เอพี - หนูตัวผู้ขับขานเพลงรักเรียกร้องความสนใจจากตัวเมีย ทำให้สัตว์สี่เท้าตัวจิ๋วชนิดนี้เข้าสู่ทำเนียบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ร้องเพลงได้ เช่นเดียวกับมนุษย์ ค้างคาว ปลาวาฬ และปลาโลมา
นักวิทยาศาสตร์รู้กันมานานนับทศวรรษแล้วว่า หนูตัวผู้ในห้องทดลองจะร้องออกมาเมื่อได้กลิ่นหนูตัวเมีย แต่เป็นเสียงอัลตราโซนิก (ultra-sonic) ที่มีความถี่สูงเกินระดับที่หูมนุษย์ได้ยิน ทว่า ยังไม่มีใครแน่ใจว่า เสียงดังกล่าวเป็นการเกี้ยวพาราสีตัวเมียหรือไม่
ล่าสุด นักวิจัยจากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตันในเมืองเซนต์หลุยส์ (Washington University School of Medicine in St. Louis) ได้รายงานข้อค้นพบลงตีพิมพ์ในวารสารออนไลน์ ‘พับลิก ไลบรารี ออฟ ไซนส์ ไบโอโลจี’ (Public Library of Science Biology) ฉบับวันอังคารที่ผ่านมา (1 พ.ย.)
ทิโมธี โฮลี (Timothy Holy) หัวหน้าทีมวิจัยพบว่า เสียงของหนูตัวผู้ซับซ้อนและน่าสนใจกว่าที่เคยคิดกัน หลังจากบันทึกเสียงดังกล่าวและนำมาดัดแปลงเพื่อให้หูมนุษย์ได้ยินได้ และเสียงที่บันทึกได้ฟังคล้ายเสียงเพลงของนกน้อยจริง
“กลายเป็นว่า เสียงนั้นไม่ได้เป็นเสียงร้องสะเปะสะปะ แต่เป็นเพลง ซึ่งมีรูปแบบเหมือนเพลงที่นกร้อง ความรุ่มรวยและหลากหลายของเพลงของหนู ฟังดูคล้ายเสียงนกขับขาน” โฮลีเผย ซึ่งหากการวิเคราะห์โดยนักวิจัยทีมนี้ได้รับการยืนยัน หนูจะกลายเป็นสัตว์ชนิดใหม่ที่สามารถร้องเพลงเกี้ยวเพศตรงข้ามได้ ซึ่งขณะนี้มีเพียงมนุษย์ นก ปลาวาฬหลังค่อม ปลาโลมา แมลง และค้างคาวเท่านั้น
โฮลี ผู้นำในการจัดทำรายงาน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านประสาทชีววิทยาและกายวิภาคของคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน กล่าวว่า การค้นพบนี้เปิดความเป็นไปได้ในการใช้หนูศึกษาและพัฒนาวิธีรักษาโรคออทิสติก และความผิดปกติในการสื่อสารอื่นๆ
โฮลีเพิ่มเติมว่า เพลงที่นกร้อง ซึ่งครอบคลุมวิธีการที่นกเรียนรู้และเข้าใจกับเพลงนั้น ถูกนำมาใช้เพื่อทำความเข้าใจการทำงานของสมองคนเรา แต่ปัญหาบางข้ออาจทำความเข้าใจจากหนูได้ดีกว่า เนื่องจากมีความสะดวกในการทดลองมากกว่า
ทางด้าน ปีเตอร์ มาร์เลอร์ (Peter Marler) นักประสาทวิทยาสาขาพฤติกรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสื่อสารในสัตว์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California, Davis) สำทับว่า หากหนูร้องเพลงได้จริง จะนำไปสู่คำถามที่ว่า มันพัฒนาเพลงขึ้นมาได้อย่างไร และหนูสามารถเรียนรู้เสียงใหม่ๆ ได้เช่นเดียวกับนกหรือไม่
เขายังบอกอีกว่า ปัจจุบัน ไม่มีใครทราบว่า สมองส่วนไหนที่ทำให้คนเราเรียนรู้การพูด ดังนั้น หากค้นพบว่า หนูเรียนรู้เสียงเพลงได้ และรู้ว่าส่วนใดของสมองของมันที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ดังกล่าว อาจหมายถึงการเปิดศักราชใหม่ในการค้นหาเกี่ยวกับการเรียนรู้วิธีพูดของมนุษย์ เนื่องจากมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพียง 2 ชนิด (นอกเหนือจากคน) ที่เรียนรู้เสียงใหม่ๆ คือ ปลาวาฬ และปลาโลมา ซึ่งยากที่จะนำมาศึกษาเรื่องนี้ได้
โฮลีและซ่งเฉิงกั๊ว (Zhongsheng Guo) ผู้ร่วมจัดทำรายงาน ค้นพบสิ่งนี้โดยบังเอิญระหว่างทำการศึกษาการตอบสนองของสมองหนูตัวผู้ที่มีต่อสารฟีโรโมน (สารเคมีที่ร่างกายผลิตออกมาเพื่อดึงดูดเพศตรงข้าม) ที่อยู่ในปัสสาวะของหนูตัวเมีย โดยทั้งคู่พบว่า เมื่อหนูตัวผู้ได้กลิ่นดังกล่าว จะร้องเพลงออกมา
แต่เสียงหนูไม่สามารถได้ยินได้หากปราศจากการใช้เทคนิคการขยายเสียง ดังนั้น นักวิจัยจึงบันทึกด้วยไมโครโฟน และนำไปบันทึกลงในคอมพิวเตอร์ ก่อนแปลงออกมาเป็นภาพ และบันทึกลงเทปอีกครั้งโดยปรับเสียงให้ทุ้มลง โดยไม่กระทบต่อท่วงทำนองของเสียง
ทั้งนี้ สิ่งที่นักวิจัยได้ยินคือ แทนที่จะร้องออกมาสะเปะสะปะ แต่หนูกลับมีการแบ่งพยางค์ชัดเจนในหลายๆ แบบ และมีการซ้ำจังหวะเหมือนเพลงที่นกร้อง ซึ่งถือเป็นคุณลักษณะของเพลงอย่างแท้จริง โฮลีย้ำว่า การค้นพบนี้ไม่ใช่แค่ความรู้สึก แต่เป็นการวิเคราะห์เสียงในเชิงปริมาณ