ตอนนี้หลายพื้นที่ลมหนาวเริ่มพัดมาทักทายกันบ้างแล้ว ซึ่งก็เป็นสัญญาณของฤดูกาลที่คนรักดาวหลายคนรอคอย เพราะไม่ค่อยมีเมฆฝนมารบกวนการดูดาวสักเท่าไหร่ อีกทั้งช่วงเวลานี้ยังมีธรรมชาติที่สวยงามด้วย อย่างไรก็ดีการดูดาวแต่ละครั้งต้องเลือกสถานที่ซึ่งมีแสงไฟรบกวนจากอาคารบ้านเรือนให้น้อยที่สุด ดังนั้นตามเมืองใหญ่ๆ จึงมักถูกตัดออกจากตัวเลือกของสถานที่ดูดาว
หลักการดูดาวโดยคร่าวๆ เราต้องรู้ก่อนว่าเราอยู่ ณ ตำแหน่งใดบนโลก ซึ่งวิธีที่ใช้กันมาแต่โบร่ำโบราณก็คือการหาตำแน่งของ “ดาวเหนือ” ดวงดาวที่มีตำแหน่งคงที่บนท้องฟ้า ทั้งนี้เราต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของโลกเราซึ่งเป็นดาวดวงหนึ่งว่า “โลกเราหมุนรอบตัวเองตลอดเวลา” ดังนั้นตำแหน่งของดาวบนท้องฟ้าก็จะเปลี่ยนไปตามการหมุนของโลก จากนั้นก็จะใช้อุปกรณ์พื้นฐานสำหรับดูดาวนั่นก็คือ “แผนที่ฟ้า” หรือหลายอาจจะเรียกติดปากว่าแผนที่ดาว หาตำแหน่งของดวงดาวที่ปรากฏบนท้องฟ้าในช่วงเวลาต่างๆ ได้
สำหรับผู้ที่ไม่เคยดูดาวหรือดูดาวไม่คล่องนัก เราขอแนะนำให้สมาคมดาราศาสตร์ไทยเป็นพี่เลี้ยงพาท่านไปใกล้ชิดกับธรรมชาติและความสวยงามของท้องฟ้ายามค่ำคืนดีกว่า ทั้งนี้เพราะสมาคมได้จัดกิจกรรมดูดาวตามแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอยู่เป็นประจำ ภายใต้ชื่อกิจกรรม “ดาราศาสตร์สัญจร” โดยจะพาผู้ร่วมกิจกรรมไปดูดาวยังแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ พร้อมๆ กับให้ความรู้เกี่ยวกับดวงดาวและดาราศาสตร์ และสำหรับหน้าหนาวนี้สมาคมก็ได้จัดกิจกรรมขึ้น 2 กิจกรรม นั่นคือกิจกรรมดูดาวที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.ปราจีนบุรี และกิจกรรมดูดาวที่อุทยานแห่งชาติภูเรือ จ.เลย
กิจกรรมดูดาวที่ “ทับลาน” ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกนั้นจะจัดขึ้นสุดสัปดาห์นี้คือวันที่ 5-6 พ.ย. โดยจะเริ่มเดินทางกันตอนเช้าตรู่ตั้งแต่เวลา 7.00 น.ของวันที่ 5 พ.ย.จากกรุงเทพไปยังอุทยานที่ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งจะใช้เวลาในการเดินประมาณ 5 ชั่วโมงครึ่ง และจะพักผ่อนกันบริเวณน้ำตกของอุทยาน ส่วนการดูดาวก็จะเริ่มตั้งแต่ช่วงเวลาดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ก่อนที่จะพักผ่อนกันในช่วงกลางดึกแล้วตื่นขึ้นมาดูดาวก่อนเช้ากันอีกรอบ และจะเดินทางกลับกันในช่วงบ่ายของวันที่ 6 พ.ย.
ส่วนอีกกิจกรรมที่น่าสนใจไม่แพ้กันนั่นคือการดูดาวที่ “ภูเรือ” ซึ่งทางสมาคมดาราศาสตร์จะจัดขึ้นในวันที่ 2-4 ธ.ค.นี้ ทั้งนี้ภูเรือเป็นสถานที่ดูดาวที่ทางสมาคมรับประกันในความสวยงาม เนื่องจากอุทยานอยู่ห่างไกลจากแหล่งชุมชนและอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 1,365 เมตร ทำให้ยามค่ำคืนท้องฟ้าบนภูกลายเป็น “ทะเลดาว” นอกจากนั้นเรายังจะได้สัมผัสกับหนาวซึ่งเป็นอีกประสบการณ์ที่น่าจดจำยิ่ง
ท่านใดสนใจที่จะเดินทางไปสัมผัสกับธรรมชาติอย่างใกล้พร้อมทั้งเรียนรู้กิจกรรมทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจ ลอง “กริ๊งกร๊าง” ไปสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกับ น.ส.สุกัญญา พึ่งผลงาม เจ้าหน้าที่สมาคมดาราศาสตร์ ได้ที่ 0-2381-7409 หรือจะคุยกับนายพรชัย รังษีธนะไพศาลได้ที่ 0-2234-9988 ต่อ163-4 (อ๊อด) และ 0-1833-6511
ดูรายละเอียดการเดินทางที่เว็บไซต์สมาคมฯ http://thaiastro.nectec.or.th