ยางกับเทคโนโลยีทางเลือกฝีมือไทย สร้างงานวิจัยช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น วิธีตรวจหาสบู่ลอเรตอย่างง่ายและรวดเร็วที่จะช่วยลดรอยรั่วในผลิตภัณฑ์ถุงยางอนามัย ถุงมือยาง ฯลฯ หรือ การนำน้ำยางมาทำเป็นผลิตภัณฑ์กาว ที่มีจุดเด่นคือ ไม่ใส่สารฟอร์มาลิน แข็งแรง และติดทนนาน เหมาะกับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์
ยางพารา ยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาล แต่ยังขาดเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนในการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะในน้ำยางข้นและการนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ยางชนิดต่างๆ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยโครงการวิจัยแห่งชาติ : ยางพารา จึงได้สนับสนุนให้เกิดโครงการต่างๆที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยางพาราครอบคลุมทั้งระบบ โดยเริ่มจากโครงการทุนวิจัยขนาดเล็ก (Small Project of Rubber; SPR) ที่ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน เพื่อเป้าหมายหลักให้ได้ผลงานวิจัยเบื้องต้นที่จะนำไปสู่การต่อยอดถึงระดับเชิงพาณิชย์
โดยภายในงานสัมมนา เทคโนโลยีทางเลือกเพื่อเพิ่มมูลค่าน้ำยางข้นและผลิตภัณฑ์ ณ โรงแรมอโนมา กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา ทีมวิจัยเรื่องยางในโครงการต่างๆได้นำเสนอผลงานวิจัยในโครงการ SPR ตั้งแต่ปี 2547 เพื่อถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบที่เข้าร่วม เช่น งานวิจัย อิทธิพลของสบู่ต่อการเกิดฟองในน้ำยางธรรมชาติ ซึ่งมีกลุ่มผู้วิจัยนำโดย ผศ.อาซีซัน แกสมาน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยคณะวิจัยได้เล็งเห็นว่า อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากน้ำยาง เช่น ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ยางฟองน้ำ สายยางยืด มีการขยายตัวค่อนข้างสูง ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ยังใช้ยางธรรมชาติเป็นหลักและมีการใช้ในปริมาณมาก
ทั้งนี้ ขั้นตอนในการทำผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เริ่มจากการจัดหาวัตถุดิบ การเตรียมน้ำยางคอมเปาด์ การบ่มน้ำยาง ขั้นตอนการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการตรวจสอบคุณภาพ จะมีกระบวนการผลิตที่สำคัญได้แก่ การเตรียมน้ำยางคอมเปาด์จากน้ำยางข้นและสารเคมีต่างๆ และในน้ำยางข้นหรือน้ำยางคอมเปาด์นั้นมีความจำเป็นต้องใช้สารรักษาความเสถียรของน้ำยางซึ่งก็คือ สบู่ลอเรต ทั้งนี้เพื่อช่วยในการเก็บรักษาน้ำยางและทำให้สารเคมีเกิดการกระจายตัวได้ดี ไม่เกิดการตกตะกอน แต่การใช้สารเคมีประเภทนี้ อาจส่งผลต่อน้ำยาง เช่น จะทำให้เกิดฟองขึ้นภายในน้ำยาง ทำให้ผลิตภัณฑ์ยางที่มาจากการชุบ(Dipping) อาทิ ถุงยางอนามัย ถุงมือแพทย์เกิดเป็นฟองอากาศและจะทำให้เกิดรอยรั่วขึ้นได้และต้องเพิ่มขึ้นตอนในการกำจัดฟองอากาศในกระบวนการผลิต ซึ่งการศึกษาด้านอิทธิพลของสบู่ดังกล่าวยังมีข้อมูลงานวิจัยอยู่น้อยมาก ผลจากงานวิจัยนี้ทำให้ได้แนวทางในการใช้สบู่ผสมลงไปในน้ำยางข้นหรือน้ำยางคอมเปาด์
โดยศึกษาการใช้สบู่เพื่อรักษาความเสถียรของน้ำยางผสมสารเคมี และศึกษาอิทธิพลของชนิดและปริมาณสบู่ต่อการเกิดฟองอากาศในน้ำกลั่นและน้ำยางคอมเปาด์จากธรรมชาติ จากการวิจัยเบื้องต้นในห้องปฏิบัติการพบว่า สบู่แต่ละชนิดที่ใช้อาจกระทบต่อการขึ้นรูปหรือแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำยางบ้าง ดังนั้นหากนำข้อมูลความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆ และแนวทางในการวัดการเกิดฟองหรือความเสถียรของฟองไปใช้จะเป็นประโยชน์ในการออกสูตรและควบคุมการแปรรูปน้ำยางธรรมชาติได้
ตัวอย่างแนวทางการนำงานวิจัยนี้ไปใช้ในระดับอุตสาหกรรม จะทำให้ผู้ประกอบได้คำนึงถึงกระบวนการผลิต เช่น กรณีของผู้ผลิตโฟมยางธรรมชาติควรเลือกใช้สบู่ที่ทำให้เกิดฟองได้มากและฟองมีความเสถียร เกิดการยุบหรือหดตัวได้น้อย ในขณะที่ผู้ผลิตถุงมือยาง และถุงยางอนามัยและสายยางยืด ควรเลือกใช้สบู่ที่ทำให้เกิดฟองได้น้อย และฟองมีความเสถียรน้อยเกิดการแตกออกได้ง่าย แต่ทั้งนี้ผู้ผลิตต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆด้วย เช่น ความหนืดของน้ำยาง เป็นต้น ทั้งนี้จะทำให้กระบวนการผลิตสามารถลดต้นทุน เวลา และได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน
นอกจากนี้ ยังมีผลงานในปี 2548 ที่สนับสนุนการอุตสาหกรรมน้ำยางทำเป็นผลิตภัณฑ์กาว เช่น โครงการการผลิตกาวติดไม้และกาวติดโลหะ จากน้ำยางธรรมชาติดัดแปลงโมเลกุล โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นำโดย รศ.ดร.เจริญ นาคะสรรค์ ที่สามารถนำยางพารามาพัฒนาเป็นกาวได้ โดยทีมวิจัยได้ใช้วิธีการลดขนาดโมเลกุลของยางพาราลงจนกระทั่งมีขนาดพอเหมาะแก่ความต้องการของอุตสาหกรรมแต่ละประเภทเพราะขนาดของโมเลกุลของยางมีผลต่อแรงยึดเหนี่ยวระหว่างผิววัสดุโดยตรง เช่น เดิมน้ำยางพาราจะมีน้ำหนักโมเลกุลสูงประมาณหนึ่งล้าน
ทั้งนี้ หากจะนำมาทำเป็นกาวจะไม่มีแรงยึดเหนี่ยวมากนักและอาจทำได้เพียงเป็นกาวติดไม้ หรือเครื่องหนังอย่างง่าย แต่เมื่อนำมาตัดให้โมเลกุลเล็กลงด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ใช้วิธีทางเคมีจะสามารถลดน้ำหนักโมเลกุลลงได้ในระดับหนึ่งและเมื่อนำมาผ่านกระบวนการต่างๆเพื่อผลิตเป็นกาวแล้วก็จะได้กาวที่มีความแข็งแรงในการเชื่อมติดสูงมาก และสามารถนำมาใช้ติดประสานไม้ในวงการอุตสาหกรรม เช่น เฟอร์นิเจอร์ ก่อสร้าง หรือพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์
สำหรับจุดเด่นของกาวชนิดนี้ คือ เป็นกาวที่ได้จากวัตถุดิบธรรมชาติไม่มีองค์ประกอบของสารพิษเจือปน เนื่องจากไม่มีตัวทำละลายและมีความแข็งแรงสูงกว่ากาวชนิดอื่น ไม่เหมือนกาวที่ใช้กันทั่วไปซึ่งมักจะมี “ฟอร์มาลิน” เป็นองค์ประกอบซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งการนำไปใช้ประโยชน์ของงานวิจัยนี้ยังนำไปประยุกต์ใช้กับงานกาวติดโลหะต่างๆ เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม และทองแดง เป็นต้น เพื่อให้ความแข็งแรงกับโครงสร้างหรือเพื่อใช้เป็นส่วนเชื่อมต่อ แต่ยังต้องมีการปรับปรุงสารบางอย่างเพิ่มเติมไป จะทำให้การประสานของกาวชนิดนี้ต่อยางและโลหะสูงขึ้นได้
งานวิจัยเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมน้ำยางข้นและผลิตภัณฑ์จากยางพาราชนิดต่างๆ มีประสิทธิภาพในการผลิตที่เพิ่มขึ้น ลดต้นทุนลงเนื่องจากเป็นการพัฒนาเทคนิควิจัยด้วยฝีมือไทย และจะส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำยางข้นและผลิตภัณฑ์ยางให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ต่อไป