2 คุณหมอรามาฯ เจ้าของรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ปี48 เผยผลวิจัยโรคกระดูกพรุน ช่วยคนไทยป้องกันตัวก่อนพบโรคกับตัวเอง ชี้โจ๋ไทยกินแคลเซียมและออกกำลังกายน้อย ควรสัมผัสแดดบ้าง อย่าอยู่แต่ที่ร่ม แนะเร่งสะสมมวลกระดูกก่อนแก่ เผยกินเหล้า-สูบบุหรี่ก็เป็นปัจจัยเสี่ยง พบเอสโตรเจนมีผลต่อโรคนี้ชัดเจน
มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้มอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี 2548 ให้แก่ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ หัวหน้าหน่วยวิจัยต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม์ และ ศ.นพ.บุญส่ง องค์พิพัฒนกุล รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อไม่นานมานี้
เนื่องจากทั้งคู่มีผลงานวิจัยที่สำคัญต่อวงการสาธารณสุขไทยชิ้นหนึ่งคือ งานวิจัยเรื่องโรคทางเมตาบอลิกของกระดูกในประเทศไทย และการศึกษาปัจจัยทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรคกระดูกพรุน ตามลำดับ
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า การศึกษาดังกล่าวของเขามุ่งที่ 3 โรคสำคัญคือ โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกในโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย และโรคกระดูกที่เกิดร่วมกับสภาวะร่างกายเป็นกรดจากการขับกรดของไตบกพร่อง ซึ่งเป็นโรคที่มีความชุกสูงในประเทศไทย
ทั้งนี้พบว่า สังคมไทยเพิ่งตื่นตัวกับโรคกระดูกพรุนเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากประชากรไทยมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นและต้องประสบกับโรคดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น โดยโรคกระดูกพรุนมีความสำคัญเนื่องจากปริมาณกระดูกที่ลดลงทำให้กระดูกเปราะบางและหักง่ายแม้ได้รับแรงกระแทกเพียงเล็กน้อย ซึ่งภาวะกระดูกหักในวัยสูงอายุจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง และเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
“การศึกษาปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกสะโพกหักจากโรคกระดูกพรุนในประเทศไทยทั้งชายและหญิงพบว่า การรับประทานแคลเซียมน้อยเกินไป การขาดการออกกำลังกาย ระยะเวลาหลังการหมดประจำเดือนในเพศหญิง การสูบบุหรี่และการดื่มสุรา เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ”
เมื่อกล่าวถึงการตรวจคัดกรองโรคกระดูกพรุนในประเทศไทย ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า เครื่องตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกในประเทศไทยมีอยู่น้อยและไม่เพียงพอต่อความต้องการ อย่างไรก็ดี จากการประมวลปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุนและใช้วิธีการทางสถิติเข้าช่วย ทำให้ได้ข้อสรุปว่า ปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุดในการพยากรณ์ความหนาแน่นของกระดูกคือ อายุและน้ำหนักตัว ซึ่งจะแยกประชากรออกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มเสี่ยงสูง ปานกลาง และต่ำ
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวถึงโภชนาการแคลเซียมของคนไทยว่า รับประทานน้อยเกินไป กล่าวคือ คนกรุงเทพฯ รับประทานแคลเซียมโดยเฉลี่ย 361 มิลลิกรัมต่อวันต่อคน ซึ่งแตกต่างจากคำแนะนำของคนอเมริกันที่บอกให้รับประทานแคลเซียมไม่น้อยกว่าวันละ 1,000 มิลลิกรัมหรือ 1,500 มิลลิกรัมในผู้สูงอายุ
“องค์ความรู้สำคัญคือ แหล่งแคลเซียมในอาหารไทยส่วนใหญ่ต่างจากชาวตะวันตกคือ ไม่ได้มาจากนม แต่มาจากพืชผักใบเขียว ถั่วต่างๆ และปลาตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งการดูดซึมแคลเซียมจากอาหารเหล่านี้ ตลอดจนปัจจัยยับยั้งการดูดซึมแคลเซียมกำลังได้รับการศึกษาต่อเนื่องในขณะนี้”
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า ปริมาณวิตามินดีที่คนไทยได้รับก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ส่งผลต่อการดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้ ควบคุมการขับถ่ายแคลเซียมออกจากไต และควบคุมการสะสมแคลเซียมบนโครงสร้างของกระดูกที่เป็นโปรตีน ทั้งนี้ ร่างกายมนุษย์สามารถสังเคราะห์วาตามินดีได้จากการที่แสงอัลตราไวโอเลตถูกต้องกับผิวหนัง
“จากการศึกษาพบว่า ประเทศไทยอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร คนไทยจึงได้รับแสงแดดมาก ทำให้วิตามินดีที่คนไทยได้รับมีปริมาณเพียงพอ และระดับวิตามินดีที่ได้รับจะไม่ได้ลดลงตามอายุที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็พบว่าอาจเกิดภาวะขาดวิตามินดีได้หากหลบอยู่แต่ในที่ร่ม โดยไม่ได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอ”
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวเสริมว่า พันธุกรรมก็มีส่วนสำคัญในการเกิดโรคกระดูกพรุน กล่าวคือ พันธุกรรมเป็นปัจจัยสำคัญที่ควบคุมและกำกับปริมาณสูงสุดของมวลกระดูกและอัตราการสร้างและสลายกระดูก ตลอดจนการดูดซึมแคลเซียมจากทางเดินอาหาร การตอบสนองต่อฤทธิ์ของวิตามินดีและยาต่างๆ โดยพันธุกรรมที่ควบคุมหน้าที่หลักต่างๆ เหล่านี้มีความแตกต่างกันระหว่างคนไทยกับคนตะวันตก ซึ่งในส่วนนี้เป็นการศึกษาร่วมกับงานวิจัยของ ศ.นพ.บุญส่ง นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นอีกคนหนึ่ง
จากนั้น ศ.นพ.รัชตะ กล่าวถึงการป้องกันโรคกระดูกพรุนในประเทศไทยว่า สามารถทำได้ใน 2 ระยะสำคัญคือ ระยะการสะสมมวลกระดูกสูงสุดในวัยเด็ก-วัยรุ่น และการป้องกันไม่ให้เกิดการสลายตัวของกระดูกในวัยสูงอายุอย่างรุนแรงจนเกิดโรค
“จากการศึกษาพบว่าเด็กและวัยรุ่นไทยมีการสะสมมวลกระดูกเพิ่มขึ้นตามอายุและมีปริมาณมวลกระดูกสูงสุดเมื่ออายุประมาณ 10-18 ปี อย่างไรก็ตาม เด็กวัยรุ่นไทยยังกินแคลเซียมน้อยกว่าความต้องการที่ร่างกายควรได้รับคือ ประมาณ 1/2-3/4 ของปริมาณที่ควรได้รับ นอกจากนี้ เด็กไทยยังออกกำลังกายค่อนข้างน้อย” ศ.นพ.รัชตะ กล่าว
สำหรับการเสริมแคลเซียมด้วยยาเม็ด เขาระบุว่า ปัจจุบันมียาเม็ดแคลเซียมหลายชนิด แบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ ยาแคปซูลแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งมีราคาถูกที่สุดที่ 4.22 บาทต่อกรัม และยาเม็ดแคลเซียมชนิดฟองฟู่ซึ่งมีราคาแพงที่สุด 24.40-29.60 บาทต่อกรัม
แต่กระนั้นก็พบว่า หญิงไทยในวัยก่อนหมดประจำเดือนหรือหมดประจำเดือนไม่เกิน 5 ปี ร่างกายของพวกเธอสามารถดูดซึมแคลเซียมจากยาเม็ดทั้ง 2 ชนิดไม่แตกต่างกัน แต่จะต่างกันเมื่อหญิงนั้นหมดประจำเดือนไปมากกว่า 10 ปี แล้ว
“การศึกษาเกี่ยวกับการเสริมยาเม็ดแคลเซียมในคนไทยนั้นยังพบด้วยว่า ปริมาณแคลเซียมที่เสริมในขนาดแนะนำร่วมกับวิตามินดีหรือฮอร์โมนเพศหญิง จะไม่ทำให้ความเสี่ยงของการเกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด และการรับประทานยาเม็ดแคลเซียมหลังอาหารจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดนิ่วในระบบได้เมื่อเปรียบเทียบกับการรับประทานช่วงท้องว่างก่อนนอน”
นอกจากนี้ ศ.นพ.รัชตะ ยังพบอีกว่า เราสามารถปรับขนาดของยารักษาโรคกระดูกพรุนให้เหมาะสมกับคนไทยได้ จึงไม่ต้องใช้ขนาดสูงเท่ากับที่แนะนำให้คนตะวันตก เช่น ฮอร์โมนเพศหญิง อนุพันธ์ของวิตามินดี หรือยาในกลุ่มระงับการรสลายกระดูก พร้อมกันนั้น เขากล่าวอีกว่า โรคโลหิตจางธาลัสซีเมียซึ่งพบได้มากในประชากรไทยก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติของกระดูกได้ ทำให้กระดูกเปราะและหักง่าย
เช่นเดียวกับโรคกระดูกที่เกิดร่วมกับสภาวะร่างกายเป็นกรดจากการขับกรดของไตบกพร่อง อันทำให้ผู้ป่วยโรคดังกล่าวที่มีความรุนแรงมากจะมีกระดูกผิดปกติ ซึ่งเขาพบว่าภาวะกรดเกินมีผลต่อการเกิดพยาธิสภาพของกระดูกโดยตรง และการแก้สภาวะกรดเกินโดยการรักษาด้วย potassium citrate จะช่วยให้อัตราการสร้างกระดูกและความหนาแน่นของกระดูกเพิ่มขึ้น
สำหรับการศึกษาปัจจัยทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรคกระดูกพรุน ศ.นพ.บุญส่ง เจ้าของงานวิจัย ชี้แจงว่า ปัจจัยทางพันธุกรรมหรือยีนที่เพิ่มความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุนไม่ได้มีเพียงยีนเดียว ในทางตรงกันข้าม โรคกระดูกพรุนเกิดจากการที่มีความเสี่ยงในเชิงพันธุกรรมซึ่งเป็นผลจากยีนหลายยีนประกอบกัน
“ความเสี่ยงเบื้องต้นทางพันธุกรรมนี้มีปฏิสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงอื่นทางสิ่งแวดล้อมและเป็นผลให้เกิดโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ การศึกษาด้านดังกล่าวในประเทศไทยทำให้ทราบว่าชุดของยีนที่ก่อให้ความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุนสูงขึ้นเมื่อสูงอายุนั้นแตกต่างจากชุดของยีนในชาวตะวันตก การศึกษาให้ทราบชุดของยีนดังกล่าวจะมีประโยชน์ต่อการเข้าใจการเกิดของโรคและค้นหาแนวทางในการป้องกันโรคได้ดีกว่าปัจจุบัน”
ศ.นพ.บุญส่ง เผยอีกว่า เขาได้ค้นพบว่ายีนของตัวรับเอสโตรเจนมีความสำคัญต่อความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุนในสตรีเมื่อสูงอายุ โดยอิทธิพลของยีนดังกล่าวปรากฏตั้งแต่วัยก่อนหมดประจำเดือน นอกจากนี้ยีนดังกล่าวยังมีอิทธิพลต่อการตอบสนองของมวลกระดูกต่อฮอร์โมนเอสโตรเจนด้วย และจากการศึกษามวลกระดูกในชายสูงอายุทำให้ค้นพบว่า การที่มวลกระดูกในชายสูงอายุลดลงไม่ได้เป็นผลมาจากฮอร์โมนเพศชายลดลงเมื่อสูงอายุเป็นหลัก
“แต่เกิดขึ้นเนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงคือเอสโตรเจนที่มีอยู่ตามธรรมชาติในเพศชายลดลงเมื่อสูงอายุ โดยความรู้ดังกล่าวเมื่อนำไปรวมกับการศึกษาจากแหล่งอื่น ทำให้เข้าใจเกี่ยวกับโรคกระดูกพรุนในเพศชายมากขึ้นและนำไปสู่การวิจัยเพิ่มเติมในการค้นหาวิธีป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนในเพศชาย นอกจากนี้ ยังค้นพบอีกว่า ยีนของตัวรับเอสโตรเจนมีอิทธิพลต่อมวลกระดูกในผู้ชายร่วมกับระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนด้วย”รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เจ้าของรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2548 กล่าวในที่สุด
ผลการวิจัยจากศาสตราจารย์นายแพทย์ ทั้ง 2 นี้จึงเปรียบเสมือนสัญญาณเตือนภัยและเป็นการพยากรณ์ล่วงหน้าให้แก่คนไทยทุกคนได้เร่งตระหนักถึงปริมาณมวลกระดูกในร่างกายของตนเองก่อนโรคกระดูกพรุนจะถามหา จึงนับได้ว่าเป็นงานวิจัยที่มีคุณูปการต่อวงการสาธารณสุขไทยไม่น้อยทีเดียว จึงควรแล้วที่เขาทั้ง 2 จะได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2548 ไปครองและเป็นตัวอย่างให้แก่นักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังต่อไป