทรเพื่อพบตัวจริงของสิ่งมีชีวิตที่อายุยืนที่สุดในโลก เผยการใช้ชีวิตอย่างสงบ วิธีการกิน-อยู่ และกรรมพันธุ์ เป็นตัวกำหนดอายุขัย
แม้ว่าเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ครั้งที่ 1 ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลอง กรุงเทพฯ) จะสิ้นสุดลงไปแล้วเมื่อวานนี้ (15 พ.ย.) แต่ยังมีภาพยนตร์วิทยาศาสตร์อีกหลายๆ เรื่องที่ “ผู้จัดการวิทยาศาสตร์” ได้ไปชมและอยากนำมาเล่าสู่กันฟัง
“สัตว์อะไรอายุยืนที่สุดในโลก” (Methuselahs Secret – The Oldest Creatures on Earth) ผลงานการกำกับของ จาน มิเชล วาน (Jan Michael Haft) นับเป็นอีกหนึ่งในภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจ ซึ่งได้เปิดเผยข้อเท็จจริงของสัตว์ 10 ชนิดที่มีอายุยืนที่สุดในโลก พร้อมไขปริศนายาอายุวัฒนะขนาดแท้และดั้งเดิม เอาล่ะ เรามาเริ่มนับถอยหลังเพื่อหาสัตว์ที่อายุยืนที่สุดในโลกพร้อมๆ กันเลย
สำหรับสัตว์อายุยืนอันดับ 10 คือ “ลิง” ญาติห่างๆ ของมนุษย์ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วลิงจะมีอายุเฉลี่ย 25 ปี
อันดับ 9 ได้แก่ “ช้าง” ซึ่งมีอายุเฉลี่ย 60 ปี โดยจะขึ้นอยู่กับการดูแล อาหารการกิน และความเครียด ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้เปรียบเทียบอายุขัยระหว่างช้างเอเชียและช้างแอฟริกาแล้วพบว่า ช้างแอฟริกาที่ต้องผจญกับสัตว์ป่านานาชนิดและอาหารการกินที่ขัดสนกว่า ทำให้พวกมันเครียดและมีอายุขัยน้อยกว่าช้างเอเชีย อย่างไรก็ดี มีบันทึกว่าประเทศญี่ปุ่นเคยมีช้างที่มีอายุมากที่สุดในโลกคือ 86 ปี
อันดับ 8 คือสัตว์ที่ไม่มีใครอยากให้มันมีชีวิตที่ยืนยาวนักเพราะมันมักได้รับบทตัวร้ายในละครเสมอๆ นั่นคือ “อีกา” นั่นเอง ด้วยเหตุผลที่อีกาจะมีคู่เพียงตัวเดียวตลอดอายุขัย ทำให้มันไม่เหนื่อยล้าจนเกินไป นอกจากนี้การสืบพันธุ์ยังเป็นตัวเร่งนาฬิกาชีวภาพให้หมุนเร็วขึ้นด้วย อีกาจึงมีอายุขัยสูงถึง 90 ปี ซึ่งพบอีกว่า นกหลายๆ ชนิดก็มีอายุที่ยืนยาวไม่ต่างจากอีกามากนัก เช่น นกกระตั้ว
สิ่งมีชีวิตอายุยืน อันดับ 7 คือ “กุ้งก้ามกราม” ด้วยอายุขัย 100 ปี ถือว่าอายุยืนที่สุดในสัตว์จำพวกมีเปลือกแข็งด้วยกัน ด้วยเหตุผลที่มันมีการเคลื่อนไหวและเผาผลาญพลังงานน้อย
อันดับต่อมาคือ “หอยมุกน้ำจืด” ด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เผาผลาญพลังงานน้อย กินน้อย ใช้ก๊าซออกซิเจนในการหายใจน้อย ทำให้มันสามารถคว้าอันดับ 6 มาครองได้ ด้วยอายุขัยมากกว่า 110 ปี
สำหรับ “มนุษย์” ถือได้ว่ามีอายุยืนในอันดับกลางๆ ไม่มากหรือน้อยเกืนไปคืออยู่ในอันดับ 5 โดยมีอายุขัยสูงสุด 120 ปี ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อที่จารึกไว้ในคัมภีร์ศาสนาคริสต์และฮินดูที่ว่า มนุษย์จะมีอายุขัยได้ไม่เกิน 120 ปี อย่างไรก็ตาม ระยะหลังมานี้ มนุษย์มีแนวโน้มที่จะมีอายุทะลุ 100 ปีมากขึ้นเรื่อยๆ เคล็ดลับการมีอายุยืนของผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งหลายล้วนระบุตรงกันถึง การบริโภคอย่างพอดี การออกกำลังกายแต่พอดี ไม่ใช้ร่างกายอย่างหักโหม และมีทัศนคติที่ดี
อันดับ 4 ของสัตว์อายุยืนที่สุดในโลกตกเป็นของปลาโบราณร่วมยุคกับไดโนเสาร์ที่มีไข่ที่เอร็ดอร่อยที่สุดในโลก นั่นคือ “ปลาสเตอร์เจียน” ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบว่า มันสามารถมีอายุได้สูงถึง 150 ปีทีเดียว โดยคาดกันว่าน่าจะเป็นผลมาจากยีนอายุยืนที่พิสูจน์แล้วมามีอยู่จริงของมัน
ด้านอันดับ 3 ตกเป็นของ “พี่เบิ้ม” สิ่งมีชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั่นคือ “ปลาวาฬในทวีปแอนตาร์กติก” ด้วยอายุขัย 200 ปี ส่วน “เต่า” ถือเป็นสิ่งมีชีวิตอายุยืนอันดับ 2 ที่มีอายุขัยประมาณ 250 ปี โดยเต่าที่มีอายุยืนที่สุดในโลกขณะนี้คือ "เต่า" กาลาปากอสที่มีชื่อว่า “แฮร์เรียต” ตัวเดียวกันกับที่ “ชาร์ลส์ ดาร์วิน” นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้อง จับมันมาใช้ชีวิตเมืองเมื่อหลายสิบปีก่อน โดย ชาร์ลส์ เองก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สิ่งมีชีวิตชนิดนี้มีอายุยืนกว่าเขาเองเสียอีก โดยสาเหตุที่เชื่อว่าเต่ามีอายุยืนยาว สืบเนื่องจากการเคลื่อนไหวที่เนิบช้า และความไม่เดือดเนื้อร้อนใจใดๆ เลยของมันนั่นเอง
แตน แต๊น!!! สำหรับสิ่งมีชีวิตอายุยืนที่สุดในโลกอันดับที่ 1 จะเป็นของใครไปไม่ได้เลยนอกจาก สิ่งมีชีวิตที่ใช้ชีวิตดำดิ่งอยู่ก้นมหาสมุทรอันมืดมิดด้วยอุณหภูมิเย็นเฉียบ มันคือ “ฟองน้ำยักษ์” ซึ่งมีอายุสูงอย่างไม่น่าเชื่อถึง 10,000 ปี หรืออาจกล่าวว่า มันเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีวันตายก็ได้
และเมื่อถามถึงปัจจัยที่ทำให้ฟองน้ำยักษ์มีอายุยืนที่สุดในโลก หลายคนอาจเบนหน้าหนีด้วยที่ว่า มันแทบไม่กิน และไม่กระดุกระดิกเลย จนนักวิทยาศาสตร์ถึงกับแซวมันว่า หากมนุษย์ต้องการที่จะมีอายุยืนแต่ต้องอยู่ใต้ก้นมหาสมุทร ไม่กินอาหาร และอยู่นิ่งๆ เหมือนโดนสต๊าฟไว้แล้ว ก็เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากอายุยืนเหมือนมันอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เรื่องนี้ได้ตั้งข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับเคล็ดลับการมีอายุยืนว่า น่าจะเป็นผลมาจากการใช้ชีวิตที่สงบเงียบ ความใจเย็น การมีกำลังใจ การใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าในสังคม ระบบภูมิคุ้มกันโรคที่มีประสิทธิภาพอันเป็นผลมาจากพันธุกรรม การไม่ใช้ร่างกายอย่างหักโหม และการเผาผลาญพลังงานของร่างกายที่น้อย
นอกจากนี้ ข้อสังเกตอีกข้อหนึ่งที่พวกเขาค้นพบคือ อายุขัยอาจไม่ได้ถูกกำหนดด้วยจำนวนวันที่เรามีชีวิตอยู่ก็ได้ หากแต่เป็นอัตราส่วนการใช้พลังงานต่อน้ำหนักหนึ่งกรัม ซึ่งหากเรามองในแง่นี้แล้ว สิ่งมีชีวิตทุกชีวิตจะมีอายุเท่ากันทุกสายพันธุ์!!!
“เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-15 พ.ย.ที่ผ่านมา ด้วยความร่วมมือจากสถาบันเกอเธ่ สถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยและสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สสวท.) นำภาพยนตร์สารคดีทางวิทยาศาสตร์จากประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศสและไทยให้ได้ชมกันฟรี เพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้เห็นว่า...สารคดีวิทยาศาสตร์ถ้าทำให้ดีๆ ก็ไม่น่าเบื่ออย่างที่คิด