xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยมะกันเสนอทฤษฎีใหม่ โกหกหรือไม่ดูได้จากกระเพาะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บีบีซีนิวส์ - นักวิจัยอเมริกันแย้มอาจสามารถพัฒนาเครื่องจับเท็จที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้วยการบันทึกการเปลี่ยนแปลงในกระเพาะอาหารของผู้ถูกทดสอบ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนยังไม่ปักใจเชื่อ แต่เสนอให้ขยายผลการทดลองต่อไป

เครื่องจับเท็จที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีความแม่นยำ 80-90% นั้น จะวัดการเปลี่ยนแปลง อาทิ อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และเหงื่อ ขณะที่ผู้ถูกทดสอบตอบคำถาม ทว่า ผู้ถูกทดสอบที่ตอบความจริงอาจแสดงการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับคนโกหก เนื่องจากกังวล ในทางกลับกัน คนโกหกก็เรียนรู้ว่าจะ ‘โกง’ การทดสอบนี้อย่างไร

แต่ในการศึกษาชิ้นใหม่ที่เปิดเผยออกมาเมื่อต้นสัปดาห์ระหว่างการประชุมอเมริกัน คอลเลจ ออฟ แกสโทรเอนเทอโรโลจี (American College of Gastroenterology ) นั้น พบความเชื่อมโยงระหว่างการโกหกกับการเพิ่มขึ้นของจังหวะการบีบตัวของกระเพาะ

ผลการศึกษาของ ดร. ปันกัจ พัดศรีชา (Pankaj Pasricha) นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเทกซัส สาขาแพทย์ศาสตร์ในเมืองกัลป์เวสตัน (University of Texas Medical Branch at Galveston) ที่ทำการทดสอบกับอาสาสมัคร 16 คน พบว่าการติดตามการเปลี่ยนแปลงในกระเพาะอาหารเป็นการทดสอบการจับเท็จที่แม่นยำมากกว่าวิธีการเดิมๆ

การทดสอบของ ดร.พัดศรีชาเรียกว่า "อิเล็กโตรแกสโตรแกรม" หรือ อีจีจี (electrogastrogram : EGG) ซึ่งเป็นการวัดสัญญาณไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในกระเพาะและลำไส้ โดยการทดสอบนี้จะสามารถระบุได้ชัดเจนเมื่อผู้ถูกทดสอบโกหก

ทีมนักวิจัยขอให้อาสาสมัครทำการทดสอบ EGG และ "อิเล็กโตรคาร์ดิโอแกรม" หรือ อีซีจี (electrocardiogram : ECG) หรือการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์จับเท็จที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไปพร้อมๆ กันใน 3 ช่วงเวลาเช่นดียวกับ ECG คือ EGG จะถูกบันทึกด้วยการติดอิเล็กโทรดสติ๊กเกอร์กับผิวหนัง ซึ่งไม่ทำให้ผู้ถูกทดสอบรู้สึกเจ็บแต่อย่างใด

นักวิจัยพบว่า เมื่ออาสาสมัครถูกถามคำถามง่ายๆ ผลการบันทึก ECG ของทั้งคนที่พูดความจริงและคนที่โกหกไม่แตกต่างกันหากเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน ทว่าในการบันทึก EGG กลับแสดงให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนเฉพาะเมื่ออาสาสมัครพูดเท็จ กล่าวคือ เปอร์เซ็นต์ของการบีบตัวของกระเพาะอาหารจะเพิ่มขึ้นสูงมาก

ผู้จัดทำรายงานการศึกษาชิ้นนี้ตั้งข้อสังเกตว่า ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมกับสถานการณ์จริง และใช้กลุ่มอาสาสมัครจำนวนมากขึ้น เพื่อให้ได้ผลที่เป็นจริงมากขึ้น กระนั้น ทีมนักวิจัยกล่าวว่าสิ่งที่พวกเขาค้นพบบ่งชี้ว่า "การเพิ่มเติมการบันทึก EGG กับเครื่องจับเท็จมาตรฐานที่ใช้กันอยู่ จะช่วยเพิ่มความแม่นยำในการจับเท็จ”

ศาสตราจารย์ริชาร์ด ไวส์แมน (Richard Wiseman) นักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยเฮิร์ตฟอร์ดเชียร์ (University of Hertfordshire) ในเมืองแฮตฟิลด์ อังกฤษ มองว่าแนวคิดของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทกซัสมีความน่าสนใจ

“แต่ก็เหมือนกับเครื่องจับเท็จทั่วไป เพราะเทคนิคนี้ดูเหมือนอิงกับความคิดที่ว่า คนเราจะเครียดเมื่อโกหก แต่คนที่ไม่รู้สึกผิดที่โกหก หรือโกหกจนคล่องปากแล้ว อาจไม่แสดงความกังวลออกมา จึงผ่านการทดสอบอย่างง่ายดาย”

เช่นเดียวกัน ศาสตราจารย์ดอน กรูบิน (Don Grubin) นักนิติจิตเวชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยนิวแคสเซิล (Newcastle University) อังกฤษ กล่าวว่าไม่มีเหตุผลที่จะเชื่อว่าวิธีการของทีมนักวิจัยจากเทกซัสจะได้ผล เนื่องจากกระเพาะอาหารถูกควบคุมโดยระบบประสาทที่อยู่ใต้จิตสำนึก เช่นเดียวกับการหายใจและอัตราการเต้นของหัวใจ และอาการเหงื่อออก ดังนั้น เราจึงคาดหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลง

“แต่ควรทดลองกันต่อไป เพื่อตัดสินว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นมีมูลค่าเพิ่มหรือไม่” กรูบินทิ้งท้ายว่า เครื่องจับเท็จที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีความแม่นยำถึง 80-90% และไม่มีอุปกรณ์ใดที่แม่นยำไปกว่านี้อีกแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น