ในการประชุม World Trade Organization (WTO) ที่เมือง Cancun ใน Mexico เมื่อ 3 ปีก่อน กาประชุมได้หยุดชะงัก เมื่อบรรดาผู้แทนประเทศที่ยากจน 4 ชาติ อันได้แก่ Benin, Burkina Faso, Chad และ Mali ในแอฟริกาได้กล่าวหาว่าเพราะรัฐบาลสหรัฐฯ ได้อนุมัติเงินสนับสนุนชาวไร่ฝ้ายของตน 25,000 คน ด้วยงบประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท พลเมืองของประเทศทั้ง 4 จำนวนล้านคนจึงต้องประสบภาวะว่างงาน
ฝ้าย เป็นพืชที่นับว่ามีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอของโลกมาก ทุกวันนี้ไม่มีใครในโลกที่ไม่เคยสัมผัสเสื้อผ้าที่ทอด้วยฝ้าย นับตั้งแต่ขอทานอินเดียที่ยากไร้ซึ่งสวมส่าหรีที่ทอด้วยฝ้ายขาดๆ จนกระทั่งถึง Bill Gates ที่สวมยีนราคาตัวละหลายหมื่นบาท
ย้อนอดีตไปตั้งแต่สมัยพุทธกาล Herodotus ได้เคยกล่าวถึงต้นไม้ที่มีขนแกะขึ้นตามกิ่งก้าน ว่าขนที่ได้จากต้นไม้นี้เหมาะสำหรับการนำไปทอผ้า และเมื่อครั้งที่จักรพรรดิ Alexander ทรงยึดครองอินเดีย พระองค์ได้ทรงนำผ้าฝ้ายจากอินเดียกลับประเทศด้วย และทรงปรารภว่า ใยผ้าของคนอินเดียบางเบา และนุ่มยิ่งกว่าผ้าที่ทอด้วยขนแกะมาก ส่วน Jean Baptiste Tavernier นักผจญภัยชาวฝรั่งเศสผู้ได้มาเยือนอินเดียเมื่อ 300 ปีก่อน ก็ได้เขียนเล่าว่า ผู้คนอินเดียนิยมใส่เสื้อผ้าที่บางเบาเสมือนไม่ได้ใส่อะไรเลย
การได้ยินได้ฟังว่า โลกมีเสื้อผ้าที่ทอด้วย "ใยลม" เช่นนี้ ทำให้ชาวยุโรปจำนวนมากในสมัยนั้น เดินทางมาตะวันออกเพื่อค้นหาต้น Vegetable Lamb of Tartary ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ปราชญ์ยุโรปในสมัยกลางอ้างว่ามีหัวใจ ปาก และกิ่งก้านที่มีขนแกะขึ้นเต็มไปหมด (เมือง Tartary อยู่ทางทิศตะวันออกของกรุง Istanbul และอยู่ระหว่างเมือง Tehran กับ Samarkand) ซึ่งต้น Vegetable Lamb นี้ก็คือต้นฝ้ายนั่นเอง ทั้งนี้เพราะคนยุโรปไม่รู้จักต้นฝ้าย แต่คนเอเชียรู้จักฝ้ายดี
ในสมัยโบราณ ฝ้ายเป็นสิ่งทอที่มีราคาแพงมาก เฉพาะคนยุโรปที่ร่ำรวยเท่านั้น จึงจะมีเสื้อผ้าที่ทอด้วยฝ้าย ตำนานคริสต์ศาสนาเล่าว่า นักปราชญ์ 3 ท่านที่เดินทางไปเฝ้าพระเยซูที่ Bethlehem สวมใส่ผ้าฝ้าย และองค์ทารกเยซูขณะประทับในรางหญ้า ก็มีผ้าห่มที่ทอด้วยฝ้าย ในปี 2062 ขณะนายพล Hernando Cortez เดินทางถึงแหลม Yucatan ของอาณาจักร Aztec เขาได้รับของขวัญจากกษัตริย์ Montazuma เป็นเสื้อที่ทอด้วยฝ้ายประดับทอง เขาจึงนำไปถวายต่อยังกษัตริย์ Charles ที่ 5 แห่งสเปน เพราะคิดว่า มันเป็นภัสตราภรณ์ที่เหมาะสำหรับกษัตริย์มากกว่าคนธรรมดา
เมื่อถึงช่วงปี 2293-2363 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระเจ้าบรมโกศ และอเมริกากำลังอยู่ในยุคอุตสาหกรรม ชาวไร่ทำเกษตรกรรมฝ้ายมาก โดยใช้แรงงานทาสนิโกร ความเป็นอยู่ที่ยากลำบากของทาส และการแบ่งแยกเหยียดผิวทำให้เกิดสงครามกลางเมือง ดังนั้น เราจึงเห็นได้ว่าต้นฝ้ายที่สูงเพียง 1 เมตร มีบทบาทมากในการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของอเมริกา
ฝ้ายเป็นพืชในสกุล Gossypium วงศ์ Malvaceae จากหลักฐานที่ปรากฏประเทศไทยเราได้ส่งเสริมให้มีการปลูกฝ้ายมาตั้งแต่ปี 2453 โดยใช้พันธุ์ฝ้ายพื้นเมืองที่มีเส้นใยหยาบและสั้น จนกระทั่งถึงปี 2478 รัฐบาลจึงได้จัดตั้งโรงหีบฝ้าย และโรงปั่นด้ายขึ้น และได้เริ่มส่งเสริมการปลูกฝ้ายโดยนำฝ้ายอเมริกันที่มีคุณภาพดีกว่ามาทดลองปลูก ประเทศเราจึงเริ่มปลูกฝ้ายกว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะที่สระบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ สุโขทัย อุทัยธานี น่าน และนครราชสีมา เป็นต้น
ตามปกติฝ้ายจะเจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีน้ำเพียงพอ แม้แต่บริเวณหนาวที่สูงถึง 1,500 เมตร ในเทือกเขา Ancles ฝ้ายก็สามารถเจริญเติบโตได้ดีพอสมควร จนทุกวันนี้สถิติชี้บอกว่า อเมริกาผลิตฝ้ายได้หนักถึง 4.5 ล้านตัน/ปี และจีนประมาณ 5.5 ล้านตัน ทั้ง 2 ประเทศจึงผลิตฝ้ายได้มากถึง 45% ของฝ้ายที่ผลิตได้ในโลก
โดยทั่วไป ความนิยมชมชอบในการใช้ฝ้ายเป็นสิ่งทอสำหรับนุ่งห่มถูกจำกัดโดยความยุ่งยากในกระบวนการทำ เพราะต้องอาศัยวิธีการมากมาย เช่น ชาวไร่ต้องเก็บดอกจากต้นก่อนแล้วแยกคุณภาพออกเป็นดอกดีกับดอกไม่ดี เพื่อส่งขายให้โรงหีบฝ้าย จากนั้นทางโรงหีบฝ้ายก็จะชั่งน้ำหนักฝ้ายแล้วแยกเกรดความสะอาด แยกความยาวเส้นใย และแยกพันธุ์ฝ้ายเพื่อกำหนดราคา จากนั้นฝ้ายที่ได้รับการตรวจสอบคุณภาพแล้วนี้ ก็จะถูกนำไปทำความสะอาดคัดแยกสิ่งสกปรก เช่น ดิน ใบไม้ หรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ออกโดยฝ่ายเครื่องร่อน เพื่อนำส่งเข้าเครื่องหีบฝ้าย (roller gin) ให้แยกเมล็ดฝ้ายออกเหลือแต่ฝ้ายปุย ซึ่งจะถูกนำไปเข้าเครื่องอัดออกมาเป็นมัดเพื่อนำไปทอต่อไป ความยุ่งยากเช่นนี้ได้มีมานานแล้ว และปัจจุบันก็ยังไม่เปลี่ยน
เช่นเมื่อ 250 ปีก่อน กว่าคนงานไร่ฝ้ายจะแยกฝ้ายปุยออกมาได้ 450 กรัม เขาต้องใช้เวลานาน 12-14 วัน แต่ในกรณีขนแกะ หากจะได้ขนที่หนักเท่ากัน เขาจะใช้เวลานานเพียง 1-2 วันเท่านั้นเอง และเมื่อค่าแรงในอินเดียถูก นั่นก็หมายความว่าผ้าฝ้ายมัสลินที่ราคา 10 เหรียญในท้องตลาด จะมีค่าแรงต้นทุนเพียง 15 เซนต์เท่านั้นเอง ดังนั้น ฝ้ายจึงเป็นสินค้าดิบที่เมื่อเป็นสินค้าสำเร็จรูปมีมูลค่าเพิ่มมหาศาลจริงๆ
ในปี 2305 James Hargreaves และ Richard Arkwright ได้ประดิษฐ์เครื่องทอฝ้ายที่ใช้เครื่องจักรจึงทำให้ปริมาณการทอฝ้ายได้เพิ่มถึง 30 เท่าในช่วงปี 2308-2327 และเมื่อถึงปี 2400 อังกฤษ ทั้งๆ ที่ไม่ปลูกฝ้ายเลยก็ได้กลายเป็นชาติที่ส่งฝ้ายออกเป็นอุตสาหกรรมสำคัญ โดยมีจุดศูนย์กลางการทอฝ้ายอยู่ที่เมือง Manchester จนเมืองนี้ได้รับนามใหม่ว่า Cottonpolis และเมื่อถึงปี 2337 Eli Whitney ได้ประดิษฐ์เครื่องจักรที่แยกเมล็ดจากใยฝ้ายได้เร็ว สิ่งประดิษฐ์ของ Whitney กับเครื่องทอของ Hargreaves และ Arkwright นี้ ได้ปฏิรูปอุตสาหกรรมฝ้ายมาก จนทำให้ความต้องการทาสในไร่น้อยลง และคนทอมากขึ้น จากปี 2293 ที่อังกฤษมีประชากร 5.7 ล้านคน
แต่เมื่อถึงปี 2363 จำนวนประชากรได้เพิ่มเป็น 11.5 ล้านคน โดยคนที่มีมากนี้ต่างก็หลั่งไหลไปทำงานในโรงงานทอฝ้ายใน Lancashire กันมาก จนเจ้าของโรงงานต้องใช้แรงงานเด็กให้ทำงานหนักถึง 12 ชั่วโมง/วัน เพื่อทอผ้าฝ้ายออกมา 2/3 ของผ้าฝ้ายที่ผลิตในโลก และในการจะบรรลุเป้าหมายนี้ พ่อค้าโรงงานฝ้ายใน Lancaster ต้องนำฝ้ายดิบจากอเมริกามาเป็นสินค้าดิบ และก็ได้รับ 2/3 ของฝ้ายที่อเมริกาผลิตมาทอ ดังนั้น วิธีการนี้จึงทำให้อังกฤษขายผ้าได้จากฝ้ายที่อเมริกาปลูกซึ่งก็คงเหมือนกับการที่จีนขายรถได้จากเครื่องยนต์ที่ผลิตใน Detroit ฉันใดก็ฉันนั้น การพึ่งพาอาศัยกันเช่นนี้ ทำให้อังกฤษและอเมริกาผูกพันกันมาก
ดังนั้น เมื่อเกิดสงครามกลางเมือง คน Lancashire ส่วนใหญ่ซึ่งไม่ชอบการมีทาสได้หันไปช่วยรัฐเหนือ ทำให้รัฐใต้แพ้สงคราม ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างอเมริกากับอังกฤษจึงหยุดชะงักงัน ถึงกระนั้นอีก 100 ปีต่อมา อเมริกาก็ยังคงสภาพความเป็นผู้นำในการผลิตฝ้าย และได้เริ่มหันไปชักจูงให้รัสเซียปลูกฝ้ายบ้างในปี 2489 และ Stalin ก็ได้มอบหมายให้รัฐ Uzbekistan ซึ่งเป็นรัฐในทางใต้ของรัสเซียปลูกฝ้ายทันที เพราะเหตุว่าฝ้ายต้องการน้ำมาก แต่รัฐนี้มีพื้นที่แห้งแล้ง ดังนั้น ผู้บริหารรัฐจึงต้องทดน้ำจากแม่น้ำ Amu Darya และ Syr Darya มาหล่อเลี้ยงไร่ โดยจะไม่รู้ว่าแม่น้ำทั้งสองสายนี้ คือต้นกำเนิดของทะเลสาบ Aral ซึ่งเป็นทะเลที่มีแผ่นดินล้อมรอบ
การทำไร่ฝ้ายพื้นที่มหาศาลนี้ทำให้ทุกวันนี้ปริมาณน้ำในทะเลสาบเหลือน้อยลงๆ จนองค์การ UNESCO คิดว่า ทะเลนี้คงหดหายไปจากโลกในอีก 15 ปีข้างหน้า ในขณะเดียวกัน Uzbekistan ก็ได้ประสบความสำเร็จในการเป็นผู้ส่งฝ้ายออกมากเป็นอันดับสองของโลก และชีวิตของผู้คนในแถบทะเล Aral กำลังลำบากมากขึ้นๆ ทุกวัน
เรื่องนี้จึงสอนได้อย่าง ก็เสียอย่างครับ
สุทัศน์ ยกส้าน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สสวท