นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ชี้คนไทยยังขาดสารไอโอดีนทุกภาค ชุกสุดที่ภาคอีสานและภาคเหนือ ส่อเค้าเป็นโรคเอ๋อ ทั้งที่สามารถป้องกันได้ 100% เผยขาดสารไอโอดีนกดไอคิวเด็ก 13.5 หน่วย เด็กไทยไอคิวต่ำกว่าเด็กนอก พบตัวชี้วัดภาวะขาดไอโอดีนจากเลือดสายสะดือ เดินหน้าวิจัยตัวชี้วัดในวัยอื่น
เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้มอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี 2548 ให้แก่ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน หัวหน้าหน่วยวิจัยต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม์ สำนักงานวิจัย คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
เนื่องจากเล็งเห็นว่า ศ.นพ.รัชตะ เป็นผู้มีความสามารถผลิตผลงานวิจัยที่ดีเด่นทางด้านต่อมไร้ท่อมาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดองค์ความรู้ที่จะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทยได้ จึงสมควรเชิดชูเกียรติให้เป็นที่ประจักษ์และเพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้อื่นได้เจริญรอยตามอย่างต่อไป
ทั้งนี้ ผลงานวิจัยสำคัญชิ้นหนึ่งของ ศ.นพ.รัชตะ คือผลงานวิจัยเรื่องโรคขาดสารไอโอดีน ซึ่งเป็นงานวิจัยที่มุ่งแก้ปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ โดยครอบคุลมมิติการวิจัยทั้งทางระบาดวิทยา การวินิจฉัย การป้องกันและรักษา ตลอดจนความเชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์พื้นฐานและการสร้างเครือข่ายการวิจัย ทั้งภายในและระดับนานาชาติ
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวถึงโรคขาดสารไอโอดีนว่า เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของโลกและของประเทศไทย เพราะไอโอดีนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของธัยรอยด์ฮอร์โมน อันมีหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตและพัฒนาการของสมองและระบบประสาท ควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกาย ควบคุมอัตราการใช้พลังงานของร่างกาย และควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ทุกระบบภายในร่างกายมนุษย์
“ดังนั้น การขาดไอโอดีนอย่างรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะพร่องธัยรอยด์ฮอร์โมนทั้งในมารดาและทารกจึงทำให้เกิดภาวะสมองพิการแต่กำเนิด หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “โรคเอ๋อ” (endemic cretinism) ตามมา ซึ่งเป็นความผิดปกติอย่างถาวรและไม่สามารถแก้ไขได้ในปัจจุบัน นอกจากนี้ โรคเอ๋อยังเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของสมองพิการแต่กำเนิดด้วย” ศ.นพ. รัชตะ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นกล่าว และว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก เพราะโรคเอ๋อเป็นผลของการขาดสารไอโอดีนของมารดาและทารกขั้นรุนแรงที่สุด ซึ่งเราสามารถป้องกันได้โดยสิ้นเชิง
อย่างไรก็ดี เขาชี้แจงว่า การขาดสารไอโอดีนทั้งในมารดาและทารกในระดับลดหลั่นกันมาก็ยังทำให้เกิดความผิดปกติของระดับสติปัญญาและพัฒนาการของระบบประสาทและกล้ามเนื้อได้เช่นเดียวกัน โดยจากการศึกษาของหลายประเทศพบว่า โรคขาดสารไอโอดีนทำให้ระดับเชาวน์ปัญญาของเด็กนักเรียนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ขาดสารไอโอดีนลดลงโดยเฉลี่ยถึง 13.5 หน่วยไอคิว (IQ: Intelligent Quotient)
“ในประเทศไทย เราพบการขาดสารไอโอดีนในทุกภาค และมีความชุกสูงในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลายจังหวัดในภาคเหนือมีผู้ป่วยโรคเอ๋อเป็นจำนวนมาก การรณรงค์ควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนของกระทรวงสาธารณสุขได้ผลดีในระดับหนึ่ง แต่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังไม่เห็นผลความเปลี่ยนแปลงใดๆ” ศ.นพ.รัชตะ กล่าวและเสริมว่า
“โดยเฉลี่ยเด็กไทยมีระดับเชาวน์ปัญญาต่ำกว่าเด็กตะวันตก โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถึงแม้ว่าปัญหานี้จะมีหลายเหตุปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่โรคขาดสารไอโอดีนก็เป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่สมควรได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน”
อนึ่ง ศ.นพ.รัชตะ เผยว่า การวิจัยเกี่ยวกับโรคขาดสารไอโอดีนของเขามีจุดมุ่งหมายเพื่อการสนับสนุนส่งเสริมโครงการรณรงค์ควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนของกระทรวงสาธารณสุข โดยได้ศึกษาตั้งแต่กลไกการเกิดโรคเอ๋อ การพัฒนาดัชนีชี้วัดที่เหมาะสมในการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมารดาและทารก การศึกษาเกี่ยวกับคุณภาพของเกลือเสริมไอโอดีน และสารก่อคอพอกอื่นๆ ในประเทศไทย
ทั้งนี้ ศ.นพ.รัชตะ เผยผลการศึกษาว่า ในการศึกษากลไกการเกิดโรคเอ๋อที่มีอยู่ 2 ลักษณะคือ neurological type และ myxedematous type ซึ่งแต่ก่อนเชื่อว่า เฉพาะผู้ป่วยโรคเอ๋อที่เป็น neurological type เท่านั้นที่จะมีอาการแสดงของความผิดปกติของระบบประสาท แต่ผู้ป่วยเหล่านี้จะไม่มีอาการแสดงของภาวะพร่องธัยรอยด์ฮอร์โมน ต่างจาก myxedematous type ที่จะมีอาการแสดงทางระบบประสาทน้อย แต่จะมีอาการแสดงของภาวะพร่องธัยรอยด์ฮอร์โมน์ชัดเจน แต่จากการศึกษาโดยละเอียดพบว่า ผู้ป่วยโรคเอ๋อทั้ง 2 ประเภทมีความผิดปกติของระบบประสาทไม่แตกต่างกัน
อย่างไรก็ตาม การเกิดลักษณะแตกต่างเป็น 2 ประเภท เนื่องจากใน myxedematous type มีการขาดสารไอโอดีนหลังคลอด จนทำให้เกิดภาวะพร่องธัยรอยด์ฮอร์โมนอย่างต่อเนื่อง จึงมีอาการแสดงออกของภาวะพร่องธัยรอยด์ฮฮร์โมนด้วย เช่น ร่างกายเตี้ย แคระแกร็น ใบหน้าและผิวหนังบวมฉุ และมีพัฒนาการทางเพศช้า เป็นต้น
“myxedematous type จะแตกต่างจากโรคเอ๋อที่เป็น neurological type ซึ่งได้รับไอโอดีนในระดับที่ไม่ทำให้เกิดภาวะพร่องธัยรอยด์ฮอร์โมน์หลังคลอด จึงมีการเจริญเติบโตเพียงพอและมีอาการแสดงเด่นชัดเฉพาะความผิดปกติของระบบประสาท โดยการศึกษานี้เน้นความสำคัญของโภชนาการไอโอดีนที่เพียงพอในมารดาและทารกตั้งแต่ปฏิสนธิจนกระทั่ง 2-3 ปีหลังคลอด ซึ่งเป็นช่วงที่สมองเจริญเติบโตและพัฒนาการอย่างต่อเนื่องภายใต้การควบคุมของธัยรอยด์ฮอร์โมน ”
จากนั้น ศ.นพ.รัชตะ กล่าวถึงการวิจัยเกี่ยวกับดัชนีชี้วัดที่สำคัญของโรคขาดสารไอโอดีนของเขาว่า การตรวจวัดระดับ thyroid stimulating hormone (TSH) ในเลือดสายสะดือเป็นดัชนีที่มีความไวสูงในการบ่งบอกถึงภาวะโภชนาการไอโอดีนในทารก ซึ่งพบว่า ระดับ TSH ในเลือดสายสะดือทารกที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ขาดสารไอโอดีนจะมีระดับสูงกว่าระดับ TSH ในเลือดสายสะดือเด็กทารกที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีสารไอโอดีนพอเพียงอย่างมีนัยสำคัญ
“ระดับ TSH ในเลือดสายสะดือจึงเป็นดัชนีชี้วัดสำคัญที่จะใช้เฝ้าระวังติดตามปัญหาการขาดสารไอโอดีนในทารกได้ และพบว่าสามารถดำเนินการใช้ดัชนีนี้ได้ในโรงพยาบาลระดับโรงพยาบาลชุมชนในประเทศ”
นอกจากนี้ เขากล่าวว่า การวิจัยดังกล่าวยังทำให้เกิดการขยายผลที่สำคัญคือ การจัดการตรวจคัดกรองภาวะพร่องธัยรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิดในทารก (ซึ่งเกิดจากความผิดปกติในการทำงานของต่อมธัยรอยด์แต่กำเนิดโดยไม่เกี่ยวข้องกับโรคขาดสารไอโอดีน) ในคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยดำเนินการมาต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 12 ปี และพบอุบัติการณ์ของภาวะพร่องธัยรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิดซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับโรคขาดสารไอโอดีนเท่ากับ 1:3,000 ของทารกแรกคลอด ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีคือภายใน 2 สัปดาห์หลังคลอด ทารกเหล่านี้ก็จะมีความพิการทางสติปัญญาอย่างถาวร
“การพัฒนาดัชนีชี้วัดของความพอเพียงของโภชนาการไอโอดีนที่เหมาะสมกับวัยต่างๆ มีความสำคัญ เพราะอัตราคอพอกในเด็กนักเรียนเป็นดัชนีที่บ่งบอกโภชนาการไอโอดีนที่เหมาะสมเฉพาะเด็กนักเรียน และเนื่องจากคอพอกมีขนาดเล็กจึงเกิดความคลาดเคลื่อนได้มาก และไม่สามารถสะท้อนให้เห็นภาพที่ถูกต้องของโภชนาการไอโอดีนในประชากรกลุ่มอื่นๆ ได้ เพราะเด็กนักเรียนในโรงเรียนมักเป็นกลุ่มที่ได้รับการเสริมไอโอดีนโดยหลายมาตรการครบถ้วนเพียงพอมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมารดาและทารก”
ด้วยเหตุนี้เอง ศ.นพ.รัชตะ จึงได้ร่วมกับคณะวิจัยที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จ.เลย ในการพัฒนาดัชนีชี้วัดที่เหมาะสมอื่นๆ เช่น การวัดขนาดต่อมธัยรอยด์โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasonography) การวัดระดับฮอร์โมน์ TSH ในเลือดสายสะดือทารก เป็นต้น นอกจากนี้ เขายังได้แนะนำให้ใช้ดัชนีชี้วัดที่เหมาะสมในแต่ละวัยเพื่อสะท้อนถึงสภาพที่ถูกต้องของภาวะโภชนาการไอโอดีนในประชากร ซึ่งจะเป็นการเฝ้าติดตามประสิทธิภาพการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ปัจจุบัน ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ภาวะโภชนาการของสตรีมีครรภ์ในทุกภาคของประเทศลดลงยกเว้นในภาคใต้ และภาวะโภชนาการไอโอดีนของมารดาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างเพียงพอ” ศ.นพ.รัชตะ กล่าวและเสริมว่า
เขายังได้เข้าร่วมการประชุมปรึกษาหารือในคณะที่ปรึกษาโรคขาดสารไอโอดีนที่สตรีมีครรภ์ควรได้รับต่อวันให้สูงขึ้น 50 ไมโครกรัม จากเดิม 200 ไมโครกรัมเป็น 250 ไมโครกรัม จึงจะเป็นการเพียงพอต่อการป้องกันภาวะความพิการของสมองทารก โดยการเพิ่มปริมาณความต้องการสารไอโอดีนของสตรีมีครรภ์ในครั้งนี้ มีผลให้ภาพรวมของประเทศไทยมีการขาดสารไอโอดีนลดลงด้วย
“องค์ความรู้เกี่ยวกับโรคขาดสารไอโอดีน จำเป็นต้องได้รับการนำไปประยุกต์ใช้ในระดับปฏิบัติอย่างเร่งด่วนเพื่อควบคุมโรคดังกล่าวให้หมดไปจากประเทศไทยโดยเร็ว ซึ่งวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อให้ประชากรไทยมีพัฒนาการในระดับสติปัญญาเต็มที่เท่าที่ศักยภาพทางพันธุกรรมจะอำนวยให้ เพื่อให้ประชากรไทยมีคุณภาพและสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ” ศ.นพ.รัชตะกล่าวทิ้งท้าย
การวิจัยของ ศ.นพ.รัชตะ จึงยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง พร้อมๆ กับองค์ความรู้ทีพอกพูนขึ้น ขณะที่คำถามหนึ่งที่ทุกคนต้องร้องถามสังคมและตนเองให้ได้คือ หากนโยบายหลักของรัฐคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ก่อตั้งสังคมฐานความรู้ และการเป็นครัวของโลกแล้ว เมื่อไรที่ประเทศไทยจะปลอดจากภาวะขาดสารไอโอดีน ซึ่งเป็นโรคที่ป้องกันได้เสียที? หรือว่าจะปล่อยให้เลยตามเลยเหมือนกับนโยบายอื่นๆ ที่เป็นเพียงวิมานในอากาศเท่านั้น